คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “บายศรี” สารพัน อะไร? ยังไง? ใหม่? เก่า?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

สุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านว่าบายศรี เดิมเป็นคำเขมรหมายถึงแม่ข้าวหรือผีข้าว ต่อมาลากคำบาลีสันสกฤต จาก สี กลายเป็น “ศรี” จึงกลายความหมาย เป็นข้าวขวัญ ข้าวมงคล

ถ้าว่าเอาตามนักปราชญ์ท่าน บายศรีก็คือการถวายข้าวปลาอาหารนั่นแหละ

เพียงแต่ใช้ใบไม้ใบตองเท่าที่หาได้ แทนภาชนะใส่ เหมือนเวลาเราไปกิน “ข้าวป่า” หรือไปปิกนิกนั่นเอง

ธรรมเนียมการกินอาหารโดยใช้ใบไม้นี้ เกิดจากความจำเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์โบราณ

ต่อมาก็นับเนื่องเป็นประเพณีปฏิบัติ

ในอินเดียยังนิยมทานอาหารในใบไม้โดยเฉพาะใบตอง โดยเฉพาะเวลาจัดเลี้ยงหรือในที่ชุมนุม ธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นจากการถือเรื่องความสะอาด ซึ่งไม่ใช่ความสะอาดทางกายภาพเท่านั้น ที่จริงเป็นเรื่องความคิดเกี่ยวกับชนชั้นและความบริสุทธิ์ทางศาสนามากกว่า

คือมีธรรมเนียมว่าจะไม่ทานอาหารร่วมภาชนะกับคนอื่น จึงต้องใช้ภาชนะแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งไม่มีอะไรสะดวกเท่าใบไม้ใบตองอีกแล้ว

นอกจากนี้ แม้ในบ้านช่องของตนเอง คนอินเดียก็ยังนิยมใช้ภาชนะที่ทำด้วยโลหะมากกว่าดินเผา (เว้นแต่ในชนบท) ด้วยความเชื่อว่า ภาชนะโลหะไม่เก็บซับเศษอาหาร จึงสะอาดบริสุทธิ์กว่าดินเผา

ทุกวันนี้ในประเพณีฮินดู เมื่อจะถวายอาหารเทพเจ้าที่เรียกว่า “ไนเวทยะ” (เครื่องสังเวย) หากทำแบบโบราณก็จะต้องปูใบตองรองด้วย ไม่ก็เอาใบพลูสมมุติเป็นใบตองรองอาหารเสียก่อนจึงถวาย

ในปักษ์ใต้บ้านผม ยังเห็นเวลาเขา “ทำภูมิ” หรือบวงสรวงพระภูมิประจำปี ก็ยังต้องใช้ยอดตอง ตัดมาวางอาหารที่จะเซ่นสรวงสังเวยอยู่

นักปราชญ์ท่านว่า จากการใช้ใบตองธรรมดา ก็เย็บเป็นกระทง แล้วก็เย็บแบบเย็บตัว เย็บนั่นนี่ประดับตกแต่งให้สวย จนกลายเป็นบายศรีอย่างที่เห็นในทุกวันนี้

 

ผมสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่านอกจากใบไม้แล้ว สมัยโบราณก็อาจใช้อย่างอื่นอีก เมื่อไปงานพระราชพิธีตรีปวาย ตรียัมปวาย ผมได้เห็น “ข้าวเวทย์” ที่พราหมณ์ท่านถวายพระเป็นเจ้า ท่านก็เอาข้าวสุกใส่กะลามะพร้าว แล้วเอากล้วยน้ำปักไว้ตรงกลางลูกหนึ่ง

ถามพราหมณ์ท่านก็ว่านี่ทำแบบโบราณ แล้วลองสังเกตข้าวของในพระราชพิธีก็ไม่มีบายศรีอย่างที่เราใช้แต่ประการใด ชะรอยนี่จะเป็นรูปแบบหนึ่งของบายศรีอย่างเก่า

หลายปีก่อนผมเคยอ่านบทความในศิลปวัฒนธรรม ว่าด้วยบายศรีของทางเขมร ไม่แน่ใจว่าใครเขียน แต่ได้เห็นรูปประกอบเป็นกระทงมีข้าวและมีกล้วยปักเช่นเดียวกับข้าวเวทย์ ท่านว่าเป็นบายศรี แล้วปกติจะครอบด้วยกรวยใบตองอีกที เสียดายค้นบทความนี้ไม่เจอเสียแล้ว

ในบทความนั้นอธิบายว่า กล้วยที่ปักแทนพระศิวลึงค์ ซึ่งผมไม่ค่อยปักใจเชื่อความคิดนี้ แต่ก็ได้เห็นว่าน่าจะมีอะไรเชื่อมโยงกับข้าวเวทย์ที่ไปเห็นในโบสถ์พราหมณ์

ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือบายศรีที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ หรือบายศรีต้น ซึ่งชวนให้ผมนึกถึงภาพสลักรูปหม้อเรียงซ้อนเป็นชั้นที่พบในอารยธรรมทวารวดี และที่ยังมีใช้ในพิธีต่างๆ ของอินเดียบางภูมิภาคจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในพิธีแต่งงาน

แต่เรื่องนี้ผมยังไม่ได้ค้นคว้าโดยละเอียด

 

บายศรีมีในวัฒนธรรมเกือบทุกภูมิภาคและมีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้คงเน้นเท่าที่ผมรู้ คือวัฒนธรรมบายศรีภาคกลาง ด้วยไปช่วยงานพิธีไหว้ครูพิณพาทย์มาบ้าง

ก็ “ครูพักลักจำ” มานั่นแหละครับ

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของบายศรีคือ “ข้าว” ที่เอาไว้เซ่นผี ต่อมารับพุทธพราหมณ์แล้ว ก็ใช้เซ่นเทวดาได้ด้วย เพราะเป็นวัฒนธรรมข้าวอย่างเดียวกัน และถือว่าเป็นของบริสุทธิ์พราหมณ์ไม่รังเกียจ

ครูบาอาจารย์ท่านว่า แต่ก่อนบายศรีที่ใช้กันในพิธีต่างๆ ใช้ “บายศรีปากชาม” เป็นหลัก ที่เรียกปากชามก็เพราะใช้ชามเป็นภาชนะ ซึ่งหาได้ง่ายทั่วไป

สมัยก่อนถือกันว่า คนจะทำบายศรีได้ก็ต้อง “ครอบมือ” เช่นเดียวกับวิชาช่างต่างๆ เพราะว่าเป็นของใช้ที่เกี่ยวด้วยผีสางเทวดา และเป็นวิชาโบราณ

แต่ปัจจุบันจะหาคนที่ทำบายศรีที่ครอบมือมาแล้วยาก ก็อนุโลมงดเว้นเรื่องนี้ไป

 

บายศรีปากชาม เรียกเป็น “สำรับ” ประกอบด้วย ตัวกรวย ซึ่งจะต้องใส่ “ข้าวปากหม้อ” คือข้าวสุกที่ยังไม่มีใครมาคด ตักขึ้นจากหม้อทีแรกนั่นแหละ นอกนั้นก็เป็นตัวแบบประกอบบายศรี ตัวลูกตัวแม่กี่ชั้นก็ว่ากันไปตามวิชาเชิงช่าง แล้วมีของในสำรับอีก ได้แก่ แตงกวาผ่าสามหนึ่งลูก กล้วยน้ำ (สมัยก่อนใช้กล้วยน้ำไท ปัจจุบันหายากจึงใช้กล้วยน้ำว้า) ผ่าสามหนึ่งลูก ไข่ไก่ต้มปอกเปลือกหนึ่งลูกเสียบยอด ลางทีก็มีหมากพลูบุหรี่

จะเห็นได้ว่า ที่จริงบายศรีสำรับหนึ่งก็คือข้าวและอาหารง่ายๆ ที่กินกับข้าวนั่นเอง คือกล้วย แตง ไข่ (ซึ่งเรียกกันว่า “ไข่ขวัญ”) บางท่านว่าที่ไม่ให้ใช้ไข่เป็ดก็เพราะเป็ดมันชอบไปไข่ในขี้โคลนขี้เลน ไม่สะอาดอย่างไข่ไก่ แต่บางตำราก็ให้ใช้ไข่เป็ด

บายศรีปากชามสำรับหนึ่งๆ มักใช้คู่กับ “กระยาบวช” หรืออาหารถือศีลกินบวช ไม่มีเนื้อสัตว์ปน คือ มะพร้าวอ่อน (อาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืนเคยเล่าให้ผมฟังว่า มะพร้าวอ่อนคนเก่าๆ เรียก “มะพร้าวขุนนาง” เพราะมีเนื้อบางอ่อนละมุน คนทั่วไปไม่ใคร่กินกัน คงเพราะมันเปลืองที่จะเสียมะพร้าวเอาไว้แกง) กล้วยน้ำ อ้อยควั่น ขนมต้มแดงต้มขาว (บางที่ก็มีคันหลาวและหูช้าง ซึ่งใช้ส่วนประกอบเหมือนกัน แต่ปั้นคนละแบบ) แกงบวดต่างๆ ถั่วงา เผือกมัน ฯลฯ

มักมีผู้ถามผมว่า กล้วยในเครื่องกระยาบวชหรือเครื่องสังเวยต้องเป็นกล้วยสุกหรือไม่ ผมก็ตอบว่า ในปัจจุบันพ่อค้าแม่ขายเขากลัวของจะเสีย ก็เร่งตัดกล้วยดิบกล้วยห่ามมาขาย เราเลยซื้อไปแล้วเข้าใจว่าต้องใช้แบบนั้น

