เครื่องเคียงข้างจอ /วัชระ แวววุฒินันท์/เขียนถึงคนเขียนเพลงชื่อ…ดี้-นิติพงษ์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ วัชระ แวววุฒินันท์

เขียนถึงคนเขียนเพลงชื่อ…ดี้-นิติพงษ์

“…เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจอย่างเธอ
เมื่อไหร่ที่เจอ ยังคิดว่าเธออยู่ในฝัน…”

นักร้องเพลงคาราโอเกะทั้งหลายคงคุ้นเคยกับเนื้อร้องนี้ดี ใช่แล้วครับ…มันคือท่อนฮุกของเพลง “แพ้ใจ” เพลงดังเพลงหนึ่งของสาวใหม่ เจริญปุระ
และเป็นหนึ่งในหลายร้อยเพลงจากฝีมือการเขียนคำร้องโดย ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค
รวมทั้งเพลงดังที่หลายองค์กรเอาไว้ใช้ร้องให้เกิดความฮึกเหิมเวลาประชุมประจำปี อย่างเพลงที่มีท่อนฮิตว่า “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน…”
หรือเพลงแนวจิ๊กโก๋อกหักอย่าง “ได้อย่างเสียอย่าง” “ยินยอม” ของอัสนี โชติกุล
ซึ่งหากจะนับเพลงดังๆ จากฝีมือการเขียนของดี้-นิติพงษ์ ก็คงต้องใช้ทั้งหน้ากระดาษทีเดียว นั่นเป็นเครื่องแสดงว่า เขาเป็นนักแต่งเพลงตัวจริงของวงการคนหนึ่ง
ถ้าหากเป็นสมัยก่อน เขาก็จะเรียกดี้ว่า “ครูเพลง”

 

“ครูดี้” มีแววการเป็นนักแต่งเพลงมาตั้งแต่เด็ก เขาเป็นเด็กเมืองลิง “ลพบุรี” เป็นลูกคนเล็กของพี่น้องร่วมครึ่งโหล พี่ชายคนโตแก่กว่าเขา 1 รอบ ดังนั้น เขาจึงโตมากับการได้ยินเพลงสากลฮ็อตฮิตที่เหล่าพี่ๆ เปิดฟัง นอกจากเพลงไทยที่พ่อกับแม่ฟังเองอยู่เป็นประจำ
ดี้จึงรู้จักเพลงมาก และเป็นเหมือน “ต้นทุน” ที่ทำให้เขากลายเป็นนักแต่งเพลงเช่นทุกวันนี้
ไม่เท่านั้น เขายังเสริมทักษะด้วยการเล่นกีตาร์ เครื่องมือจีบสาวในยุคก่อนนั้น แม้จะไม่สามารถยืนยันว่าเขาจีบติดหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ดี้ได้ติดใจเสน่ห์ของโน้ตดนตรีเข้าให้แล้ว
เมื่อเขาเข้ามาเป็นนิสิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่มีบรรยากาศของความสนุกสนาน ครึกครื้นเป็นทุนเดิม เขาจึงมีความสุขกับการได้เล่นดนตรีอยู่เนืองๆ จากการเป็นสมาชิกของวงดนตรี “กระเทียมเจียว” ที่กลุ่มเพื่อนได้รวมตัวกันเล่นสนุกๆ โดยดี้รับหน้าที่เป็นมือกีตาร์ของวง
เขาได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าธารกำนัลบ้างก็อย่างงานรับน้องของคณะ
งานลอยกระทงที่เวทีหน้าคณะ
หรือแสดงเวลาไปโชว์ตามโรงเรียนหรืองานต่างๆ ที่เขาจ้าง
สมัยก่อนมีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่คงหาไม่ได้แล้วในยุคนี้ คือ งานดูหนังรอบพิเศษ ซึ่งก็มักจะเป็นรอบเช้า เรียกว่าคนที่มาดูต้องมาตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อดูหนังกัน ส่วนใหญ่เป็นการจัดเพื่อหาเงินเข้าโรงเรียนบ้าง หรือเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนั่นนี่บ้าง
คิดอะไรไม่ออกก็จัดกิจกรรมที่ว่านี่แหละเป็นที่นิยมดี
ทีนี้ก่อนจะดูหนังก็มักจะมีโชว์พิเศษให้ได้ชมกันเป็นออร์เดิฟก่อน ดี้และผองเพื่อนก็ได้มีโอกาสไปแสดงโชว์ที่ว่าอยู่เนืองๆ ซึ่งกิจกรรมที่แสดงนั้นก็มักจะมีเพลงเป็นส่วนหนึ่งด้วย และดี้ก็จะรับหน้าที่ในการเล่นกีตาร์และร้องเพลง
ส่วนเพลงที่เขามักใช้เล่นประจำก็คือเพลง “yesterday” ของวงเดอะบีตเทิลส์ จนพรรคพวกแซวว่ารู้จักอยู่เพลงเดียวเหรอ

