สุรชาติ บำรุงสุข : 40 ปีแห่งการล้อมปราบ (2) สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน1

“กูเป็นนิสิตนักศึกษา พริ้งสง่างามผงาดเพียงราชสีห์
มันสมองของสยามธานี ค่ำนี้กูจะนาบให้หนำใจ”
– สุจิตต์ วงษ์เทศ –

 

การเข้าเป็นน้องใหม่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นความตื่นเต้นสำหรับนิสิตปี 1 ทุกคนอย่างไม่อาจบรรยายได้ จนอาจต้องถือว่าเป็นหนึ่งในความสุขครั้งสำคัญของชีวิต

และที่สำคัญก็คือในปีการศึกษา 2516 มี “เจ้านาย” เสด็จมาเรียนร่วมเป็นนิสิตใหม่ด้วย คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปีการศึกษานี้สำหรับจุฬาฯ จึงเป็น “ปีมหาพิเศษ” อย่างยิ่ง

ในความเป็นนิสิตใหม่ในปี 2516 นั้น พวกเราก็เป็น “สิงห์ดำ 26” ด้วย

ว่าที่จริงคณะนี้ก่อตั้งในปี 2442 ในฐานะของการเป็น “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน” ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อผลิตคนออกไปรับราชการในกระทรวงต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในรัชสมัยนั้น

จนต่อมามีการปรับสถานะในสมัยรัชกาลที่ 6 และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

และในปีถัดมา วันที่ 26 มีนาคม 2459 ก็โปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนนี้ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

คณะรัฐศาสตร์จึงเป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของจุฬาฯ แต่คณะก็ถูกยุบไปในปี 2476 และก่อตั้งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2491 การนับรุ่นจึงเริ่มต้นกันใหม่ เพราะหากนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะยุคแรกในปี 2442 คณะจะมีอายุแก่กว่าจุฬาฯ และหมายเลขรุ่นของเราก็จะมีตัวเลขสูงกว่าปกติอย่างแน่นอน

ระบบโซตัส

ในความเป็นคณะเก่าแก่ของจุฬาฯ นั้น สิ่งที่ตามมาด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือ “ระบบโซตัส” (SOTUS) หรืออาจจะเรียกง่ายๆ ว่า “ระบบอาวุโส” ที่มีความเข้มแข็งอย่างมาก

และยิ่งคณะเราซึ่งถูกสร้างด้วยวาทกรรมว่าจบรัฐศาสตร์แล้วไปเป็น “ปลัดอำเภอ” ซึ่งมีนัยว่าจบแล้วไปอยู่กระทรวงมหาดไทย และด้วยการที่พวกเรากำลังถูกสร้างให้เป็น “สิงห์มหาดไทย” ด้วยสัญลักษณ์สีต่างๆ นั้น ระบบอาวุโสจึงดูจะมีความชอบธรรม และก็เป็น “ความขลัง” ที่จะใช้เป็นวิถีชีวิตของนิสิตในคณะนี้อย่างมาก

ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างกับ “สิงห์แดง” ของรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พวกเราถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่าระบบโซตัสจะรองรับชีวิตพวกเราในการเข้ารับราชการในอนาคต

และทั้งระบบนี้จะเป็นแกนหลักของความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องตั้งแต่ในคณะ ไปจนถึงในชีวิตราชการในวันหน้า

ระบบของพลเรือนเช่นนี้อดเปรียบเทียบกับระบบรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนทหารไม่ได้

แม้ระบบอาวุโสในมหาวิทยาลัยพลเรือนจะเข้มแข็งเพียงใดก็ไม่สามารถสร้างความเป็น “รุ่นนิยม” ในแบบที่เกิดในกองทัพได้

หรือเหตุที่ไม่เป็นเช่นในแบบทหาร ก็เพราะความสัมพันธ์ระหว่าง “รุ่นกับอำนาจ” ของพลเรือนนั้นไม่ได้มีนัยสูงมากเท่ากับความสัมพันธ์ของปัจจัยเช่นนี้ในกองทัพ

