2534-2535 สืบทอดอำนาจ ได้…พฤษภาทมิฬ 2557-2562 ถ้ามีเลือกตั้ง จะได้อะไร?

มุกดา สุวรรณชาติ

เหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะครบรอบ 26 ปีของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ผลสุดท้ายลงเอยด้วยการเดินขบวนครั้งใหญ่ของประชาชนที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. มีเหตุการปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ถ้าย้อนดูเหตุการณ์ครั้งนั้นจะพบว่าเริ่มต้นจากการรัฐประหารจากนั้นพยายามสืบทอดอำนาจด้วยหวังจะใช้การเลือกตั้งแปลงกายจากเผด็จการมาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบ

แต่ทำไม่สำเร็จเนื่องจากกระแสต้านแรงมาก

วิเคราะห์ดูสถานการณ์ปัจจุบันมีหลายอย่างที่คล้ายกันกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นแต่ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครรู้ จะลองเปรียบเทียบย้อนหลังย้อนรอยประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นบทเรียนให้ระมัดระวัง

การหลงใหลในกระแสอำนาจที่สร้างขึ้นเอง อาจเกิดความผิดพลาดไม่เพียงเฉพาะตนเองแต่จะเสียหายไปในวงกว้าง

 

ย้อนประวัติศาสตร์การรัฐประหาร
และการพยายามสืบทอดอำนาจ

1.ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังรัฐประหาร 2500 ก็ตั้งพรรคสหภูมิ… 15 ธันวาคม 2500 มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคถึง 59 คน กลุ่มใหญ่ที่สุด พรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ได้ 44 คน ประชาธิปัตย์ได้ 39 คน นอกนั้นเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย

จอมพลสฤษดิ์จึงได้ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาคือพรรคชาติสังคมโดยใช้พรรคสหภูมิเป็นแกนกลางและรวบรวม ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคและพรรคเล็กน้อยได้ 80 เสียง แต่ครั้งนี้ให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ พรรคชาติสังคมรวมกับเสียง ส.ว. ก็มีผู้สนับสนุนถึง 202 เสียง

สุดท้ายก็ยอมรับกับระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ ต้องรัฐประหารรัฐบาลตนเองที่ตั้งมาเพียงไม่กี่เดือน จากนั้นก็จับพวกต่อต้านขัง ถ่วงเวลาร่างรัฐธรรมนูญ จนป่วยตายเมื่อปี 2506 เมื่อเสียชีวิตลงทุกคนก็ค้นพบว่าตัวผู้เผด็จการเองก็คือตัวคอร์รัปชั่นที่มากมายคนหนึ่ง

2. จอมพลถนอม กิตติขจร ได้อำนาจต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ถ่วงเวลารัฐธรรมนูญต่อไป ในที่สุด 9 ปีกว่าก็ร่างเสร็จ (จะเห็นว่าแผนอยู่ยาว เป็นเรื่องปกติ ถ้าฝืนไม่ไหวค่อยเลือกตั้ง) เมื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ และประกาศใช้ในมิถุนายน 2511 ใช้เวลาร่างนานที่สุดในโลก วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและจะมาจากข้าราชการก็ได้

มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ผลการเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมได้ ส.ส. 76 คน ปชป. ได้ 55 คน แต่ ส.ส. อิสระไม่สังกัดพรรค มีมากถึง 71 คน จอมพลถนอมดึงเสียง ส.ส.อิสระ มารวมกับพรรคสหประชาไทย ได้ 125 คน เมื่อมี ส.ว. หนุน จึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

การสืบทอดอำนาจโดยแปลงกายเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ในปี 2512 ทำได้ แต่สุดท้ายก็ทนไม่ได้อีกเช่นกัน พอถึงปี 2514 กลุ่ม ส.ส. ได้ขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสภาลง ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้ และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

จึงต้องทำการรัฐประหารตนเอง ตั้ง…สภาบริหารคณะปฏิวัติ…แทนสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ถึง 2 ปีก็ถูกโค่นล้มในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

3. เมื่อถึงยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้อยู่เบื้องหลังในการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ก็พยายามสืบทอดอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งแต่ไม่มีพรรคการเมืองของตนเองอาศัยพรรคเล็กๆรวมกัน สนับสนุน ที่สำคัญยังมีกำลังหนุนของ ส.ว.สายทหารที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามา แต่เมื่อนายกฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคการเมืองรวมกันต่อต้าน โดยมี ส.ว. ร่วมหักหลังนายกฯ เกรียงศักดิ์ก็ถูกโค่นอำนาจกลางสภา นายกฯ เปรมคว้าพุงเพรียวๆ ไปกิน

4. หลังการรัฐประหารของคณะ รสช. 2534 การสืบทอดอำนาจก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งความหวังจะถอดเครื่องแบบใส่สูทเข้าสู่สภา ดูคล้ายจะง่ายแต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จคณะ รสช. ถูกโค่นล้มลงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เหตุการณ์ช่วงนั้น น่าจะใกล้เคียงยุคปัจจุบันที่สุด จึงขอวิเคราะห์เปรียบเทียบแบบลงลึก

 

เปรียบเทียบการสืบทอดอำนาจ…
ปี 2534-2535 และปี 2557-2562

1.คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จากนั้นนำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2534 มาใช้ชั่วคราวจริงๆ แต่พยายามสืบทอดอำนาจโดยผ่านระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง (นายกฯ ชั่วคราว ไปมอบให้นายอานันท์ ปันยารชุน) จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 อย่างรวดเร็ว ในเดือนธันวาคม 2534

“คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณปี 2549 แล้วแพ้เลือกตั้ง ปี 2550 สืบทอดอำนาจต่อไม่ได้ จนเกิดความขัดแย้งตลอด 7 ปี หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงพฤษภาคม 2561 รธน. ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ อยากอยู่ยาวก็โดนบีบ จะเลือกตั้งก็อาจแพ้ จึงยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้ง

2. รธน. 2534 และ 2560 เขียนโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ มีเนื้อหาที่เปิดทางเพื่อสืบทอดอำนาจได้ ทั้งสองฉบับ จะให้เสร็จเร็ว เสร็จช้า จัดให้ได้ รธน. ฉบับ 2534 ใช้เวลา 9 เดือน ฉบับล่าสุด ยังไม่รู้นานเท่าใด

2534 วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง มีจำนวน 270 คน มีวาระละ 6 ปี เมื่อครบ 3 ปี ให้จับสลากออกครึ่งหนึ่ง ส่วนสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 300 คน ซึ่งราษฎรเลือกตั้ง แสดงว่า ส.ว. มีจำนวน 9 ใน 10 ของ ส.ส.

“รธน. 2560 ส.ว. มี 250 คน ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง ส.ส. มี 500 คน

3. วิธีการเลือกตั้งปี 2535 เลือกแบบแบ่งเป็นเขตใหญ่ เรียงเบอร์ 3 คน ไม่ต้องเลือกยกพวง

ปี 2562 จะเลือกแบบจัดสรรปันส่วนผสม เขตละ 1 คน คะแนนคนที่แพ้สามารถนำมาคิดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ คุมพรรคใหญ่ไม่ให้ได้ ส.ส. มาก

4. เลือกนายกฯ ปี 2534 ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่เลือกโดย ส.ส.

“รธน. 2560 ตามบทเฉพาะกาล 5 ปีให้ ส.ส. 500 คน + ส.ว. 250 คนเป็นผู้เลือกนายกฯ ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ได้พรรคละ 3 คน ห้ามซ้ำกัน ในขณะหาเสียง ประชาชนจะได้รู้ว่าเลือกพรรคไหน นายกฯ คือใคร แบบนี้ถือว่าเป็นคนใน แต่ถ้าพรรคต่างๆ ตกลงเลือกนายกฯ ไม่ได้ สามารถเสนอชื่อคนนอกมาแข่งกัน แต่ต้องมีเสียงในรัฐสภารับรอง 500 เสียงถึงจะทำได้

การเขียน รธน. แบบนี้วิเคราะห์ว่า ผู้เขียนต้องการให้ผู้สืบทอดอำนาจ ร่วมมือกับพรรคการเมือง จึงจะไม่ล้มเหลว แบบ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ตัวอย่างการร่วมมือของทหารและนักการเมืองที่ทำให้รัฐบาลอยู่นานคือการครองอำนาจ 8 ปีของ พล.อ.เปรม

5. รสช. ใช้แนวทางสมคบนักการเมือง ตั้งพรรคของตนเอง เป็นพรรคทหารที่ไม่จำเป็นต้องมี พลเอก รสช. ออกหน้า ชื่อพรรคสามัคคีธรรม เป็นพรรคการเมืองที่รวบรวมนักการเมืองมาจากหลายพรรค รสช. หนุนเต็มที่ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ (อดีตหัวหน้าพรรครวมไทย) เพื่อเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ

“ปี 2561 คสช. รู้ว่านายกฯ คนนอก เป็นไปได้ยาก จะสืบทอดอำนาจง่ายกว่า ต้องตั้งพรรค สมัครนายกฯ จึงทำแบบ รสช. ก็มีคนกล่าวหาว่ามีปฏิบัติการดูด ที่จริงก็เป็นการรวมผู้แสวงหาอำนาจ ยามฝนตก

6. รสช. ยืนยันว่าไม่สืบทอดอำนาจ

มีการรวมตัวเป็นรัฐบาลผสมของพรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม และพรรคเล็กๆ โดยหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ คนนอก

แต่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ผู้นำคณะ รสช. ยืนยันหลายครั้งอย่างชัดเจนว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ ไม่เป็นนายกฯ สุดท้ายก็มารับตำแหน่ง โดยอ้างว่าจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ

“คสช. เดิมก็บอกว่าไม่สืบทอดอำนาจ แต่ต่อมาก็มีการตั้งคำถาม โยนหินถามทาง แก้บทเฉพาะกาล รธน. 2560 แม้ยังไม่ประกาศชัด แต่การหาคะแนนนิยม เป็นแบบนักการเมือง การดูด ก็เป็นไปตามครรลองการเมืองเก่า

หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมมากมาย ถึงขั้นมีประชาชนชุมนุมประท้วงใหญ่ และในที่สุดนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก อำนาจจากคณะ รสช. หมดไป

 

เปรียบเทียบสภาพแวดล้อมทางการเมืองและสังคม 2535 และ 2561

มีปัญหาเศรษฐกิจ ที่คนรู้สึกว่าแย่ลงหลังรัฐประหาร นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ 2534 หลังรัฐประหาร 2549 คนก็รู้สึกว่าความรุ่งเรืองสมัยนายกฯ ทักษิณถูกทำลายไป และยังมาทำซ้ำในปี 2557 ทำให้ประเทศไทยตกต่ำลงในเวทีโลก

2535 ระบบสื่อสารที่ทันสมัยคือโทรศัพท์มือถือ แต่ยังราคาแพง คนบางกลุ่มมีใช้ สามารถส่งข่าวสารได้ แต่ปัจจุบัน ระบบโซเชียลมีเดียพัฒนาไปจนกล่าวได้ว่าทุกคนมีโทรศัพท์ 4G ที่สามารถส่งภาพเสียง กระจายผ่านเครือข่ายไลน์, เฟซบุ๊ก หรืออื่นๆ ได้

รสช. มีกองหนุนที่อยู่นอกสายทหารน้อยกว่า คสช. ซึ่งอยู่ยาวนานกว่า วางเครือข่ายได้มากกว่าทุกวงการ

สภาพการเมือง 2534 ไม่มีพรรคที่จะชนะได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา แต่ปัจจุบันมี และความนิยมทางการเมืองยังอยู่ที่พรรคใหญ่ 2 พรรค เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ การเกิดความนิยมต่อพรรคใหม่ ในปี 2535 คือพรรคพลังธรรม นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ปี 2561 ภาพที่ปรากฏวันนี้ คือพรรคอนาคตใหม่ ที่มีธนาธรกับปิยบุตร เป็นตัวชูโรง

2534 ความตื่นตัวของประชาชนแล้วแสดงออก ยังอยู่ที่ชนชั้นกลางในเมือง แต่ปัจจุบัน ความตื่นตัวทางการเมืองกระจายลงไปทุกชนชั้น ถึงชนบท โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน จนเกิดความขัดแย้งของมวลชนต่างสีขึ้น

2535 ยังไม่ปรากฏบทบาทที่มีผลทางการเมืองขององค์กรอิสระ และตุลาการภิวัฒน์ แต่ปัจจุบัน มีผลมาก และสร้างความคับข้องใจแก่ประชาชน

การเมือง 2535 คือการไม่ยอมให้คณะรัฐประหาร รสช. สืบทอดอำนาจต่อ การเมือง 2562 ที่จะผ่านสนามเลือกตั้ง ประชาชนจะยอมให้ คสช. สืบทอดอำนาจต่อหรือไม่ ยอมรับยุทธศาสตร์ 20 ปีที่จะนำประเทศของ คสช. หรือไม่?