นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความรู้จากมุมมองหลังอาณานิคม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หนังสือแปลเล่มล่าสุดของคุณสุภัตรา ภูมิประภาส คือ “กองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย” เต็มไปด้วยเรื่องชีวิตรักและชีวิตใคร่ของหญิงชายชาวอังกฤษที่เข้ามาใช้ชีวิตในอาณานิคมอินเดีย ผู้ชายนั้นมาหางานหาเงิน ส่วนผู้หญิงติดตามมาเพื่อหาผัว เพราะจำนวนผู้หญิงบนเกาะอังกฤษนั้นล้นเกิน ในขณะที่ขาดแคลนในอินเดีย โอกาสจะประสบความสำเร็จจึงมีสูง

ยิ่งกว่านี้ ผู้ชายที่อาจเอาเป็นผัวได้ในอินเดียนั้น ยัง “สำเร็จรูป” ทางเศรษฐกิจดีกว่าที่พึงหาได้บนเกาะอังกฤษ เพราะล้วนมีงานทำหรือแม้แต่มีฐานะค่อนข้างมั่นคงแล้ว

เรื่องชีวิตรักชีวิตใคร่ของหญิงชายเหล่านี้ เขียนขึ้นจากหลักฐาน เช่น ไดอารี่, จดหมาย, หรือบันทึกอื่นๆ ของหญิง-ชายซึ่งปรากฏเรื่องราวของเขาในหนังสือทั้งสิ้น นอกจากมีชีวิตรัก-ใคร่ของคนต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นเรื่อง “จริง” และอ่านสนุกแล้ว ยังมีเรื่องของการดำเนินชีวิตของคนอังกฤษในอาณานิคม วัฒนธรรมซึ่งค่อนข้างมีลักษณะเฉพาะในอินเดีย ซึ่งแตกต่างจากของคนอังกฤษในยุโรป ความคิดความอ่านของหญิงชายเหล่านี้ จึงไม่ได้จำกัดแต่การหาคู่เท่านั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ หนังสือเล่มนี้เล่าแง่มุมที่เป็นชีวิตประจำวันของคนอังกฤษในอาณานิคมอินเดีย ซ้ำเล่าจากหลักฐานชั้นต้นเสียด้วย อันเป็น “รายละเอียด” ที่หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไม่ค่อยพูดถึง แต่มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาจากมุมมองแบบหลังอาณานิคม (postcolonial studies)

การศึกษาแบบหลังอาณานิคมเป็นอย่างไร ผมขออนุญาตอธิบายตามความเข้าใจของผมดังนี้

คนกว่าครึ่งโลกเคยมีประสบการณ์มีชีวิตอยู่ในสังคมอาณานิคมและกึ่งอาณานิคม หากมองในแง่นี้ ยุคอาณานิคมย่อมมีความสำคัญเสียยิ่งกว่ายุคของจักรวรรดิจีน หรือจักรวรรดิโรมันเสียอีก ด้วยเหตุดังนั้นการศึกษาว่าชีวิตอย่างนั้นเป็นอย่างไรจึงมีความสำคัญมาก นอกจากนี้ ยุคอาณานิคมไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อได้ประกาศเอกราชแล้ว เพราะประสบการณ์อาณานิคมยังดำเนินต่อไปในโลกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะทางด้านวัฒนธรรม ทั้งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะประชาชนในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมเท่านั้น ประชาชนในประเทศที่เป็นจักรวรรดิเองก็มีประสบการณ์ (ของความเป็นนาย) อาณานิคม ซึ่งก็ยังสืบทอดต่อมาอย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

เมืองไทยเคยเป็นอาณานิคมหรือไม่?

