ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ไม่มีอารยันแท้ และทมิฬถาวร ในชมพูทวีป

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เพิ่งจะมีรายงานที่ชื่อว่า “The Genomic Formation of South and Central Asia” (รูปแบบของจีโนมในเอเชียใต้ และเอเชียกลาง) ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับ “จีโนม” (Genome) ของมนุษย์โบราณ เปรียบเทียบชาวอินเดียปัจจุบันจำนวนหลายร้อยตัวอย่าง เพื่อหาคำตอบว่า ชาวอารยัน ซึ่งมักจะเชื่อกันว่าเป็นบรรพชนของชาวอินเดียเหนือ ที่มีผิวขาว ผมและนัยน์ตาสีอ่อน ได้อพยพเข้ามารุกรานแล้วขับไล่ชาวดราวิเดียน (Dravidian) หรือพวกทมิฬ (คำว่า ดราวิเดียน เกิดจากการที่ชาวตะวันตกเติมปัจจัย -ian ต่อท้ายคำว่า “ทราวิฑ” หรือ “dravida” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำที่ใช้เรียกพวกทมิฬ) ที่ว่ากันว่าเป็นบรรพชนสายตรงของพวกอินเดียใต้ ที่มีผิวดำ ผมและนัยน์ตาดำ ลงไปทางตอนใต้ของชมพูทวีปจริงหรือเปล่า?

โดยงานวิจัยที่ว่านี้ก็เป็นการร่วมมือกันของทีมนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชั้นนำของโลก อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์), MIT และสถาบันวิจัยชั้นนำต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกา อินเดีย และยุโรป เป็นต้น จำนวนรวมถึง 92 คนเลยทีเดียว

ส่วนเจ้า “จีโนม” ที่ว่านี่ก็คือชุดของ DNA ทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของทุกๆ เซลล์ โดยจีโนมของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดนั้นจะมีขนาดของจีโนมที่แตกต่างกัน

ส่วนสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันนั้น จะมีลักษณะของจีโนมที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงมีคำเปรียบเปรยที่ว่า จีโนมนั้นก็คือแบบพิมพ์เขียว (blueprint) ของสิ่งมีชีวิตเลยทีเดียว

และงานวิจัยชิ้นที่ว่านี้เขาก็ศึกษาโดยใช้ตัวอย่างจากจีโนมของมนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อหลายพันปีก่อนในพื้นที่บริเวณอินเดียและดินแดนอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้, อิหร่านตะวันออก, อุซเบกิซสถาน, เติร์กเมนิสถาน และคาซัคสถาน จำนวนรวม 612 ตัวอย่าง (คน) มาเปรียบเทียบกับจีโนมของชาวอินเดียในปัจจุบัน ที่มาจากหลากหลายพื้นที่ จำนวน 246 คน

ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจทีเดียวนะครับ

เพราะผลการวิจัยสรุปออกมาได้ว่า ในอินเดีย (ที่จริงแล้วควรจะเรียกว่าชมพูทวีป หรือภูมิภาคเอเชียใต้) ในอดีต มีประชากรหลักอยู่ 3 กลุ่มที่ผสมปนเปกันจนทำให้เกิดเป็นบรรพชนของชาวอินเดียเหนือ และอินเดียใต้ในภายหลังต่างหาก

 

ประชากรกลุ่มแรกที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ กลุ่มชาวพื้นเมืองเอเชียใต้ ที่ใช้ชีวิตเริ่มแรกด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ และมีความเชื่อมโยงอยู่กับชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะอันดามัน

ในขณะที่ชนกลุ่มที่สองเคลื่อนย้ายมาจากเทือกเขาซากรอส (Zagros) ในประเทศอิหร่านปัจจุบันนี้ พร้อมกับนำเทคโนโลยีการปลูกข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์มาด้วย

จากนั้นชนกลุ่มที่สาม คือพวกที่อาศัยแบบเร่ร่อนหมุนเวียนตามทุ่งหญ้าสเตปป์แถบเอเชียกลาง และทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน ที่เราเรียกว่าพวกอารยัน จึงค่อยเคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นชนกลุ่มท้ายที่สุด

