4 ปีแล้วนะจ๊ะ

ขอบคุณภาพจากเพจจะสี่ปีแล้วนะ***

4 ปีแล้วนะจ๊ะ

 

ข่าวสะพัดในโซเชียลมีเดีย

ดึกวันที่ 12 พฤษภาคม

กลุ่มดนตรีพังก์ ที่จัดงานดนตรีพังก์ ‘จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สั–‘ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้เชิญตัว “Blood Soaked Street of Social Decay” มายัง สน.ชนะสงคราม เพื่อทำประวัติทุกคนในวง

เนื่องจากว่าระหว่างที่วงเล่นดนตรี

มีการใช้ถ้อยคำรุนแรงต่อนายกรัฐมนตรี และมีการเผาโปสเตอร์ที่มีรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในโปสเตอร์ในช่วงท้าย

เจ้าหน้าที่จึงรู้สึกไม่สบายใจและเป็นกังวล จึงต้องนำตัวมาทำประวัติไว้ก่อน

หนึ่งในนั้นมีนักร้องพังก์ชื่อดังอย่าง “เกื้อ เพียวพังก์” รวมอยู่ด้วย

โดยตอนแรกทางตำรวจจะมีการตรวจปัสสาวะและสารเสพติด

แต่กลุ่มผู้เล่นดนตรีได้แย้งไปว่า ไม่ปฏิเสธกระบวนการนี้ แต่จะยังไม่เข้าสู่กระบวนการจนกว่าทนายจะมาถึง

ส่วนการหมิ่นประมาทผู้นำ เจ้าตัวจะต้องมาแสดงเจตนารมณ์เอง

ตำรวจจึงตัดสินใจแค่สอบประวัติโดยละเอียด และปล่อยตัวกลับ

ขอบคุณภาพจาก Real Frame

 

งานดนตรีพังก์ ที่มีคนร่วมไม่กี่ร้อยคน

กลายเป็นข่าวดังขึ้นมาทันที

ต้องไม่ลืมว่า นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 10 วันก่อนจะถึงวันที่ 22 พฤษภาคม อันเป็นวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อมีเหตุของการ “ควบคุม” ผู้ร่วมกิจกรรม

สายตาของผู้คนก็โฟกัสมาที่งานนี้ในทันที

และนี่คือการประมวล “ข้อมูล” จากผู้อยู่ในเหตุการณ์และผู้อยู่ในวงการพังก์

ที่ย่อมจะเข้าใจสิ่งที่พวกเขาทำและแสดงออกได้อย่างกระจ่างแจ้งและลึกซึ้งมากกว่าคนนอก

 

ผู้จัดงานที่ไม่เปิดเผยชื่อ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ประชาไท ถึงที่มาของงานว่า

“พวกเรากลุ่มนักดนตรีพังก์ ซึ่งพังก์มีหลายแนวมาก แต่ของเราเป็นดนตรีพังก์ในสายการเมือง เรามีกลุ่มแฟนเพลงแฟนคลับของเราอยู่แล้ว เพลงที่แต่งมาก็ปล่อยลงในยูทูบเป็นปกติ หลายๆ วงเล่นกันมาหลายปีก่อนหน้ารัฐประหารครั้งล่าสุด บางวงก็เล่นเพลงที่มีเนื้อหาอย่าง 6 ตุลา”

“เรื่องพังก์เราอาจจะมองกันแค่รูปแบบ ไว้ผมโมฮอว์ก ย้อมผม เจาะนู่น สักนี่ มองเผินๆ อย่างแนวของเราคือคลัชพังก์ ก็จะเป็นสกินเฮด แต่งโทนสีดำ และพูดเรื่องการเมือง อาจเป็นแค่รูปแบบ”

“แต่ถ้าดูในสาระของเด็กพังก์ มันมีการวิพากษ์วิจารณ์หมด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในอินโดนีเซีย มันแทบเป็นกระแสหลักของบ้านเขาในการใช้ดนตรีพังก์เป็นเครื่องมือพูดกับรัฐ หรือกระทั่งพม่า ที่เราเห็นในสารคดี My Buddha is Punk (2015) มันเป็นวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เราจะใช้ในการพูดกับรัฐได้”

