รายงานพิเศษ/ โชคชัย บุณยะกลัมพ/เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน ทดสอบจรวด New Shepard ทัวร์ท่องอวกาศไม่ไกลเกินฝัน

รายงานพิเศษ  โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

 

เจฟฟ์ เบซอส แห่งอเมซอน

ทดสอบจรวด New Shepard

ทัวร์ท่องอวกาศไม่ไกลเกินฝัน

 

กิจกรรมท่องอวกาศเชิงการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ก่อนหน้านี้เราเคยมีการพูดถึงกันเรื่องการพามนุษย์ไปทัวร์อวกาศโดยบริษัทเอกชนหลายแห่ง แต่ยังไม่มีใครกล้าคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นจริงเมื่อไร

แตกต่างจากเจ้าพ่อนักสำรวจจอมพิชิตที่สุดของโลกอย่าง Jeff Bezos (เจฟฟ์ เบซอส) เจ้าของ Blue Origin บริษัทยานอวกาศแห่งบริษัท Amazon.com (อเมซอน) ที่ล่าสุด ออกมาแสดงความมั่นอกมั่นใจว่าจะสามารถจัดทัวร์ท่องอวกาศได้

Jeff Bezos ผู้ชายที่มีวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล (มากๆ) บวกกับความมุ่งมั่นฟันฝ่าปัญหานานัปการของนักธุรกิจอีคอมเมิร์ซหนุ่มคนนี้ ที่บุกเบิกทำธุรกิจขายสินค้าออนไลน์อเมซอนดอตคอมอย่างมุ่งมั่นมาตั้งแต่ 23 ปีก่อน จนสามารถก้าวขึ้นมานั่งแท่นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกในปี 2561

เจฟฟ์เป็นคนรักการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะแนววิทยาศาสตร์ และสนใจเรื่องการประดิษฐ์ จึงทำให้บ้านที่เขาอยู่เต็มไปด้วยสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง

เป็นเจ้าโปรเจ็กต์ขนานแท้ แตกไลน์ธุรกิจมากมาย

Jeff Bezos ไม่ได้หยุดแค่ขายหนังสือและสินค้าอื่นๆ ทางออนไลน์อเมซอนดอตคอมเท่านั้น เขาได้แตกไลน์ธุรกิจออกไปหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจซีดี, ดีวีดี, ของเล่น และอิเล็กทรอนิกส์ จนทำให้ปี 2543 นิตยสารไทม์ได้เลือกเจฟฟ์ เบซอส เป็นบุคคลแห่งปี

 

ตั้งแต่ปี 2000 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว Jeff Bezos ได้ก่อตั้งและสนับสนุนเงินทุนให้กับ Blue Origin บริษัทสตาร์ตอัพที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อการส่งมนุษย์ขึ้นไปท่องอวกาศเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะ

ทัวร์ท่องอวกาศที่ทาง Blue Origin วางแผนไว้คร่าวๆ คือจรวดจะบรรทุกนักท่องเที่ยวได้ 6 คนต่อครั้ง ขึ้นไปสูงห่างจากพื้นโลกราว 60 ไมล์ ซึ่งก็คือขอบของชั้นอวกาศ โดยผู้โดยสารจะได้สัมผัสกับสภาพไร้น้ำหนักอย่างแท้จริง เมื่อกลับมายังพื้นโลกจะได้รับวิดีโอช่วงเวลาขึ้นไปท่องเที่ยวอวกาศระบบภาพคมชัดสูง (High Definition) กลับบ้านไปเป็นที่ระลึกด้วย

Blue Origin บริษัทด้านการบินอวกาศที่ประกาศตัวว่าพัฒนายานที่ใช้ได้หลายครั้งแต่ก็ ยังคงประสบปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข

ในระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ได้มีการทดสอบยิงจรวด New Shepard ทั้งสิ้น 8 ครั้ง เริ่มจากเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2015 ล้มเหลว จรวดพังเสียหาย

ครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน 2015 ด้วยจรวด New Shepard ตัวที่ 2 ประสบความสำเร็จทั้งการขึ้นและลงจอด

อีก 4 ครั้งต่อมาครอบคลุมระยะถึงตุลาคม 2016 มีการใช้ booster แบบรียูส ก่อนจะเลิกใช้จรวดตัวที่ 2 ไป และการทดลองบินครั้งที่ 7 เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ใช้จรวด New Shepard ตัวที่ 3 เป็นครั้งแรก

ในครั้งล่าสุด Blue Origin บริษัทยานอวกาศของ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com ประสบความสำเร็จในการในการทดสอบส่งจรวด New Shepard ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งที่ 8 อีกครั้ง โดยประสบความสำเร็จตั้งแต่รอบแรก และสามารถส่งจรวดขึ้นไปได้สูงสุดที่ความสูง 351,000 ฟุต ซึ่งสูงสุดเท่าที่เคยมีมา รองรับการพามนุษย์ขึ้นไปทัวร์อวกาศในอนาคต พร้อมนำกลับลงจอดบนพื้นโลกด้วยดี เมื่อ 29 เมษายนที่ผ่านมา

จึงมีเป้าหมายในการทำ ‘ทัวร์อวกาศ’ ราคาประหยัด ในอนาคตอันใกล้

 

การทดสอบการขึ้นบินที่ผ่านมาที่มีสตรีมมิ่งสดผ่าน Blue Origin บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางไปอวกาศครั้งแรกของปี 2018 นี้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

โดยในปีนี้ถือเป็นการทดสอบครั้งที่ 8 แลัวหลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วได้ประสบความสำเร็จเช่นกัน

ในการทดสอบยังคงใส่หุ่นนักบินจำลอง Mannequin Skywalker เข้าไปในจรวดเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เช่น แรงกดดัน, เสียงรบกวน, สภาพแวดล้อมเมื่ออยู่ในแคปซูล ผ่านทางเซ็นเซอร์ซึ่งติดตั้งไว้ที่ชุดนักบิน

การปล่อยจรวด New Shepard ที่บรรจุแคปซูล Crew Capsule 2.0 ที่ติดตั้งมากับหุ่นที่เคยทดสอบไปก่อนหน้า นอกจากนี้ ทาง Schmitt Space Communicator ยังได้ทดสอบการใช้งานอินเตอร์เน็ตไวไฟในกระสวยอวกาศอีกด้วย

New Shepard สามารถขึ้นสู่อวกาศได้อย่างราบรื่น โดยใช้เวลาทดสอบบินอยู่ราว 11 นาที จึงลงจอด ในการทดสอบจะมีมากขึ้นกว่านี้ ทำให้ช่วยเพิ่มประสบการณ์และโอกาส บริษัทตั้งเป้าหมายการขนส่งผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ไปทัวร์อวกาศให้ได้ภายปี 2019  และน่าจะสามารถให้บริการได้ในปี 2020

และสามารถเป็นทางเลือกให้กับบริษัททัวร์ท่องอวกาศต่างๆ ในการวางแผนพามนุษย์ออกเดินทางไปในอวกาศ (space tourism) – ในราคาที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับ SpaceX ของ Elon Musk และ Virgin Galactic ของ Richard Branson