ไม่ว่าจะตอบว่าเคย หรือไม่เคย ก็ล้วนต้องอธิบายภายใต้เงื่อนไขบางอย่างทั้งสิ้น (เคยเป็นในความหมายอะไร ไม่เคยเป็นในความหมายอะไร) ที่สำคัญมากกว่าว่าเราไม่อาจตอบคำถามนี้อย่าง “เด็ดขาด” (absolute) ได้ก็คือ ตอบไปแล้วก็ไม่ช่วยให้เราอธิบายอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยได้เพิ่มขึ้นไปอีก ในทางตรงกันข้าม ประเทศเล็กๆ ที่ถูกแวดล้อมด้วยอาณานิคม ภายใต้ยุคสมัยที่จักรวรรดินิยมครอบคลุมโลกเกือบทั้งใบ ถึงอย่างไรสยามก็ได้ประสบการณ์ของยุคอาณานิคมมาล้นเปี่ยม ไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียทั่วไป

และหากมองจากประสบการณ์อาณานิคมและหลังอาณานิคมเช่นนี้ต่างหาก ที่เปิดให้เราทำความเข้าใจกับสิ่งที่เป็นไปในประเทศไทยได้อีกมาก (รวมทั้งประเทศอื่นๆ เกือบทั้งโลกด้วย)

กองเรือหาคู่เริ่มเรื่องด้วยการล่มสลายของบริษัทอินเดียตะวันออกจากเหตุการณ์กบฏซีปอย ซึ่งเป็นกบฏครั้งใหญ่ในอินเดียที่อังกฤษต้องลงทุนในการปราบปรามสูงมาก แม้ว่าอังกฤษใช้ความโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างยิ่งในการปราบทหารกบฏ แต่นักการเมืองอังกฤษก็รู้ดีว่า ประเทศที่มีประชาชนเพียงหยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับอินเดีย จะรักษาอินเดียไว้ด้วยกำลังทหารไม่ได้ และนี่คือที่มาของกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลตั้งขึ้นแก่ข้าราชการอังกฤษทั้งพลเรือนและทหารในอินเดีย และเป็นเงื่อนไขสำคัญของการ “หาคู่” และวิถีชีวิตชาวอังกฤษในอินเดีย ที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้

กฎเกณฑ์และวิถีชีวิตที่เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลอังกฤษตั้งใจจะผดุงเอาไว้ในอินเดีย ประกอบด้วยการแต่งกาย “เต็มสตีม” ตามมาตรฐานของเมืองหนาว หรือยิ่งกว่าเสียอีก ในประเทศซึ่งบางเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน การใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย ไม่แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานของคนอินเดีย แต่แม้เทียบกับมาตรฐานของคนอังกฤษในยุโรปเองก็ยังต้องถือว่าหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่นั่นเอง การลงทัณฑ์ทางสังคมและปิดโอกาสทางการศึกษาและการงานแก่ “ลูกครึ่ง” อังกฤษที่เกิดจากแม่ชนพื้นเมือง ซึ่งก็เท่ากับขัดขวางการสมรสกับหญิงอินเดีย หากมีเมียเก็บก็ต้องระวังอย่าให้มีลูก แม้แต่ซ่องโสเภณีก็ไม่ชอบที่จะให้คนอังกฤษไปใช้บริการ ทั้งๆ ที่มีกฎกำหนดว่า ข้าราชการชายจะแต่งงานได้ก็ต่อเมื่ออายุถึง 30 แล้ว ตัวระบบราชการเองก็แบ่งเป็นสองระบบคือ ICS (Indian Civil Service) ซึ่งเปิดสมัครสอบในลอนดอน เท่ากับกีดกันมิให้ชาวอินเดียซี่งได้รับการศึกษาสมัยใหม่สามารถเข้ารับราชการได้ ส่วนระบบราชการพื้นเมืองซึ่งเปิดรับในอินเดีย คือระบบสำหรับข้าราชการชาวพื้นเมือง แน่นอนอัตราเงินเดือนระหว่างสองระบบย่อมต่างกันอย่างมาก

เหตุผลที่รัฐบาลอังกฤษให้แก่การกีดกันมิให้ข้าราชการอังกฤษในอินเดียไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชาวพื้นเมือง อ้างว่าจะทำให้ชาวอินเดียไม่ไว้วางใจการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการคนนั้น เพราะคงต้องช่วยเหลือครอบครัวและเครือญาติของหญิงคนนั้น ส่วนที่ไม่ชอบให้เที่ยวผู้หญิง มีเหตุผลที่สนุกกว่านั้นว่า หากคนอังกฤษไปเที่ยวผู้หญิงคนเดียวกับที่ลูกน้องชาวอินเดียเที่ยว จะเหลือความเคารพนับถืออะไรเหลืออยู่อีกเล่า

กล่าวโดยสรุปแบบธรรมเนียมและวิถีชีวิตของคนอังกฤษผู้เป็นนายในอินเดียนั้นคือ ไม่เกี่ยวข้องกับชาวพื้นเมืองในเชิงส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น อังกฤษเป็น “นาย” ที่คนอินเดียพึงเคารพยำเกรง ไม่ใช่เพราะมีกำลังทหารที่เข้มแข็งกว่า เท่ากับเพราะอังกฤษจะเป็น “นาย” ที่ดีที่สุดเท่าที่อินเดียเคยมีมาในประวัติศาสตร์

ส่วนในอังกฤษเองมีโรงเรียนสามสี่แห่งที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะข้าราชการ ICS ที่ดีมีชื่อเสียง ไม่ใช่ชื่อเสียงทางวิชาการ เพราะจุดมุ่งหมายของหลักสูตรคือฝึกมารยาท, ความรับผิดชอบ, ความมีวินัย, ระเบียบแบบแผนของราชการในอินเดีย และที่สำคัญคือบ่มเพราะอุปนิสัยของความเป็น “นาย” ที่ดีของชาวพื้นเมืองในอาณานิคม

ว่าที่จริงจุดมุ่งหมายทางการศึกษาเช่นนี้ แพร่หลายในอังกฤษช่วงที่เป็นจักรวรรดิอย่างมาก ตั้งแต่โรงเรียนมัธยมขึ้นไปถึงมหาวิทยาลัย คือมุ่งสร้างคนที่จะไปเป็น “นาย” คนอื่นทั่วทั้งจักรวรรดิที่ดวงอาทิตย์ไม่เคยตกดิน

ดังนั้น การปกครองอินเดียโดยตรงภายใต้รัฐบาลอังกฤษ คือการปกครองด้วยบุคลิกภาพ (rule by personality) ไม่ใช่การกดขี่ปราบปรามด้วยความรุนแรง (อันนั้นก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ใช่กระแสหลักของการครอบงำ) คนอินเดียที่ได้รับการศึกษาและก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงๆ เช่น ผู้พิพากษา, แพทย์ใหญ่ประจำจังหวัด ฯลฯ ก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะสูงแค่ไหน คุณก็อยู่ส่วนคุณ ผมก็อยู่ส่วนผม ไม่เกี่ยวอะไรกันมากไปกว่าหน้าที่การงาน พูดแบบวิชาการสายหลังอาณานิคมก็คือ ทำให้คนอินเดียเป็น subaltern ตลอดไป (ซึ่งผมขอแปลว่าเป็น “เบี้ย” ใช้ให้ไปกินเรือ กินม้า หรือบีบขุนก็ได้ แต่ก็ยังเป็นแค่เบี้ยตลอดไป)

รู้กันอยู่แล้วว่า ระบบราชการไทยนั้นรับแบบอย่างมาจากอาณานิคมอินเดียและพม่าของอังกฤษ ผมไม่มีเนื้อที่จะลงรายละเอียดได้มากไปกว่านี้ แต่ลองไปดูกฎระเบียบ ก.พ., วิถีชีวิตของข้าราชการ โดยเฉพาะที่ถูกส่งไปประจำต่างจังหวัด, คำสอนและการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัยที่โตมาจาก “โรงเรียนข้าราชการพลเรือน” ฯลฯ ผมคิดว่าเราจะเห็นอะไรที่คล้ายอาณานิคมอังกฤษอยู่มาก รวมทั้งความเป็น “เบี้ย” ของประชาชนด้วย

อินเดียนับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 มา เป็นสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง แม้ว่าระบบวรรณะยังอยู่ แต่มีสถานะของคนที่อธิบายด้วยระบบวรรณะได้ยาก โดยเฉพาะสถานะของคนที่อยู่ในสังคมอินเดียที่ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว สังคมที่กำลังเปลี่ยนมักทำให้เกิดความหวั่นไหวในหมู่คนในสถานะสูง เพราะช่วงชั้นต่างๆ กำลังเกิดความสับสนและลบเลือน ดังนั้น แม้ว่าสังคมของคนอังกฤษในอินเดียอยู่แยกต่างหากจากสังคมคนอินเดีย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ยังกระทบถึงสังคมคนอังกฤษจนได้

สังคมคนอังกฤษตอบสนองต่อความหวั่นไหวในสถานะของตนเองเช่นนี้ด้วยการไปเน้นย้ำ “ช่วงชั้น” ทางสังคมกันอย่างเคร่งครัด และละเอียดลออ กองเรือหาคู่เล่าถึงแบบธรรมเนียมหยุมหยิมต่างๆ เกี่ยวกับการแสดง “ช่วงชั้น” และการเคารพในความสูงต่ำของ “ช่วงชั้น” ไว้มาก เช่น ในงานเลี้ยง (ซึ่งมีบ่อยมาก) โดยเฉพาะที่จัดโดยสำนักข้าหลวงใหญ่ จะต้องพิถีพิถันในการจัดที่นั่งตามลำดับของช่วงชั้นต่างๆ อย่างไร ในการสนทนาบนโต๊ะอาหาร ต้องเริ่มจากคนที่นั่งชิดทางขวามือก่อน แล้วจึงหันมาทางคนที่นั่งชิดทางซ้าย เครื่องโต๊ะในงานเลี้ยงล้วนเป็นของดีราคาแพง หากไม่มีก็ยืมของเพื่อนบ้านมาใช้ หากเป็นงานเลี้ยงของข้าหลวง อาจเสิร์ฟกันในจานทองคำหรือจานเงินทีเดียว ทั้งนี้ กระทำกันต่อหน้า “เบี้ย” ซึ่งคือคนอินเดียผู้ทำหน้าที่เหมือนเป็น butler ประจำตัวแขกแต่ละคน และยืนอยู่เบื้องหลัง

คนอังกฤษคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “ผมแน่ใจเลยว่า ในอังกฤษไม่เคยมีโครงสร้างแบ่งชนชั้นที่ซับซ้อนละเอียดยิบย่อยอย่างที่ชาวอังกฤษไกลบ้านกำหนดขึ้น…”

ทั้งนี้เพราะสังคมคนอังกฤษในอินเดียนั้นไม่ได้นำเข้าจากอังกฤษล้วนๆ แต่เป็นสังคมที่พวกเขาสร้างขึ้นเองในอาณานิคม จนเหมือนเป็นสังคมต่างหากจากบ้านเกิดที่คนมาใหม่ต้องค่อยๆ เรียนรู้ ผมเพิ่งรู้จากหนังสือเล่มนี้ว่า ทำเนียบข้าหลวงใหญ่ที่เดลลีนั้นใหญ่กว่าพระราชวังบักกิ้งแฮมเสียอีก ตามธรรมเนียมการปกครองของอังกฤษ ข้าหลวงใหญ่ซึ่งที่จริงคือนักการเมืองในสังกัดพรรคที่เป็นรัฐบาลย่อมถูกแต่งตั้งให้เป็น “ข้าหลวง” ใหญ่ในนามของพระราชินีนาถหรือกษัตริย์ ดังนั้น พิธีทำความเคารพข้าหลวงใหญ่ในอินเดียจึงกระทำเหมือนที่พึงกระทำแก่พระเจ้าแผ่นดิน เช่น ผู้หญิงต้องถอนสายบัว