เช่นเดียวกับอ้อยเขาตัดมาเป็นท่อนๆ ไม่ปลอกเปลือกก็เพราะมันจะได้ไม่เน่าเสียง่าย แต่โบราณเขาใช้ “อ้อยควั่น” เพราะมันกินได้ทันที เราไม่เข้าใจก็ใช้ทั้งอย่างนั้น

บางท่านถือว่าบายศรีเป็นภูมิจักรวาลจำลอง คือกรวยนั้นเป็นเขาพระสุเมรุ ตัวแบบบายศรีคือ เขาสัตตบริภัณฑ์ และว่ามีตัว “แมงดา” ที่ตัดด้วยใบตองแสดงให้เห็นว่าด้านล่างนั้นเป็นนทีสีทันดร แต่ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นการ “ลากเข้า” อินเดีย โดยไม่จำเป็น

 

บายศรีปากชามมีศักดิ์ศรีใช้ได้กับทุกพิธีการ จะเทพชั้นสูงระดับไหนก็ได้ รวมทั้งผีเจ้าผีทั้งหลายก็ใช้ได้ เพราะโบราณใช้เครื่องสังเวยรวมกันในพิธีหนึ่งๆ

ดังนั้น สาระของบายศรีจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวใบตองหรือรูปทรงของมันนะครับ แต่อยู่ที่ข้าวปลาอาหารซึ่งบรรจุอยู่ในนั้น และในงานพิธีหนึ่งๆ หรือเครื่องสังเวยหนึ่งชุดก็ใช้เพียงสำรับเดียวเท่านั้น

ในบางงานที่เราเห็นตั้งบายศรีสองสำรับ ก็เพราะตั้งเครื่องสังเวยเป็น “คู่” นั่นเอง จึงต้องมีบายศรีสองสำรับไปด้วย

บายศรีปากชามในปัจจุบันมีผู้ทำขายโดยทั่วไป และขายเป็นคู่เสียด้วย ท่านที่ซื้อไปก็เอาไปไหว้ไปตั้งสังเวยทันที ถ้าคิดเสียว่าเป็นเครื่องประดับเหมือนแจกันดอกไม้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านมุ่งหมายว่าเป็นเครื่องสังเวย

เทวดาและผีคงจะงงว่าจะให้ฉันกินอะไรหรือ มีแต่ใบตอง

นอกจากบายศรีปากชาม ก็มีบายศรีต้น ซึ่งทำเป็นชั้นๆ ซึ่งก็มีลักษณะเดียวกันคือแต่ละชั้นมีไว้ใช้ใส่ข้าวปลาอาหารแต่มักใช้ในพิธีที่สำคัญ เช่น แต่งงานหรือทำขวัญนาค

บางครั้งในพิธีพราหมณ์ที่เน้นสังเวยเทพยดาตามคติฮินดู ผมเห็นพราหมณ์สยามท่านก็เอาไข่ขวัญออกเสีย แล้วแทนด้วยดอกไม้ เข้าใจว่าท่านเปลี่ยนให้ตรงตามคติฮินดูแบบอินเดียซึ่งเป็นมังสวิรัติที่ไม่กินไข่แต่กินนมกินเนย

นอกจากนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบายศรีพรหม บายศรีนาค บายศรีธรรมจักร ฯลฯ ผมคิดว่าเป็นของประดิษฐ์ใหม่ทั้งนั้น

 

บายศรีเหล่านี้แพร่ขยายมากครับในวัฒนธรรมเจ้าทรงของไทย และได้กลายเป็นสาระสำคัญของงานเจ้าทรงซึ่งมีไว้แสดงความโอ่อ่าของเจ้าภาพ โดยลืมไปเสียแล้วว่า สาระของบายศรีคือข้าวปลาอาหาร

ถ้าเน้นว่าเป็นของประดับอย่างดอกไม้เครื่องสดทั้งหลาย ด้วยความเข้าใจเช่นนี้ก็โอเคครับ อย่างที่ผมมักเน้นบ่อยๆ จะทำอะไรให้รู้ไว้ก่อนแล้วเลือกเอา แต่ถ้าคิดว่าเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในเครื่องสังเวยและเป็นของเก่าของแก่คงเข้าใจผิดสักหน่อย

ที่สำคัญ ผมเคยได้ยินเขาพูดถึงราคาพวกบายศรีเหล่านี้ ฟังแล้วก็ตกใจเพราะมันแพงเหลือหลาย ใครจะบวงสรวงสังเวยจัดพิธีก็จะได้ทราบว่ามันไม่ได้จำเป็น จะได้ไม่สิ้นเปลืองหรือโดนหลอก

เว้นแต่ชอบและกระเป๋าหนักก็ไม่ว่ากัน