คุยกับทูต ‘คีริลล์ บาร์สกี้’ รัสเซียกับสถานการณ์โลก และความสัมพันธ์กับสหรัฐ

คุยกับทูต คีริลล์ บาร์สกี้ รัสเซียกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน (2)

สัปดาห์ที่แล้ว นายคีริลล์ บาร์สกี้ (H.E.Mr.Kirill Barsky) เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย ได้มาแสดงความคิดเห็นกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในซีเรียและผลสืบเนื่องจากปฏิบัติการโจมตีซีเรียทางอากาศของสหรัฐและพันธมิตร

“ถือเป็นการรุกรานอธิปไตยของรัฐแห่งหนึ่งอย่างชัดเจน การกระทำดังกล่าวนำโดยสหรัฐ ร่วมด้วยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดกฎบัตรของสหประชาชาติ (UN) แต่ยังเป็นการเคลื่อนไหวโดยพลการที่ปราศจากความเห็นชอบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) สถาบันที่รัฐสมาชิก UN ให้เกียรติในฐานะเป็นผู้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ “ในเบื้องต้น” ต่อการผดุงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ปรากฏชัดว่า สมาชิกบางส่วนในองค์ประชุมของ UNSC กลับร่วมกันละเมิดบรรทัดฐานและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ”

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีลักษณะเป็นอย่างไร

“ผมเองก็หวังว่าจะได้ล่วงรู้คำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เราพอจะทราบว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นไร”

มร.คีริลล์ บาร์สกี้ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย –

ท่านทูตกล่าว

“ประการแรก รัสเซียและสหรัฐมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษในยุทธศาสตร์ความมั่นคงของโลก รัสเซียและสหรัฐต่างมีคลังอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ใหญ่ที่สุด ประเทศของเราเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) เราเป็นตัวแสดงสำคัญทั้งในเวทีระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค รัสเซียและสหรัฐต้องเผชิญกับภัยคุกคามและความท้าทายระดับโลก ทั้งจากขบวนการก่อการร้ายสากล กลุ่มคนที่มีแนวคิดรุนแรงแบบสุดขั้ว การค้ายาเสพติด การแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD proliferation) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นต้น”

“นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐจึงมีความสำคัญ ที่ต้องขึ้นอยู่กับความไว้วางใจซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานแห่งความเคารพต่อผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของกันและกัน และเราต้องทำงานร่วมกัน”

“แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนี้คืออะไร”

“วอชิงตันกำลังดำเนินการคว่ำบาตรทางกฎหมายที่ผิดกฎหมายต่อรัสเซีย การติดต่อสื่อสารกับรัสเซียทุกช่องทาง เริ่มชะงักงัน ซึ่งเราไม่อาจจินตนาการถึงเรื่องนี้ได้แม้ในยุคสงครามเย็น!”

นายเซอร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ในรายการฮาร์ดทอล์ก ของบีบีซี ยืนยันว่า รัสเซียไม่ได้เข้าไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในคลังอาวุธเคมีของซีเรียที่ถูกโจมตีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย

นายลาฟรอฟยังปฏิเสธว่าไม่ได้มีการใช้อาวุธเคมีในการสู้รบในซีเรีย และกล่าวด้วยว่าการผนึกกำลังของสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส เพื่อโจมตีคลังอาวุธเคมีในซีเรีย

รวมทั้งท่าทีที่เกิดขึ้นหลังจากอดีตสายลับรัสเซียถูกวางยาพิษในอังกฤษนั้น เป็นอีกครั้งที่ชาติตะวันตกใช้วิธีลงโทษก่อน ที่จะพิสูจน์หาข้อเท็จจริง เขาเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้หนักหนาสาหัสเสียยิ่งกว่าในยุคสงครามเย็น

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียให้เหตุผลว่าขณะนี้ทั้งรัสเซียและชาติตะวันตกขาดช่องทางที่จะสื่อสารกัน โดยอังกฤษเป็นฝ่ายปิดกั้นไม่ให้การสื่อสารเกิดขึ้น

และสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถือได้ว่าอันตรายอย่างยิ่ง

มร.คีริลล์ บาร์สกี้ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย –

“สหรัฐและชาติพันธมิตรกำลังพยายามประณามประเทศของเรา โดยการกล่าวหาเราอย่างร้ายแรงในทุกกรณี ซึ่งเราไม่เคยเห็นความหวาดกลัวเกลียดชังต่อคนรัสเซีย (Russophobia) ระดับสูงถึงขนาดนี้ในชาติตะวันตกมาก่อน” ท่านทูตกล่าว

“เหตุผลเบื้องหลังนโยบายของสหรัฐนั้นเป็นที่ชัดเจน เนื่องจากชาติตะวันตกเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งความถดถอย และเรากำลังจะได้เป็นพยานถึงการเกิดขึ้นของโลกที่มีมหาอำนาจหลายขั้ว (multipolar world) โดยสหรัฐจะกลายเป็นเพียงประเทศมหาอำนาจหนึ่งเท่านั้น และจะสูญเสียบทบาทที่สำคัญของตน แต่แทนที่สหรัฐจะปรับความสนใจให้เข้ากับสภาพการณ์ใหม่เพื่อประโยชน์แห่งสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งของโลก สหรัฐกลับเลือกตัดสินใจในการลงโทษรัสเซียตามนโยบายต่างประเทศที่เป็นเอกเทศของตน เพื่อยับยั้งการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จของรัสเซีย ผมเห็นว่าวิธีการของสหรัฐดังกล่าวนี้จะไม่ได้ผล”

