“อลงกรณ์ พลบุตร” มอง กปปส.มีพลัง-ส่งผลต่อ ปชป. / รัฐบาลแห่งชาติ (ไม่ง่าย) แต่ว่ามีโอกาสมากกว่าวิกฤตครั้งไหนๆ

อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธาน สปท. และอดีต ส.ส. หลายสมัยมองปรากฏการณ์การโยกย้ายของอดีต ส.ส. เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ๆ ว่า “เหมือนกับทุกยุคทุกสมัย ที่แต่ละพรรคการเมืองต้องการ-พยายามที่จะดึงอดีต ส.ส. แม้ว่าจะอยู่ต่างพวกต่างกลุ่มกัน แต่ถ้าหากว่าเป็นคนที่มีศักยภาพในการเลือกตั้ง ธรรมดาที่พรรคการเมืองจะต้องการขุนพลเหล่านี้ เฉกเช่นในอดีตที่มีการดูด-ดึง จะใช้คำไหนก็สุดแท้แต่ เพื่อเตรียมขุนพลไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่เพื่อที่จะชนะในการเลือกตั้ง”

“ดูจากสถิติในอดีตที่ผ่านมาการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะมีบุคคลหน้าใหม่เข้ามาในสนามประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าในโลกของปัจจุบันนี้ที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างสูง จากผลสำรวจความคิดเห็นโพลต่างๆ ค่อนข้างจะตรงกันว่ามีบุคคลประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเลือกพรรคใดเลย”

“เพราะฉะนั้น ผมมองว่าการที่ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะออกมาเป็นอย่างไร ปัจจัยที่ต้องคำนึงคือ 1.บุคคลที่เป็นผู้นำทางการเมืองของแต่ละพรรค 2.ขึ้นกับนโยบาย 3.ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมในอดีตของนักการเมืองคนนั้น และที่สำคัญผมคิดว่าประชาชนเองมองไปข้างหน้า”

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ามีปัจจัยมากก็คือปัจจัยเรื่องของความกลัว คือ 1.กลัวว่าบ้านเมืองจะกลับไปสู่ความแตกแยกแบบเดิม ขัดแย้งกันรุนแรงเหมือนเดิม 2.ปัญหาเรื่องของการคอร์รัปชั่น และ 3.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ”

“สำหรับประเด็นที่จะมีการต่อสู้อย่างรุนแรงและจะทำให้ประชาชนต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาอย่างสูงก็คือการชูการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ตรงนี้จะเป็น keyword สำคัญอย่างยิ่ง แต่เราเองไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ซึ่งเมื่อคำนึงถึงระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ใช้แบบแบ่งสันปันส่วนผสม ไม่สามารถแยกได้ระหว่างรักพรรคกับรักตัวบุคคล ประชาชนต้องตัดสินใจเป็น Zero sum Game ในเรื่องของเขตเลือกตั้ง”

“ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะเหลือเพียงแค่ 2 แนวทางที่ผมมองคือว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเมื่อนั้นประชาชนจะตัดสินใจง่ายขึ้น”

: มุมมองต่อประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคขนาดใหญ่ เมื่อการเลือกตั้งไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากก็จะต้องตั้งรัฐบาลผสม พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นทางเลือกพอๆ กับพรรคเพื่อไทยว่าจะเข้าร่วมในรัฐบาลแบบผสมหรือไม่ ที่ผ่านมาพรรคขนาดกลางอย่างที่เราเห็น เขาก็ออกตัวว่าพร้อมจะเป็นรัฐบาลกับทุกพรรคอยู่แล้ว

การที่พรรคการเมืองใดจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ จะเกิดหลังการเลือกตั้งเสมอ และผมเข้าใจได้ในจุดยืนของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะต้องแสดงความชัดเจนในการที่จะไม่สนับสนุนเผด็จการ

ส่วนภาพในอดีตที่ผ่านมาเคยเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายและตอบสังคมให้ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ประกาศจุดยืนว่าเป็นพรรคในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด

เมื่อมีการเลือกตั้งก็จำเป็นที่จะต้องยืนอยู่ในจุดดังกล่าวและต้องประกาศให้ชัดเจน

ส่วนประชาชนจะตัดสินอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ส่วนตัวผมมองว่าตัวแปรประการสำคัญ อันหนึ่งคือการที่พรรคเพื่อไทยยังไม่มีหัวหน้าและยังไม่มีความชัดเจนในการนำพรรค รวมถึงยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะผันแปรไปเช่นใดอีก

ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ (ซึ่งอาจจะเป็นคนเดิมก็ได้) ยังมีตัวแปรเหล่านี้ที่เราไม่สามารถฟันธงได้

แต่แน่นอนที่สุดโดยสมการทางการเมืองหรือสูตรทางการเมืองและแนวทางของรัฐธรรมนูญขณะนี้ ต้องยอมรับว่าพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ของรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าพรรค คสช. ผมคิดว่าจะเป็นพรรคใหญ่พรรคหนึ่งเพราะว่ามีความพร้อมในเชิงของอำนาจ มีความพร้อมจากการเป็นรัฐบาลปัจจุบัน มีความพร้อมในเรื่องของทุน

ขณะเดียวกันขึ้นอยู่ที่ความนิยมของนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังพอมีเวลาอีกพอสมควร มองแนวทางและปัจจัยที่มีขนาดนี้ก็มีแนวโน้มสูงว่า พล.อ.ประยุทธ์จะกลับมา

ส่วนสูตรที่เคยพูดกันว่าสองพรรคใหญ่ร่วมมือกันต้านไม่เอา คสช. ในทางทฤษฎีเป็นไปได้เมื่อคำนึงว่าต้องการยืนตรงข้ามกับรัฐบาลปัจจุบันในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ว่าในทางปฏิบัติไม่ง่ายนักเนื่องจากมีตัวแปรอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาสมาชิกพรรคที่สนับสนุนทั้ง 2 พรรคใหญ่ ผมมองว่าไม่ง่ายที่จะร่วมมือกัน มันต้องใช้เวลาอีกพอสมควรเพราะว่าการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ที่รุนแรงมากมีการแบ่งฝ่ายแบบสุดโต่งมากๆ จนถึงขนาดมีการใช้ความรุนแรง เกิดขบวนการประชาชนรวมกลุ่มกันของทั้งสองฝ่ายต่างฝ่ายต่างมีบาดแผล แนวทางร่วมกันมองว่ามีโอกาสมีไม่มากเลย

: กปปส. ตัวแปรสำคัญของประชาธิปัตย์?

ผมคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้นที่ กปปส. จะเข้ามามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพรรค ส่วนใหญ่ของ กปปส. เดิมก็คือกลุ่มเดิมที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น การที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ผมมองว่า กปปส. จะมีพลังพอสมควร แต่ว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันเขาก็ทราบปัญหานี้มาโดยตลอด และพยายามที่จะพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเขาคงไม่ต้องการให้เกิดการต่อสู้กันเองเนื่องจากศึกใหญ่กำลังจะมา

และผมมองว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์หลายท่าน อาทิ นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะมีบทบาทต่อการตัดสินใจของสมาชิกพรรค

ทุกท่านยังมีอิทธิพลอย่างมากที่จะช่วยทำให้พรรคไม่เกิดปัญหาในอนาคต แต่ก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกและสาขาพรรครวมถึงอดีต ส.ส. ที่จะต้องตัดสินใจ และการวาง Position ของพรรค ว่าต้องการชนะเลือกตั้งหรือไม่? หรือเพียงต้องการรักษาความเป็นเอกภาพเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ตรงนี้เป็นความท้าทายที่สมาชิกพรรคจะต้องตัดสินใจ การสร้างความกล้าหาญทางการเมืองหรือจุดยืนที่แน่ชัดรวมถึงการปฏิรูปพรรค 3 เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าต้องการที่จะกลับมาเป็นพรรคการเมืองหมายเลข 1 ของประเทศ

เมื่อถึงสนามเลือกตั้งแล้วผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะวางเป้าหมายให้เป็นพรรคหมายเลข 1 ก่อนและให้เป็นทางเลือกของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ประชาชนพึ่งหวังได้มีความก้าวหน้าทันสมัย

เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ของพรรคประชาธิปัตย์จะมีผลต่อการวาง Position ในครั้งหน้าและจะมีผลต่อโฉมหน้าการเมืองไทยต่อไป

: “รัฐบาลแห่งชาติ” กระแส หรือแค่โยนหินถามทาง?

ผมมองว่าครั้งนี้มีโอกาสมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาเวลาเกิดวิกฤตในบ้านเมือง รัฐบาลแห่งชาติไม่ง่ายเพราะว่าเมื่อการเลือกตั้งใกล้จะมาถึงแล้ว บางพรรคได้ประกาศจุดยืนชัดเจนแล้วว่าจะยืนอยู่อย่างไร และให้ประชาชนได้เห็นความชัดเจน

ดังนั้น การจะมีรัฐบาลแห่งชาติ ถ้าพรรคการเมืองหลักไม่ร่วมด้วยโอกาสจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

เพียงแต่ว่าในคราวนี้มีตัวช่วยก็คือรัฐธรรมนูญและก็ปัจจัยความกลัวต่างๆ ที่ผมกล่าวไปตอนต้น ที่ประชาชนมีความรู้สึกหวาดกลัวการเมืองในรูปแบบเก่าๆ ตรงนี้เองที่ยังเป็นโอกาส แม้จะไม่มากสำหรับการเปิดทางให้เกิดรัฐบาลแห่งชาติ เพราะยังไงเลือกตั้งแล้วประชาชนอยากจะให้พรรคที่ตัวเองเลือกและได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นรัฐบาล

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พรรคใหญ่ในอดีตประชาธิปัตย์เคยแข่งกับพรรคชาติไทยก็ไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงเหมือนในสมัยเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ในตอนนี้ เพราะฉะนั้น เราก็เห็นความเป็นรัฐบาลผสมระหว่างประชาธิปัตย์และชาติไทยในอดีต หรือว่าประชาธิปัตย์กับความหวังใหม่ ส่วนโอกาสที่จะเห็นคู่ต่อสู้ใหญ่ของ 2 พรรคใน พ.ศ. นี้มาร่วมรัฐบาลกันเหมือนในอดีตคงไม่ง่ายนัก เพราะว่าการต่อสู้เกินขอบเขตของการที่จะมาจับมือกันได้ในเวลาอันสั้น

แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่า 2 พรรคใหญ่ว่าจะมีใครเป็นผู้นำ และจะมีความเปลี่ยนแปลงพรรคไปอย่างไร ตรงนั้นจะเป็นคำตอบในท้ายที่สุด

ซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคต้องฟังมวลชนของตัวเองและฟังสมาชิกพรรค และผมมองว่าความยืดหยุ่นของพรรคประชาธิปัตย์มีมากกว่าพรรคเพื่อไทย

เพราะฉะนั้น โอกาสที่พรรคเพื่อไทยถ้าหากไม่สามารถได้เสียงข้างมากแบบเด็ดขาดจะมีโอกาสเป็นพรรคฝ่ายค้านสูงมาก

ฉะนั้น เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยต้องออกแรงมากเป็นพิเศษ