“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทศึกษา” ครั้งที่ 13 (31) เชียงใหม่ : ทัวร์จีนตามรอย Lost in Thailand ถึง “เพื่อนสนิท”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อ “การเมืองของเชียงใหม่ : เน้นบทบาทพญามังกร”

โดยเขามองว่าเมืองเชียงใหม่เกิดการพลิกโฉมอย่างรุนแรง แทบจะรับมือนักท่องเที่ยวจีนที่ทะลักทลาย

เนื่องจากการตามรอยภาพยนตร์ชื่อก้องสองเรื่อง คือ Lost in Thailand และ “เพื่อนสนิท” ไม่ทันเลยทีเดียว

 

จากวัตเกตถึงประตูท่าแพ
เบียดลำปางแย่งซีนศูนย์ราชการ

การมาของรถไฟจากกรุงเทพฯ ทำให้เชียงใหม่เปลี่ยนหน้าตาของเมืองครั้งใหญ่ ตั้งแต่กลางสมัยรัชกาลที่ 6 จากการคมนาคมทางน้ำ มีชุมชนย่านวัตเกตเป็นศูนย์กลางความเจริญ ทันทีที่รถไฟมาถึง ถนนก็มีบทบาทแทนที่เรือหางแมงป่อง ย่านการค้าย้ายมาอยู่ประตูท่าแพ เริ่มมี “กาดหลวง” (ตลาดขนาดใหญ่) เกิดขึ้น

กระทั่งเข้าสู่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เริ่มมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2504 ที่กำหนดให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษา (เช่นเดียวกับที่กำหนดให้ลำปางเป็นศูนย์ราชการ)

แต่แล้วแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 ราวต้นทศวรรษ 2530 กว่าๆ รัฐบาลกลับมีนโยบายใหม่ รวบอำนาจให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง

โดยไม่แบ่งปันหรือกระจายความเจริญให้เมืองอื่นๆ ในภาคเหนือบ้างเลย

เริ่มจากการย้ายธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) จากลำปางมาอยู่ที่ถนนโชตนา ย้ายช่อง 8 ลำปาง มาเป็นช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ อยู่ใกล้ศูนย์อนามัยแม่และเด็ก และย้ายกองกำกับการตำรวจภูธรภาค 3 ลำปาง มาเป็นสถานีตำรวจภูธรภาค 5 เชียงใหม่

โดยลืมไปว่า การย้ายหน่วยงานหลักๆ จำนวนมากเช่นนี้ ทำให้เชียงใหม่ต้องรับภาระที่หนักขึ้น จากเดิมเป็นแค่เมืองท่องเที่ยวและเมืองแห่งการศึกษา ครั้นต้องแบกแอกอานเรื่องเมืองแห่งศูนย์ราชการแทนที่ลำปางเพิ่มอีกบ่าหนึ่ง

มุมมองจากภายนอกอาจทำให้เชียงใหม่ดูสง่างามขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เลือดตาแทบกระเด็น

 

ยุคทองแห่ง Mega Project

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง คือวาระครบรอบ 700 ปีนครเชียงใหม่

นั่นคือราวปี 2539 เชียงใหม่ได้รับคัดเลือกให้โชว์ศักยภาพการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ซึ่งยังไม่เคยมีประเทศไหนในอาเซียนที่จัดซีเกมส์นอกเมืองหลวงมาก่อน

ยุคนั้นมีผลให้เกิดการตัดถนนคันคลองชลประทาน อาคารศูนย์ประชุมนานาชาติ สนามกีฬาแห่งชาติ 700 ปี กล่าวคือ สิ่งก่อสร้างระดับ Mega Project ผุดพรายขึ้นในยุคนี้เอง

ในทศวรรษ 2540 พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล เกิดโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมครั้งมโหฬาร พวกถนนวงแหวนรอบ 1, 2, 3 อุโมงค์ลอดใต้ดิน ถนนลอยฟ้าต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงนี้ทั้งสิ้น

ไหนจะถนน Local Road เชียงใหม่-ลำพูน ที่เลียบทางรถไฟ โครงการไนท์ซาฟารี อุทยานราชพฤกษ์

รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีนด้วย “หมีแพนด้า”

 

