ฉัตรสุมาลย์ : ร่องรอยของพุทธศาสนาในอัฟกานิสถาน

ที่มา wikipedia.org

ราชวงศ์เมารยะเป็นราชวงศ์แรกที่ปกครองดินแดนในประเทศอินเดียปัจจุบันกว้างขวาง และมาสมบูรณ์ที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ในลำดับที่สามของราชวงศ์นี้

ในขณะที่กษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ 2 พระองค์แรกมิได้เป็นพุทธ แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกเมื่อทรงหันมานับถือพุทธศาสนาแล้ว ยังทรงวางรากฐานที่สำคัญสำหรับพุทธศาสนานิกายเถรวาท หลังจากที่ทรงกวาดล้างพระในศาสนาอื่นที่ปลอมแปลงเข้ามาอาศัยบารมีของพุทธศาสนาออกไปถึง 6 หมื่นคน

ยังทรงให้ทำสังคายนา นับเป็นสังคายนาครั้งที่สาม ในปี 260 ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 17 ของการครองราชย์ของพระองค์

หลังจากสังคายนาครั้งนี้ ยังทรงมีดำริให้เผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยการส่งพระธรรมทูตออกไปในทิศต่างๆ ถึงเก้าสาย

เฉพาะในบทความนี้ จะเจาะจงศึกษาเฉพาะสายที่ไปในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นอัฟกานิสถาน

 

มีหลักฐานที่กล่าวถึงพระอาจารย์สัมภูตสาณวาสี ในนิกายเถรวาทที่เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วได้ 100 ปี ในเมืองกปิศะ

ในสมัยต่อมา ดินแดนของพวกโยนก หรือกรีกนั้น มีพระสงฆ์ในนิกายมหาสังฆิกะเผยแผ่อยู่แล้วในเมืองอุทยาน โดยที่เข้ามาเผยแผ่ตั้งแต่ครั้งทุติยสังคายนา น่าจะเป็นที่รับรู้กันโดยพระสงฆ์ทั้งหลายที่มาร่วมประชุมสังคายนาครั้งนั้น

ในการคัดสรรพระเถระที่เป็นพระธรรมทูตนั้น จะส่งไปโดยมีพระเถระ 1 รูปเป็นผู้นำ ในแต่ละสาย แต่เฉพาะเส้นทางทางเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือนั้น ส่งพระธรรมทูตมาสองรูป พระมัชฌันติกะเถระนำคณะพระธรรมทูตไปทางเหนือ คือกัษมีระและคันธาระในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และพระมหารักขิตไปที่โยนก ซึ่งเป็นแหล่งของชุมชนกรีก

มีพระธรรมทูตรูปหนึ่งที่มีประวัติน่าสนใจ คือ พระเถระโยนก ธัมมรักขิต ท่านเป็นพระที่ดั้งเดิมมาจากอัฟกานิสถาน เข้าใจได้ว่าท่านต้องมีความรู้เรื่องมหาสังฆิกะในเมืองของท่าน

และด้วยเหตุนี้ ท่านจึงน่าจะเสนอให้ธรรมทูตออกไปสองคณะในทิศทางเดียวกัน

 

สําหรับท่านโยนกธัมมรักขิตเถระรูปนี้ ท่านได้ศึกษาธรรมะมาจากบ้านเดิมของท่านในโยนกที่เมืองกปิศะก่อนที่ท่านจะเดินทางมาแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในอินเดีย และโดยเฉพาะที่เมืองปาฏลีบุตร

ท่านได้รับคัดเลือกมาจากภิกษุผู้ทรงความรู้ในพระธรรมวินัยจำนวนนับพันให้เป็นหัวหน้านำคณะพระธรรมทูตไปนั้น ย่อมแสดงถึงความสามารถพิเศษของท่าน

ท่านเป็นชาวต่างประเทศ คือไม่ใช่ชาวอินเดีย และเป็นผู้ที่มีความรู้ดีในพระบาลี ในการแสดงธรรมของท่านนั้น โน้มน้าวใจให้มีผู้ออกบวชเป็นพระภิกษุถึง 37,000 รูป

นักวิชาการคาดเดาว่า พระมหารักขิตเถระน่าจะได้อยู่ที่เมืองอุทยาน และอาจจะได้เดินทางไปทางทิศตะวันตก ไปยังเมืองกปิศะ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกกรีกโยนก ที่เมืองอุทยาน มีนามเดิมว่า นครวิหาร

