เศรษฐกิจ /ส่งออกไทยแรงไม่ตก ขยับใหม่โต 8% บนมรสุม สงครามค้า-บาทแข็ง-น้ำมันพุ่ง

เศรษฐกิจ

ส่งออกไทยแรงไม่ตก

ขยับใหม่โต 8%

บนมรสุม สงครามค้า-บาทแข็ง-น้ำมันพุ่ง

 

ภาพรวมการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2561 และถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ เช่นเดียวกับปี 2560

เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี และเป็นการดีขึ้นในทุกภูมิภาคพร้อมๆ กันทั่วโลก ทำให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆ มากขึ้น และทำให้การค้าขยายตัวตาม

โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลก อยู่ที่ 3.9% จากเดิมคาดไว้จะขยายตัว 3.5% และสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.8%

เฉพาะประเทศไทย ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ 3.9% เป็นการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นตามทิศทางการส่งออกและท่องเที่ยว

ขณะที่การบริโภคในประเทศ และการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมทั้งโครงการการลงทุนภาคเอกชน ทยอยฟื้นตัวกระเตื้องขึ้น สอดคล้องไปกับภาพรวมการส่งออกไทย ในช่วงไตรมาสแรก 2561

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคม มีมูลค่า 20,101.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

เดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 20,365.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.26%

จนถึงเดือนมีนาคม ทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 22,362.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.06%

ทำให้ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ไทยส่งออกแล้วรวม 62,829.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.29%

ซึ่งการส่งออกไทย ตลอดไตรมาสแรกปีนี้ ถือเป็นปีแรกนับจากปี 2555 ที่ทุกเดือนมีมูลค่าการส่งออกสูงเกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สะท้อนความถึงเศรษฐกิจและการค้าโลก ที่ฟื้นตัวเข้าภาวะขาขึ้นแล้ว!!

 

แต่เมื่อหันกลับมาดูแง่มูลค่าการส่งออกในรูปของเงินบาท ยังน่าใจหาย!!

อัตราการขยายตัวติดลบ เมื่อเข้าเดือนที่ 2 ผลจากแนวโน้มบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี มูลค่าที่ควรได้เมื่อเป็นบาทจึงหายไปมาก

โดยเดือนมกราคม ค่าบาทยังใกล้เคียงช่วงปลายปี 2560 แปลงส่งออกเป็นบาท มีมูลค่า 652,511.5 ล้านบาท ขยายตัว 7.05%

เข้าเดือนกุมภาพันธ์มูลค่าอยู่ที่ 643,705.8 ล้านบาท ติดลบ 0.56% และติดลบต่ออีก 3.99% ในเดือนมีนาคม มีมูลค่าการ 697,074.1 ล้านบาท

จึงกระทบตัวเลขมูลค่าการส่งออกรวมไตรมาสแรกรวมที่ 1,993,291.4 ล้านบาท แต่ขยายตัวเพียง 0.52% ขณะที่ส่งออกดอลลาร์ขยายเกิน 11%

แม้เมื่อแปลงค่าเงินกลับมาอยู่ในรูปเงินบาทอาจจะติดลบ แต่ด้วยปริมาณการส่งออกที่ดีขึ้น และโอกาสส่งออกยังเป็นบวกในเดือนต่อๆ ไป ทำให้ยังไม่ค่อยได้ยินเสียงบ่นจากผู้ประกอบการส่งออกมากนัก

ตรงกันข้ามหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเศรษฐกิจ เริ่มปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกใหม่

อย่างสภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับคาดการณ์ขยายตัว 8% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาท 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมคาดการณ์ไว้ 6% ภายใต้สมมติค่าเงินบาทเท่ากัน

อาจเพราะแตกต่างจากบางปี ที่ปริมาณการส่งออกไม่ดี แต่ค่าเงินบาทอ่อนที่ 33-34 บาท กลับมีเสียงบ่นมากกว่า

ยิ่งวันนี้ ค่าบาทแข็งเริ่มคลี่คลาย บาทกลับมาอ่อนค่ามากสุดในรอบปี และอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าผู้ประกอบการส่งออกยังมีกำไรเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะอ่อนตัวไปเรื่อยๆ ส่งผลดีต่อตัวเลขมูลค่าการส่งออกในรูปบาทของเดือนเมษายนและพฤษภาคมปรับดีขึ้น และอาจกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

โดยความหวังต่อทิศทางบาทอ่อนค่ายังต่อเนื่อง!!

