บทวิเคราะห์ : “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ปักธง เพื่อไทยสัญจรสิงคโปร์ ตรึงอดีต ส.ส.สู้ “พลังดูด”

นับจากการหายตัวออกนอกประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดือนกันยายน 2560 และการปรากฏตัวครั้งแรกในช่วงคริสต์มาสธันวาคมปีเดียวกันขณะเดินช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้าในประเทศอังกฤษ

นับตั้งแต่นั้นมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ปรากฏภาพออกสื่อต่อเนื่องทั้งเป็นทางการและไม่ทางการ

ไม่ว่าภาพถ่ายคู่แฟนคลับคนไทยบริเวณห้างแฮร์รอดส์ กลางกรุงลอนดอน ในเดือนมกราคม 2561 จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ช่วงเทศกาลตรุษจีน ก็มีภาพข่าวรายงาน

น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมด้วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นพี่ชาย เดินทางมาพักผ่อนในประเทศแถบเอเชียใกล้กับไทยคือ จีน ฮ่องกงและสิงคโปร์

ต่อมา 29 มีนาคม เว็บไซต์อาซาฮี สื่อดังของประเทศญี่ปุ่นรายงานว่า นายทักษิณพร้อม น.ส.ยิ่งลักษณ์ สองพี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ปรากฏตัวออกงานคู่กันครั้งแรกในงานเปิดตัวหนังสือของอดีตรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในแขวงชิโยดะ กรุงโตเกียว

ในช่วงสงกรานต์ปีใหม่ไทย ก็มีภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์กับนายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย สรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวนายทักษิณ ชินวัตร ในบ้านพักนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ล่าสุดนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาพักผ่อนที่สิงคโปร์อีกครั้ง ช่วงระหว่างวันที่ 3-8 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. และแกนนำพรรคเพื่อไทย ทยอยเดินทางบินไปพบกันอย่างคึกคัก

บรรยากาศแตกต่างไปจากฝั่งของรัฐบาลไทยและ คสช. ที่ครั้งนี้ดูเหมือนไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่

หน่วยงานเกี่ยวข้องในการติดตามตัว 2 อดีตนายกฯ ผู้หลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือสำนักงานอัยการสูงสุด

ต่างก็สงบปากสงบคำ

มีก็แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ยังขึงขังตามสไตล์

สั่งให้ผู้เกี่ยวข้องติดตามดูอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เดินทางไปสิงคโปร์ ว่าทำผิดกฎกติกาข้อใดหรือไม่ เนื่องจาก คสช. ยังไม่มีคำสั่ง “ปลดล็อก” การเมือง

สอดรับคำเตือนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ระบุถึงแม้การไปสิงคโปร์จะเป็นการพบปะกันตามปกติ แต่ก็ล่อแหลมและสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองยินยอมหรือให้บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรค ในลักษณะทำให้พรรคหรือสมาชิกพรรคขาดความเป็นอิสระ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

หากพิสูจน์ได้ว่ามีการทำผิดจริง กฎหมายกำหนดโทษให้ต้อง “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิ” ทางการเมือง

เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่มีความยืดหยุ่น ประนีประนอมกว่า เนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่ 21/2557 เรื่องห้ามบุคคลออกนอกราชอาณาจักรยกเลิกไปแล้ว “ก็สามารถไปได้”

พรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยเรียกร้องกดดันให้รัฐบาล คสช. ลากคอ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” กลับมารับโทษให้ได้นั้น

ครั้งนี้กลับต่างออกไป นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคแสดงความเห็นว่า การที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือเป็นสิทธิ

เป็นเรื่องการพบปะของคนรักกัน จะไปห้ามไม่ได้ แค่อย่าทำให้บ้านเมืองวุ่นวายก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนที่ว่าอาจผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ไม่เห็นว่าจะผิดได้อย่างไร

“รัฐบาลไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ” นายนิพิฏฐ์ระบุ

หน่วยงานความมั่งคงของรัฐบาล ประเมินการเดินทางมาสิงคโปร์ของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งนี้เป็นการหวังผลด้านการตลาด

สร้างความเชื่อมั่นให้กับอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยช่วงใกล้เลือกตั้งซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นราวต้นปี 2562 ท่ามกลางกระแสข่าวอดีต ส.ส. หลายกลุ่มเตรียมแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ ไม่ก็ย้ายไปสังกัดพรรคอื่น

