โลกหมุนเร็ว /เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง /ข้อเท็จจริงจากเอกสารชั้นต้น กรณีปฏิวัติพระนารายณ์ (1)

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

ข้อเท็จจริงจากเอกสารชั้นต้น

กรณีปฏิวัติพระนารายณ์ (1)

โบราณสถานที่เคยเงียบเหงาและถูกทอดทิ้งที่จังหวัดลพบุรี หรือเมืองละโว้แต่เก่าก่อนถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นมา เห็นกับตาในวันที่มติชนอคาเดมีพาไปเฝ้า “ขุนหลวงนารายณ์” เมื่อปลายเดือนเมษายน ในวันที่โชคดีไร้ฝน กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องราวของยุคพระนารายณ์ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
ไม่ว่าจะเป็นพระนารายณ์ราชนิเวศน์ พระที่นั่งไกรสรสีหราช วัดสันเปาโล หรือบ้านหลวงรับราชทูตวิชาเยนทร์ ดูมีระเบียบเรียบร้อย โดดเด่นด้วยภูมิทัศน์ที่ปรับปรุงใหม่
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ในวันนี้ผิดกับเมื่อหลายปีก่อนที่เคยมา
มีการปูพื้นทางเดินด้วยอิฐแดงอย่างมีรสนิยม เชื่อมโบราณสถานต่างๆ เข้าหากัน กินบริเวณกว้างขวาง
บ้านวิชาเยนทร์ ซึ่งใหญ่โตและอยู่ห่างจากพระนารายณ์ราชนิเวศน์เพียง 300 เมตร ประกอบด้วยตัวบ้านวิชาเยนทร์ โบสถ์ และบ้านหลวงรับราชทูต ก็เอาคนที่บุกรุกออกไป ล้อมรั้ว แต่งภูมิทัศน์ใหม่ ใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้า
พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็นนั้นโดดเด่น โอ่อ่า มีการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ตระหง่านอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี มีมุมมองที่มีมิติสามารถใช้เป็นสถานที่จัดงานก็ยังได้
อาจารย์ปรีดีท่านบอกว่า “นี่แหละหนาอานิสงส์ของออเจ้า” และ “นอกจากนี้ ที่ลพบุรียังมีความเข้มแข็งของชมรมอนุรักษ์ช่วยกันเข้ามาดูแลและทำงานร่วมกัน” ทำให้เห็นผลงานที่น่าชื่นชม
ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือประตูเพนียด ก็อยู่ในความดูแลของทหารที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำให้ก่อนที่จะได้เข้าชม ทหารก็เข้ามาช่วยถางหญ้าที่รกเรื้อออกไป

เรื่องราวในรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราชมีสถานที่ที่เกี่ยวข้องคือกรุงศรีอยุธยา และเมืองละโว้หรือลพบุรีซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเมืองสำคัญอันดับสอง
พระนารายณ์สวรรคตที่นี่และตัวละครสำคัญคือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็เสียชีวิตที่นี่เช่นกัน
เรื่องราวในสมัยพระนารายณ์ที่มีให้ศึกษาอย่างกว้างขวางจนคนเขียนบทละครสามารถนำมาเขียนได้อย่างละเอียดนั้นก็เกิดจากการรวบรวมค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์ไทยหลายท่านที่ได้ศึกษาจากเอกสารของต่างชาติที่เข้ามาค้าขายและยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศไทยในยุคนั้น โดยเฉพาะเอกสารของชาวฝรั่งเศสทั้งที่เป็นทหารและพลเรือน
เอกสารชั้นต้นชื่อ “ชิงบัลลังก์พระนารายณ์” ซึ่งอาจารย์ ดร.ปรีดี แปลจาก “Relation des Revolutions arrives a Siam dans l’annee 1688” เขียนโดยนายพลเดส์ฟาร์จ ผู้นำกองกำลังฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่บางกอกที่อาจารย์เป็นผู้แปลตรงจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสและกรุณามอบเป็นบรรณาการให้ผู้ร่วมทริปทุกคน
เป็นเอกสารที่มีค่าและชวนติดตามมาก
เรื่องราวที่เราได้ยินได้ฟังมาจากการถ่ายทอดต่อๆ กันมา ล้วนมีที่มาจากเอกสารชั้นต้นแบบนี้ทั้งสิ้น ปกติจะให้เข้าไปนั่งค้นคว้าในห้องสมุดคนที่ไม่ใช่นักวิชาการอย่างเราๆ ก็คงไม่มีใครทำ
นี่เราได้รับการ “ป้อนให้ถึงปาก” แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่าโชคดีสุดๆ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