 

ดังนั้น มุมมองต่อทิศทางการส่งออกช่วงที่เหลือของปี 2561 จึงเปลี่ยนไป ทุกสำนักเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์ในทิศทางจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแน่นอน ล่าสุด จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเห็นการส่งออกที่กระจายตัวในทุกรายการสินค้า และเห็นการกระจายตัวในทุกตลาด ธปท. จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจคู่ค้า ในปี 2561 เป็น 3.7% จาก 3.5% และการส่งออกจากเดิมประมาณการไว้ 4% ปรับเพิ่มส่งออกขยายตัว 7%

ทั้งนี้ ในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก เชื่อว่าจะเป็นแรงส่งให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวต่อ โดยหากยังสามารถส่งออกได้ทุกเดือนมากกว่าเดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ถือว่าปริมาณการส่งออกยังขยายตัวดี

เพราะหากคิดเป็นอัตราการขยายตัวรูปแบบเปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะขยายตัวไม่มากนัก จากฐานสูงในปีก่อนที่เห็นการส่งออกเริ่มทะยานตัวตั้งแต่ครึ่งหลัง 2560

 

ขณะที่ปัจจัยที่ยังต้องติดตามเชิงลบ ที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยให้พลาดเป้าหมายได้ คือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ แม้จะคลี่คลาย แต่ก็อาจปะทุขึ้นมาได้อีก จะกระทบกับบรรยากาศการค้าโลกและกระทบต่อการส่งออกของประเทศคู่ค้าหรือประเทศที่เป็นซัพพลายเชนของทั้งสองประเทศ

ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าจะลุกลามเกิดเป็นสงครามการค้า (Trade War) เห็นโทนความร้อนแรง เมื่อสหรัฐประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 25% จำนวนกว่า 1,300 รายการ คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.86 ล้านล้านบาท อาทิ สินค้าเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

ขณะที่จีนตอบโต้ทันควัน ออกประกาศมาตรการตอบโต้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ จำนวนสินค้า 128 รายการ โดยเก็บสูงสุดถึง 25% คิดเป็นวงเงินรวมกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 9 หมื่นล้านบาท

แต่เมื่อหลายประเทศแสดงความกังวลและ 2 ประเทศเห็นแล้วว่าประกัน อาจเสี่ยงเกิดเป็นสงครามการค้าและกระทบไปทั่วโลก จึงเปิดเจรจาเพื่อให้สถานการได้ผ่อนคลายลง

ฟากสหรัฐ ชะลอปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีน และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้จีนเข้ามาเจรจาได้ด้วย

จึงยังต้องรอความชัดเจนจากการเจรจาของทั้งสองประเทศว่าจะมีการเจรจาหรือหาทางออกกันอย่างไรบ้าง

ท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าต้องนำมาด้วยผลประโยชน์ทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายคงมุ่งหาผลประโยชน์ของประเทศที่มากที่สุด

 

อีกปัจจัยที่ต้องติดตามผลกระทบจากการที่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่าน และจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสูงสุดต่ออิหร่าน เกิดความเสี่ยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากความกังวลเรื่องปริมาณน้ำมันกลายเป็นซัพพลายช็อก ทำให้ราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะทะลุ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้

และระยะสั้นอาจสูงถึง 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

โดยปัจจัยเรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบเกิดการผันผวนและปรับระดับสูงขึ้นได้อีกในระยะต่อไป

ซึ่งจะส่งผลต่อประเทศไทยบริโภคราคาน้ำมันสูงขึ้น ถือว่าไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันสุทธิ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ขาดดุลการค้า

อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจชะลอในระยะสั้นได้

 

นอกจากอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวที่หนุนบรรยากาศการค้า และทำให้การส่งออกไทยขยายตัวดีแล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้การส่งออกไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน คือ การพัฒนานวัตกรรมและสินค้าให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพ

ตอบโจทย์และทันกับความต้องการของโลก ที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรม

เพราะหากไม่ปรับเปลี่ยน ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะไม่สามารถส่งออกและไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ในอนาคต