“พังก์จึงไม่ใช่เรื่องผิวเผินแค่สไตล์การแต่งตัว แต่เป็นรูปแบบของวัฒนธรรมหนึ่ง และในเนื้อหาก็มักจะพูดเรื่องการเมือง”

“หัวใจของพังก์มันคือการรื้อสิ่งเก่าแล้วสร้างสิ่งใหม่ คือความขบถต่อวิถีเดิม”

ส่วนชื่อของงาน ‘จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สั–‘ นั้น “เราคิดกันหลายชื่อ เรามองว่าดนตรีพังก์หรือเมทัลมันมีความขบถ ความหยาบคาย ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของพังก์อยู่แล้ว เราพูดกันตรงไปตรงมาเป็นเรื่องปกติ เราเลยหาชื่อที่มันน่าจะสื่อสารกับคนได้”

“เราอยากสื่อสารไปถึงคนทั่วๆ ไปว่าเราอยู่กับระบบของ คสช. แล้วเราต้องการการเลือกตั้งมาสี่ปีแล้ว”

“เราขออนุญาตสถานที่ไว้แล้ว ทำหนังสือเรียบร้อย ซึ่งก็หวังว่าเราจะจัดงานกันได้ เพราะงานครั้งนี้เรามองว่างานนี้เป็นงานปาร์ตี้งานหนึ่งที่เล่นดนตรี มาสนุกกัน แล้วจบกันไปในงาน และเราจะไม่ให้นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าในงาน”

“เราอยากให้เป็นงานดนตรีที่สนุกทั้งคนเล่นคนดู แล้วแฮปปี้กลับบ้านกันไป”

“แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเรามองว่าที่เราจัดงานนี้เป็นการแสดงออกทางจุดยืนด้านการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ อยากให้เขาฟังเสียงจากคนตัวเล็กๆ ซึ่งไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร”

ส่วนกลัวโดนข้อหาห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นหรือไม่นั้น

“เราคิดว่างานของเรามันคืองานดนตรี มันเป็นงานรื่นเริง หรือมาตรา 116 ผมไม่ได้คิดถึงจุดนั้นเลย ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด”

“มันคือการแสดงออกของคนปกติ เป็นเรื่องธรรมดามากๆ”

 

Charlie S. เขียนใน http:headbangkok.com/ ถึงบรรยากาศงานไว้อย่างน่าสนใจว่า

หลายคนคงทราบข่าวกันแล้วว่างานแสดงดนตรี “จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สั–” จบลงไปแบบไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่

เมื่อสมาชิกนักดนตรีหลายรายถูกนำตัวไปยัง สน.ชนะสงคราม หลังงานเลิก

“อนุสาวรีย์ที่พวกคุณเห็นคืออะไร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่การยึดอำนาจ พวกกูเรียกว่า กบฏ ฉะนั้น พวกกูก็มากบฏได้” – เกื้อ เพียวพังก์ กล่าวระหว่างการแจมกับวง Blood Soaked Street of Social Decay

แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อระบบการปกครองที่เป็นอยู่ตอนนี้อย่างตรงไปตรงมา

งานนี้จัดขึ้นโดยใคร เราเองก็ไม่ทราบ

แต่ที่รู้คือจุดประสงค์ของงาน ว่าเป็นการประท้วง-ต่อต้านรัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน

รัฐบาลนี้กำลังจะมีอายุครบ 4 ปีในอีกไม่กี่สิบวันที่จะถึงนี้ หากเป็นรัฐบาลพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่เราชอบหรือเกลียดมากน้อยแค่ไหน ยังไงกลุ่มคนเหล่านั้นก็จะต้องก้าวลงจากตำแหน่ง และส่งต่ออำนาจในมือให้กับกลุ่มคนที่พวกเราเหล่าประชาชนเป็นผู้เลือกเข้าไปทำงานแทนเป็นคนบริหารประเทศต่อไป…

ซึ่งเรื่องเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 4 ปีของรัฐบาลชุดนี้

จึงเกิดเป็นคอนเสิร์ตพังก์ใต้ดินเพื่อเตือนสติให้ใครต่อใครหลายคนได้รู้ว่า

“ก็ทนรัฐบาลทหารมาได้นานเท่าวาระของรัฐบาลปกติแล้ว แล้วทีนี้จะกลับไปใช้กฎเกณฑ์แบบปกติของสังคมกันได้หรือยัง?”