การก่อเกิดและดับสลายของห้าง
ทุนท้องถิ่น ทุนอินเตอร์ สู่ทุนไทย

ห้างสรรพสินค้ายุคบุกเบิกในเชียงใหม่ เริ่มต้นจากการลงทุนของคนในท้องถิ่น เช่น ห้างตันตราภัณฑ์ ช้างเผือก ห้างตันตราภัณฑ์ ท่าแพ ห้างวรวัฒน์ ห้างสีสวน ห้างเหล่านี้เกิดขึ้นในยุค 2520 กว่าๆ มีจุดรวมศูนย์ที่ถนนช้างคลาน ถนนท่าแพ กาดหลวง กล่าวคือ ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมือง ตอบสนองความต้องการของชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง

ต่อมาเริ่มมี “กาดสวนแก้ว” เปลี่ยนแนวคิดจากแค่ห้างสรรพสินค้า (Department Store) มาเป็นช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ ที่มีส่วนเอนเตอร์เทนเมนต์ด้านนอกห้าง เช่น ภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ ธนาคาร ลานสเก๊ต โบว์ลิ่ง กาดสวนแก้วถือว่าไม่ใช่ทุนในท้องถิ่น แต่เป็นทุนต่างถิ่น เจ้าของเป็นชาวระยองแต่มาลงทุนในเชียงใหม่

ปัจจุบันลมหายใจของกาดสวนแก้วเริ่มรวยรินเต็มทน นั่งนับถอยหลังรอการปฏิวัติตัวเอง เพราะมีห้างใหม่ๆ อย่างเมญ่ากระแทกไหล่แทนที่ แต่ในทางประวัติศาสตร์ต้องถือว่ากาดสวนแก้วเป็นตำนานหน้าหนึ่งที่ควรจารจำ ในฐานะผู้บุกเบิกนำเอาวัฒนธรรมพื้นถิ่น เช่น สะล้อซอซึงมาขึ้นโชว์บนห้างเป็นรายแรก

เข้าสู่ยุคทุนข้ามชาติผลิบาน เกิดห้างขนาดใหญ่ขายของถูกแบบยกแพ็กยกโหลเรียงรายเป็นระยะๆ ตามถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เช่น โอชอง คาร์ฟูร์ (2 ห้างนี้ของฝรั่งเศส) แม็คโคร (เนเธอร์แลนด์) โลตัส (อังกฤษ) จนล่าสุดก็ยังมี Promenada

การที่ห้างเหล่านี้เข้ามาผงาดอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้นั้น ก็เพราะได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลยุคทักษิณ คือช่วงที่ไทยมีวิกฤตหลังฟองสบู่แตก รัฐบาลได้แก้กฎหมายขยายช่องทางให้รองรับการลงทุนของชาวต่างชาติแบบเสรี

สุดท้ายห้างเหล่านี้ก็ถูกทุนพี่ใหญ่ของไทยเทกโอเวอร์หมดแล้ว

เหตุที่ชาวต่างชาติทยอยถอนทุนออกไป ดร.ณัฐกรมองว่า เนื่องมาจากปัญหาทางการเมือง เพราะไม่อยากฝากความเสี่ยงไว้กับประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้ง เป็นการค้าที่ปราศจากความมั่นคง

 

ภาพยนตร์จับพลัดจับผลู
Lost in Thailand

ภาพยนตร์จีนตลกเรื่องนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์” ฉาก 80% ถ่ายทำที่เชียงใหม่ ใครจะเชื่อว่าหลังจากที่เข้าฉายได้เพียงไม่กี่เดือน (ปลายปี 2555) โฉมหน้าของเชียงใหม่ก็เกิดการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่

เดิมนั้น ผู้สร้างชาวจีนได้ประสานมายังกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ ตอนแรกตั้งใจถ่ายทำฉากทั้งเรื่องที่พัทยา แต่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กลับเสนอแนะไปว่า นักท่องเที่ยวรู้จักพัทยาดีอยู่แล้ว น่าจะเปลี่ยนไปใช้ฉากที่เชียงใหม่บ้าง

ในครั้งนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ต้องยอมจ่ายเงินให้บริษัทภาพยนตร์จีน 2 ล้านบาท สำหรับค่าแก้บทที่ผู้สร้างต้องเปลี่ยนแปลงสคริปต์และโลเกชั่นใหม่หมดทั้งเรื่อง

