ธุรกิจพอดีคำ : “ฮิปโป”

และนี่ก็เป็นครั้งที่ 8 แล้ว

สำหรับการจัดคลาสเรียน “ความคิดเชิงออกแบบ”

หรือ “ดีไซน์ ธิงกิ้ง (Design Thinking)”

กระบวนการสร้าง “นวัตกรรม” ที่ใช้กันแพร่หลายที่ “ซิลิคอน วัลเลย์”

จนถึงวันนี้

ผมและเพื่อนๆ ผู้มีประสบการณ์กว่าสิบชีวิต

เราสอน “นวัตกร” ที่อยากจะไป “สร้างสรรค์” ธุรกิจใหม่ๆ

รวมแล้วกว่าสองร้อยคน

จากหลากหลายองค์กรชั้นนำของประเทศไทย ในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม

ทั้งธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ ห้างสรรพสินค้า เฟอร์นิเจอร์ ไอที เกษตร พลังงาน

ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่องค์กรใหญ่ๆ ในประเทศ ค่อนข้างตื่นตัวดีทีเดียว

การเรียนการสอนของเรา เป็นแบบ “การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Experiential Learning)”

แทนที่เราจะอธิบายให้เข้าใจ แล้วลงมือทำ

กลับกัน เราจะให้ลงมือทำเลย แล้วค่อยมานั่งคุยกันทีหลัง ว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง

ซึ่งได้ผลดีมาก คะแนนห้าเต็มห้า ทุกครั้งตั้งแต่จัดมาปีกว่า

และเชื่อมั้ยครับ ทุกครั้งผู้เข้าร่วมจะมี “ความเห็น” ที่เหมือนกันเสมออยู่หนึ่งอย่าง

“ชอบมากครับ ได้เรียนรู้อะไรที่ไม่เคยรู้มากมายเลย

“แต่ว่า…”

การคิดค้นอะไรใหม่ๆ ในโลกยุคดิจิตอลนั้น

หลายครั้งไม่ได้อาศัย “ประสบการณ์” ในอดีต

แต่อาศัย “การทดลอง” กับลูกค้าโดยตรงเลย

ลาสโล บอค (Laszlo Bock) ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายบุคลากรของบริษัท “กูเกิล”

เคยเขียนไว้ในหนังสือ “เวิร์ก รูลส์ (Work Rules)” บอกเล่าเรื่องราวการทำงานในบริษัท “กูเกิล” อย่างน่าสนใจเรื่องหนึ่ง

คือเรื่อง “ฮิปโป”

ช้างน้ำ ฟันซี่ใหญ่ จอมขี้เกียจ

ไม่ใช่ครับ อะแฮ่ม

ที่จริงแล้ว คำว่า “ฮิปโป” ในที่นี้ เป็นตัวย่อภาษาอังกฤษ “HIPPO”

ย่อมาจาก “Highest Paid Person”s Opinion”

หรือ ความเห็นของผู้มีเงินเดือนสูงที่สุด

ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีตำแหน่งที่สูงที่สุดนั่นเอง

เขาบอกว่า ที่บริษัท “กูเกิล” จะไม่เชื่อสิ่งนี้ในการตัดสินใจเหมือนองค์กรอื่นๆ

“ฮิปโป” ควรจะเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

เพราะ “ประสบการณ์” ของฮิปโป ที่อาจจะใช้ได้กับงานในอดีต

อาจจะไม่ถูกต้องสำหรับ “อนาคต”

สิ่งที่ “กูเกิล” ใช้สำหรับการตัดสินใจ ไม่ได้ตั้งอยู่บน “ความเห็น” ของคนหัวโต๊ะ

แต่อยู่บน “ข้อมูล” ที่ได้จากการ “ทดลอง” มาแล้วกับลูกค้า ว่าแบบไหนดี และไม่ดี

ที่บริษัท “กูเกิล” และบริษัท “เน็ตฟลิกซ์ (Netflix)”

