มนัส สัตยารักษ์ : บ้านพักตุลาการ

ผมเคยไปบ้านพักผู้พิพากษาจังหวัดสงขลาท่านหนึ่งในสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า 62 ปี แต่ภาพการทำงานที่บ้านของท่านผู้พิพากษายังติดตาผมอยู่จนถึงวันนี้… ภาพที่ท่านคุกเข่าพับเพียบทำงานอยู่กับพื้นห้องนอน ท่ามกลางสรรพเอกสารรายรอบตัว

แสดงถึงการเอาจริงเอาจังกับงาน และความเรียบง่ายของการครองชีวิตสมถะและมักน้อยยิ่งกว่า “เท้าติดดิน”

และเมื่อเรา (ภรรยาและแม่ยายของท่าน พร้อมทั้ง นรต.น้องภรรยากับผม) ข้ามแดนไปช้อปปิ้งที่ตลาดปาดังเบซาร์ฝั่งอำเภอสะเดา เราผ่านแดนและซื้อของเสียภาษีถูกต้อง (ยุคนั้นไม่มีห้าง duty free) และไม่มีอภิสิทธิ์อันใด ท่านไม่แสดงตัวว่าเป็นผู้พิพากษา

และในระหว่างที่เราเดินดูและซื้อสินค้าทางฝั่งมาเลเซียนั้น ท่านถือสันโดษรอเราอยู่ที่ฝั่งไทยตามลำพัง

บ้านพักของผู้พิพากษาเป็นเรือนไม้อย่างบังกะโลขนาดกลาง ปลูกห่างกันที่บริเวณเชิงเขา คนละฟากกับชายทะเลและต้นสนใหญ่ มีทางแคบรถพอแล่นสวนกันได้ผ่านกลาง ในยุคนั้นขับรถจากบ้านพักผู้พิพากษาไปตามถนนริมทะเลจะไปถึงศาลในเวลาไม่นานนัก

ที่ผมพอจะจำได้อีกอย่างก็คือ บ้านแต่ละหลังแถวนั้นไม่มีกำแพงรั้วบอกเขตและความเป็นส่วนตัว และไม่มีสิ่งป้องกันภัยอันตรายอะไรเลย

เรารู้ได้อย่างไรว่าผู้พิพากษาจะปลอดจากภัยอันตราย? เราก็แค่สันนิษฐานกันง่ายๆ ตามธรรมดาว่า ผู้อยู่ในอาชีพสูงส่ง ตัดสินคดีความในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ น่าจะเป็นบุคคลที่ไม่มีศัตรู

ปีพ.ศ.2504-2506 ผมรับราชการเป็น ผบ.หมวด สภ.อ.ระโนด ศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา เวลาท่านขึ้นนั่งบัลลังก์ศาลในชั่วโมงผัดฟ้องฝากขัง ท่านจะพลิกหาใบคำร้องของพนักงานสอบสวน สภ.อ.ระโนด ขึ้นมาพิจารณาแบบลัดคิว

ท่านทราบดีว่าตำรวจจาก สภ.อ.ระโนด ต้องควบคุมผู้ต้องหาเดินทางด้วยเรือยนต์มาตลอดคืนและมาถึงจังหวัดเช้า (หรืออาจจะสายถ้าเรือติดหล่ม) ท่านกล่าวชี้แจงให้ทุกคนในห้องพิจารณาคดีได้รับทราบถึงเงื่อนไขและความจำเป็น “ระโนดมาไกล” บางทีท่านก็กล่าวเป็นภาษาใต้เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งทั่วกัน

ผมกับเพื่อนข้าราชการตัวเล็กๆ และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในอำเภอระโนต ยังประทับใจไม่มีวันลืม ที่ได้คุยกับท่านที่ท่าเรือของอำเภอระโนด ครั้งที่ท่านเดินทางไปดูบ้านเมือง

ท่านเกษียณอายุในตำแหน่งสูงสุดคือประธานศาลฎีกา และถึงแก่อนิจกรรมในฐานะอุปนายกราชบัณฑิตยสถาน

ก่อนหน้านั้นท่านเป็นทั้งวุฒิสมาชิก กรรมการกฤษฎีกา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตำแหน่งที่ผู้คนกราบไหว้ด้วยความเคารพนับถืออีกกว่า 10 ตำแหน่ง

ผมรำลึกถึงจริยวัตรของ “ตุลาการ” ทั้ง 2 ท่านข้างต้น ด้วยความเชื่อมั่นว่าตุลาการในวันนี้เกือบทั้งหมดเป็นอย่างนั้น ส่วนที่แปลกปลอมไปบ้าง 2-3 รายก็ถูก “ให้พ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์” ไปเงียบๆ โดยไม่เป็นข่าว

มีอยู่รายหนึ่ง เพียงมีภาพถ่ายนั่งรับประทานอาหารกับ “ทนายนักวิ่งความ” ก็ถูกคำสั่ง “ให้พ้นจากตำแหน่ง…ฯ” ไปเงียบๆ

ผมจึงรู้สึกสะเทือนใจที่มีการกล่าวหาพาดพิงไปถึงตุลาการอย่าง “เหมารวม” ด้วยถ้อยคำเสียดสีในกรณี “บ้านป่าแหว่ง” เชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่

