เกษียร เตชะพีระ : อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน [ยุครัฐบาลทักษิณ]

เกษียร เตชะพีระ

อ่านสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน (7) : ยุค 3 ค.ศ.2001-2006

ในบทความชุดนี้ตอนที่ 2 จากข้อมูลทั้งของ Benjamin Zawacki ใน Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China (ค.ศ.2017) และของ ดร.เจษฎาพัญ ทองศรีนุช ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอเรื่อง “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ” (พ.ศ.2560)

ผมได้เสนอแนะให้ปรับปรุงข้อสรุปประการหนึ่งในบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ของคุณเจษฎาพัญ เพื่อให้สอดรับกับข้อมูลที่ขัดแย้งแตกต่างออกไป จากเดิมที่ว่า :

“โดยในส่วนของปัจจัยภายในนั้น โครงสร้างการเมืองมีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ” (น. (2) เป็น -> “โดยในส่วนของปัจจัยภายในนั้น โครงสร้างการเมืองมีความสำคัญน้อยกว่าปัจจัยอื่นๆ ในช่วงยุคหลังสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา” แทน

ในบทความตอนนี้ ผมใคร่ทดลองเสนอว่าในยุค 3 ของสี่ทศวรรษสัมพันธ์ไทย-จีน ระหว่าง ค.ศ.2001-2006 ซึ่งเป็นช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเย็นนี้เองที่มีเหตุปัจจัยใหญ่ๆ 4 ประการทั้งในและนอกประเทศไทย และทั้งในเชิงผู้กระทำการเชิงนโยบาย (agency) และโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองโลกและภูมิภาค (structure) ซึ่งทำให้มีความต่อเนื่องทางนโยบายของไทยต่อจีน (policy continuity) ข้ามโครงสร้างระบบการเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการทหาร แต่กระนั้นนโยบายของไทยต่อจีนก็คงเส้นคงวา ไม่หันเหเปลี่ยนทิศทาง จน Benjamin Zawacki ถึงแก่สรุปไว้ในหนังสือของเขาว่า :

“การเคลื่อนย้าย (ของไทย) เข้าไปในเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน (และออกจากเขตอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐ) นั้นได้กลายเป็นฉันทมติแห่งชาติทางสถาบันและวัฒนธรรม มันไม่เพียงข้ามพ้นเส้นแบ่ง “เหลืองกับแดง” ภายในประเทศไทยเท่านั้น หากยังกระทั่งเป็นสัญญาที่หาได้ยากระหว่างเหลืองกับแดงด้วย” (BZ, p.4)

ปัจจัยแห่งความต่อเนื่องทางนโยบายทั้ง 4 ประการที่รองรับฉันทมติดังกล่าว เท่าที่ผมประมวลรวบรวมและตีความคิดค้นเพิ่มเติมจากงานของ Benjamin Zawacki และ ดร.เจษฎาพัญ ได้แก่ :

1) ไทยเริ่มหันขวา-หาจีนยุคทักษิณ

2) ไทยเข้าร่วมคณะเสี่ยวเอ้อส่งออกไปอเมริกาที่มีจีนเป็นตั่วเฮีย

3) การเปลี่ยนแปลงในแกนเกลียวทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำไทย (elite historical nexus) เนื่องจากการเปลี่ยนรุ่นคน (generational shift) และหันเหทิศทางต่อระเบียบอำนาจใหม่ในภูมิภาค (change of orientation to a new regional power order)

4) ความผิดพลาดบกพร่องในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการทูตของสหรัฐอเมริกาเอง

โดยปัจจัย 1) และ 2) เกิดขึ้นในยุค 3 แห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน (ค.ศ.2001-2006)

ส่วนปัจจัย 3) และ 4) แม้จะก่อตัวตั้งแต่ยุค 3 แต่มาปรากฏชัดในยุค 4 (ค.ศ.2007-2015)

ซึ่งผมจะขอทยอยอธิบายไปตามลำดับ

ไทยเริ่มหันขวา-หาจีนยุคทักษิณ (ประเด็นการ “หันขวา” ของรัฐบาลทักษิณ ผมขอเก็บไว้เขียนถึงพร้อมกับปัญหาผลกระทบของโครงสร้างการเมืองยุคทักษิณต่อการกำหนดนโยบายต่อจีนทีหลัง)

เมื่อประมวลข้อมูลต่างๆ ในตอนต้นของ Part II ของหนังสือ Thailand : Shifting Ground between the US and a Rising China ของ Banjamin Zawacki ประกอบกับบทที่ 5 ในวิทยานิพนธ์ของเจษฎาพัญ จะเห็นการมาบรรจบสอดคล้องกันของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองของทั้งฝ่ายจีนและไทย กล่าวคือ :

– ฝ่ายจีน : ตามการวิเคราะห์ตีความของแหล่งข่าวในหน่วยราชการไทยหลายฝ่าย (เช่น กระทรวงการต่างประเทศ, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, กองทัพ) ที่บอกต่อสหรัฐ ยุทธศาสตร์ของฝ่ายจีนคือสร้าง a “China-centric” ASEAN หรืออาเซียนที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง ขึ้นมา (BZ, p.122 สอดคล้องกับ เจษฎาพัญ, น.293-296) โดยในการนี้ทั้งจีนและไทยเองต่างมองประเทศไทยเป็น “ประตูสู่ ASEAN” สำหรับจีนในทางภูมิรัฐศาสตร์ (BZ, p.119; เจษฎาพัญ, น.295)

– ฝ่ายไทย : รัฐบาลทักษิณมุ่งดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบชาตินิยมที่มีเอเชียเป็นศูนย์กลาง (Thaksin”s Asia-centric nationalism, BZ, p.132 และดู p.107) โดยคำว่า “เอเชีย” ของทักษิณนั้นมุ่งหมายถึงจีนเป็นสำคัญ (“Asia” read “China”, BZ, p.111) แต่ไม่นับรวมสหรัฐ เพราะ “ไม่อยู่ในเอเชีย” ทว่าทักษิณก็ไม่นับรวมและตัดไต้หวันออกด้วยทั้งที่ไต้หวันอยู่ในเอเชียแน่ๆ (ไต้หวันไม่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่นายกฯ ทักษิณริเริ่ม) ทั้งนี้ เพื่อสนองตอบความต้องการของจีนที่จะบั่นทอนอิทธิพลของสหรัฐ-ญี่ปุ่นในเอเชียที่มีไต้หวันเป็นพันธมิตรลง เพื่อวางตัวจีนเองเป็นศูนย์กลางอำนาจเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียแทนสหรัฐ ตามยุทธศาสตร์ภูมิรัฐศาสตร์ของตน (สอดคล้องกับเจษฎาพัญ, น.295-297)

และหากถึงคราวต้องเลือก นายกฯ ทักษิณก็บอกกับข้าราชการไทยกลุ่มหนึ่งตรงไปตรงมาว่าเขาเน้นจีนสำคัญเหนือสหรัฐ (BZ, p.124 และดู p.106, 133-134)

ความสัมพันธ์ที่ทั้งไทยยุคทักษิณกับจีนต่างฝ่ายต่างมียุทธศาสตร์สอดคล้องหนุนรับกันดังยกมาข้างต้น ทำให้ Benjamin Zawacki บรรยายความสัมพันธ์ไทย-จีนยุคนี้ว่าเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partner) อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นคำที่นายกฯทักษิณกับนายกฯ จูหรงจีใช้ในการพบปะเจรจากันด้วย (BZ, p.114, 123-124, 175; และ เจษฎาพัญ, น.256-258) โดยที่ทักษิณให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับจีน (prioritization of China) เหนือสหรัฐ ส่วนจีนก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับไทยในหมู่ชาติ ASEAN เฉกเช่นกัน (prioritized Thailand over other ASEAN nations) (BZ, p.134, 154)

น่าสังเกตว่าคำ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” นี้ Benjamin Zawacki ไม่ยอมใช้ในยุค 1 ของความสัมพันธ์ไทย-จีนระหว่างเกิดวิกฤตกัมพูชาเลย

ใช้แต่คำว่า “หุ้นส่วนทางยุทธวิธี” (tactical partner, BZ, p.64) แทน อันเป็นการประเมินตีค่าความหมายของศัพท์คำนี้ และสถานการณ์สัมพันธ์ไทย-จีนช่วงยุค 1 และยุค 3 ต่างจากวิทยานิพนธ์ของเจษฎาพัญ

(เจษฎาพัญ, น.80, 82)

การหันหาจีนยุคทักษิณเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพที่สหรัฐอเมริกาหมกมุ่นทุ่มเทกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายสากลหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ปี ค.ศ.2001 จนไม่ว่างและไม่สนใจภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และไทย ปล่อยให้จีนเข้าพัวพันขยับขยายอิทธิพลทั่วทั้งภูมิภาคนี้แทนที่สหรัฐ (BZ, p.134)

ฐานกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่นับเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่รองรับความต่อเนื่องทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน นับจากยุค 1 สมัยเปรม (CP, Bangkok Bank, สยามกลการ, ไทย-อาซาฮี ดู เจษฎาพัญ, น.163) มาสู่ยุค 3 สมัยทักษิณ (CP, กลุ่มน้ำตาลมิตรผล, กลุ่มสหยูเนี่ยน, กลุ่มบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ดู เจษฎาพัญ, น.307)

โดยข้ามโครงสร้างระบอบการเมืองที่เปลี่ยนไป

ผลกระทบเชิงลบของแนวทางเจรจาของไทยยุครัฐบาลทักษิณกับจีน : ดร.เจษฎาพัญได้สรุปซ้ำย้ำเตือนหลายครั้งว่าบทเรียนหนึ่งของการวางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีนคือแทนที่จะเจรจาระหว่างไทยกับจีนแบบเดี่ยวต่อเดี่ยว แล้วไทยเสียเปรียบเพราะอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจต่ำกว่าจีน

ไทยควรร่วมมือกับพรรคพวก ASEAN เจรจารวมหมู่กับจีน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ห่างกันน้อยลงและได้ข้อตกลงที่ดีขึ้น เจษฎาพัญได้ย้ำประเด็นนี้ทั้งในบทความสรุปสังเขปที่ตีพิมพ์ในวารสารสหวิทยาการ http://ci.tu.ac.th/uploads/files/download/final14_1.pdf, บทสรุป และบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์ของเธอ แต่ข้อความอาจดูเป็นภาษาวิชาการธรรมดาไปบ้างจนคนอ่านผ่านตาไปโดยไม่เห็นความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้อ่านงานของ Benjamin Zawacki คู่กับงานของเจษฎาพัญ ก็ช่วยให้เห็นบริบทของบทเรียนดังกล่าว คือท่าทีและนโยบายต่อจีนสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญมาก ดังที่เจษฎาพัญได้สรุปไว้ค่อนข้างชัดด้วยภาษาแบบวิชาการในวิทยานิพนธ์ น.256 (2 ย่อหน้าต่อกัน)

อย่างไรก็ตาม เราอาจทำให้เห็นประเด็นสำคัญนี้ได้เด่นชัดขึ้น หากพูดเสียใหม่ด้วยภาษาการเมืองว่า

“รัฐบาลทักษิณทำให้ไทยกลายเป็นประตูหลังของ ASEAN ที่เปิดอ้าออกแล้วกวักมือไหวๆ เรียกจีนให้เร่งเข้ามาเจรจากับไทยก่อนเพื่อนทั้งที่ไทยเองอำนาจต่อรองด้อยกว่าจีน เกิดเป็นแบบแผนเยี่ยงอย่างที่จีนได้ เปรียบและทำให้จีนกำหนดควบคุมเกมการเจรจากับ ASEAN โดยรวมได้เมื่อประเทศสมาชิก ASEAN อื่นๆ ทยอยเข้าร่วมเจรจากับจีนแบบทวิภาคีตามหลังไทย”