อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Until the Morning Comes การสำรวจผลพวงของการบาดเจ็บ และการเยียวยาทางจิตวิญญาณ ผ่านการผสมผสานของภาพและเสียง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่น่าสนใจมา เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า

Until the Morning Comes

เป็นนิทรรศการแสดงผลงานของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ นักทำหนังทดลองชาวไทย ที่มีผลงานอันโดดเด่นในการทดลองความสัมพันธ์ระหว่างภาพและเสียง ด้วยงานด้านภาพที่มีมนต์สะกดประหลาด มักเล่าเรื่องด้วยท่าทีของการลอบมอง สร้างความกดดันและสำรวจอารมณ์ของผู้ชมผ่านความทรงจำในหลายมิติ

ทำให้ผู้ชมคล้ายตกอยู่ในภวังค์

ผนวกกับการใช้เสียงอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสียงดนตรี เสียงคน สัตว์ และเสียงตามธรรมชาติ ไปจนถึงเสียงสังเคราะห์ เพื่อสร้างความหมายใหม่ของเสียงที่มีต่อภาพ

ผลงานทุกชิ้นของเขาจึงมีความโดดเด่นทางภาพและเสียงอย่างสูง

ผลงานของไทกิมีแก่นอยู่ที่เรื่องของการชำระบาป ชีวิตหลังความตายและการหลอกหลอน

หนังทดลองของเขามักจะนำเสนอความโศกเศร้าอันน่าพิศวงของความเจ็บไข้ได้ป่วย

ดังคำกล่าวของเขาว่า

“ผมต้องการเห็นงานของผมเป็นเสมือนเขาวงกตแห่งการบันทึกความทรงจำ เป็นการสำรวจเพื่อสัมผัสรับรู้ถึงเวลาและพื้นที่ว่างที่พบได้ในการดำเนินเรื่องในบริบทต่างๆ ของประวัติศาสตร์และการเมืองไทย”

ดังเช่นในผลงานชิ้นที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักของเขาอย่างหนังสั้น A Ripe Volcano (2011) ที่มีการถ่ายทำส่วนหนึ่งในโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ครั้งหนึ่งทหารจับและทรมานผู้ประท้วง นักศึกษา และประชาชนผู้ซ่อนตัวอยู่ภายในโรงแรมในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ.2535

ส่วนนิทรรศการล่าสุดครั้งนี้ เป็นการสำรวจผลพวงของการบาดเจ็บและการเยียวยาทางจิตวิญญาณการเดินทางไปสู่คำถามพื้นฐานและความเป็นสากลเกี่ยวกับการมีชีวิตและชีวิตหลังความตายโดยอาศัยประสบการณ์และความสัมพันธ์ส่วนตัวของศิลปินเอง ผ่านผลงานศิลปะจัดวางและหนังทดลองสองเรื่องสองส่วนในสองห้องแสดงงานบนชั้นสองของหอศิลป์

ผลงานเรื่องแรกที่จัดแสดงอยู่ในห้องแสดงงานด้านนอกนั้นมีชื่อว่า Mental Traveller (2018) ซึ่งเป็นภาพของกลุ่มบุคคลที่คล้ายกับผู้ปวยที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดูคล้ายโรงพยาบาลจิตเวช

“จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้มาจากความสนใจส่วนตัว เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของเส้นบางๆ ระหว่าง Sanity (ความปกติทางจิต) และ Insanity (ความวิกลจริต) บวกกับประสบการณ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และความสัมพันธ์ของคนใกล้ชิด ซึ่งบางคนก็ล้ำไปทางด้าน Insanity แบบชั่วคราว ผมสนใจคนที่มีอาการ Dementia (จิตเสื่อม) พูดตรงๆ ก็คือพ่อผมนั่นแหละ ที่มีอาการเห็นภาพและเสียงหลอน ผมอยากจะสร้างพื้นที่ที่คนดูเข้ามาแล้วจะเห็นและได้ยิน ภาพและเสียงเหล่านี้ เหมือนสร้างอีกมิติหนึ่งให้คนได้เข้าไปสัมผัส”

ส่วนผลงานเรื่องที่สองที่จัดแสดงอยู่ในห้องแสดงงานด้านในมีชื่อว่า To the Memory of My Beloved (2018) ซึ่งเป็นภาพของพิธีกรรมที่เกิดในพื้นที่ในโบสถ์และสุสานคาทอลิก

“หัวใจสำคัญของผลงานชิ้นนี้ก็คือพิธีกรรม “วันพุธรับเถ้า” (Ash Wednesday) ซึ่งจริงๆ มาจากบทกวีในช่วงบั้นปลายชีวิตของ ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot กวีอเมริกันผู้อาศัยในประเทศอังกฤษ) ซึ่งผมชอบมาก ซึ่งมันจะใช้การ Allusion หรือการอ้างอิงถึงสิ่งต่างๆ เยอะมาก”