เข้าใจว่า มีวิหารที่นั่น แต่ต่อมาชื่อกร่อนเหลือเพียงนครหาร เข้าใจว่าเป็นวิหารที่พระเจ้าอโศกสร้างถวายพระเถระเมื่อคราวที่ส่งออกมาประกาศพระศาสนาเป็นพระธรรมทูต

ที่นครวิหารนี้น่าจะเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่ศาสนานิกายเถรวาท

ที่นี่ได้พบหลักฐานทางโบราณคดี เป็นจารึกของพระเจ้าอโศก 3 ชิ้น และมีผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พิมราน ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับเมืองจลลบาด (Jalalabad) ปัจจุบัน

ถ้าดูในแผนที่ประเทศอัฟกานิสถาน เมืองนี้อยู่ทางตะวันออกของเมืองกาบุลใกล้พรมแดนปากีสถาน

 

ที่เมืองจลลบาดพบร่องรอยของพระสถูปวิหารหลายแห่ง มีสถูปขนาดใหญ่ฐานกว้าง 300 ฟุต ใกล้เมืองจลลบาดอยู่ใกล้แม่น้ำกาบุล เซอร์คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีที่เป็นผู้ว่าราชการของอังกฤษที่ปกครองอินเดียสมัยนั้น ยืนยันว่า เบกรัมเป็นสถานที่โบราณที่เคยเป็นที่ตั้งของนครวิหาร

อิทธิพลของพระเจ้าอโศกที่แผ่บริเวณเข้ามาครอบครองในอัฟกานิสถานนี้ มีหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน มีหมู่บ้านที่ชื่ออโศกอยู่ใกล้เมืองกันดะหาร ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากเมืองกาบุลลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้

และข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ หลักฐานที่ยืนยันถึงการเผยแผ่พุทธศาสนาในสมัยของพระเจ้าอโศกที่เข้ามาในอัฟกานิสถานนี้ พบหลักฐานชัดเจนเฉพาะในสองเมืองนี้ คือ จลลบาด และ กันดะหาร

ได้พบศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก 3 ชิ้น ทั้ง 3 ชิ้นใกล้เมืองจลลบาด ศิลาจารึกนี้ทำขึ้นในปีที่พระเจ้าอโศกครองราชย์มาได้ 16 ปี (253 ก.ค.ศ.) ปรากฏคำสอนเรื่องการไม่เบียดเบียนชีวิต และเผยแผ่ความคิดเรื่องการเป็นมังสวิรัติ ไม่กินปลาและเนื้อสัตว์

การที่พบศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกในดินแดนนี้ แสดงว่าพระองค์ทรงให้ความสนใจกิจกรรมทั้งในด้านศาสนาและวัฒนธรรม

ดังที่เราได้รับทราบมาก่อนหน้านี้ว่า นครหารนั้น เดิมเป็นศูนย์กลางของพระภิกษุในนิกายมหาสังฆิกะ พระมหารักขิตเถระ ที่พระเจ้าอโศกทรงส่งเข้ามาเผยแผ่นิกายเถรวาทนั้น น่าจะได้ทรงสร้างพระวิหารให้เป็นที่พักของพระธรรมทูตและให้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเถรวาท

พระภิกษุชาวจีนที่เข้ามาเยือนแถบนี้ ทุกคนรายงานตรงกันถึงพระสถูปของพระเจ้าอโศกที่นครหาร หรือนครวิหารนี้

 

ศิลาจารึกที่พบอีกชิ้นหนึ่งไม่สมบูรณ์ เขียนด้วยอักษรและภาษากรีก ค้นพบโดยนายแพทย์ชาวเยอรมันใน ค.ศ.1963 ที่เมืองเก่าในกันดะหาร ปัจจุบันรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเมืองกาบุล

จารึกบนแผ่นบล๊อกหินสบู่เป็นข้อความส่วนท้ายของศิลาจารึกที่ 13 จึงเชื่อได้ว่าเป็นส่วนของจารึกแผ่นใหญ่ที่ควรมีจารึกที่สมบูรณ์

