วงค์ ตาวัน : พรรคใหม่ 3 จว.ใต้-ดูดไม่ได้แน่ๆ

วงค์ ตาวัน

ต้องนับว่าปฏิบัติการดูด กำลังเดินหน้าไปอย่างดุเดือดอย่างมาก ด้วยมีเป้าหมายคือ ต้องให้ได้จำนวนอดีต ส.ส. ที่มั่นใจได้ว่า จะได้เข้ามาเป็น ส.ส. อีกในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นฐานสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย

เพราะจะมีแค่ 250 เสียงในวุฒิสภาก็ยังไม่เพียงพอ ยังต้องให้ได้ ส.ส. อีกไม่น้อยกว่า 125 เสียง เพื่อเป็นหลักประกันในการโหวตเลือกนายกฯ คนนอก

เท่านั้นยังไม่พอ 250 เสียงพรรค ส.ว. นั้น มีประโยชน์ในตอนโหวตเลือกนายกฯ เท่านั้น แต่เกมการเมืองปกติในสภาผู้แทนฯ จะปล่อยให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเข้ามาเป็นฝ่ายค้าน มีเสียงเกินกว่า 200 ขึ้นไป ก็จะเป็นเรื่องน่าหนักใจอย่างมาก

การผ่านงบประมาณ ผ่านกฎหมายต่างๆ ไปจนถึงการถูกอภิปรายจากฝ่ายค้าน

“เหล่านี้ทำให้การดูด จะต้องดำเนินไปให้ได้ผลจริงจังมากกว่านี้”

จนเป็นที่วิเคราะห์กันว่า ตราบใดที่ยังนับจำนวนอดีต ส.ส. ที่ดูดมาร่วมเครือข่ายได้ไม่เพียงพอกับการรักษาความมั่นคงของรัฐบาลนายกฯ คนนอก

“ตราบนั้นก็ยังไม่มีใครยืนยันเรื่องวันเลือกตั้งที่ชัดเจนได้!”

ข่าวการดูด จึงเป็นไปอย่างมากกว้างขวาง แต่เอาเข้าจริงๆ ผลการดูดได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่ ก็ยังน่าสงสัยอยู่

ที่ว่าพรรคนั้น กลุ่มนั้น ก๊วนนี้ โดนดูดไปเรียบร้อยแล้ว อาจจะเป็นทั้งข่าวจริงและข่าวปล่อยก็ได้

จนกล่าวได้ว่า ต้องมีตัวอย่างรูปธรรมอย่างเช่นกรณีกลุ่มพลังชลเท่านั้นแหละ ที่ถือว่าการดูดสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว

แม้แต่กรณีกลุ่มเนวิน ก็ยังอาจเป็นเพียงการเริ่มต้นเจรจาพูดคุยกันเท่านั้นเอง

ยังไม่รู้ว่าใครเสร็จใครกันแน่

“รวมไปถึงอีกพรรคการเมืองใหม่ คือ พรรคประชาชาติ ที่มีข้อวิเคราะห์ทำนองว่าโดนดูดไปร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เรียบร้อยแล้ว!??”

เพียงเพราะแกนนำพรรคนี้คือ กลุ่มที่แยกออกมาจากพรรคเพื่อไทย

แต่ข่าวที่ว่า แยกออกมาแล้วโดนดูดไปหนุน พล.อ.ประยทธ์แล้วนั้น

น่าจะเป็นข่าวผิดหรือข่าวที่จงใจปล่อยเพื่อหวังทำลายเท่านั้นเอง!

สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนมาก วัดได้จากผลการลงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ใน 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของ คสช. ด้วยคะแนนมากมายน่าตกใจ

เพราะสาระในหมวดศาสนาของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ทำให้เกิดการต่อต้านจากคน 3 จังหวัดใต้อย่างมาก

โดยเฉพาะมาตรา 31 และมาตรา 67 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปกป้องศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทเป็นการเฉพาะ

รวมทั้งการเปลี่ยนกรอบเวลาในการอุดหนุนการศึกษา ซึ่งมองกันว่าจะส่งผลกระทบถึงเงินอุดหนุนต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามซึ่งส่วนใหญ่เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย

“ทำให้คน 3 จังหวัดใต้ที่รักสงบสันติ พากันแสดงออกด้วยการไปลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2559”

ต่อมาในวันที่ 11-12 สิงหาคม หรือถัดจากนั้นไม่กี่วัน กลุ่มหัวรุนแรง ซึ่งเป็นพวกขบวนการก่อความไม่สงบไฟใต้ ก็แสดงออกด้วยการลอบวางระเบิดและวางเพลิงใน 7 จังหวัดใต้ตอนบน อันเป็น 7 จังหวัดที่ลงคะแนนประชามติรับรัฐธรรมนูญ

“อีกทั้งพยานหลักฐานในจุดวางระเบิดวางเพลิง ก็ชี้ว่า เป็นฝีมือขบวนการไฟใต้”

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ในวันที่ 22 สิงหาคม 2559 จึงมีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 49/2559 เรื่องมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