สําหรับดี้ ภาพที่ทุกคนคุ้นชินเสมอ ก็คือภาพเขาสะพายกีตาร์โปร่งแล้วเดินดีดไปมาอย่างสบายใจราวกับวณิพก อย่างตอนเย็นๆ ที่พวกเพื่อนๆ ซ้อมรักบี้กันเหน็ดเหนื่อยอยู่ในสนาม เขาก็เดินดีดกีตาร์อยู่ข้างสนามอย่างอารมณ์ดี โดยมีรุ่นน้องสาวๆ มารุมฟังและชื่นชม เป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนๆ อย่างมาก
ดี้เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เขาจึงรู้จักคำสวยๆ ความหมายดีๆ และหลากหลายการใช้ นั่นทำให้เมื่อเขาได้มีโอกาสเขียนเพลงก็เลยมีต้นทุนของ “คำ” ตุนไว้เยอะ ซึ่งต้องมาจากการอ่านเยอะ ดูเยอะ ฟังเยอะ และที่สำคัญต้องรู้จักสังเกต
ต่อมาเมื่อดี้ได้มีโอกาสเขียนเพลงอย่างจริงจัง ต้นทุนที่สูงของเขาจึงทำให้เขาสามารถเขียนเพลงออกมาได้ไพเราะ ซาบซึ้ง โดนใจ และติดหู อย่างที่เรารู้สึกกับหลายๆ เพลงของเขา
ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ดี้มีคือ “การเล่าเรื่อง” เพราะเพลงหนึ่งเพลงก็คือการเล่าเรื่องเรื่องหนึ่งใน 4 ท่อนเพลง จะเล่ายังไงให้น่าสนใจ ชวนฟัง และกิ๊บเก๋โดนใจไม่ใช่ของง่าย ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนไม่เป็นอุปสรรคสำหรับดี้เลย

หากใครได้เคยติดตามอ่านหน้าเฟซบุ๊กของดี้ซึ่งเขามักจะเขียนบทความแสดงความคิดเห็น หรือความรู้สึกกับประเด็นต่างๆ ที่พบเห็นมา หรือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม เขาจะมีวิธีการเล่าเรื่องได้น่าอ่าน ชวนติดตาม และมีอารมณ์ขัน
กลวิธีการเขียนของเขานั้น ดี้สมมุติตัวละครขึ้นมา 2 ตัว คือ ทิดเอิบ กับ แม่ประไพ ให้เป็นบุคคลที่ 2 ที่เขาจะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง จนคนที่ติดตามประจำจะรู้สึกคุ้นเคยกับทิดเอิบกับแม่ประไพนี้ไปด้วยราวกับญาติสนิท
ส่วนเรื่องที่เขียนนั้นมีตั้งแต่เรื่อง หมาที่เลี้ยงไว้ที่ชื่อเฉาก๊วย ไปจนถึงเรื่องการบ้านการเมืองไม่เว้นแม้แต่เขียนถึงนายกฯ ตู่ของเราในเชิงเตือนต่างๆ
แม้ช่วงหลังเขาจะใช้ทักษะในการเขียนอักษรลงในเฟซบุ๊ก มากกว่าการเขียนบทเพลงเหมือนที่เคยทำมา แต่เขาก็ไม่ได้ลืมเลือนความเชี่ยวชาญในการเขียนเพลงแต่อย่างใด เพราะมันได้เก็บสะสมมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี เป็นเหมือนโรคประจำตัวเรื้อรังอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่จะกำจัดทิ้งได้ง่ายๆ
และตอนนี้ดี้ก็ได้ใช้ทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ของการเป็น “นักเขียนเพลง” ของเขาในการถ่ายทอดวิชาการเขียนเพลงตามแบบฉบับของเขาออกมาให้คนได้เรียนรู้ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีซะล่ะ ที่ครูเก่งๆ จะยอมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับลูกศิษย์หรือคนอื่นๆ ง่ายๆ
เป็นทักษะการสอนที่เหมาะกับยุคสมัยนี้ คือ การสอนออนไลน์
คือ สะดวกในการเข้าถึงเนื้อหาบทเรียน ว่างเมื่อไหร่ก็เปิดดูเพื่อเรียนรู้ได้ทุกเมื่อ ดูแล้วไม่เข้าใจย้อนมาดูอีกกี่หนก็ได้ ที่ว่านี้เป็นคอร์สออนไลน์ที่ชื่อ MyOneClass ที่ผมเคยเขียนถึงไปเมื่อ 2-3 ฉบับก่อน ในชื่อคอร์สว่า “เขียนเพลงแบบ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค”

ผมต้องขอบอกว่า ดี้ได้ใช้ประสบการณ์ที่มาจากการทำงานล้วนๆ มาถ่ายทอดให้ฟัง ซึ่งหาฟังได้ไม่ง่าย ในคอร์สจะมีคนที่เป็นนักเรียนตัวอย่างได้เขียนเพลงขึ้นมาตามหลักทฤษฎีที่ดี้ได้สอนไว้ ซึ่งก็ทำได้ไม่เลว แต่ดี้ได้ชี้ ได้กา ได้วง ให้เห็นถึงจุดที่ต้องแก้ไขต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
“คนเขียนเพลงบางคน เขียนแล้วเหมือนบ่นไปเรื่อยๆ หาเรื่องที่จะเล่าจริงๆ ไม่ได้”
ดี้แชร์ให้ฟัง
“บางคนเขียนเพลงส่งให้มาดู ดูแล้วต้องย้อนถามว่านี่กำลังเขียนข่าวอาชญากรรมเหรอ”
สำหรับคนที่จะมาเรียนคอร์สออนไลน์ที่ว่านี้ ขอให้มี 3 อย่างนี้ 1.มีความสนใจ 2.รู้จักภาษา 3.ชอบฟังเพลง จะมีพื้นฐานดนตรีด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้ามีก็เป็นแต้มต่อให้เร็วขึ้น
ในหลักสูตรดี้ได้สอนเป็นเรื่องแรกๆ เลยว่า จะเขียนเพลงให้ใครร้อง อันนี้เราต้องรู้เสียก่อนและต้องรู้ไปถึงบุคลิกลักษณะ นิสัย สันดาน สิ่งที่คนคนนั้นเป็น วิธีการมองโลก ยิ่งรู้จักคนที่จะร้องเพลงของเรามากเท่าไหร่ยิ่งดี ต้องสแกนกันให้ชัดราวกับหาคู่แต่งงานยังงั้นเชียว
นี่เองที่ทำให้เพลงที่เขาเขียน จึงดูเข้าปากตรงบุคลิกกับคนที่ร้องจังเลย ราวกับเป็นคนที่ร้องเป็นคนเขียนเพลงเองก็ไม่ปาน เพราะถ้าจะพูดถึงเพลงอกหัก คำพูด ท่าทีที่เบิร์ด-ธงไชย จะใช้ร้อง คงไม่เหมือนกับคำพูดท่าทีของป้อม-อัสนี หรือถ้าเป็นวงนูโวก็จะออกไปอีกรสชาติหนึ่ง เป็นต้น

มีแนวทางหลายอย่างที่เขาได้แนะนำสอนเอาไว้ แต่ที่ดูจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดคือ “ความประทับใจ” ที่เพลงๆ นั้นจะโดนใจคนฟัง อันนี้ต้องอยู่ที่ความชำนาญ ประสบการณ์ การฝึกฝน อยู่พอสมควร ซึ่งในคอร์สออนไลน์นี้ดี้ก็ได้มีแนะนำไว้
หากใครสนใจจะลุกขึ้นมาเขียนเพลงบ้าง โดยไม่ต้องตั้งใจจะยึดเป็นอาชีพ แต่สามารถให้เรามีทักษะติดตัว เวลาที่นึกสนุกอยากเขียนเพลงจีบสาว อยากแต่งเพลงให้ภรรยา อยากเขียนเพลงให้เพื่อนเป็นที่ระลึกเวลาต้องแยกย้ายกันไปเรียน หรือแม้แต่แต่งเพลงให้บริษัท ก็สามารถเข้าไปเรียนรู้จากคอร์สนี้ได้
เข้าไปดูได้ครับที่ www.myoneclass.com บางทีบทเพลงฮิต 100 ล้านวิวเพลงต่อไปอาจมาจากฝีมือคุณก็ได้