สุรชาติ บำรุงสุข : ไม่มีฤดูใบไม้ผลิที่ซีเรีย! สงครามและการปฏิวัติ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวในนามของชาวตูนิเซียหรือชาวอียิปต์ แต่ข้าพเจ้าขอกล่าวในนามของชาวซีเรียว่า เรามีสภาวะแวดล้อมที่ยากลำบากมากกว่าประเทศอาหรับส่วนใหญ่ แต่ถึงกระนั้นซีเรียยังคงมีเสถียรภาพ เพราะอะไรหรือ? ก็เพราะว่าเรามีความเชื่อมต่อกับความเชื่อของประชาชนอย่างใกล้ชิด สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญ เมื่อใดก็ตามที่เกิดความแตกแยกระหว่างนโยบายกับความเชื่อและผลประโยชน์ของประชาชนแล้ว เมื่อนั้นจะเกิดช่องว่างที่นำไปสู่ความวุ่นวาย…”

ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด

คำสัมภาษณ์วันที่ 31 มกราคม 2011

การตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อการเมืองและความมั่นคงทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและในเวทีโลกอย่างมาก

จนหลายๆ ฝ่ายกังวลว่า การโจมตีครั้งนี้จะขยายตัวไปสู่การเผชิญหน้าที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย

และในอีกมุมหนึ่งก็นำไปสู่การแข่งขันในการสร้างอิทธิพลที่เข้มข้นมากขึ้นระหว่างสองรัฐใหญ่ในภูมิภาคคือ อิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย

ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอถึงความซับซ้อนของปัญหาสงครามซีเรียและผลกระทบที่เกิดขึ้น

ความฝันแห่งฤดูใบไม้ผลิ

หากถอยสถานการณ์กลับไปสู่จุดเริ่มต้น คงต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งชุดนี้มีจุดตั้งต้นจากการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ หรือที่เรียกกันว่า “อาหรับสปริง” (The Arab Spring)

และจุดเริ่มเกิดขึ้นที่ตูนิเซียในเดือนธันวาคม 2010 พร้อมกันนี้ก็ขยายตัวไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลกอาหรับ

ปี 2011 จึงเป็นดัง “ปีแห่งการลุกขึ้นสู้” ในการต่อสู้กับระบบอำนาจนิยม และเป็นช่วงระยะเวลาที่เต็มไปด้วยความหวัง…

ชัยชนะจากตูนิเซียสู่อียิปต์ปลุกเร้าการเรียกร้องประชาธิปไตย และการร้องหาชีวิตที่ดีกว่าในตะวันออกกลาง

หลายประเทศเกิดเป็นดังกระแสการเมืองครั้งใหญ่

และพวกเขาเชื่อว่า กระแสลมของ “ฤดูใบไม้ผลิ” จะพัดแรงทั่วทั้งภูมิภาค

อันจะเป็นโอกาสให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) ก่อร่างสร้างตัวได้ในแต่ละประเทศ

และหนึ่งในนั้นก็คือ การเรียกร้องประชาธิปไตยและลุกขึ้นต่อต้านระบบการปกครองเดิมในซีเรียที่เริ่มในเดือนมีนาคม 2011

แม้เดิมจะมีความเชื่อในหมู่นักวิเคราะห์ว่า อาหรับสปริงอาจจะไม่เกิดขึ้นในซีเรีย แต่อย่างน้อยมีปัจจัยเชิงบวกบางประการ

เช่น ประธานาธิบดีอัสซาดเองในช่วงก่อนอาหรับสปริง ได้พยายามที่จะแสดงบทบาทของตนในการเป็นนักปฏิรูป

และแสดงออกถึงการลดความเป็นอำนาจนิยมของระบบการปกครองลง

อีกทั้งรัฐบาลซีเรียเองก็พยายามสร้างบทบาทของตนในเวทีการเมืองตะวันออกกลาง ด้วยการเป็นนักชาตินิยมและต่อต้านจักรวรรดินิยมในตะวันออกกลาง

แม้ในเวลาต่อมาจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่สำคัญกับอิหร่านก็ตามที

นอกจากนี้ แม้ซีเรียจะเป็นประเทศที่มีหลากหลายความเชื่อในทางศาสนา แต่ก็เป็นสังคมที่มีลักษณะของการประนีประนอมทางศาสนา