อาจารย์ปรีดีเกริ่นไว้ในคำนำหนังสือว่าต้นฉบับของเอกสารนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2233 ในตอนต้นรัชกาลพระเพทราชาที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือฮอลันดาในขณะนั้น นายพลเดส์ฟาร์จเสียชีวิตลงกลางทะเลแถบแหลมกู๊ดโฮป ส่วนทหารฝรั่งเศสก็ถูกฮอลันดาจับกุมอีก
เป็นที่สังเกตถึงความมีชีวิตของบันทึกต่างๆ ที่เป็นจริตของซีกโลกตะวันตก ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของฝรั่งเศสและไทย และเป็นวัตถุดิบให้ผู้แต่ง “บุพเพสันนิวาส” ได้นำมาใส่และเพิ่มสีสันเข้าดังที่เราได้นั่งติดหน้าจอชมกัน
บันทึกแบบนี้ถือเป็นสมบัติของโลกและของกาลเวลา มันจึงถูกตีพิมพ์ในประเทศฮอลันดาในขณะนั้นในเวลาไม่นานนับจากที่นายพลเดส์ฟาร์จได้บันทึกไว้
จริตหรือวัฒนธรรมของการบันทึกเรื่องราวแบบนี้มีน้อยในซีกโลกตะวันออกโดยเฉพาะในสังคมไทย สังคมของเรามักมีความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน และถนัดที่จะเขียนเรื่องความงาม ชีวิตส่วนตัว เรื่องเล่า ไว้อ่านกันเพื่อความสุนทรีย์ในหัวใจ มากกว่าการบันทึกเรื่องราวความเป็นจริงในยุคสมัย แม้แต่ผู้ที่อยู่ในสถานะกษัตริย์ก็ยังมีความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนกัน และหัวข้อหรือแรงบันดาลใจที่เขียนก็มักจะเป็นเรื่องใกล้ตัวหรือมองเข้าสู่ตัวเอง
อาจารย์ปรีดีเล่าไว้ละเอียดว่าหนังสือแปลเล่มนี้ได้ขอสำเนาจากห้องสมุดแห่งเอเชีย (Bibliotheqe Asiatique) ที่กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ.2543

หนังสือ “บันทึกการปฏิวัติในสยาม ปี ค.ศ.1688” โดยนายพลเดส์ฟาร์จ เริ่มต้นว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลายคนอาจรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้ศึกษาเรื่องราวการปฏิวัติอันแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรสยาม และเรื่องที่ชาวฝรั่งเศสต้องถูกขับไล่ออกจากอาณาจักรหลังการเดินทางมายังอาณาจักรแห่งนี้เพียง 1 ปี”
ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ นายพลเดส์ฟาร์จใช้คำว่า “การปฏิวัติ” หรือ Revolution ในขณะที่อาจารย์ปรีดีใช้คำว่า “ชิงบัลลังก์”
แน่นอนบริบทของชาวต่างชาติที่เข้ามาเมืองสยามเพียง 1 ปี กับบริบทของนักวิชาการซึ่งมองภาพรวมของประวัติศาสตร์ไทยแบบกว้างและลึก ย่อมต่างกัน
อาจารย์มองว่านี่คือการชิงบัลลังก์ และผู้เขียนก็คิดว่าคนไทยก็เข้าใจเช่นนั้น
นายพลเดส์ฟาร์จเขียนว่า “เพราะเหตุว่าชาวสยามมีความเกลียดชังและความปรารถนาให้เราย่อยยับ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องเรียบเรียงบันทึกฉบับนี้ด้วยตนเอง เหตุเพราะคงไม่มีใครรู้เรื่องราวเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องทำเท่ากับตัวข้าพเจ้าเอง อันเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าก็มิได้บอกกล่าวใครมากนัก ซึ่งพวกเขาก็อาจจะไม่ได้ขีดเขียนเป็นเรื่องราวต่างๆ ตามที่ได้คิดไว้ก็เป็นได้”
ตามข้อเขียนของนายพลเดส์ฟาร์จ เขากล่าวถึงฟอลคอน ซึ่งพวกฝรั่งด้วยกันมักเรียกว่า เมอซิเยอร์ก็องสต๊องส์ไว้ว่า
“ในความเป็นจริงแล้ว ชาวต่างชาติผู้นี้มีจิตใจสูงส่งและเอื้ออารี มีความสามารถในการจัดการเรื่องต่างๆ ได้ รวมถึงดูแลกิจการต่างๆ อันสำคัญได้อย่างดี หากเขาต้องการสิ่งใดแล้วก็จะมุ่งมั่นเต็มที่ ถ้อยวาจาที่มีความเหมาะสมคมคาย และเขามีความรู้เป็นอย่างดีในการสร้างฐานะตนเองให้เป็นที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเขาเองก็มีโชคอยู่ไม่น้อย…”
“ข้อเสียหนึ่งที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นในตัวท่านผู้นี้คือขาดความเที่ยงตรงและความจริงใจ มีความทะเยอทะยานที่มากเกิน มีความละเอียดอ่อนมากไปในบางเรื่องและคอยจับผิดคนที่เขาคิดว่าเป็นปรปักษ์ ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ประชาชนและชาวต่างชาติส่วนมากเกลียดชังเขา”

บันทึกของนายพลเดส์ฟาร์จไม่เพียงบันทึกเหตุการณ์ทั่วๆ ไป แต่ยังตั้งข้อสังเกตและแทรกการวิเคราะห์ถึงบุคลิกของตัวละครที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่ชะตาชีวิตของบุคคลผู้นั้น เป็นบันทึกที่มีความชัดเจนแจ่มชัดจนผู้เขียนบทละครสามารถนำไปปะติดปะต่อเป็นเรื่องราวที่มีชีวิตได้โดยไม่ยาก และสำหรับผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ก็ไม่ต้องอยู่ในภาวะดำมืด คาดเดากันไปต่างๆ นานา
มีนักเขียนเรื่องประวัติศาสตร์บางคนได้พูดว่า การเขียนเกี่ยวกับฟอลคอนอยู่ที่จุดยืนของคนผู้นั้นว่าชอบหรือไม่ชอบ ได้ผลประโยชน์หรือไม่ได้จากฟอลคอน
และยกตัวอย่างนายพลเดส์ฟาร์จว่าเขียนเข้าข้างฟอลคอน แต่จากการอ่านข้อเขียนของนายพลเดส์ฟาร์จ ผู้เขียนไม่รู้สึกเช่นนั้นเลย ข้อเขียนของเขาเป็นกลางและนำมาอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างดี
บันทึกของเดส์ฟาร์จ จุดประกายให้ผู้เขียนเห็นความสำคัญของการอ่านเอกสารในลักษณะนี้ และอดไม่ได้ที่จะขอบคุณ รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อย่างมากที่ได้หยิบยื่นโอกาสการอ่านเอกสารชั้นต้นแบบนี้ นอกจากจะแปลแล้ว ท่านยังนำมา “ป้อนถึงปาก”
เป็นของแถมสำหรับสมาชิกทัวร์ของมติชนอคาเดมีอีกด้วย