“จริงๆ จุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นนี้ อุทิศให้แม่ของผม แต่ภาพของครอบครัวในหนังเป็นครอบครัวของนักเรียนที่ผมสนิทสนมด้วย ซึ่งมีอาการซึมเศร้า ก้าวร้าว และอาการบอบช้ำทางจิต โดยเขาพาผมไปสำรวจพิธีกรรมในครอบครัวของเขา”

“ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอินเฟร์โน (ภาคหนึ่งของวรรณกรรม เดอะดิไวน์คอเมดี้) ของดันเต (อาลีกีเอรี) นักเรียนคนนั้นก็เปรียบเสมือนเวอร์จิล ที่กำลังพาผมไปสำรวจนรกภูมิ”

“จริงๆ ก็ไม่ใช่นรกภูมิหรอก แต่มันเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง และเขาเหมือนเป็นไกด์ที่พาเราเข้าไปสำรวจ แล้วผมก็พบว่าพิธีกรรมวันพุธรับเถ้า มันเป็นการที่คนที่มีชีวิตอยู่ พยายามจะสื่อสารและเชื่อมโยงกับคนที่ตายไปแล้ว อย่างพิธีกรรมสวดมนต์ หรือการพยายามจัดวางของในสุสาน ซึ่งเป็นการภาวนาจิตให้รำลึกถึงคนตายที่นอนอยู่ข้างใต้นั้น”

“ผมสนใจในพิธีกรรมนี้ และใบหน้าของคนเป็นที่พยายามรำลึกถึงคนที่จากไปแล้ว ที่ผมเรียกว่า Spiritual Face (ใบหน้าทางจิตวิญญาณ) หรือเรื่องของพ่อผมที่พยายามจะไถ่บาปบางอย่าง”

ดูๆ ไปประเด็นเกี่ยวกับการรำลึกถึงคนตายในผลงานหนังสั้นเรื่องนี้ของไทกิก็ดูคล้ายคลึงกับเรื่องราวในหนัง Coco (2017) ที่พูดถึงประเด็นที่ว่า คนที่ตายไปแล้วจะสูญสลายหายไป หากคนที่มีชีวิตอยู่จดจำพวกเขาไม่ได้อีกต่อไปอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน ซึ่งไทกิกล่าวว่า

“สิ่งเหล่านี้มันก็คือหัวใจของพิธีกรรมแบบนี้นั่นแหละ ไม่ต่างกับพิธีกรรมอย่างเช็งเม้ง สิ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องราวของคน แม้แต่คนในอดีต หรือความสัมพันธ์ที่เลิกรากันไป บางส่วนของเขาก็ยังอยู่ในตัวเรา”

“อย่างในประโยคของเจมส์ จอยส์ ในนิยาย “The Portrait of the Artist as a Young Man,” ที่กล่าวโดยตัวละคร สตีเฟน เดดาลัส ที่ว่า “History is a nightmare from which I am trying to awake,” คุณคิดว่าอดีตของคุณเสร็จสิ้นแล้ว ผ่านแล้วก็ผ่านเลยไป แต่จริงๆ มันยังไม่เสร็จหรอก คุณยังต้องสะสางปมบางอย่างในจิตใจของคุณก่อน”

“งานสองชิ้นนี้เป็นการสำรวจพื้นที่บางอย่าง และการพยายามหารากเหง้าและทำความเข้าใจกับอดีตของคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนรักเก่า และคนที่เราเริ่มสนิทด้วย ซึ่งพอเวลาเขาเปิดเผยแผลในชีวิตเขาให้เราเห็น มันทำให้เราคิดว่า ทำไมเราไม่เปิดแผลบางอย่างในใจของเราบ้าง เพราะถ้าไม่เปิด แผลมันก็จะไม่ได้รับการเยียวยา”

“แรงบันดาลใจอีกอย่างของผลงานชุดนี้ก็คือ เหตุการณ์ในปี 2008 ที่อดีตคนรักของผมประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต”

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเฝ้ามองความตายในระดับที่ใกล้มาก ในสภาวะที่กินเวลาเป็นอาทิตย์นั้น ผมพบว่ามันเป็นสภาวะที่ลึกลับ ไม่แน่นอน และแสดงออกถึงความเปราะบางบางอย่างของชีวิต บวกกับหลังจากนั้นที่เธอมาเล่าให้ฟังว่า ตอนที่อยู่ในสภาวะนั้น เธอจะได้เห็นภาพหลอนบางอย่างทั้งภาพและเสียง ในงานสองชิ้นนี้เราเลยจะเห็นว่ามันมีลักษณะของการเกิดภาพหลอน การเพ้อฝัน เพ้อคลั่งบางอย่างของทั้งภาพและเสียง ซึ่งผมมองว่าเป็นหัวใจของตัวงาน”