ที่สำคัญก็คือ ผลการวิจัยทางจีโนมชิ้นนี้สรุปให้เราเห็นภาพด้วยว่า ประชากรพื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus Civilization) ซึ่งถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมอินเดียทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากการผสมกลมกลืนกันระหว่างพวกหาของป่า ล่าสัตว์ ชาวพื้นเมืองภูมิภาคเอเชียใต้กับพวกเกษตรกรจากเทือกเขาซากรอส

และต่อมาเมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว พวกอารยันจึงค่อยเข้ามาผสมเข้ากับกลุ่มชนในลุ่มน้ำสินธุ จนกลายเป็นบรรพชนของชาวอินเดียเหนือ

ในขณะที่ประชากรที่ผสมผสานจนแยกกันไม่ขาดเหล่านี้กลุ่มหนึ่งได้อพยพลงใต้ แล้วไปผสมกับพวกหาของป่า ล่าสัตว์ พื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางใต้ของอินเดียอีกทอด จนกลายเป็นบรรพชนของชาวอินเดียใต้ในปัจจุบันนั่นเอง

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว งานวิจัยข้างต้นก็ไม่ใช่งานชิ้นแรกที่ชี้ให้เห็นถึงการผสมผสานที่ว่านี้นะครับ เพราะหลังจากยุคอาณานิคมเป็นต้นมา ก็ได้เริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดที่ว่า พวกอารยันได้เข้ามารุกรานพวกดราวิเดียนพื้นเมือง จนกลายพวกอารยันได้กลายเป็นบรรพชนของชาวอินเดียเหนือ และชาวทมิฬ หรือดราวิเดียนได้กลายเป็นบรรพชนของพวกอินเดียใต้แล้ว

หลักฐานสำคัญคือ “คัมภีร์ฤคเวท” ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในพระเวททั้ง 4 อันประกอบไปด้วย ฤคเวท คือบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าต่างๆ, สามเวท ซึ่งเป็นบทสวดถวายน้ำโสมให้แก่เทพเจ้า โดยเฉพาะพระอินทร์, ยชุรเวท ที่ว่าด้วยวิธีการประกอบยัชญพิธีต่างๆ และอาถรรพเวท อันเป็นส่วนที่ว่าด้วยคาถา และเวทมนตร์ ทั้งในแง่ของการรักษาโรคภัย คำสาป และการไถ่ถอนคำสาปต่างๆ

คัมภีร์ฤคเวทถูกนักสันสกฤตศึกษาจำแนกว่าเป็นคัมภีร์ประเภท “สังหิตา” (Samฺhita) คือคัมภีร์ที่ถูกรวบรวมขึ้นจากเนื้อหาที่มีที่มาหลายส่วน จากหลายทิศทาง โดยส่วนใหญ่มักจะเชื่อกันว่าเรียบเรียงขึ้นเมื่อระหว่าง 3,500-3,000 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือช่วงที่สันนิษฐานกันว่า พวกอารยันได้เข้ามาสู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วนั่นเอง

(อย่างไรก็ตาม งานศึกษาในยุคหลังบางชิ้นก็ได้แสดงให้เห็นว่า ค่าอายุข้างต้นนั้นถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่มีที่มาและที่ไปอันเหมาะสม เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น เป็นสำคัญ แต่กลับเหมาะสมอย่างพอดิบพอดีสำหรับแนวคิดแบบอาณานิคม และการสร้างยุโรปให้เป็นศูนย์กลางของโลก ทั้งที่ข้อความหลายตอนในคัมภีร์ฤคเวทนั้นอาจมีอายุถึง 4,000 ปีที่แล้ว หรือเก่าแก่ไปกว่านั้นก็ได้)

 

