ต่างประเทศอินโดจีน : พัฒนาการของลาว

เมื่อ 47 ปีก่อน ชื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปรากฏขึ้นในการจัดลำดับหมวดหมู่การพัฒนาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นครั้งแรก ในฐานะเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ “พัฒนาน้อยที่สุด” ของโลก

การจัดหมวดหมู่ดังกล่าวดำเนินการโดยคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (อีโคซอค) ของยูเอ็น ผ่านทางคณะกรรมการว่าด้วยนโยบายการพัฒนา (ซีดีพี)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซีดีพีประกาศข้อที่น่ายินดีออกมาว่า ลาวประสบความสำเร็จในการพัฒนาจนบรรลุถึงเป้า 2 ใน 3 เป้าหมายในอันที่จะยกระดับประเทศพ้นจากสถานะพัฒนาน้อยที่สุดได้เป็นครั้งแรกแล้ว

ซีดีพีตรวจสอบพัฒนาการของประเทศเหล่านี้ 3 ปีต่อครั้ง กำหนดเป้าการพัฒนาไว้ 3 เป้าหมาย หนึ่งคือ รายได้สุทธิของชาติต่อหัวประชากร (จีเอ็นไอ) ต่อด้วยดัชนีสินทรัพย์มนุษย์ (เอชเอไอ) และสุดท้ายคือดัชนีความผันผวนทางเศรษฐกิจ (อีวีไอ) ซีดีพีประเมินไว้ในปี 2018 นี้ว่า จีเอ็นไอต่อหัวประชากรของลาว อยู่ที่ 1,996 ดอลลาร์ (ราว 64,051 บาท) เกินกว่าระดับต่ำสุดที่ยูเอ็นกำหนดไว้ที่ 1,230 ดอลลาร์หรือเกินกว่านั้นแล้ว

ดัชนีเอชเอไอของลาวในปีเดียวกัน อยู่ที่ 72.8 ซึ่งเป็นค่าที่เกินกว่าระดับที่ยูเอ็นกำหนดไว้ว่าอย่างน้อยที่สุดต้องอยู่ที่ 66 แล้วเช่นเดียวกัน

ส่วนดัชนีความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งซีดีพีกำหนดไว้ว่าจะต้องอยู่ที่ 32 หรือต่ำกว่า ลาวก็ทำได้ใกล้เคียงมากแล้ว คือค่าอีวีไอลดลงมาอยู่ที่ 33.7 เท่านั้น

นั่นหมายความว่า หากไม่เกิดภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจการเงินระดับโลก หรือเกิดหายนภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ขึ้น ในการสำรวจครั้งหน้าคือในปี 2021 ลาวก็น่าจะได้รับการประกาศให้พ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดของโลกได้ในการสำรวจครั้งถัดไปคือในปี 2024

 

แต่ถึงแม้ดัชนีอีวีไอยังไม่ลดลง แต่หากลาวยังสามารถรักษาระดับของเป้าการพัฒนาอีก 2 หัวข้อไว้ได้อีกครั้ง ซีดีพีก็สามารถยกระดับลาวให้สูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้ นั่นคือการกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้เช่นกัน

คำประกาศของซีดีพี ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนาของลาวที่ตั้งเป้าจะหลุดจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2020

เป้าหมายต่อไปในการพัฒนาประเทศของลาวก็คือการไล่ให้ทันเพื่อนบ้านอาเซียนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนให้ได้ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของยูเอ็น ในโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) ที่ประจำอยู่ในลาวรายหนึ่ง ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเอาไว้ว่า การหลุดจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ถือเป็นเรื่องดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างแน่นอน

แต่ในทางปฏิบัติ ทางการลาวยังคงต้องมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในประเทศอีกไม่ใช่น้อย

เพราะในขณะที่บางส่วนของประเทศเจริญรุดหน้าสูงยิ่ง อีกหลายส่วนยังคงดีขึ้นไม่ได้มากมายเท่าใดนัก หลายคนในพื้นที่เหล่านั้นยังคงใช้ชีวิตอยู่ด้วยรายได้เพียง 0.12 ดอลลาร์ (ราว 4 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น

70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรใน 5 จังหวัดตอนเหนือสุดของประเทศ ยังคงมีรายได้ต่ำกว่าระดับที่ยูเอ็นใช้กำหนดความยากจน

การหลุดจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด หมายความว่าความช่วยเหลือทางการเงินที่เคยได้จากประเทศผู้บริจาคก็จะลดน้อยลงด้วย เงินเหล่านี้คือสิ่งที่ชาวลาวส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาอาศัยอยู่

ข้อมูลของธนาคารโลกที่เผยแพร่ออกมาล่าสุดในเดือนมีนาคม 2018 นี้ก็สะท้อนความเป็นจริงคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ขณะที่จีดีพีของประเทศขยายตัวสูงถึง 7.8 เปอร์เซ็นต์ ลาวยังต้องลดจำนวนคนยากจนในประเทศลงให้ได้อีกครึ่งหนึ่ง ปรับปรุงระบบการศึกษาและสาธารณสุขให้ดีขึ้นอีกมาก

เห็นได้ชัดจากการที่ 44 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบในลาวยังคงขาดโภชนาการที่เหมาะสม การเจริญเติบโตชะงักงันอยู่ในขณะนี้