ทั้งสองบริษัทเคยประสบปัญหาการตัดสินใจที่ล่าช้าขององค์กรอย่างรุนแรง

จนถึงขนาดว่า ต้องจัดการขั้นเด็ดขาดเหมือนๆ กันหลายครั้ง

นั่นคือ “การไล่ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Management) ออกยกแผง”

ทั้งสองบริษัทเชื่อว่า ในโลกที่ “อนาคต” เป็นเรื่องไม่แน่นอน

“ความเร็ว” ในการตัดสินใจ คือสิ่งชี้เป็นชี้ตายขององค์กร

เมื่อมี “ผู้บริหารระดับกลาง” ที่เพียงแค่คอยออกความเห็น แต่ไม่กล้าตัดสินใจ

การ “ไม่มี” อาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า

องค์กรจะ “แบน (flat)” โดยทันที

เมื่อ “ลำดับชั้น” ในการตัดสินใจน้อยลง

แน่นอน “ความรอบคอบ” และ “ความเห็น” ก็จะน้อยลงตามมา

แต่ “ความเร็ว” ที่เป็น “หัวใจ” ก็จะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

ถ้าจะให้พูดถึงนักธุรกิจคนหนึ่ง ที่มี “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นเลิศ

เป็นทั้ง “ศิลปิน” ที่ใช้สมองซีกขวา

และ “ผู้บริหาร” ที่ใช้สมองซีกซ้าย

ผมจะนึกถึง “พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์” เสมอ

หลายคนรู้จักพี่จิกในฐานะนักแต่งเพลง นักเขียน จากวงเฉลียง

แต่อีกมุมที่คนทั่วไปอาจจะรู้น้อยกว่า

คือ พี่จิกเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “เวิร์คพอยท์” มากับคุณปัญญา นิรันดร์กุล

ถ้าพูดถึงในเชิงธุรกิจ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจพันล้านทีเดียว

พี่จิกเคยเขียนมุมมองเรื่อง “ความคิดใหม่ๆ” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ความคิดใหม่ๆ นั้นบอบบางเหลือเกิน

แค่การทำหน้านิ่วคิ้วขมวดใส่

หรือการถามเบาๆ ว่ามันจะเป็นจริงได้หรือ

ก็อาจทำให้ความคิดใหม่ๆ นั้นเหือดหายไปกับอากาศได้

หน้าที่ของเราจึงต้องปกป้องความคิดที่บอบบางเหล่านั้นไว้ก่อน

เราจึงสามารถจะนำมันไปเปลี่ยนแปลงโลกรอบๆ ตัวเราได้”

คำพูดนี้บ่งบอกถึงแนวคิดของนักบริหารคนหนึ่ง ที่ต้องอาศัย “ความคิดสร้างสรรค์” ในการทำงาน

ไม่ใช่กับแค่ตัวเอง แต่กับ “ทีมงาน” ด้วย

ความคิดใหม่ๆ เมื่อมันยังเด็ก

มันอาจจะดูไม่มีประโยชน์ ยังไม่แข็งแรง

แต่หากเราดูแลมันเสียหน่อย ปล่อยให้มันได้เติบโตไปสักพัก

เราอาจจะหา “ช่องทาง” การต่อยอดความคิดเหล่านั้น ให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็ได้ ใครจะรู้

ความเชื่อในเรื่องนี้ของ “หัวหน้างาน” เป็นสิ่งสำคัญ

พฤติกรรมของ “หัวหน้า” ที่มีต่อ “ความคิดใหม่ๆ” จากลูกน้อง

อาจจะเป็น “จุดเริ่มต้น” หรือ “จุดจบ” ของ “นวัตกรรม” ก็เป็นได้

กลับมาที่ “ห้องเรียน” ของผม

“ชอบทุกอย่างที่คุณต้องสอนครับ

แต่อยากให้หัวหน้ามาเรียน”