ไม่ว่าคัมภีร์ฤคเวทจะมีอายุเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลในคัมภีร์เรื่องดังกล่าว มีความหลากหลายมากเสียจนกระทั่งหลายตอนก็มีเนื้อความที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งก็เป็นเพราะรวบรวมมาจากบทสวดอ้อนวอนถึงเทพเจ้าจากหลากหลายชุมชน ที่อยู่ในเครือข่ายจักรวาลวิทยาเดียวกัน จนเกิดกลายเป็นคัมภีร์ฤคเวทขึ้นมา

เรื่องราวต่างๆ ที่ถูกร้อยเรียงขึ้นเป็นคัมภีร์ฉบับสำคัญที่ว่านี้ จึงมีระหว่างบรรทัดที่กอปรขึ้นจากเบื้องหลังทางสังคมวัฒนธรรม ที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์กันระหว่างพวกอารยัน และดราวิเดียน (ซึ่งเมื่อพิจาณาจากหลักฐานทางจีโนมแล้ว ก็ย่อมหมายถึงพวกที่ผสมกันระหว่างชนชาวล่าสัตว์ หาของป่าพื้นเมืองในเอเชียใต้ กับเกษตรกรจากเทือกเขาซากรอส) ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นด้วยนั่นเองนะครับ

เฉพาะในส่วนของการศึกษาถึงคัมภีร์ฤคเวท ในแง่ของภาษาเองนั้น ปราชญ์และนักวิชาการในสำนักคิดแบบอาณานิคมแต่เก่าก่อน ก็เชื่อกันมาแต่เดิมว่า เป็นบทสวดภาษาสันสกฤตแบบคลาสสิค ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European) ของพวกอารยันเป็นการเฉพาะ โดยไม่มีอิทธิพลของพวกดราวิเดียนเข้ามาเจือปนเลยสักนิด

แต่ผลการศึกษาในยุคหลังความคิดแบบอาณานิคมนั้น กลับชี้ให้เห็นว่า ทั้งคำศัพท์, โครงสร้างของประโยค รวมไปถึงข้อมูลทางสัทวิทยา (phonology, คือการศึกษาเกี่ยวกับระบบของเสียง) ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ฤคเวทนั้น ก็มีอิทธิพลภาษาของชาวดราวิเดียนปะปนอยู่มากพอสมควรเลยทีเดียว

ซึ่งนั่นก็หมายความด้วยว่า พวกอารยันไม่ได้หอบเอาคัมภีร์ฤคเวทผ่านช่องเขาไคเบอร์ บริเวณชายแดนระหว่างประเทศอัฟกานิสถานกับปากีสถาน ลงมายังลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่คัมภีร์เก่าแก่ฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมทางระหว่างพวกอารยันและชาวดราวิเดียน ในแง่มุมต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมของชาวชมพูทวีปยุคนั้นต่างหาก

แน่นอนว่า การผสมผสานอย่างนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่เฉพาะในแง่ง่ามของภาษา แต่มีอยู่ในหลากหลายมิติทางสังคมวัฒนธรรมของอารยธรรมในลุ่มแม่น้ำใหญ่แห่งนี้

 

ดังนั้น ผลการวิจัย และข้อมูลหลากหลายประเภท เกี่ยวกับอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในยุคหลังแนวคิดแบบอาณานิคมเป็นต้นมา จึงต่างก็ลงความเห็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกันว่า พวกอารยันไม่ได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชาวดราวิเดียนในลุ่มแม่น้ำสินธุ ในรูปแบบของการรุกรานเลยสักนิด

ผลการวิจัยทางจีโนมใหม่ล่าสุดนี้จึงเป็นหลักฐานวิเศษที่มาช่วยยืนยันอีกแรงหนึ่งว่า แนวคิดเรื่องที่พวกอารยันเข้ามารุกรานชนชาวพื้นเมืองเดิมในอินเดีย คือพวกทมิฬนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดแบบอาณานิคมของคนขาว (ที่มีพวกอารยัน เป็นหนึ่งในอุดมคติสำคัญ)

และมีความน่าเชื่อถือต่ำเตี้ยเรี่ยดินพอๆ กับความเชื่อที่ว่า คนไทยอพยพมาจากเทือกเขาอัลไตนั่นแหละครับ