รวมทั้งน่าจะมีการพูดคุยกันถึงตัวบุคคลที่จะมาเป็น “ผู้นำพรรค” คนใหม่ที่ยังไม่ชัดเจน

จากที่ปรากฏภาพแกนนำและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค โพสต์ลงในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมส่วนตัว

นอกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ และนายวัน อยู่บำรุง บุตรชาย ยังมีนายไผ่ ลิกค์ หรือ “ไผ่ วันพอยท์” อดีต ส.ส.กำแพงเพชร

ส่วนที่ไม่ปรากฏภาพ แต่มีชื่อเป็นข่าวก็มีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รวมถึงอดีต ส.ส.กทม. อดีต ส.ส.ภาคเหนือและอีสาน แกนนำ นปช. รวมทั้งมวลชน แฟนคลับจำนวนหนึ่ง

รายงานข่าวพรรคเพื่อไทย ระบุถึงบรรยากาศการพบปะ นอกจากสอบถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป ยังพูดคุยวิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองในไทยภายใต้ปรากฏการณ์ “ดูด” อดีต ส.ส. และนักการเมืองกลุ่มต่างๆ ไปเป็นแนวร่วม สนับสนุนการสืบทอดอำนาจหลังเลือกตั้งครั้งหน้า

ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อรับมือสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงรายวัน รวมถึงการที่สัญญาณการเลือกตั้งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคที่ลดลงจำนวนฮวบฮาบ แกนนำพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงความเป็นห่วง เพราะเชื่อว่าทันทีที่ คสช. ประกาศ “ปลดล็อก” การเมืองในเดือนมิถุนายน

ก็จะมีคนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคจำนวนมาก

สําหรับหัวข้อที่น่าจะเป็นการเขย่าขวัญ คสช.

คือการที่นายทักษิณ ชินวัตร กล่าวกับคนของพรรคเพื่อไทยที่ไปพบว่า ไม่จำเป็นต้องกังวลกับเรื่อง “พลังดูด” ของ คสช. ในทางกลับกัน น่าจะเป็นฝ่ายดูดมากกว่าที่ต้องระวัง เพราะอาจดูดได้ “คนสีเทาๆ” ไป

นายทักษิณแสดงความมั่นใจว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมีขึ้น พรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายชนะแบบถล่มทลายหรือ “แลนด์สไลด์” แน่นอน

ไม่มีการระบุลงลึกในรายละเอียดว่าทำไมนายทักษิณถึงมั่นใจขนาดนั้นว่าเพื่อไทยจะชนะ

แต่หลายคนก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้มาก ยิ่งหากมองจากในมุมความเคลื่อนไหวของรัฐบาล คสช. ที่ระดม “รถสีเหลืองๆ” ออกตระเวน “ดูด” ไปทั่วทุกสารทิศ

ก็ยิ่งเห็นได้ว่า ถึง คสช. และแม่น้ำหลายสายจะร่วมกันออกแบบกฎกติกาต่างๆ เอื้อประโยชน์ สร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายตนไว้อย่างดี ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้

การ “ตกปลา” ใน “บ่อเพื่อน” ยังทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ คสช. และรัฐบาลอย่างแรง ทำให้โอกาสที่ 2 พรรคใหญ่จะหันมาจับมือกันชั่วคราวเพื่อรุมกินโต๊ะ “พรรค คสช.” มีความเป็นไปได้มากขึ้น

ในสถานการณ์ผลัดกันรุก-รับ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกต่อกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะปัดฝุ่นคดีเก่า อย่างคดีทุจริตแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท และคดีทุจริตโครงการออกหวยเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ขึ้นมาฟ้องร้องเล่นงาน “ทักษิณ” อีกครั้ง

ในจังหวะนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินสายสัญจรมายังสิงคโปร์ เรียกคะแนนนิยมให้กับพรรคเพื่อไทย ห้วงเวลาเดียวกับรัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างเปิดเวที ครม.สัญจรสุรินทร์-บุรีรัมย์ ซึ่งถูกมองว่าไม่ต่างจากการลงพื้นที่หาเสียง

ทุกอย่างจึงสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ แต่เป็น “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ที่ยังดำรงความเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของผู้มีอำนาจ ที่จะต้องโค่นให้จงได้

หากไม่ต้องการให้แผนสืบทอดอำนาจสะดุดล้มกลางคัน