ตอนที่เข้าไป วง Killing Fields แธรชเมทัลทุ่งสังหารขาโหดกำลังทำการแสดงอยู่

ที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าแปลกกว่างานดนตรีใต้ดินงานอื่นที่เคยไปก็คือ ในงานมีพวกลุงๆ ป้าๆ ที่ไม่ได้เป็นคอเพลงแนวนี้มายืนเชียร์วงยืนเฮกันอยู่ด้านหลังด้วย

โชว์ของ Killing Fields ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกับตำรวจซักเท่าไหร่

เพราะเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ค่อยมีข้อความอะไรที่ถูกส่งถึงผู้จัดมากนัก

แต่โชว์ถัดมาของ Blood Soaked Street of Social Decay นี่แหละที่ดูจะเข้าตากรรมการเสียเหลือเกิน

เพราะมาแบบพังก์/ไกรนด์คอร์สับแหลก กับเนื้อเพลงง่ายๆ ร้องตามกันได้ทั้งงาน

เช่น “มึงทำเพื่อใคร” / “รัฐบาลชาติห-า รัฐบาลหน้าเ-ีย” / “เผด็จการ จงออกไป —!” อะไรแบบนี้เป็นต้น

เล่นเอาคุกรุ่นทั้งหน้าเวที

จนต้องคอยหันมองไปด้านหลังเป็นระยะๆ ว่าจะมีตำรวจบุกเข้ามารวบไหมน้า

แล้วก็มาถึงคิวของวงปิดในงานวันนี้อย่าง อนาธิปไตย ที่มาพร้อมหน้ากากปิดบังใบหน้า โชว์ไม่เดือดเท่า Blood Soaked

แต่เนื้อหาและลีลาก็ถือว่าเอาคนดูอยู่ไม่แพ้กัน

วงนี้มีกิมมิกเป็นการชูมือสองข้าง ข้างหนึ่งเป็นนิ้วกลาง ข้างหนึ่งเป็นสามนิ้วแบบภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games แบบที่เราเคยเห็นกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองใช้กันอยู่พักหนึ่ง

ช่วงท้ายโชว์ของอนาธิปไตยมีการจุดไฟเผาป้ายไวนิลงาน ซึ่งเป็นภาพของผู้นำ เผากันจนขาด ฉีกโยนไปโยนมา กระทืบหน้าเล่นระบายอารมณ์กันเต็มที่

จบเพลงสุดท้ายไปยังมีคนหยิบเศษมาเผากันอยู่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าคงไม่มีอะไรแล้ว ก็เลยเดินออกมาขึ้นรถเมล์สาย 509 กลับฝั่งธนบุรีอย่างสบายใจ

พอกลับถึงบ้านเปิดเฟซบุ๊กดูก็พบว่ามีการ ‘เกม’ (คำสแลงไว้ใช้เวลามีเรื่องเหี้ยเกิดขึ้นกับใคร) ว่านักดนตรีที่แสดงในงานนี้ถูกตำรวจพาตัวไป สน.ชนะสงคราม

เหตุการณ์นี้น่าสนใจระหว่างนั้นทุกคนยังอยู่ในอาการ clueless (มึน–ไม่รู้เรื่องรู้ราว) ว่าโดนนำตัวไปด้วยเรื่องอะไรกันแน่

การร้องเพลงเสียงดัง พูดคำหยาบ ด่านายกฯ ผิดด้วยหรือ (แต่ก็มีโอกาสหากเป็นเรื่องหมิ่นประมาท อันนี้ก็ต้องมาพิจารณากันในเรื่องของคำพูดและเนื้อเพลงที่ใช้ระหว่างการแสดง)

แต่สุดท้ายทุกคนก็ถูกปล่อยตัวแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง

ไม่มีใครถูกตั้งข้อหาอะไรทั้งนั้น เท่ากับว่าเหตุการณ์บานปลายในตอนท้าย

ทำให้งานครั้งนี้ถูกบอกต่อกันเป็นวงกว้างยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว เพราะสำนักข่าวใหญ่ๆ ก็เล่นเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ยินดีกับพังก์เกื้อ ด้วยครับ ข่าวนี้รูปโคตรเด่น 555

 

ขณะที่เกื้อ เพียวพังก์ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “เพลงนี้ที่ trubue ใหม่คงเป็นอาวุธได้สินะ ศิลปินวง Artis Doom Song Police bastard กีตาร์และเสียงสับกลอง มันทำให้พวกท่านต้องเจ็บช้ำใช่ไหม ความคิดทางดนตรีก่อให้เกิดการจลาจลได้ด้วยเหรอ ผมอยากรู้มากเลย ท่านใช้อะไรวัด ตลับเมตรหรือไม้บรรทัด หรือสันดานที่ต่ำช้า ทำตามอารมณ์ งานนี้ผมได้มิตรภาพและเชื่อเลยว่าประเทศเราจะไม่ฉิบหายเพราะคำว่าสี่”

ด้านเพจ “จะสี่ปีแล้วนะไอ้สั–” แอดมินได้เล่าว่า

“จะเล่าให้ฟัง เมื่อคืนคอนเสิร์ตเราเดือดมาก โดยเฉพาะช่วงของวง Blood Soaked Street Of Social Decay ที่พูดถึงตัวละครต่างๆ ในรัฐบาลทหารมีพี่เกื้อ เพียวพังก์ ขึ้นไปแจมบนเวทีด้วย

ข้างล่างคนก็มอชกันนัวเนีย จนเกิดความรู้สึกไม่สบายใจกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งทหารและตำรวจที่ยืนดูงาน (บ่นกับคนจัดว่าทรมานชิบหายมายืนเฝ้างานพวกคุณ)

ผลก็คือทั้งวงและผู้จัดงานถูกเชิญตัวไป สน.ชนะสงคราม เพื่อให้ปากคำ

แต่ท้ายสุดไม่สามารถดำเนินคดีอะไรได้ เช่น ถ้าหมิ่นประมาท หรือเผารูปประยุทธ์ ลุงตู่ก็ต้องมาเป็นคนฟ้องร้องเอง

ไม่มีการตรวจสารเสพติดอย่างที่เขาโพสต์ๆ กัน เป็นการเชิญตัวไป สน. พอเป็นพิธี”

 

ยังดีที่เรื่องจบพอเป็นพิธี

หากมีการดำเนินคดีและป้องผู้นำอย่างไม่ลืมหูลืมตา

โดยไม่เข้าใจว่าเหล่าพังก์ร็อก ต่างมีลักษณะท่วงทำนองที่รุนแรง หยาบกระด้าง

ขบถ ป่าเถื่อน และพูดกันตรงๆ ไม่ว่าจะวิจารณ์สังคมการเมือง ความรัก เพศสัมพันธ์

พังก์ถูกเปรียบเป็นนักปฏิวัติวัฒนธรรม เผชิญหน้ากับสิ่งที่เขามองว่าเป็นความมืดของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม พวกอนุรักษนิยม ข้อห้ามทางเพศ

พวกเขาพร้อมขุดสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตีแผ่อย่างล่อนจ้อน

พังก์จึงเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เฉพาะตน อย่างยิ่ง

มิได้แพร่หลาย หรือได้รับความนิยมมากมายนัก

ปล่อยให้แสดงออกแล้วก็จบภายในกลุ่ม

แต่พลันที่ตำรวจรู้สึกต้องปกป้อง “การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม”

จากเรื่องเฉพาะกลุ่ม กลับกลายเป็นเรื่องสาธารณะโดยกว้าง

จากเสียงหยาบคาย “จะ 4 ปีแล้วนะไอ้สั–” ที่คงไม่สอดคล้องกับเหล่าไทยนิยมสักเท่าไหร่

กลายเป็นเรื่องกระซิบดังๆ ให้ได้ยินกันทั่ว

4 ปีแล้วนะจ๊ะ!!!