ถ้าคิดในแบบอดีต อำนาจที่ผูกโยงกับตำแหน่งของบรรดาสิงห์ทั้งหลายก็คือ “อธิบดีกรมการปกครอง” และระดับสูงขึ้นก็คือ “ปลัดกระทรวงมหาดไทย” ซึ่งการแข่งขันในส่วนนี้ก็ไม่ใช่การแข่งระหว่างรุ่นในแบบของทหาร เพราะสิงห์ที่อยู่ในเวทีการแข่งขันก็ใช่ว่าจะมีสิงห์สีเดียว แต่มีสิงห์สีอื่นๆ เข้ามาเป็นคู่แข่งด้วย แต่ว่าที่จริงในเชิงอำนาจแล้ว ตำแหน่งเช่นนี้เทียบไม่ได้เลยกับตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก”

การแข่งขันในความเป็น “รุ่นนิยม” เช่นนี้จึงมีความเข้มข้นกว่ารุ่นของพลเรือนอย่างมาก

กำเนิดกิจกรรมใหม่

แต่ในปี 2516 ที่พวกเราเป็นนิสิตใหม่นั้น ระบบโซตัสก็ถูกท้าทายอย่างมากจากบรรดารุ่นพี่ที่มีแนวคิดต่างออกไป

ประกอบกับกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาก็ก้าวสู่ยุคของความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

ปี 2511 ดูจะเป็น “ยุคใหม่” ของกิจกรรมนักศึกษา ซึ่งกิจกรรมแต่เดิมของนิสิตนักศึกษาในยุคนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ยุคสายลมแสงแดด” เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องกีฬาและบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานบอลล์ งานรับน้อง (ที่มาพร้อมกับการ “ว้าก”) การแข่งขันกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ “ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์”

ถ้าจะมีกิจกรรมเพิ่มอีกส่วนก็คือ การทะเลาะวิวาท ไม่ว่าจะเป็นการก่อเหตุวิวาทระหว่างคณะภายในมหาวิทยาลัยเดียวกันหรือระหว่างมหาวิทยาลัยก็ตาม

ฉะนั้น ใน “ยุคสายลมแสงแดด” เช่นนี้ กิจกรรมทางสังคมการเมืองจึงเป็นความแปลกประหลาดอย่างยิ่ง เพราะนิสิตส่วนใหญ่มีความสุขและสนุกอยู่กับกิจกรรมบันเทิง จนกิจกรรมในแบบนี้มีส่วนที่ทำให้นิสิตหันความสนใจออกไปจากงานการเมือง และลดความสนใจต่อปัญหาสังคมลง

ในปี 2511 นิสิตนักศึกษาเริ่มออกมามีบทบาททางสังคม เช่น การคัดค้านค่าโดยสารรถเมล์ใหม่ การปรับราคาเนื้อหมู ตลอดจนเรียกร้องให้สอบสวนการทุจริตของข้าราชการ

ฉะนั้น ปี 2511 จึงเป็นปีแรกของการเดินขบวนนิสิตนักศึกษาไทยยุคใหม่ (ยุคหลังจอมพลสฤษดิ์)

การเปลี่ยนกิจกรรมเช่นนี้นำไปสู่การก่อตั้ง “ค่ายอาสาพัฒนาชนบท” ที่มีการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาสนใจปัญหาในชนบทไทยมากขึ้น

และต่อมาในปี 2513 ก็จัดตั้ง “กลุ่มบูรณะชนบท” ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานค่ายของนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ การจัดตั้งกลุ่มนี้เริ่มบ่งบอกถึงการสร้างความร่วมมือของนักกิจกรรมข้ามรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของกิจกรรมนักศึกษาในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

ขณะเดียวกัน หนังสือของปัญญาชนก้าวหน้าในยุคนั้นก็มี “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ที่มี สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการก็ขับเคลื่อนความคิดชุดใหม่ของนิสิตนักศึกษาที่มีต่อสังคมมากขึ้น หนังสือนี้นำพากระแสเสรีนิยมมาสู่วงการปัญญาชน พร้อมๆ กับกระแสต่อต้านเสนานิยมขยายอิทธิพลมากขึ้น

นอกจากนี้ การเปิดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 หลังจากผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาอย่างยาวนานกว่า 9 ปี (2502-2511) สิ้นสุดลง ทำให้นิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งจัดตั้ง “กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง” ขึ้น

โดยมีนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมทำกิจกรรมการเมืองนี้ด้วยกัน ต่อมาในปี 2513 นักศึกษาสายกิจกรรมสังคมการเมืองก็เดินหน้าจัดตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (ศนท.) ขึ้น ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของกิจกรรมนักศึกษาไทยที่มีทิศทางไปสู่งานการเมืองและสังคมมากขึ้น

นักศึกษาเหล่านี้เริ่มหันหลังให้แก่กิจกรรมกีฬาและบันเทิง และขณะเดียวกันก็ปฏิเสธต่อการคงอยู่ของระบบอาวุโสแบบเดิม

ในจุฬาฯ มีการประกาศตัวเป็นกลุ่ม “โซตัสใหม่” เพื่อบ่งบอกถึงทิศทาง กิจกรรมใหม่ของพวกเขา พร้อมกันนี้ก็เกิดปรากฏการณ์ในทิศทางเดียวกัน

ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำเนิดของ กลุ่มสภาหน้าโดม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การกำเนิดของ กลุ่มสภากาแฟ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชมรมคนรุ่นใหม่ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือแม้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคก็มีกระแสเช่นนี้เกิดขึ้น ได้แก่ กลุ่มวลัญชทัศน์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น

สภาพเช่นนี้กำลังบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของ “ภูมิทัศน์” ของกิจกรรมนักศึกษาในแบบเดิม และขณะเดียวกันกิจกรรมแบบสายลมแสงแดดภายใต้ระบบอาวุโสกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ

สัญญาณที่ชัดเจนภายใต้ภูมิทัศน์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็คือ โลกของนักศึกษาไทยก็กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ และระบบโซตัสก็ไม่ได้เข้มแข็งเช่นเดิม กลับถูกทอนลงด้วยกระแสเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย

กิจกรรมนักศึกษา (student activism) ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในบริบทของการเมืองโลกและการเมืองไทย หากพิจารณาในบริบทของการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ทศวรรษของคริสต์ศักราช 1970 (หรือทศวรรษของพุทธศักราช 2513) เป็นกระแสเสรีนิยมของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งอาจจะเป็นอิทธิพลที่เกิดจากการเคลื่อนไหวใหญ่ของนักศึกษาในฝรั่งเศสในปี 2511 (ค.ศ.1968) ซึ่งก็เป็นปีเดียวกับเหตุการณ์ “การรุกในเทศกาลตรุษญวน” (The Tet Offensive, 1968) ซึ่งส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามในสังคมอเมริกันขยายตัวอย่างมาก

ประชามติแสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันถึงร้อยละ 50 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทำเนียบขาวในสงคราม

และนำไปสู่การก่อตัวของ “ขบวนการต่อต้านสงคราม” พร้อมๆ กับการขยายตัวของกระแสต่อต้านวัฒนธรรม

ที่ในที่สุดแล้วคือการปรากฏตัวของ “บุปผาชน” (hippies) หรือกลายเป็นพวก “ต่อต้านกระแสหลัก” จนอาจเป็นพวก “เสรีนิยมสุดโต่ง” ซึ่งก่อตัวเป็น “วัฒนธรรมคนหนุ่มสาว” แต่ผลอย่างมีนัยสำคัญในอีกด้านหนึ่งก็คือการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการประท้วง” ที่ทำให้การต่อต้านอำนาจเดิมกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งของการแสดงออกของคนหนุ่มสาวในขณะนั้น… แล้วกระแสโลกของกิจกรรมใหญ่ของนักศึกษาก็คืบคลานเข้าสู่สังคมไทย พร้อมๆ กับวัฒนธรรมแห่งการประท้วงภายใต้การนำของคนหนุ่มสาวก็ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น

ดังนั้น แม้จอมพลถนอมจะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของตน แต่ก็ใช่ว่ารัฐบาลทหารจะเป็นความน่ากลัวทางการเมือง ในทางตรงข้าม การรัฐประหารกลับมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมนักศึกษาในทิศทางใหม่ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในปี 2515

ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านประกาศคำสั่งคณะรัฐประหารฉบับที่ 299 ที่เปิดช่องทางให้รัฐบาลทหารเข้าไปแทรกแซงการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ จนในที่สุดรัฐบาลทหารต้องยอมถอย…

การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย…

การต่อต้านการประกวดนางงามของกลุ่มนักศึกษาหญิงธรรมศาสตร์ กิจกรรมทางสังคมการเมืองเช่นนี้ทำให้บทบาทของนักศึกษาขยายตัวมากขึ้นในสังคมไทย

จุดเปลี่ยน

จุดพลิกผันที่สำคัญเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2516 และแทบจะไม่มีใครคาดคิดเลยว่าการออกไปล่าสัตว์ของข้าราชการและกลุ่มบุคคลบางคนที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการ และระหว่างเดินทางกลับ เครื่องประสบอุบัติเหตุตกที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในปลายเดือนเมษายน 2516 พร้อมกับพบซากสัตว์ป่าในเครื่องดังกล่าว

แต่รัฐบาลกลับแจ้งว่าเครื่องดังกล่าวเดินทางไป “ราชการลับ” ซึ่งจากการเปิดเผยของนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว พบว่าเหตุราชการลับที่รัฐบาลนำมาอ้างไม่ใช่เรื่องจริง ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ของนิสิตนักศึกษาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2516

และสอดรับกับสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตก็คือ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2516 จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้รับการต่ออายุราชการในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีก 1 ปี

กระแสทุ่งใหญ่นำไปสู่การขยายตัวของกิจกรรมของนักศึกษามากขึ้น พร้อมๆ กับแรงสนับสนุนจากสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์สยามรัฐในขณะนั้นที่มีท่าทีต่อต้านรัฐบาลทหารชัดเจน

“คดีทุ่งใหญ่” กลายเป็นหัวข้อข่าวใหญ่ในสื่อ และบั่นทอนความชอบธรรมของรัฐบาลทหารลงอย่างรวดเร็ว… คำแก้ตัวของผู้นำทหารในการไปราชการลับกลายเป็น “เรื่องตลก” ที่สังคมรับไม่ได้

และสื่อมีบทบาทอย่างสำคัญในการเปิดโปงความจริงของกรณีทุ่งใหญ่

ซึ่งบางคนอาจจะเทียบเคียงได้กับบทบาทของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในการเปิดเผย “เอกสารเพนตากอน” ต่อสังคมอเมริกันในปี 2514

หรือบทบาทของวอชิงตันโพสต์ในการติดตาม “คดีวอเตอร์เกต” ในช่วงปี 2515-2516

จนเป็นตัวอย่างของบทบาทของสื่อในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร และมีบทบาทในการขับเคลื่อนกระแสสังคมด้วย

กิจกรรมรับเปิดเทอม

เทอมแรกของนิสิตปี 1 เปิดเรียนในเดือนมิถุนายน 2516 พวกเราก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยพร้อมกับกระแสของ “กิจกรรมใหม่” ที่เริ่มขยับตัวสูงขึ้น และเปิดเทอมปีนี้ยังมาพร้อมกับชมรมคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ออกหนังสือชื่อ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ”

พร้อมกับโปรยข้อความเสียดสีรัฐบาลในขณะนั้นว่า “สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ”

และคำเรียกเสียดสีนี้ทำให้รัฐบาลทหารกดดันให้มหาวิทยาลัยดำเนินการกับผู้ทำหนังสือดังกล่าว จึงเกิดกรณี “ลบชื่อเก้านักศึกษา” ออกจากสถานภาพการเป็นนักศึกษา ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้นำทหารดูจะเชื่อมั่นอย่างมากว่า การตัดสินใจลบชื่อนักศึกษา 9 คนเช่นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาล

การผสมผสานระหว่างกรณีทุ่งใหญ่กับกรณีลบชื่อนักศึกษา 9 คนกลายเป็น “ชนวน” ให้เกิดการประท้วงในมหาวิทยาลัย และการประท้วงนี้เริ่มที่หอประชุมจุฬาฯ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2516…

ชีวิตน้องใหม่จุฬาฯ ปี 2516 เริ่มต้นด้วยการประท้วง และพิธีรับน้องใหม่ทางการเมืองด้วยการพาเดินขบวนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วัฒนธรรมแห่งการประท้วงของคนหนุ่มสาวเริ่มขึ้นแล้วในปี 2516

และดูเหมือนพายุการเมืองลูกใหญ่ก็กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน!