อยากเป็น “ตั้วเฮีย” ก็ต้องมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมพอสมควร ไม่ใช่แค่วัยวุฒิสูง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

กล่าวเฉพาะคำจีนคำว่า “ตั้ว” แล้ว นับเป็นคำที่คนไทยได้ยินเป็นประจำ เพราะเป็นคำที่คนจีนในไทยใช้กันแทบจะทุกวันทุกโอกาส และใช้อย่างแตกต่างกันไปตามแต่บริบท ซึ่งบางครั้งคนไทยก็รู้ความหมายบ้าง ไม่รู้บ้าง

คำว่า “ตั้ว” เป็นคำจีนแต้จิ๋ว จีนกลางออกเสียงว่า “ต้า” (da) แปลว่า ใหญ่ โต มหึมา มโหฬาร หรือความหมายอื่นใดที่เป็นไปในทำนองนี้ เช่น มาก ยาวนาน เป็นต้น

ในเสียงจีนแต้จิ๋วนอกจากเสียง “ตั้ว” แล้ว ก็ยังออกได้อีกเสียงหนึ่งว่า “ไต๋” และเสียงทั้งสองนี้เมื่อถึงเวลาใช้จริง บางทีอาจจะต้องมีการผันวรรณยุกต์ตามหลักภาษาจีน (แต้จิ๋ว) คือเสียง “ตั้ว” นี้จะออกเป็นเสียง “ตั่ว” หรือเสียง “ไต๋” ออกเป็นเสียง “ไต้”

ทั้งนี้ มีบ้างเหมือนกันที่ออกเสียงตามท้องถิ่นแต้จิ๋วในเมืองจีน ที่แต่ละถิ่นเองก็ออกเสียงไม่เหมือนกัน หรือไม่ก็เพี้ยนบ้างเล็กน้อย เช่น เสียง “ตั้ว” มีบ่อยครั้งที่คนไทยฟัง “ตั๊ว” ก็มี

เนื่องจากมีความหมายตามที่ว่า จึงได้กล่าวเกริ่นไว้ข้างต้นว่า คำว่า “ตั้ว” หรือ “ไต๋” จึงเป็นคำที่ใช้กันบ่อยจนคนไทยคุ้นหู ฉะนั้น ในเบื้องต้นหากได้ยินคำที่มีเสียงคล้ายที่ว่ามา เราก็อาจจะสันนิษฐานหรือเดาไว้ก่อนได้ว่า คนจีนแต้จิ๋วกำลังพูดถึงอะไรที่ใหญ่ๆ

ตัวอย่างคำที่คนไทยพอคุ้นหูบ้างก็เช่นคำว่า “ตั่วๆ ไก้” แปลว่า ชิ้นใหญ่ๆ ส่วนตัวอย่างการใช้คำนี้อาจเห็นได้ในกรณีที่เด็กขอของกินหรือของขวัญจากผู้ใหญ่ก็จะขอที่ชิ้นใหญ่ๆ เป็นต้น

หรือคำว่า “ไต้อ๋อง” ที่แปลว่ากษัตริย์หรือราชาผู้ยิ่งใหญ่นั้น ก็เป็นคำที่คนไทยได้ยินบ่อย โดยเฉพาะในงานวรรณกรรมจีน หรือในประวัติศาสตร์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์คำที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือ คำว่า “ไต้เช็ง” ซึ่งหมายถึงราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ผู้ยิ่งใหญ่

การตั้งตนเป็น “ไต้” หรือผู้ยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ชิงนี้เป็นธรรมเนียมอันปกติในการเมืองการปกครองของจีนมาตั้งแต่สมัยที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้มั่นคงในจีนแล้ว (ราวๆ สองพันปีก่อน) คือเป็นธรรมเนียมที่ใช้เพื่อเป็นการยกย่องจักรพรรดิของราชวงศ์อย่างให้เกียรติ ว่าทั่วพิภพจบแดนจะหาใครยิ่งใหญ่เสมอเหมือนไม่มีอีกแล้ว เป็นต้น

ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า “เฮีย” นั้น แทบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะเป็นคำที่คนไทยได้ยินและใช้มากที่สุดก็ว่าได้ คำนี้ในจีนกลางออกเสียงว่า “ซง” (xiong) แปลว่า พี่ พี่ชาย ดังนั้น เมื่อเติมคำแรกเข้าไปในคำหน้าคำว่า “ตั้วเฮีย” (แต้จิ๋ว) หรือ “ต้าซง” (จีนกลาง) จึงแปลว่า พี่ใหญ่

โดยเฉพาะคำว่า “พี่ใหญ่” นั้นก็เป็นอีกคำหนึ่งที่คนไทยมักจะได้ยินคนจีนใช้กันอยู่เสมอในงานวรรณกรรม หนัง และละครโทรทัศน์จีน คำนี้แปลมาจากคำว่า “ตั้วเฮีย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในอดีตเมื่อครั้งที่คนไทยยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมจีนมากดังทุกวันนี้ ก็มักจะใช้วิธีทับศัพท์ลงไปตรงๆ ดังคำว่า “ตั้วเฮีย” เป็นต้น แต่ปัจจุบันที่ความรู้เรื่องจีนในไทยได้ก้าวหน้ามากขึ้นแล้ว ผู้รู้ภาษาไทย-จีนดีจึงเลือกที่จะแปลจีนเป็นไทยให้ได้คำที่สละสลวยขึ้นมา

และในกรณีคำว่า “ตั้วเฮีย” นี้จะเห็นได้ว่า แม้คนไทยจะคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ก็น้อยกว่าคำที่ถูกแปลมาว่า “พี่ใหญ่” ที่ทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเป็นไปได้ว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจไม่รู้ว่า คำหลังมาจากคำแรก

ที่น่าสังเกตก็คือว่า แม้จะมีความหมายของคำดังเช่นที่ว่ามา แต่ทั้งคนไทยและคนจีนก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีธรรมเนียมที่จะเรียกพี่ชายหรือญาติที่มีศักดิ์เป็นพี่ชายของตนว่า “ตั้วเฮีย” หรือว่า “พี่ใหญ่” มากนัก แต่มักจะใช้เรียกคนที่อยู่นอกเครือญาติออกไป โดยคนคนนั้นมีวัยวุฒิสูงกว่าตน และมีเหตุผลเพียงพอที่ตนจะเรียกคนผู้นั้นว่า “ตั้วเฮีย”

ฉะนั้น คำว่า “ตั้วเฮีย” จึงมักใช้กันในหมู่เพื่อนฝูงที่สนิทกันจริงๆ โดยถ้าหากในกลุ่มเพื่อนให้บังเอิญว่ามีอยู่คนหนึ่งมีวัยสูงกว่าเพื่อนคนอื่นทั้งหมด เพื่อนในกลุ่มก็จะยกให้เพื่อนคนที่ว่านี้เป็น “ตั้วเฮีย” ไป ที่ว่ามานี้หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนโดยทั่วๆ ไป

แต่ถ้าหากกล่าวเฉพาะกรณี “ตั้วเฮีย” ที่คนไทยเรารู้จักกันแล้ว จะไม่ได้หมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ว่า แต่จะหมายถึงรูปแบบความสัมพันธ์ในอีกระดับหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันเป็นองค์กรของกลุ่มคนจีน (ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย) โดยองค์กรที่ว่านี้คนไทยจะรู้จักกันในนามของสมาคมลับที่เรียกกันว่า “อั้งยี่” นั่นเอง

การที่คนจีนรวมตัวกันเป็นสมาคมลับเช่นนี้เอง ได้นำไปสู่การระบบการจัดตั้งที่มีรูปแบบเฉพาะตนขึ้นมา และหนึ่งในระบบที่ว่าก็คือ ระบบ “ตั้วเฮีย” นั่นเอง ระบบนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่จะยกย่องผู้มีความรู้ความสามารถและมีวัยวุฒิสูงให้ขึ้นมาเป็นผู้นำองค์กร และจะเรียกผู้นำคนนี้ว่า “ตั้วเฮีย” และเมื่อมีผู้ที่เป็น “ตั้วเฮีย” พี่ใหญ่ ก็ย่อมมีผู้นำระดับรองๆ ลงมาอีกชุดหนึ่ง สุดแท้แต่ว่าจะมีกันกี่คน

ในกรณีผู้นำระดับรองๆ ลงมานี้จะมีที่เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างองค์กรเองว่าจะใหญ่โตหรือสลับซับซ้อนแค่ไหน ด้วยเหตุนี้ ผู้นำระดับรองนี้ในบางองค์กรก็จะมีเพียง “ยี่เฮีย” หรือ “พี่รอง” และ “ซาตี๋” หรือ “น้องสาม” ตามลำดับ รวมทั้งหมดแล้วมีผู้นำระดับสูงอยู่ 3 คน (รวม “ตั้วเฮีย” ด้วย)

ฉะนั้น ถ้าหากเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่านี้ ผู้นำระดับรองก็จะมีมากกว่า 2 คนขึ้นไป แล้วก็จะเรียกในเชิงนับญาติคล้ายข้างต้น โดยมีอายุเป็นเกณฑ์ในการเรียก

เช่นสมมติว่า องค์กรหนึ่งเกิดมีผู้นำร่วมสัก 7-8 คน วิธีการเรียกนอกจากจะเรียกอย่างที่ยกตัวอย่างไปแล้ว ก็ยังมีการเรียกที่ต่างหากตามวัยออกไปอีกด้วย เช่น หากคนที่ 3 จะเรียกคนที่ 5 ก็จะเรียกว่า น้องห้า ในขณะที่คนที่ 7 จะเรียกคนที่ 5 ก็จะเรียกว่า พี่ห้า เป็นต้น

จากเกณฑ์การเรียกดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า จะมีก็แต่คนสุดท้ายเท่านั้นที่ไม่มีโอกาสจะเรียกใครว่าน้อง และตัวเองหากไม่ถูกเรียกว่า น้องแปด ก็จะถูกเรียกว่า น้องเล็ก จากบรรดาผู้นำที่เป็นพี่ๆ ทั้งหลาย และทั้งหมดนี้ก็จะผูกพันกันเป็นเสมือนพี่น้องโดยผ่านพิธีร่วมสาบาน

จะอย่างไรก็ตาม ผู้ที่สำคัญที่สุดในระบบดังกล่าวก็คือ “ตั้วเฮีย” โดยอำนาจการตัดสินใจสั่งการต่างๆ จะมาจาก “ตั้วเฮีย” อย่างเป็นด้านหลัก ดังนั้น ใครก็ตามที่จะก้าวขึ้นมาเป็น “ตั้วเฮีย” ได้จะต้องมีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมพอสมควร ไม่ใช่มีเพียงวัยวุฒิสูงเพียงข้อเดียวก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ ระบบนี้ในบางองค์กรจึงมี “ตั้วเฮีย” ที่ไม่อิงกับวัยวุฒิ แต่ก็กล่าวได้ว่ามีน้อยมาก

ระบบ “ตั้วเฮีย” ดังกล่าวคนจีนได้นำเข้ามายังสยามตั้งแต่เมื่อต้นรัตนโกสินทร์ จนทำให้คนไทยได้รู้จักคำคำนี้ ทุกวันนี้ระบบนี้ได้หายไปจากที่สังคมการเมืองไทยแล้ว ส่วนที่เห็นเป็นกลุ่มเป็นแก๊งนั้นก็ไม่ได้มีลักษณะการจัดตั้งแบบระบบ “ตั้วเฮีย” อย่างชัดเจน

แต่ถ้าว่าถึงผู้พยายามเป็น “ตั้วเฮีย” แล้วละก็ มีให้เห็นแทบทุกที่ทุกวงการ