มองภาพป่าแหว่งในมุมสูงแล้วมีภาพอื่นแทรกซ้อนเข้ามาในมโนภาพอย่างรวดเร็วเป็นลำดับวนไปมาอีก 4 หรือ 5 ภาพ…

ภาพภูเขาหัวโล้นที่จังหวัดแพร่และน่าน

ภาพภูเขาหัวโล้นที่จังหวัดชุมพรในปี 2532 ตามติดด้วยภาพความล่มสลายของหมู่บ้านและคนตายเกือบ 500 คน สัตว์เลี้ยงตายกว่า 8 หมื่นตัว ด้วยพายุหมุน “เกย์”

ภาพ “หุบเขาไฮโซ” ไม่ไกลจากป่าแหว่ง เป็นภาพอาคารบ้านเรือน รีสอร์ต โรงแรม ราว 80 แห่ง ถ้าเรามีปีกเหมือนนกแล้วบินไปทางภาคใต้แถวจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ ก็จะมีภาพคล้ายกันบนภูเขาและผาสูงชันเกลื่อนไปหมด

ภาพสวยงามเหล่านี้แม้ว่าจะเป็นการ “รุกล้ำเขตป่าสงวน” แต่ก็ไม่ถูกทำให้เป็นภาพป่าเสื่อมโทรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างหมู่บ้านป่าแหว่ง มันเป็นภาพสวยงามที่บอกสภาพความเป็น “ไม้หลักปักขี้ควาย” ของระบบราชการไทย

มีภาพ “สวนนงนุช” ที่ผมไปเยี่ยมชมเมื่อ 2 เดือนที่แล้วแวบเข้ามา ภาพสวนที่พัฒนาไปมากกว่าที่ผมเคยเห็นตอนเริ่มสร้างใหม่ๆ และครั้งที่ผมไปนอนพักหลังเกษียณ

ความสวยงามทำให้นึกถึง “เมืองในสวน” ของมาเลเซีย

หมู่บ้านตุลาการ อัยการ และข้าราชการที่ “ปุตราจายา” (Putrajaya) ซึ่งสวยงามกว่าในเมืองกัวลาลัมเปอร์ หมู่บ้านดังกล่าวอยู่ในหุบเขากว้าง พวกเขาสร้างทะเลสาบและสร้างสวนสารธาณะภายใต้ปรัชญา “เมืองในสวน” อยู่ไม่ไกลจากศูนย์บริหารราชการแห่งใหม่ และห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติและเมืองหลวงเก่าเพียง 20-25 กิโลเมตร

ทำให้ผมอิจฉาแทนข้าราชการไทยมาจนถึงวินาทีนี้

“คนมาเลย์ไม่ประท้วงเลยหรือ” ผมใช้คำถามเดิมที่เคยถามไกด์ เกนติ้ง ไฮแลนด์

“ทำได้เยี่ยมขนาดนี้จะประท้วงทำไม” คือคำตอบ

ผมค่อนข้างจะเห็นใจผู้ที่เป็นตุลาการหรือผู้พิพากษาตัวจริงเสียงจริง ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นข้าราชการสายกระบวนการยุติธรรม แต่ในฐานะที่เป็นข้าราชการที่ไม่มีบ้านพักและต้องเช่าบ้านที่เบิกค่าเช่าไม่ได้ หรือได้แต่ไม่พอ

ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องมี “ศักดิ์ศรี” ประจำตัวตามฐานานุรูป

ผมไม่กล้าวิพากษ์และวิจารณ์ข้อตอบโต้ของทุกฝ่ายในวิวาทะ “หมู่บ้านตุลาการ” เพราะเหตุและผลของแต่ละฝ่ายล้วนน่ารับฟังทั้งสิ้น แม้จะขัดแย้งกันแต่ไม่มีใครผิด ตามประสาของบ้านเมืองที่มีหลักการแบบ “ไม้หลักปักขี้ควาย” หามาตรฐานมิได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าแก้ยาก ขอให้ช่วยกันคิด

ผมคิดได้ว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยความรู้ความสามารถของ “เสี่ยโต้ง” กำพล ตันสัจจา เจ้าของ “สวนนงนุช” ให้เสี่ยโต้งไปสำรวจบริเวณ “ป่าแหว่ง” ไปดูว่าตรงนั้นเป็นป่าอะไรแน่ อุดมสมบูรณ์หรือเสื่อมโทรม เป็นทางน้ำไหลหรือไม่ ฟื้นฟูได้หรือไม่ ใช้ไม้ตุ้มขนาดใหญ่ได้หรือไม่ จะต้องปรับพื้นดินให้เหมือนเดิมหรือไม่ จำเป็นต้องรื้อบ้านหรือไม่ ถ้ารื้อต้องรื้อกี่หลังหรือรื้อทั้งหมด ฯลฯ

เสี่ยโต้งเป็นคนประเภท “จิตอาสา” ช่วยทำบ้านเมืองให้สวยงามร่มรื่นมามากมาย รวมทั้งที่เชลซี ประเทศอังกฤษ และที่ทำเนียบรัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขออย่างเดียว…อย่าเอาเซียนฮวงจุ้ย (หรืออะไรนี่แหละ) มาสั่งให้นายกฯ รื้อออกเพราะผิดฮวงจุ้ย เหมือนเมื่อครั้งกระนั้นก็แล้วกัน

ที่เสนอมานี่ไม่ใช่เอาฮานะครับ…ผมเสนออย่างซีเรียสจริงจังสุดๆ ครับ