ปิฎก “มหายาน” : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

จากการศึกษาของเสถียร โพธินันทะ มหายานมีพระธรรมไม่ครบ 3 ปิฎก คือขาดวินัยปิฎกไป ถึงแม้ว่าฝ่ายมหายานจะกล่าวว่ามีวินัยของพระโพธิสัตว์อยู่ก็ตาม

เพราะเรื่องวินัยโพธิสัตว์นั้นเป็นส่วนหนึ่งที่กล่าวไว้ในพรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับฝ่ายบาลี)

เรียกว่า “พรหมชาลโพธิสัตว์ศีล” (ฮ่วมหมังพู่สักก่าย) นี้ประเภท 1 อีกประเภท 1 เรียกว่า “โยคโพธิสัตว์ศีล” (ยู่แคพู่สักก่าย) ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ปกรณ์พิเศษของนิยายวิชญาณวาทินเท่านั้น

ไม่มีวินัยปิฎกที่จัดเป็นหมวดหมู่อย่างกับของฝ่ายสาวกยาน

เพราะฉะนั้น สังฆกรรมต่างๆ มีอุปสัมปทากรรม เป็นต้น มหายานต้องใช้คัมภีร์วินัยของสรวาสติวาทบ้าง ของธรรมคุปตะมหาสังฆิกะและมหิศาสกะบ้าง

วินัยปิฎกของนิกายเหล่านี้ได้ถูกแปลถ่ายทอดสู่ภาษาจีน ส่วนวินัยหรือปาฏิโมกข์ของโพธิสัตว์นั้นก็มีลักษณะแตกต่างกันบ้าง ในพรหมชาลโพธิสัตว์ปาฏิโมกข์จัดเป็นครุกาบัติ 10 และลหุกาบัติ 48 รวม 58 สิกขาบท

ส่วนในโยคโพธิสัตว์ปาฏิโมกข์ จัดเป็นครุกาบัติ 4 ลหุกาบัติ 43 และมีสมยศีลของลัทธิพุทธตันตระอีก

ศีลโพธิสัตว์นี้เป็นศีลาภรณ์ทั่วไปทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต เทวดา ยักษ์ นาค สุบรรณ ฯลฯ แม้จะต้องครุกาบัติเป็นปาราชิกในโพธิสัตว์สิกขาบทก็สามารถทำคืนได้ด้วยการสมาทานใหม่ ไม่เหมือนกับภิกขุปาฏิโมกข์ซึ่งทำคืนอีกมิได้

ทั้งนี้ เพราะถือว่าสิกขาบทของภิกษุเป็นเพียงในเขตจำกัดของปัจจุบันชาติ

ส่วนสิกขาบทของโพธิสัตว์นั้นไม่จำกัดชาติเลย ยกตัวอย่าง ครุกาบัติปาราชิก 4 ของโยคโพธิสัตว์สิกขาบท มีดังนี้คือ

ประการ 1 พระโพธิสัตว์มีความโลภในลาภสักการะ สรรเสริญแล้วพูดยกย่องตัวเอง ตำหนิติเตียนผู้อื่น ต้องปาราชิก

ประการ 2 พระโพธิสัตว์มีมัจฉริยะความตระหนี่ในทรัพย์สมบัติที่ตนมี หรือตระหนี่วิทยาความรู้ เมื่อมีสัตว์ผู้ยากไร้มาปรากฏสมควรจะบริจาคทรัพย์ที่ตนมีช่วยเหลือ แต่ไม่บริจาคก็ดี หรือมีสัตว์ผู้ใคร่ธรรมมาปรากฏ ตนเป็นผู้รู้ธรรมมิบริจาคธรรมก็ดี ต้องปาราชิก

ประการ 3 พระโพธิสัตว์เป็นผู้หนักในความโกรธ อาฆาต พยาบาท ประทุษร้ายสัตว์ด้วยวาจาและอาวุธทำให้บาดเจ็บ หากมีผู้อื่นมาห้ามปราม มิเชื่อ คงมีจิตผูกเวรไว้ ต้องปาราชิก

ประการ 4 พระโพธิสัตว์คัดค้าน ติเตียน โพธิสัตว์ปิฎกทั้งปวง กลับยินดีเชื่อถือในสัทธรรมปฏิรูป ธรรมที่คล้ายคลึงดุจสัจธรรม เกิดศรัทธาขึ้นเองก็ดี ผู้อื่นให้เกิดขึ้นก็ดี ต้องปาราชิก

ทั้ง 4 ข้อนี้เมื่อเทียบกับปาราชิกของภิกขุแล้ว ก็รุนแรงกว่ากันมากนัก

อนึ่ง ในโยคโพธิสัตว์สิกขาบท ในหมวดลหุกาบัติว่าด้วยปาณาติบาต มีข้อความที่ประหลาดอยู่ตอนหนึ่ง ดังแปลเอาใจความมาดังนี้

ถ้าพระโพธิสัตว์เห็นโจรร้ายประกอบด้วยโลภะจะประหารสัตว์เป็นอันมากก็ดี จะประหารพระสาวก พระปัจเจกพุทธ พระโพธิสัตว์ก็ดี หรือจะลงมือสร้างอนันตริยกรรมก็ดี เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นเช่นนี้พึงตรึกนึกว่า “ถ้าอาตมะจะประหารชีวิตของหมู่พาลนี้อาตมะก็จักต้องตกนิรยาบาย ครั้นมิประหารเล่า เขาก็จักก่ออนันตริยกรรม ได้เสวยทุกขวิบากอันใหญ่ อาตมะควรประหารเขาเสียยอมตนตกนิรยภูมิ มิยอมให้เขาก่ออนันตริยกรรม”

พระโพธิสัตว์พึงมนสิการเช่นนี้แล้วพึงประกอบด้วยกุศลจิตหรืออพยากติจิต มีหิริโอตตัปปะและเมตตาจิตแล้วประหารชีพเขาเสีย ดังนี้ ไม่เชื่อว่าล่วงโพธิสัตว์สิกขาบทจักบังเกิดกุศลเป็นอันมาก

อนึ่ง พระโพธิสัตว์เห็นผู้มีอำนาจยศศักดิ์ใหญ่ปราศจากเมตตา กระทำการเบียดเบียนประชาสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อน พึงบังเกิดเมตตาจิตมุ่งปรารถนาต่อสันติสุขของประชาสัตว์ แล้วพระโพธิสัตว์พึงแก้ไขตามกำลังสามารถหรือขับไล่ออกจากตำแหน่ง

เช่นนี้ ไม่ชื่อว่าล่วงต่อโพธิสัตว์สิกขาบท จักบังเกิดกุศลเป็นอันมาก

จากนี้จึงเห็นได้ว่า แม้จะไม่มีวินัยปิฎกอย่างที่เสถียร โพธินันทะ สรุป แต่ข้อบัญญัติอันดำรงอยู่ก็เข้มงวด

รุนแรงยิ่งกว่าในเชิงเปรียบเทียบ เพราะอยู่บนพื้นฐานแห่ง “โพธิสัตว์”

ความเข้มงวดอันวางความเชื่อมั่นอยู่ที่ความเมตตากรุณานั้นเอง ส่งผลให้มหายานตีความวินัยและวัตรปฏิบัติกระทั่งล่วงไปในจริยธรรมและศีลธรรมมาก

ดังในกรณีของโจร ดังในกรณีของผู้มีอำนาจยศศักดิ์ใหญ่