“สาระสำคัญของคำสั่งเร่งด่วนนี้คือ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพิ่มสาระในร่างรัฐธรรมนูญประเด็นศาสนาเข้าไปอย่างเร่งด่วน”

เพิ่มเข้าไปในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า “รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

ในคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ออกมาแก้ไข ได้มีการเพิ่มเติมคำว่า “การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาตามแบบมหายาน ไม่ว่าจะเป็นจีนนิกาย อนัมนิกายหรืออื่นใด” รวมทั้ง “การอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาอื่น ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์”

อีกจุดหนึ่ง ในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนที่บัญญัติเอาไว้ว่า “ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด” นั้น

คำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 49/2559 ได้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า “กำหนดมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” โดยระบุให้ครอบคลุมถึง ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ด้วย

ทั้งช่วงเวลาและทั้งสาระของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 49/2559 อธิบายเป็นอื่นไม่ได้เลย

“แปลว่า ยอมรับกระแสรุนแรงใน 3 จังหวัดใต้ ที่โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ และมองออกด้วยว่าปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ลามขึ้นมา 7 จังหวัดใต้ตอนบน เป็นกระแสเดียวกัน จนต้องรีบเพิ่มเติมแก้ไข เพื่อคลี่คลายความไม่พอใจดังกล่าว”

ไม่เท่านั้น นักวิเคราะห์สถานการณ์ยังมองว่า นอกจากไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของ คสช. แล้ว

กระแสความไม่พอใจในพื้นที่ อาจรวมถึงนโยบายดับไฟใต้ ซึ่งแน่นอนว่าในยุครัฐบาลทหาร ก็ต้องมาพร้อมปฏิบัติการของทหารอย่างเต็มตัว

ทั้งปัญหารัฐธรรมนูญและทั้งนโยบายของรัฐบาลทหารในเรื่องดับไฟใต้

“จึงเป็นจังหวะเหมาะสมที่สุด ที่นำมาสู่การเกิดของพรรคการเมืองใหม่”

พรรคประชาชาติ มีความเชื่อมโยงกับกระแสของประชาชนใน 3 จังหวัดใต้ ช่วงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญอย่างแนบแน่น

ทั้งพื้นฐานเดิมของแกนนำพรรคใหม่นี้ คือ พวกที่มาจากพรรคเพื่อไทย

นี่ก็คือขั้วการเมืองที่ตรงข้ามกับรัฐบาล คสช. นั่นเอง!

แกนนำของพรรคประชาชาติ ประกอบด้วยอดีต ส.ส. ในกลุ่มวาดะห์ ทั้งคาดว่าจะมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส. หลายสมัย อดีตรัฐมนตรี เข้ามาเป็นผู้นำ โดยอาจจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคใหม่นี้ รวมทั้งจะมีนักกิจกรรมรุนใหม่ ที่ในพื้นเพในภาคใต้ตอนล่าง เข้ามาร่วมด้วยอีกจำนวนมาก

จึงเป็นพรรคใหม่ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกัน ความที่กลุ่มวาดะห์ รวมทั้งนายวันนอร์ โดดเข้ามาร่วมพรรคนี้ ก็จะต้องออกจากพรรคเพื่อไทยอันเป็นสังกัดเดิม ประเด็นนี้แหละทำให้เกิดกระแสข่าวสงสัยว่าแตกกันแล้วกับพรรคเดิมหรือไม่

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ตามรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งเขียนกติกาเลือกตั้ง เน้นบีบพรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้มีที่นั่งในสภามากนัก

“จึงมีความจำเป็นที่จะแยกพรรคมาตั้งใหม่ แต่ลงเอยเป็นแนวร่วมกันกับพรรคเดิม ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางของพรรคประชาชาติกับเพื่อไทยนั่นเอง”

พรรคนี้จะเน้นแกนนำที่เป็นชาวมุสลิม ทำให้มองออกว่าฐานเสียงหลักจะเป็นมวลชนกลุ่มไหน

ที่แน่ๆ ก็คือ กระแสการเมืองใน 3 จังหวัดใต้ ที่เห็นได้ชัดจากการลงประชามติไม่รับรัฐธรรมนูญ

ทำให้เห็นได้ว่า น่าจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวมุสลิมที่ชัดเจน และจะต้องมีจุดยืนตรงข้ามกับ คสช. ด้วย

“พรรคประชาชาติ จึงมาเพื่อรับกับกระแสนี้ และเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงที่จะโดนดูดไปร่วมสนับสนุนหัวหน้า คสช.”

เพราะแม้แต่พรรคการเมืองเก่าแก่ในภาคใต้ ที่พอจะมีเสียงในพื้นที่ 3 จังหวัดอยู่บางส่วน

การเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะต้องระมัดระวังจุดอ่อนสำคัญ นั่นคือ การที่แกนนำพรรคไปร่วมเป่านกหวีด ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นการเรียกทหารเข้ามาปกครองประเทศ

ถ้าวัดกระแสการไม่รับรัฐธรรมนูญ ก็น่าหนักใจแทนพรรคเก่าแก่ไม่น้อย

แนวรบ 3 จังหวัดภาคใต้ในการเลือกตั้งหนนี้ ต้องบอกว่า สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วแน่นอน!