ไม่อยากเชื่อจริงๆ ว่าการลงทุนแค่ 2 ล้านนั้นคุ้มเกินคาด

เหตุที่หนังเรื่อง Lost in Thailand ตั้งแต่นาทีที่ 20 จนหนังจบด้วยความยาว 1 ชั่วโมง 40 นาที ใช้ฉากที่เชียงใหม่ตลอดเรื่อง กลายเป็นหนังที่ทำเงินถล่มทลาย รายได้สูงสุดของจีนในปี 2555 ก่อให้เกิดกระแสการอยากมาเที่ยวเชียงใหม่อย่างรุนแรงของชาวจีน

มาเพียงเพื่ออยากจะปล่อยโคมลอย (กลายเป็นสัญลักษณ์ของเชียงใหม่ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ภาครัฐพยายามห้ามปรามอยู่) ที่พระธาตุดอยสุเทพ ไปไนท์ซาฟารี และไปยืนจุ๊ยให้อาหารนกพิราบที่ประตูท่าแพ คือต้องการจำลองทุกฉากให้เหมือนกับในหนังก็ว่าได้

จากนั้นคนจีนก็ไปค้นหาภาพยนตร์เก่าๆ ที่ถ่ายทำในเชียงใหม่มาดูซ้ำด้วยความหลงใหล ไปพบภาพยนตร์ชื่อดังเรื่อง “เพื่อนสนิท” เข้า (หนังเรื่องแรกของซันนี่และนุ่น) ทั้งเรื่องเป็นฉากในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนจีนยิ่งคลั่งไคล้พระเอกนางเอก

ไปๆ มาๆ เกิดกระแส (พ่วง) เพิ่มอีกข้อหนึ่งว่า เมื่อมาเชียงใหม่ต้องไป “มช.” คนจีนเดินตามหาคณะวิจิตรศิลป์ ศาลาอ่างแก้ว ลงทุนไปเช่าชุดนักศึกษามาใส่ถ่ายรูป วิ่งแย่งกันขึ้นรถรางสีม่วงนั่งเบียดกับนักศึกษา จนผู้บริหาร มช. ต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการจัดรถรางบริการนำเที่ยวชาวจีน (สีเขียว) ใน มช. ที่คิดอัตราค่าบริการแยกออกไปจากรถรางของนักศึกษาเสียให้รู้แล้วรู้รอด

นี่คืออีกหนึ่งคำตอบว่า มันอะไรกันนักกันหนาหนอ ที่จู่ๆ มช. ก็กลายมาเป็นสถานที่ลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนถวิลหา แหม! ที่แท้ก็เพราะ “ภาพลักษณ์ชุดนักศึกษา” ของ “แม่ดา กานดา กับพ่อไข่ย้อย” นี่เอง

 

จากไม่ถึงหมื่นพุ่งพรวดเป็นหกแสน

ข้อมูลสถิติการมาเชียงใหม่ของนักท่องเที่ยวชาวจีน ย้อนหลังก่อนปี 2556 มากันปีละไม่ถึงหมื่นคน แต่หลังจากหนังสองเรื่องที่บูมสุดๆ ในจีน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนทะลักล้นมาเที่ยวเชียงใหม่เรือนแสน สถิติปีล่าสุด 2560 มีจำนวนมากถึง 6 แสน!

เบียดแชมป์อเมริกันที่ปกติมาเชียงใหม่มากที่สุดปีละ 2 แสน กระเด็นกระดอนไป เหตุเพราะชาวอเมริกันและยุโรปจะไม่นิยมเที่ยวประเทศที่มีปัญหาการเมือง เดินขบวนประท้วง เป่านกหวีดตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงรัฐประหาร 2557 นักท่องเที่ยวอเมริกันและยุโรปเริ่มหาย

ในทางกลับกัน นักท่องเที่ยวจีนมีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ โดยไม่สนใจว่าใครเผด็จการหรือใครจะทำรัฐประหาร ไม่มีสิ่งใดสามารถหยุดยั้งความตั้งใจของทัวร์จีนได้ ไม่มีคำว่า Low Season หมอกควันช่วงปลายกุมภาพันธ์ถึงต้นเมษายน ที่พวกยุโรป-อเมริกันรังเกียจรังงอนนักหนา

แต่ทัวร์จีนไม่ระย่อ หมอกควันก็ไม่หนี มรสุมก็จะมา

 