“สำหรับรัสเซียนั้นพร้อมเสมอที่จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและความเคารพซึ่งกันและกัน”

“ว่าแต่ทำเนียบขาวพร้อมหรือยัง ซึ่งเราคงต้องให้เวลาเป็นคำตอบ” ท่านทูตสรุป

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธาธิบดีรัสเซีย กัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ปัจจุบันเป็นอย่างไร

NATO เป็นองค์กรความร่วมมือทางการเมืองและการทหารของประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตย จุดมุ่งหมายของ NATO เมื่อแรกก่อตั้ง คือ การรวมกลุ่มพันธมิตรทางการทหารเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียตในยุคของสงครามเย็น นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบัน ยุคของสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงแล้ว เพราะการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก จึงทำให้บทบาทและความสำคัญขององค์การ NATO ทางด้านการทหารในปัจจุบันลดน้อยลง

“เพื่อให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียและ NATO ในวันนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะของ NATO ซึ่งเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าทางทหารของสงครามเย็น รัสเซียเป็นศัตรูของ NATO ก่อนที่จะสลายตัวไป แต่หากไม่มีศัตรู แรงจูงใจในการดำรงอยู่ของกลุ่ม NATO ก็จะหายไปด้วย ดังนั้น รัสเซียจึงเป็นเป้าหมายหลักขององค์การนี้” ท่านทูตคีริลล์ บาร์สกี้ ให้ความเห็น

“ย้อนกลับไปในอดีต รัสเซียลดการเผชิญหน้าโดยการถอนกองกำลังออกจากประเทศเยอรมนี ประเทศในแถบยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และประเทศในแถบบอลติก ตามลำดับ เพราะรัสเซียให้ความเคารพต่อคำมั่นสัญญาในการลดกองกำลังเต็มรูปแบบและอาวุธนิวเคลียร์”

นางเธเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“แต่ NATO กลับตอบสนองโดยการละเมิดสัญญาที่ขัดต่อสหภาพโซเวียตถึงสามครั้ง เพราะในอดีต สหรัฐเคยให้สัญญากับรัสเซียว่า NATO จะไม่ขยายเข้าไปในเขตที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตเดิม อย่างไรก็ตาม สหรัฐก็ผิดสัญญาในปีต่อๆ มา ด้วยการขยาย NATO เข้าไปในเขตยุโรปตะวันออก และในที่สุด ปี ค.ศ.2004 มีการขยายสมาชิก NATO ออกไปครอบคลุมประเทศยุโรปตะวันออกเกือบทั้งหมด รวมทั้งประเทศในแถบทะเลบอลติกด้วย”

“มาวันนี้ NATO และประเทศสมาชิกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากำลังดำเนินมาตรการเพื่อสร้างศักยภาพทางทหารใกล้พรมแดนรัสเซีย และแถบบอลติกนี้เอง คือพื้นที่ซึ่งกองกำลังของ NATO เคลื่อนเข้าไปลึกที่สุดในบรรดาดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต”

“กองทัพ NATO พยายามเข้ามาผูกพันกับเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของรัสเซีย โดยการแวะท่าเทียบเรือของจอร์เจีย ฟินแลนด์ สวีเดน และยูเครน เพื่อฝึกทหารร่วมกับประเทศดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการเร่งการทำสงครามกับประเทศในแถบบอลติกและยุโรปเหนือ อันเป็นบริเวณซึ่งครั้งหนึ่งเคยเงียบสงบที่สุด เกิดความตึงเครียดทางทหารและการเมืองในพื้นที่แถบคอเคซัสใต้ (South Caucasus) และทะเลดำ ส่วนวิกฤตยูเครนนั้นนับว่ายังอยู่ห่างไกลจากความสงบเรียบร้อย”

“ในปี ค.ศ.2002 เราได้จัดตั้งองค์กรเพื่อประสานความร่วมมือและการดำเนินการทางการเมืองและทางทหาร (NATO-Russia Council : NRC) อย่างไรก็ตาม หลังการตัดสินใจของกลุ่ม NRC ให้ยุติความสัมพันธ์กับรัสเซียในปี ค.ศ.2014 จึงไม่มีการจัดประชุมในรูปแบบดังกล่าวอีก”

ภารกิจของ NATO ในการต่อต้านการก่อการร้ายภายใต้การนำของมหาอำนาจอย่างสหรัฐยังคงถูกตั้งคำถามจากมหาอำนาจที่ไม่ได้เป็นสมาชิก NATO อย่างรัสเซีย การที่ NATO ยังคงมุ่งเป้ามาที่ยุโรปตะวันออกมากกว่าตะวันออกกลาง ทำให้รัสเซียมองว่า NATO เป็นเครื่องมือที่ใช้ป้องปรามมหาอำนาจด้วยกันเอง มากกว่าจะเป็นการต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่อย่างแท้จริง

“ผู้นำ NATO ทั้งหลายทราบถึงความจำเป็นในการเจรจาหารือและมีความพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ”

มร.คีริลล์ บาร์สกี้ เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย –

“แต่ขั้นตอนการปฏิบัติของ NATO รวมถึงการขับไล่นักการทูตรัสเซียออกจากประเทศสมาชิก NATO ตลอดจนการลดบุคลากรของผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำ NATO ในกรุงบรัสเซลส์ให้เหลือเพียงหนึ่งในสาม จึงแทบจะไม่สัมพันธ์กับถ้อยแถลงถึงความจำเป็นของ NATO เลย”

เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีความยินดีและพร้อมเสมอสำหรับความร่วมมือกับสหรัฐและ NATO ในเรื่องที่เป็นธรรม และความสมดุลในผลของประโยชน์”