สังคมของคนอังกฤษในอินเดียจึงจำลองเอาชีวิตในราชสำนักที่ลอนดอนมาใช้ในอินเดีย ทำเนียบเป็นเหมือนศูนย์กลาง ที่ขยายแบบธรรมเนียมความสัมพันธ์ทางสังคมออกไปยังเจ้าของไร่ชา หรือนายอำเภอตัวจิ๋วที่ห่างไกล ดังนั้น แม้แต่ตัวช่วงชั้นที่เกิดในสังคมอังกฤษที่อินเดีย ก็เป็นช่วงชั้นที่ไม่ตรงกับในสังคมอังกฤษที่ยุโรป เป็นสังคมใหม่และช่วงชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมเฉพาะคืออาณานิคมอินเดียเท่านั้น

เรามักเข้าใจว่า การแบ่งโครงสร้างของช่วงชั้นให้ละเอียดซับซ้อนขึ้นด้วยมารยาท และกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างคนช่วงชั้นที่ต่างกัน ก็เพื่อจะยกย่องคนในช่วงชั้นบนๆ ให้มีเกียรติยศและความสูงส่งยิ่งขึ้น นั่นก็จริง แต่การทำให้คนชั้นบนมีความสูงส่งนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวของมันเอง จุดหมายปลายทางคือการตอกย้ำให้ชนชั้น “เบี้ย” คงสถานะ “เบี้ย” ต่อไปอย่างมั่นคงยืนนานต่างหาก

คนรับใช้ชาวอินเดียที่ยืนอยู่รอบโต๊ะอาหารในงานเลี้ยง ได้เห็นมารยาทและกฎเกณฑ์ของช่วงชั้นที่ “นาย” ปฏิบัติต่อกันอย่างเคร่งครัด จึงซึมซับและยอมรับสถานะ “เบี้ย” ของตนไว้อย่างเต็มใจ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ถาโถมเข้าสู่ชนชั้นนำไทยในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มีผลอย่างเดียวกัน แบบธรรมเนียมของความสัมพันธ์ระหว่างช่วงชั้นในหมู่ชนชั้นสูงไทย ถูกพัฒนาขึ้นให้มีความละเอียดซับซ้อนหยุมหยิมมากขึ้น แม้แต่ราชาศัพท์ก็เริ่มใช้กันอย่างเคร่งครัดตามฐานานุรูปของผู้พูดและผู้ฟัง (หากดูเอกสารตั้งแต่รัชกาลที่ 3 ขึ้นไป จะเห็นว่าใช้กันอย่างหลวมๆ กว่านี้มาก) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงกิริยามารยาท “ผู้ดี” ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่ต้องสร้างกันขึ้นใหม่ ประเพณีประดิษฐ์ในช่วงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความหวั่นไหวต่อช่วงชั้นของคนในสังคมเหมือนกับสังคมของคนอังกฤษในอินเดีย

ผมคิดว่า การมองสังคมไทยจากมุมมองของการศึกษาแบบหลังอาณานิคม ให้คำอธิบายที่แตกต่างจากที่เรามักได้ยินเป็นประจำ คำอธิบายแบบใดถูกแบบใดผิดนั้นผมไม่ทราบ แต่คำอธิบายแบบหลังอาณานิคมทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระแสสังคม ที่เป็นความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมซึ่งครอบคลุมคนจำนวนมาก ไม่ใช่รสนิยมส่วนตัว หรืออัจฉริยภาพของบุคคล อย่างคำอธิบายที่เคยได้ยินเป็นประจำ