พร้อมกันนี้รัฐบาลก็พยายามให้ความสนับสนุนแก่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ประกอบกับการประท้วงรัฐบาลในช่วงต้นนั้น ไม่ได้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

และทั้งสังคมการเมืองของซีเรียเอง ไม่ได้มีเครือข่ายของเยาวชน กลุ่มสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มเอ็นจีโอแบบในอียิปต์

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงทำให้เกิดความเชื่อว่า ไม่มีทางที่จะมี “ฤดูใบไม้ผลิ” ในซีเรียได้เลย

แต่ก็ไม่มีใครประมาณการว่า ถ้าเกิดขึ้นได้จริงๆ แล้ว อะไรจะเกิดตามมา

ในที่สุดการชุมนุมประท้วงใหญ่ก็เกิดขึ้น ในกรณีของซีเรีย (และรวมทั้งกรณีของลิเบีย) การประท้วงเริ่มในต่างจังหวัด ซึ่งต่างจากอียิปต์ที่การประท้วงก่อตัวขึ้นในเมืองหลวง

หากเปรียบเทียบในบริบทของการจัดตั้งและชุมนุมแล้ว นักเคลื่อนไหวชาวอียิปต์มีประสบการณ์อย่างมาก และได้เคยเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง

ทว่าในซีเรียและลิเบียดูจะเป็นการลุกขึ้นของประชาชนเองที่ทนไม่ได้กับระบบการปกครองเดิม จึงขาดการเตรียมการที่ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาไม่ได้เตรียมรับการปราบปรามอย่างหนักจากฝ่ายรัฐบาล และรัฐบาลตัดสินใจตั้งแต่ต้นที่จะปราบอย่างรุนแรง

การมาเยือนของฤดูหนาว

ความหวังที่จะเห็น “ฤดูใบไม้ผลิ” ในซีเรียแตกต่างออกไปจากตูนิเซียและอียิปต์ รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเด็กนักเรียน

เช่น ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2011 เด็กนักเรียนสิบคนถูกจับเพราะเขียนคำขวัญของการประท้วงในอียิปต์บนกำแพงว่า “จงร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล”

พวกเขาถูกจับและทรมาน และเมื่อผู้ปกครองนักเรียนออกมาประท้วงพร้อมกับนักเคลื่อนไหว พวกเขาก็ถูกสังหาร…

เมื่อยิ่งฆ่า คนก็ยิ่งออกมาต่อต้านรัฐบาล และการประท้วงก็ขยายตัวออกไปอีกหลายเมือง จนรัฐบาลสูญเสียบางเมืองไปอยู่ในความควบคุมของฝ่ายต่อต้าน เช่น เมืองอเลปโป (Aleppo) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ

ขณะเดียวกันสถานการณ์การต่อสู้ได้ยกระดับขึ้นเป็น “สงครามกลางเมือง” การลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้จึงเป็นดัง “การปฏิวัติ”

แต่ก็เป็นความล้มเหลว เพราะฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก อีกทั้งหลายฝ่ายในเวทีโลกเกรงว่า หากล้มรัฐบาลได้จริงแล้ว รัฐบาลใหม่ที่ดามัสกัสจะไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มสุดโต่ง

ในอีกด้านหนึ่งของการต่อสู้ก็คือ องค์ประกอบของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มีความเป็นเอกภาพ เพราะมาจากหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาชนที่ตัดสินใจเองในการลุกขึ้นสู้ กลุ่มนิยมประชาธิปไตย กลุ่มต่อต้านรัฐบาลแต่เดิมที่มีบทบาทอยู่แล้ว (เช่น กลุ่มชาวเคิร์ด กลุ่มภราดรภาพมุสลิม) กลุ่มติดอาวุธสุดโต่ง (เช่น กลุ่มรัฐอิสลาม) และกลุ่มทหารแตกทัพ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าทั้งห้ากลุ่มเหล่านี้มีวิธีการและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป

กลุ่มทหารฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้จัดตั้งเป็น “กองกำลังซีเรียเสรี” (The Free Syrian Army หรือ FSA) พร้อมกับกลุ่มติดอาวุธได้รวมตัวกันเป็น “แนวร่วมอัลนุสรา” (The Al Nusra Front)

