การศึกษา /ถึงเวลาสรุป ข้อดี-ข้อเสีย… เปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน

การศึกษา

ถึงเวลาสรุป ข้อดี-ข้อเสีย…

เปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน

เถียงกันไม่จบ กับปัญหาการ “เปิด-ปิด” ภาคเรียนตามกลุ่มประเทศอาเซียน

หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเมื่อปี 2554 ให้เปิดภาคเรียนที่ 1 ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม จากเดิม เดือนมิถุนายน-ตุลาคม และภาคเรียนที่ 2 ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม จากเดิม เดือนพฤศจิกายน-เมษายน

โดยเริ่มนำร่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา

เหตุผลหลักๆ ก็เพื่อให้สอดรับกับการเปิด-ปิดของมหาวิทยาลัยในฉเพื่อความสะดวกเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษา และอาจารย์ มหาวิทยาลัยไทยสามารถรับนักศึกษาต่างชาติได้มากขึ้น

ส่วนผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ มหาวิทยาลัยมีรายได้เพิ่ม และยังหวังลึกๆ ว่าจำนวนนักศึกษาต่างชาติจะเข้ามาช่วยทดแทนจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง เพราะอัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ

แม้จะมีเสียงคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) โดยยกเหตุผลเรื่องการฝึกปฏิบัติการสอนของนักศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับการเปิดภาคเรียนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ซึ่งทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คงยืนยันการเปิดภาคเรียนที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 11 ตุลาคม และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 พฤศจิกายน – 1 เมษายนของทุกปี

 

ขณะที่ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ก็ออกมาต่อต้าน โดยให้เหตุผลว่าภาคเรียนที่ 2 ตรงกับช่วงฤดูร้อน ทำให้การสอนไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเดือนเมษายนมีวันหยุดมาก ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการเรียน นักศึกษาจบไม่ทันฤดูรับสมัครงาน ขาดความต่อเนื่องระหว่างอุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิต เนื่องจากต้องเรียนในสภาพอากาศร้อนจัด และเกิดปัญหาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์ไทยกับต่างประเทศ เนื่องจากมีภาระการสอนตรงกัน

ไม่ต่างจากสภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ที่สะท้อนปัญหาว่าการสอน การวิจัย และบริการวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรน้ำจำนวนมาก การเปิด-ปิดแบบอาเซียน ทำให้การจัดหลักสูตรด้านเกษตรลำบาก น้ำไม่พอ นักศึกษาเกษตรเจอปัญหาการทำกิจกรรมการเรียน และการฝึกปฏิบัติในแปลงเกษตร

รวมถึงการเรียนด้านสัตว์น้ำ เพราะไม่ใช่ช่วงการวางไข่ ส่งผลให้ไม่ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้จริง

เพื่อหาข้อสรุป ทปอ. จึงมีมติให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิจัยผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียของการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำผลวิจัยดังกล่าวออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ

 

ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหลายแห่งกลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิมมากขึ้นทุกที เริ่มจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ล่าสุดมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) ไม่นับรวมกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เกือบ 10 แห่ง ที่กลับไปเปิดภาคเรียนตามเดิมตั้งแต่ 2 ปีแรก

ขณะที่มหาวิทยาลัยทางภาคเหนือหลายแห่งเตรียมจะขอกลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิมเช่นกัน เนื่องจากมีปัญหาหมอกควันทำให้มีผลกระทบต่อการเรียน

อีกปัญหาที่พบล่าสุดซึ่งมีเสียงบ่นดังๆ มาเป็นระยะ ทั้งจากกลุ่ม มรภ. และมหาวิทยาลัยรัฐบางส่วนที่กลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิม คือระบบรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง ประจำปีการศึกษา 2561 หรือทีแคส ซึ่ง ทปอ. เป็นแม่งานกำหนดปฏิทินการสมัครเอื้อให้กลุ่มตัวเอง โดยกำหนดให้รับนักศึกษาจะไปสิ้นสุดต้นเดือนมิถุนายน

ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากมหาวิทยาลัยที่เปิดเรียนตามเดิมไม่สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้ครบทุกรอบ

 

นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) บอกค่อนข้างชัดเจนว่า มรภ. ส่วนใหญ่ที่กลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิมจะเสียเปรียบหากรับเด็กในระบบทีแคส เพราะ ทปอ. ลากกระบวนการรับนักศึกษายาวไปถึงต้นเดือนมิถุนายน ทำให้มหาวิทยาลัยที่เปิดเรียนปกติรับเด็กไม่ทัน

ขณะเดียวกันยังพบว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่บางแห่งไม่ซื่อสัตย์ แอบเปิดรับตรง โดยอ้างว่าเป็นโครงการพิเศษ หรือหลักสูตรอินเตอร์

นายวันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดี มศก. กล่าวคล้ายกันว่า การรับเด็กในระบบทีแคสมีปัญหาบ้าง อาจเพราะเป็นครั้งแรก อย่าง มศก. ยังรับเด็กได้ไม่เต็มจำนวน ต้องรอดูผลการรับในรอบต่อไป ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มศก. ได้แจ้ง ทปอ. ว่าปีการศึกษา 2563 จะกลับไปเปิด-ปิดภาคเรียนตามปกติในเดือนมิถุนายน โดยจะค่อยๆ ทยอยปรับเวลาเปิดภาคเรียน โดยปีการศึกษา 2562 เปิดเรียนเดือนกรกฎาคม ส่วนปีการศึกษา 2561 ยังเปิดเรียนเดือนสิงหาคม ตามกลุ่ม ทปอ.

“เหตุที่ทยอยปรับเวลาเรียน เพื่อไม่ให้กระทบกับเด็กที่เข้าเรียนในช่วงเปิด-ปิดตามอาเซียน การปรับครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เช่น สาขาประติมากรรมและจิตรกรรมต้องเรียนภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ และสตูดิโอของมหาวิทยาลัยไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ ทำให้กระทบกับการเรียนการสอน ขณะที่วิทยาเขตเพชรบุรี มีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ดังนั้น มศก. จึงประกาศกลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายนเช่นเดิม”

“ขณะนี้ทราบว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งก็กลับมาเปิด-ปิดภาคเรียนตามเดิมแล้ว”

 

ขณะที่นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธาน ทปอ. ย้ำว่า กลุ่ม ทปอ. ส่วนใหญ่ยังยืนยันการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนเช่นเดิม แต่ไม่ได้บังคับมหาวิทยาลัยอื่น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละแห่ง ซึ่งต้องดูบริบทของตนเอง

ทั้งนี้ ผลวิจัยของ มก. ค่อนข้างชัดเจนว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนมีทั้งข้อดี ข้อเสีย

ส่วนที่กลุ่ม มรภ. ระบุว่า ทปอ. ลากการสมัครทีแคสไปจนถึงต้นเดือนมิถุนายน ทำให้เสียเปรียบ เพราะเปิดเรียนเดือนมิถุนายนพอดีนั้น เท่าที่ดูตัวเลขกลุ่มมหาวิทยาลัยในพื้นที่ส่วนใหญ่รับเด็กเต็มตั้งแต่รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ และรอบ 2 การรับแบบโควต้า แต่ยอมรับว่าระบบทีแคสอาจมีปัญหาบ้าง เพราะเป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการ หลังจากการรับสมัครเสร็จสิ้น ทปอ. จะประเมินผล สรุปข้อดี ข้อเสีย เพื่อนำมาปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น

แม้ ทปอ. จะย้ำว่าการเลือกเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนถือเป็นดุลพินิจของมหาวิทยาลัย แต่อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยกลุ่ม ทปอ. ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยม การรวมตัวกำหนดนโยบายและทิศทางต่างๆ ของอุดมศึกษาจึงค่อนข้างมีผลกระทบในวงกว้าง และอาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่อาจถึงขั้นหมดทางจะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

เห็นด้วยว่า การตัดสินใจเปิด-ปิดภาคเรียนช่วงเวลาใด ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมหาวิทยาลัย แต่ทางที่ดีควรจะนำผลวิจัยที่ศึกษาข้อดี ข้อเสียไว้มาเปิดเผย เพื่อให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ!