สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนสุข สนุกสอน กับ sQip (6) โจทย์ 5 ข้อ ออกแบบความสุข

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้ว ผมเล่าถึงบทบาทของคณะ Q-Coach ในกระบวนการ sQip มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ระหว่างกันก่อนลงมือทำ สัปดาห์นี้ว่ากันต่อถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคือครูและผู้บริหารสถานศึกษา

ก็เช่นเดียวกันครับ เปิดเวทีโดยมีคณะ Q-Coach ร่วมวงด้วย หลอมรวมร่วมกับคณะวิทยากร จนกลายมาเป็นคู่มือ แนวทางการจัดประชุมแบบมีส่วนร่วมเพื่อสร้างภาพความสำเร็จ โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุข

การทำให้เกิดเครื่องมือแต่ละตัว คือ 5 Q ทำให้เกิดวงพูดคุย ปรึกษาหารือ กระทั่งมีผลผลิตที่เป็นรูปธรรม นำไปใช้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เท่านี้ก็นับได้ว่าเป็นความสำเร็จเบื้องแรก

ส่วนผลบั้นปลายจะทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งรวมความสุข ครูสุข นักเรียนสุข ผู้อำนวยการสุข สุขทางกายภายนอก หรือสุขภายในทางใจ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละคน

สาระที่ปรากฏในคู่มือ คือ กระบวนการออกแบบโรงเรียนแห่งความสุขนั่นเอง

 

กล่าวถึงตั้งแต่วิธีคิดและวิธีปฏิบัติ กำหนดสถานการณ์การประชุมปฏิบัติการระหว่างผู้อำนวยการโรงเรียน กับคณะครูและบุคลากรในโรงเรียนทั้งหมด ตัวแทนนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องถิ่น ผู้บริหาร อบต. เทศบาล หรือผู้แทนชุมชนที่สถานศึกษาตั้งอยู่ มาร่วมกันวาดภาพโรงเรียนแห่งความสุขในความคิดของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร โดยจัดกิจกรรมให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงออก

นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข คืออย่างไร จะบอกถึงความสำเร็จจากอะไร โดยให้โจทย์ 5 ข้อ

ข้อ 1 งานส่วนบุคคลให้แต่ละคนวาดภาพความสำเร็จโรงเรียนแห่งความสุขตามจินตนาการของตัว งานคู่ จับคู่อธิบายภาพความสำเร็จของตัวให้คู่เข้าใจ แลกเปลี่ยนความเห็นกัน งานกลุ่ม อภิปรายร่วมกันทั้งหมด เป็นผลผลิตภาพรวมของทั้งกลุ่ม

ข้อ 2 แต่ละกลุ่มนำเสนอภาพความสำเร็จของกลุ่มตนให้ที่ประชุมรับทราบ

ข้อที่ 3 สำหรับคณะทำงานโรงเรียนคุณภาพ 2-3 คน แนวทางการบริหารจัดการสถานศึกษาให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข

ข้อที่ 4 สำหรับครู แนวทางการทำงาน ครูจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนเรียนนู้อย่างมีความสุข ต้องทำอะไร อย่างไร ทั้งงานเดี่ยว งานกลุ่ม แบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม ที่มีผลการเรียนค่อนข้างดี ที่มีผลการเรียนระดับปานกลาง ที่มีปัญหาอุปสรรคในการเรียนมาก ครูช่วยกันหาแนวทางแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการระหว่างกัน

ข้อที่ 5 สำหรับนักเรียน ทำกิจกรรมโดยคณะของนักเรียนเอง มีครูเป็นที่ปรึกษา ร่วมกันคิดสร้างสรรค์โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข อาจเป็นคณะกรรมการสภานักเรียน หรือคณะตัวแทนแต่ละช่วงชั้น คิดกิจกรรมปฏิบัติตลอดภาคเรียน เช่น กิจกรรมโครงการสุขกาย สุขใจ ปลอดภัยจากยาเสพติด โรงเรียนสะอาด ร่มรื่น ปลอดภัย ไร้ขยะ ตามที่นักเรียนร่วมกันคิดสร้างสรรค์ ฝึกกระบวนการคิดและจิตสาธารณะ ทำงานเป็นทีมก่อให้เกิดความรักผูกพันโรงเรียน

กำหนดให้มีแผนดำเนินงานระยะเวลา 1 ภาคเรียน เพื่อให้นักเรียนทั้งโรงเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข

 

ผมนึกถึงภาพวง PLC การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อตอบโจทย์โรงเรียนแห่งความสุขที่ว่านี้ กว่าจะสร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมวงเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา วิทยากรคงต้องปลุกเร้ากันพอสมควรทีเดียว ซึ่งก็ปรากฏผลเป็นตัวอย่าง ภาพความสำเร็จที่ได้ออกมาเป็นฝ่ายๆ

นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน มีอิสระในการเรียนรู้ ได้เรียนวิชาที่ชอบ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มาโรงเรียนตามเวลาทุกวันด้วยความเต็มใจ เป็นผู้มีคุณธรรม มารยาทและวินัยอันดี แต่งกายเรียบร้อย

เป็นคนกล้าแสดงออก ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายผู้มาเยือน

สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้

มีความเอื้ออาทรและจิตอาสารู้จักช่วยงานครู

มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน เรียนจบตามหลักสูตรที่กำหนดและมีผลการเรียนที่ดี มีครูทั้งโรงเรียนเป็นที่พึ่งให้คำปรึกษา ไม่เฉพาะเพียงครูประจำชั้นหรือครูผู้สอน ครูรักเด็ก เด็กรักครู

ครูดูแลเอาใจใส่นักเรียน เปิดโอกาสและส่งเสริมให้นักเรียนแสดงความสามารถได้เต็มที่ มีกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก เช่น ร้องเพลง วาดภาพ เล่นละครร่วมกับนักเรียน ครูได้สอนนักเรียนตามความถนัดอย่างเต็มศักยภาพ มีการพัฒนาตนเอง มีการศึกษาต่อเนื่อง สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้กับการเรียนการสอน

ครูจับมือเพื่อนครูแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการเรียนการสอนระหว่างกัน ทุ่มเทให้ความรู้กับนักเรียนไม่ขาดสอน มาโรงเรียนแต่เช้าและกลับเย็น ครูและบุคลากรในโรงเรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน รักเมตตายิ้มแย้มแจ่มใส แต่งกายสะอาดเรียบร้อย พูดจาไพเราะ ครูได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถานศึกษา

ผู้บริหารมี Growth Mindset เปิดใจกับครูและนักเรียน มีเวลาให้ครูและนักเรียน เป็นที่พึ่งของครู คอยติดตามผลงานของครูทั้งในและนอกชั้นเรียน มีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

สนับสนุนการใช้สารสนเทศแก้ปัญหาของนักเรียนและสนับสนุนให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ หรือ PLC เพื่อพัฒนาครูในโรงเรียน ฯลฯ

 

ว่าไปแล้ว ตัวอย่างความสำเร็จเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รับรู้ โหยหา และพูดกันมานานแล้ว พูดอีกก็ถูกอีก

ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วทำไมที่ผ่านมาถึงไม่เกิดขึ้นในโรงเรียนและในตัวตนของแต่ละคน เป็นปัญหาระบบ โครงสร้าง กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับบิดเบี้ยว หรือพฤติกรรมของคนเบี่ยงเบน

รากเหง้าปัญหาอยู่ตรงไหน คำตอบคงพูดได้ว่าเกิดได้ทั้งสองส่วน ถึงต้องมาร่วมกันทำให้เกิดกระบวนการ 5 Q ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

พฤติกรรมเบี่ยงเบนของบุคคลนั่นเป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องแก้ไข แต่สำหรับระบบ โครงสร้าง ผมคิดถึงบทสรุปของ ดร.เลขา ปิยะอัจริยะ หัวหน้าคณะนักวิจัยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา สกว. สะท้อนไว้ในเวทีนำเสนอโครงงานฐานวิจัยระดับประเทศปี 2560

“ปัญหาคือการบริหารจัดการสถานศึกษาที่กำกับแนวดิ่ง สั่งการจากระดับบนเป็นทอดๆ ได้บั่นทอนกำลังความคิดของผู้บริหารสถานศึกษาจนขาดศักยภาพคิดทำสิ่งใหม่ด้วยตนเอง”

ครับ สภาพที่ว่านี้ยังดำรงอยู่ เป็นความจริงมาจนถึงวันนี้ sQip แก้ปัญหาได้แค่ไหน

แก้ข้างบน แก้ที่คนอื่น ฝ่ายอื่น แก้ข้างล่าง แก้ที่ตัวเรา ในพื้นที่ ในโรงเรียน ทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความสุข เรียนสุข สนุกสอน ทำได้ระดับนี้ก็นับว่าน่าพอใจแล้ว

 

ของจริงเป็นอย่างที่วาดหวังกันไว้หรือไม่ ต้องไปฟัง ไปดู ไปสังเกตการณ์ ตามหาความสุขของแต่ละคน ว่าตั้งเป้าหมายความสุขไว้ระดับใด สุขที่โรงเรียนหรือสุขทุกแห่งหน

อยู่โรงเรียนมีความสุข กลับไปบ้าน ไปสู่ชุมชน สังคม มีแต่ทุกข์

ครับ ข้อหลังนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของคณะผู้รังสรรค์โครงการ sQip และผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป้าหมายหลัก คือทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งรวมความสุขให้ได้ก่อน

สำคัญที่ใจ มุมมองของแต่ละคน มองโลกและชีวิตอย่างที่มันเป็น หรือมองอย่างที่เราอยากให้เป็น อยากโน่น อยากนี่ หาความสุขไม่ได้สักที