และชาวเคิร์ดได้จัดตั้งกองกำลังของตนชื่อว่า “หน่วยพิทักษ์ประชาชนชาวเคิร์ด” (The Kurdish People”s Protection Unit หรือ YPG ในภาษาท้องถิ่น)

และอีกส่วนคือ “หน่วยพิทักษ์สตรีชาวเคิร์ด” (The Kurdish Women”s Protection Unit หรือ YPJ)

เป็นที่รับรู้กันว่า รัฐบาลสหรัฐให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม FSA และกลุ่ม YPG/YPJ ต่อมาในปี 2015 สหรัฐผลักดันให้กองกำลังของชาวเคิร์ดเข้าร่วมกับกำลังส่วนอื่นๆ

และจัดตั้ง “กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย” (The Syrian Democratic Forces หรือ SDF) อันเป็นกำลังหลักที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการยึดเมืองรักกา (Raqqa) คืนจากกลุ่มรัฐอิสลาม

ผลที่ตามมาอย่างชัดเจนจากปี 2012 ก็คือการปฏิวัติได้กลายเป็นสงครามกลางเมือง และความรุนแรงทวีมากขึ้น

รัฐบาลได้สูญเสียพื้นที่ในการปกครองหลายแห่งให้แก่ฝ่ายต่อต้าน

จนอาจทำให้รัฐบาลต้องประสบความพ่ายแพ้ได้ไม่ยากนัก

แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลซีเรียก็ตัดสินใจใช้อาวุธเคมีในการทำสงคราม และในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลรัสเซียเริ่มกังวลว่า รัฐบาลซีเรียอาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็มาจากการสนับสนุนของสหรัฐ

จนในปี 2015 รัสเซียตัดสินใจเข้าแทรกแซงด้วยการส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าสู่สนามรบในซีเรีย

พร้อมทั้งใช้อำนาจทางการเมืองยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อไม่ให้เกิดแรงกดดันจากฝ่ายตะวันตก สถานการณ์สงครามเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ดุลแห่งอำนาจหันกลับมาอยู่กับฝ่ายรัฐบาล

และตามมาด้วยปฏิบัติการยึดพื้นที่คืนและการปราบปราม…

ฤดูใบไม้ผลิที่วาดฝันไว้กลับผันแปรเป็นฤดูหนาวอย่างไม่คาดคิด

ฤดูหนาวอันโหดร้าย

สถานการณ์สงครามจากปี 2015 บ่งบอกถึงทิศทางใหม่ รัฐบาลเปิดการรุกมากขึ้น ชัยชนะในการยึดเมืองอเลปโปในปี 2016 บ่งบอกถึงการพ่ายแพ้อย่างมีนัยสำคัญของฝ่ายต่อต้าน

แล้วสงครามของฝ่ายปฏิวัติก็ค่อยๆ ปิดฉากลง

ในอีกมุมหนึ่งเมืองรักกาซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของกลุ่มรัฐอิสลามถูกปิดล้อมโดยกำลังรบของ SDF ในปี 2016 และถูกยึดคืนในปี 2017 ส่งผลให้สงครามก่อการร้ายลดระดับลง แต่ชัยชนะในการรบที่เกิดขึ้นกลับส่งสัญญาณถึงความซับซ้อนจากบทบาทของรัฐมหาอำนาจภายนอก

กำลังรบของรัสเซียมีบทบาทอย่างสำคัญในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน เท่ากับที่กำลังรบของสหรัฐมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนการโจมตีกลุ่มรัฐอิสลาม ในขณะเดียวกันกองกำลังชาวเคิร์ดก็มีความเข้มแข็งมากขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สงครามซีเรียไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความขัดแย้งภายในรัฐระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น หากแต่เป็นการทับซ้อนของการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางและการเมืองโลกอีกด้วย เพราะรัฐที่ยืนอยู่หลังคู่ขัดแย้งล้วนมีบทบาทอย่างสำคัญ จนทำให้สงครามซีเรียมีระดับชั้นของความขัดแย้งทับซ้อนอยู่อย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ดังนี้

1) ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านที่มีจุดเริ่มขึ้นจากกระแสอาหรับสปริงในตอนต้นปี 2011 อันเป็นดัง “สงครามปฏิวัติประชาธิปไตย” สำหรับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย

2) สงครามต่อต้านก่อการร้ายระหว่างสหรัฐ (และรวมทั้งประเทศตะวันตก เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส) กับกลุ่มรัฐอิสลาม หลังจากการขยายปฏิบัติการของกลุ่มที่มีมากขึ้นในปี 2015

3) การแข่งขันอิทธิพลในโลกอาหรับระหว่างซาอุดีอาระเบีย (สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน) กับอิหร่าน (สนับสนุนรัฐบาล) หรือในมุมหนึ่งอาจถูกตีความว่าเป็นการแข่งขันระหว่างนิกายชิอะห์ (อิหร่าน) กับสุหนี่ (ซาอุดีอาระเบีย) ในการเป็นผู้นำโลกมุสลิม

4) ตุรกีขยายปฏิบัติการเข้าไปในซีเรียเพื่อต้องการหยุดยั้งการขยายบทบาทของกลุ่มของชาวเคิร์ดที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเกรงว่าความเข้มแข็งเช่นนี้จะทำให้ลัทธิชาตินิยมในหมู่ชาวเคิร์ดขยายตัวเข้าไปในตุรกีมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความสำเร็จในการก่อตั้งรัฐเอกราชของชาวเคิร์ด ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบโดยตรงต่อตุรกี

5) สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในปัญหาภัยคุกคามที่เข้ามาก่อการร้ายในอิสราเอล

6) การแข่งขันทางการเมืองระหว่างสหรัฐ (สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน) กับรัสเซีย (สนับสนุนรัฐบาล) โดยเฉพาะหลังจากการขยายบทบาทของรัสเซียในปี 2015 ที่บ่งบอกถึงการฟื้นบทบาทของรัสเซียอีกครั้งในตะวันออกกลางหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น

7) การแข่งขันระหว่างรัฐใหญ่ในตะวันออกกลางทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นอกจากซาอุดีอาระเบียแล้วยังมีการ์ตา คูเวต และจอร์แดน เข้าร่วมอีกด้วย และฝ่ายรัฐบาลมีอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนหลัก สงครามซีเรียจึงทำให้รัฐในตะวันออกกลางบางส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

สภาพเช่นนี้ทำให้สงครามซีเรียมีลักษณะเป็น “สงครามตัวแทน” ทั้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านในระดับภูมิภาค และระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในระดับโลก ความซับซ้อนยังมีมากขึ้นด้วยการที่รัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีในปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งผลจากการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระของสหประชาชาติ (The Independent International Commission of Inquiry on the Syrian Arab Republic) และองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรง ได้แก่ OPCW (The Organization for the Prohibition of Chemical Weapons) พบหลักฐานของการใช้สารเคมีบางตัว โดยเฉพาะกรณีล่าสุดคือ การโจมตีเมืองดูร์มา (Douma) เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่พบการใช้สารคอร์รีนและซาริน อันนำไปสู่การโจมตีทางอากาศของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดความกังวลถึงการขยายความขัดแย้งในโลกอาหรับ และอาจนำไปสู่การยกระดับการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับรัสเซียให้มีความเข้มข้นมากขึ้น อีกทั้งปัญหาซีเรียทำให้ประชาคมโลกปัจจุบันต้องหันกลับมาสนใจปัญหาอาวุธเคมีกันอีกครั้ง

สงครามมีความซับซ้อนในตัวเองเสมอ ดังเช่นปรากฏการณ์การสู้รบในซีเรีย ขณะเดียวกันอาหรับสปริงในซีเรียที่มีทั้งความหวังและความฝันว่าจะเป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่ดามัสกัส” (The Damascus Spring) กลับกลายเป็น “ฤดูหนาวที่ดามัสกัส” (The Damascus Winter)

และเป็นฤดูหนาวอันโหดร้ายที่นำมาซึ่งสงครามและสงครามเคมี จนวันนี้อาจจะต้องยอมรับว่า ไม่มีฤดูใบไม้ผลิที่ซีเรียแล้ว!