นอกจากภาพเคลื่อนไหวอันเปี่ยมไปด้วยความลี้ลับพิศวงและหลอนหลอกแล้ว องค์ประกอบอันโดดเด่นอีกประการในหนังสั้นทั้งสองเรื่องนี้ก็คือ “เสียง”

ที่นอกจากจะช่วยขับเน้นอารมณ์อันลี้ลับพิศวง

มันยังทำหน้าที่เป็นตัวสร้างความรู้สึกบีบคั้นและกดดันให้แก่ผู้ชมได้อย่างทรงพลัง

ซึ่งเสียงที่ว่านี้เป็นผลงานของยะสึฮิโระ โมรินากะ (Yasuhiro Morinaga) ศิลปินนักสร้างสรรค์เสียงชาวญี่ปุ่น ผู้เคยร่วมงานกับไทกิมาแล้วในผลงาน A Ripe Volcano นั่นเอง

“แรกเลย ผมคิดว่าความกดดันบีบคั้นเป็นความงามในรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงสร้างความตึงเครียดของเสียงเพื่อดึงให้ระยะห่างของผู้ชมกับจอแคบลง และพยายามเชื่อมโยงทั้งสองให้เข้าใกล้กันยิ่งขึ้น”

“โดยในผลงาน Mental Traveller ผมใช้เสียงของซูลลิง (Suling – ขลุ่ยไม้ไผ่ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างอินโดนีเซีย, บรูไน, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) ซึ่งเครื่องดนตรีไม้ไผ่นี้ให้เสียงที่มีความหมายในเชิงลึกลับและมีความเป็นภูมิภาคนี้อย่างมาก”

“โดยใช้ร่วมกับเสียงอิเล็กทรอนิกส์ โดยสร้างการทับซ้อนของชั้นเสียงในโทนที่ใกล้เคียงกันอย่างราบเรียบ คล้ายกับเสียงของแม่น้ำ เพื่อสร้างความรู้สึกให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนกับอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช”

“ส่วนในผลงาน To the Memory of My Beloved ผมใช้เสียงของเชลโล่ และเสียงจังหวะซ้ำๆ ที่ช่วยสร้างมิติให้กับภาพเคลื่อนไหวบนจอหนัง และก็ทำให้รำลึกถึงจังหวะของหัวใจเต้นด้วย โดยผมสร้างการไล่ระดับของเสียงที่แตกต่างกัน ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกับภาพของภูเขา เพื่อสื่อถึงเรื่องราวทางจิตวิญญาณ ที่ผมใช้สัญลักษณ์เปรียบเปรยเป็นแม่น้ำและภูเขา ก็เพราะนิทรรศการนี้มีชื่อว่า Until the Morning Comes ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติแหละนะ” โมรินากะกล่าว

และนอกจากตัวหนังสั้นและเสียงแล้ว องค์ประกอบอย่างเก้าอี้ที่เอาไว้นั่งชมงานเองก็เป็นองค์ประกอบที่ถูกจัดวางอย่างสอดคล้องกับตัวงานอย่างยิ่ง หรือแม้แต่แสงไฟตรงบันไดขึ้นไปบนพื้นที่แสดงงาน ก็ช่วยกระตุ้นเร้าความรู้สึกหลอนลึกลับให้แก่ผู้ที่ก้าวเดินขึ้นไปชมงานได้เป็นอย่างดี

“จริงๆ ทุกอย่างเราก็ออกแบบให้มีความรู้สึกแบบนั้น ทั้งไฟทางเดิน ที่ขึ้นไปเจอเก้าอี้วางเรียงราย โดยเป็นเก้าอี้ไม้โบราณ ซึ่งมีบุคลิกลักษณะที่เหมาะกับภาพบนจอ หรือลักษณะการจัดวางเก้าอี้ของห้องที่แสดงงาน Mental Traveller ที่วางเรียงคล้ายกับห้องบำบัดกลุ่มในโรงพยาบาลจิตเวชที่ผู้ป่วยนั่งกัน ส่วนห้องที่แสดงงาน To the Memory of My Beloved ก็จะจัดเรียงเก้าอี้ให้มีลักษณะเหมือนที่นั่งในโบสถ์ ที่คนเข้าไปอธิษฐานภาวนาจิตนั่นเอง” ไทกิกล่าวทิ้งท้าย

 

นิทรรศการ Until the Morning Comes จัดแสดงที่หอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ (Subhashok The Arts Centre – S.A.C.) ตั้งแต่วันที่ 5-29 เมษายน 2018 ซึ่งน่าเสียดายว่านิทรรศการของเขาจบลงไปแล้ว

แต่ยังไงถ้ามีความคืบหน้าเกี่ยวกับผลงานของเขาอีก เราจะนำมารายงานให้ทราบโดยพลัน

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์ ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ และข้อมูลบางส่วนจากบทความประกอบนิทรรศการโดยลอเรน รีด