เมนูข้อมูล : ชอบจะอยู่กับ “ความเบื่อ”

“รัฐประหาร” ครั้งล่าสุดได้ทำให้การปกครองประเทศเราอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการมาจะครบ 4 ปีเต็มในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

ทั้งที่มีความพยายามจะให้การปกครองประเทศเป็นประชาธิปไตยเหมือนนานาชาติ แต่ไทยก้าวข้ามไม่พ้นการถูกกองทัพรัฐประหาร ซึ่งทุกครั้งข้ออ้างสำคัญคือ

“ปล่อยให้ประเทศชาติอยู่ภายใต้นักการเมืองที่เห็นอำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่ได้”

สรุปกันให้ชัดๆ คือ “นักการเมืองเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม” เป็นเหตุที่ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร

ทุกครั้งมีเหตุผลเช่นนี้

และที่น่าเศร้าก็คือ “นักการเมือง” เองไม่สามารถปฏิเสธเรื่องที่ถูกกล่าวหานี้ได้ หรืออย่างน้อยได้ไม่เต็มปาก

ดังนี้เพราะ “นักการเมืองส่วนหนึ่ง” มีพฤติกรรมเช่นนั้นจริงๆ

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความคิดในการก่อตั้งพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มมาจากอุดมการณ์ที่ชัดเจน

ประเทศไทยเราไม่มีพรรคที่ให้ภาพของ “เสรีนิยม” หรือ “อนุรักษนิยม” หรือว่า “ทุนนิยม” กับ “สังคมนิยม” ที่เด่นชัดในความรู้สึกของประชาชน

แม้จะพัฒนามาสู่การเป็น “พรรคใหญ่” 2 พรรคที่แข่งกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ใช่ความแตกทางกันในเชิงแนวทาง หรืออุดมการณ์พรรคอย่างสิ้นเชิง ยังพร้อมที่จะปรับนโยบายไปได้เรื่อยๆ เหมือนๆ กัน

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ “พรรคการเมืองขนาดเล็ก และขนาดกลาง” ที่ไม่มีหลักคิดอะไรไว้ยึดถือ ขนาดที่อย่าหวังถึงในเชิงอุดมการณ์ที่แตกต่าง แค่แนวทางที่ชัดเจนยังไม่มีให้หวัง

เป็นเพียงพรรคที่พากันตั้งขึ้นมาด้วยเจตนาที่ชัดเจนคือ “สนับสนุนฝ่ายชนะ เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองเข้าร่วมรัฐบาล มีส่วนในอำนาจ” โดยแค่ “หาทางต่อรองให้ได้ตำแหน่งที่อำนวยประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

เป็นการเล่นการเมืองที่พร้อมรับประโยชน์ แต่ไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น เมื่อพรรคใหญ่มีปัญหา พรรคเหล่านี้พร้อมจะชิ่งออก และโยนบาปให้พรรคใหญ่

สามารถพลิกตัวมาเป็นแนวร่วมของฝ่ายตรงกันข้าม โดยร่วมประณามพรรคที่ตัวเองกระโดดหนีมาได้ทันทีอย่างไม่เคอะเขิน

และว่าไปตามจริง พรรคการเมืองอีหรอบนี้แหละที่เป็นต้นเหตุของวงจรอุบาทว์ ด้วยว่าขอเพียงให้ตัวเองมีอำนาจ พร้อมจะสนับสนุนทุกทางไม่ว่าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการ

ทว่าพรรคเช่นนี้ไม่เพียงไม่ตกเป็นจำเลยทางการเมืองของสังคม แต่กลับเป็นที่ปรารถนาของผู้ต้องการอำนาจ ต่างหาทางที่จะ “ดึง” จะ “ดูด” เข้าเป็นพวก เพื่อประกันโอกาสที่จะได้อำนาจ

จึงเป็นพรรคที่มีโอกาสดีเสมอในการจะไป “ดูด” ผลประโยชน์มาให้ตัวและพวกพ้อง

ที่แปลกไปกว่านั้นคือ ประชาชนที่เห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร เพราะเอือมระอากับความเห็นแก่ได้ของนักการเมือง เมื่อถึงคราวทำหน้าที่กาบัตรเลือกผู้แทนฯ กลับไม่เปลี่ยนไปเลือกคนอื่นที่ไม่ใช่คนที่ตัวเองเบื่อ

ผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ล่าสุด ในคำถามที่ว่า “ส.ส. ที่ย้ายพรรคเพราะถูกดูด มีผลต่อการตัดสินเลือก ส.ส. หรือไม่” ร้อยละ 58.81 ตอบว่าไม่มีผล มีร้อยละ 41.19 ตอบว่ามีผล

ส่วนใหญ่ยังเลือกเหมือนเดิม

เหมือนกับทื่บอกว่า “เบื่อ” และทนไม่ได้ในความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนร่วม