อีกชิ้นหนึ่งซื้อมาจากตลาดในเมืองกันดะหาร ไม่ทราบว่าพบที่ใด ปัจจุบันอยู่ในครอบครองส่วนตัวของชาวอิตาเลียน มีปรากฏจารึก 7 บรรทัด เป็นภาษากึ่งอาราเมคและปรากฤต เป็นข้อความจากส่วนหนึ่งของเสาพระเจ้าอโศกหมายเลข 7

หลักฐานที่พบที่เมืองกันดะหารเหล่านี้มีคุณค่ามาก แสดงถึงอิทธิพลของพระเจ้าอโศกในสมัยนั้น การใช้ภาษากรีกและอาราเมคบ่งชี้ว่า ในเมืองกันดะหารเป็นที่อยู่ของพวกกรีกและกัมโพช คืออิราเนียน ที่พูดถึงบ่อยครั้งในจารึกของพระเจ้าอโศก

สำหรับที่เมืองกปิศะนั้น เราทราบตั้งแต่ พ.ศ.100 เมื่อพระเถระสัมภูตสาณวาสีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาอย่างแข็งขันในเมืองกปิศะ และในสมัยของราชวงศ์เมารยะ ก็ได้เผยแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองดินแดนส่วนนี้ ที่อยู่ในอัฟกานิสถานปัจจุบัน

 

ที่มา npr.org

เรื่องราวที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระธรรมทูตออกไปนั้น ยังปรากฏในพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดของศรีลังกา คือ คัมภีร์ทีปวงศ์ (ศตวรรษที่ 4) และคัมภีร์มหาวงศ์ (ศตวรรษที่ 5)

โดยระบุว่า พระมัชฌันติกะเถระไปกัษมีระ (แคชเมียร์) และคันธาระ มหาเทวะไปเมืองมหิสมะอัณฑาล พระรักขิตตะไปวณวาสี พระโยนกธัมมรักขิตไปอปรันตะ พระมหาธัมมรักขิตไปมหารัฏฐะ มหารักขิตไปโยนก พระมัชฌิมไปหิมวันตะ พระโสณะ อุตตระไปสุวรรณภูมิ และพระมหินท์ไปลังกา

ในข้อมูลตรงนี้ชัดเจนว่าให้ความสำคัญกับทางเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะส่งไปถึงสองสาย ได้แก่ พระเถระมัชฌันติกะไปคันธาระ พระเถระมหารักขิตไปโยนก ที่เรียกว่าโยนกนั้น หมายรวมกปิศะไปจนถึงเมืองบัลก์ในอัฟกานิสถาน ล้วนเป็นดินแดนของพวกกรีกที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

เมืองกันดะหารนั้น ต้องถือว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองชายแดนทางตะวันตกสุดของทหารของราชวงศ์เมารยะ ต้องมีทหารอินเดียอยู่เป็นจำนวนมากในป้อมแห่งนี้ ทหารเหล่านี้อาจจะมาจากมคธ และจากที่ต่างๆ ในอินเดีย และแน่นอนว่าต้องมีทหารที่เป็นชาวพุทธด้วย เพราะฉะนั้น ก็น่าจะมีชาวพุทธอยู่ในดินแดนนี้มาก่อนแล้ว แต่การเผยแผ่ศาสนาจริงๆ เริ่มต้นจากงานของพระมหาเถระที่พระเจ้าอโศกส่งมานั่นเอง

ศาสนาพุทธเผยแผ่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาหลายร้อยศตวรรษจนกระทั่งการขยายอำนาจของมุสลิมที่เข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 10-11 พุทธศาสนาในอัฟกานิสถานถึงกาลอวสานไล่เลี่ยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียในช่วงต่อมา

เรื่องราวของพุทธศาสนาที่เมืองกันดะหารยังอยู่ในการเก็บรักษาของแม่ธรณี จนกว่ารัฐบาลอัฟกานิสถานจะสนับสนุนการขุดค้นทางโบราณคดี

ซึ่งแน่นอนว่า ยังมีเนินหลายแห่งที่มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะเป็นฐานพระสถูปสมัยพระเจ้าอโศก และในสมัยต่อมา

หลักฐานเหล่านี้ จะบ่งชี้ความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในดินแดนแถบนั้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นอาณาเขตที่ออกไปทางทิศตะวันตกที่ไกลที่สุด

ยังรอลุ้นอยู่