ผลกระทบของจีนต่อเชียงใหม่

ปัญหาคือทัวร์จีนที่หลั่งไหลมาเชียงใหม่คล้ายสายน้ำนี้ มีทั้งเข้ามาแบบถูกต้อง และไม่ถูกต้อง พวกถูกต้องคือจำนวน 6 แสนคนต่อปี ที่มาทางเครื่องบิน แล้วพวกที่ขับรถมาเองแบบทัวร์คาราวานอีกล่ะ ไหนจะพวกที่ข้ามโขงผ่านกาสิโนลาวมาแล้วไม่ยอมกลับอีกล่ะ

นอกเหนือจากการมาเที่ยว ชาวจีนเริ่มเล็งเห็นช่องทางการตลาด

จึงดำเนินธุรกิจในนาม “นอมินี” เกิดกระบวนการรับจ้างสมรสกับสตรีไทย เพื่อให้ได้สิทธิ์ทำธุรกิจ ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องรักกัน

เป็นไปตามนโยบายรัฐจีนที่เน้น Going Out Policy เนื่องจากประเทศจีนแออัดเกินไป รัฐจึงผลักดันให้ประชากรหาช่องทางไปทำมาหากินต่างแดน แล้วส่งเม็ดเงินกลับคืนมาตุคาม อย่าลืมว่าจีนเป็นประเทศที่กดปุ่มประชากรตนเองได้

สภาพเชียงใหม่ ณ ขณะนี้ กลุ่มทุนจีนน้อยใหญ่กำลังทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยถือหุ้น 49% ให้คนไทยถือ 51%

ธุรกิจหลักๆ คือ ซื้อขายเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก คอนโดฯ โรงแรม รีสอร์ต ภัตตาคาร สวนน้ำ ชิปปิ้ง ขายอุปกรณ์เครื่องจักร เหมืองแร่ ทำสวนองุ่น การจัดหาน้ำสำหรับการเกษตร การดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ

ในแง่บวก มองเผินๆ แล้ว ธุรกิจจีนน่าจะทำให้เกิดแหล่งการจ้างงานขนาดใหญ่ในภาคเหนือมิใช่หรือ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนงานที่พวกจีนจ้างก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนจีน ลาว พม่า ที่ติดสอยห้อยตามกันมาด้วยค่าแรงราคาถูก

เม็ดเงินของนักท่องเที่ยวจีนว่ากันตามจริงนั้น ตกอยู่ในมือคนเชียงใหม่น้อยมาก เพราะทัวร์จีนหัวหมอพอที่จะไปไหนมาไหนก็จะใช้แอพพลิเคชั่น นั่งแกร๊บ แท็กซี่ เข้าร้านอาหาร โรงแรม ล้วนแล้วแต่จ่ายผ่านบัตรเครดิต แทบไม่พกเงินสด นานๆ ทีจะยอมควักแบงก์เขียวใบละยี่สิบซื้อสับปะรดตามรถเข็น หรือเรียกรถแดง

ก็ในเมื่อไทยเสียเปรียบจีนแทบทุกด้านซะขนาดนี้ แล้วไยจะยังทนคบกับจีนอยู่อีกเล่า

 

ดร.ณัฐกรตอบว่า เรายืนหลังพิงฝามานานแล้ว ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะเราถูกบอยคอตจากยุโรปอเมริกันนานกว่าครึ่งทศวรรษแล้ว ตราบที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

และในขณะที่เรามองว่าทัวร์จีนไร้คุณภาพ เถื่อน ถ่อย ทุเรศทุรัง แต่จีนกลับเชิดหน้าทระนงว่า พวกเขาต่างหากที่เป็น “ตำรวจแห่งเอเชีย” ต้องคอยมาดูแลประเทศอนารยะทั้งหลายแถบแม่น้ำโขง ที่ยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เป็นดินแดนค้ายาเสพติด มาเฟีย และฆาตกรรม

จีนมองว่าพวกเขาคือเทพเจ้าที่เข้ามาพลิกฟื้นทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ปลอดยาเสพติด มีความสันติสุข มีความปลอดภัย โดยจีนอ้างเสมอว่าเขาได้พยายามเสนอโครงการระเบิดเกาะแก่งกลางลำน้ำโขงให้แล้ว เมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น ก็จะประกอบธุรกิจได้ดีขึ้น แต่ช่วยไม่ได้ที่ไทยปฏิเสธ

ลึกๆ แล้วจีนยังมีทฤษฎีแห่งความเป็นมหาอำนาจซ่อนอยู่ ภายใต้ม็อตโตที่ว่า ใครที่สามารถควบคุมใจกลางของโลกได้ คุณก็จะเป็นเจ้าโลก One Belt One Road