วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /สู่ร่มกาสาวพัสตร์ บวชแล้วต้องปฏิบัติ

วางบิล  เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์       

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

บวชแล้วต้องปฏิบัติ

 

รุ่งเช้า ระหว่างเดินไปลงโบสถ์ทำวัตร พระครูพรหมบอกกับพระปานว่า เสร็จจากทำวัตรเช้าแล้วแวะมาหาด้วย พระปานรับปาก สงสัยว่าท่านคงมีธุระกระมัง แต่ไม่ได้คิดอะไร เมื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้าเสร็จ กลับมาขึ้นไปหาพระครูพรหมบนกุฏิ

“นั่งซิ” พระครูพรหมชี้ให้พระปานนั่นตรงหน้า เมื่อนั่งเรียบร้อย พระครูพรหมจึงเริ่มเอ่ยปากสนทนา

“คุณบวชมาเกือบเดือนแล้วซินะ…” ไม่รอคำตอบพระครูพรหมกล่าวต่อ

“ที่เรียกมานี่เห็นว่าบวชมานานพอสมควร เป็นการบวชนอกพรรษา ระหว่างนี้ไม่มีพระบวชใหม่เข้ามาอีก เลยไม่มีการสอนอะไรกัน” พระครูยกกาน้ำชาออกจากป้านรินลงถ้วยสองถ้วย เลื่อนให้พระปานถ้วยหนึ่ง

จากนั้นจึงเอ่ยถึงการบวชว่า เมื่อตอนที่คณะสงฆ์ในโบสถ์ต่างขานรับกับคุณว่า เป็นพระภิกษุตามที่พระคู่สวดบอกนั้น คุณเป็นภิกษุตามคำสั่ง  ความเป็นสงฆ์จะเกิดขึ้นทันทีต้องรักษาศีล 227 ข้อ เช่นเดียวกับภิกษุทุกรูป เข้าร่วมในพิธีสงฆ์ได้ นั่นเป็นพระตามคำสั่ง ส่วนต่อมาเมื่อได้ปฏิบัติตามพระวินัยคำสั่งสอน เช่น ไม่ละเมิดศีล หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้า ความเป็นพระเริ่มเข้าสู่จิตใจ มีการประพฤติปฏิบัติอย่างพระทั่วไปที่ท่านปฏิบัติกัน ไม่เป็นที่รังเกียจต่อกัน

“ในการบวชนั้น ท่านว่าเป็นการสละเรือนเพื่อละกิเลสให้เบาบางลง หรือให้หมดไป กิเลสที่ว่าคือ ราคะ โมหะ โทสะ การละกิเลสนั้น ท่านให้พิจารณาจากตัวเอง ตามที่อุปัชฌาย์สอนขณะบวชที่ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ แล้วทวนกลับโดยปฏิโลม เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาได้พิจารณาถึงสังขารตัวเอง มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น นี่เป็นเบื้องต้นของกรรมฐาน…”

 

พระครูพรหมหยุดหยิบถ้วยน้ำชาขึ้นดื่ม แล้ววางลง “สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่งามทั้งสิ้น แม้แต่อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเรา ที่จริงล้วนแล้วแต่ประกอบขึ้นจากธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไอ้ที่แข้นที่แข็งคือดิน ที่เหลวๆ เป็นน้ำ ที่พัดขึ้นเบื้องบนพัดลงเบื้องล่างคือลม และที่เป็นความร้อนเป็นพลังงานคือไฟ”

พระครูพรหมอธิบายคล่องแคล่ว

“สิ่งต่างๆ ในร่างกายเรานี้ พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสรู้พิสูจน์มาแล้วด้วยพระองค์เอง ท่านเห็นอาการทั้งสามสิบสองของร่างกาย มีผม เป็นต้น มีเยื่อในสมองเป็นที่สุด ให้เราพิจารณาจากตัวเอง จากสิ่งที่มีอยู่ เรียกว่ากรรมฐาน เท่าที่ปฏิบัติมักจะเป็นอานาปานสติ คือกำหนดลมหายใจเข้าออก รู้เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น…” ท่านพระครูหยุดด้วยการหายใจเข้าออกให้เป็นตัวอย่าง และว่า

“จุดที่จะรู้ในการหายใจคือที่ตรงปลายจมูก ตรงที่ลมหายใจมากระทบ ตรงนั้นแหละที่เรียกว่ากรรมฐาน คือจุดที่ตั้งอยู่ ตัวที่รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกคือสติ เราต้องมีสติคุมจิต กำหนดจิตไว้ที่ลมหายใจ เอาสติคุมไว้อีกทีหนึ่ง ลองไปทำดู” พระครูพรหมทำท่าทางประกอบการอธิบาย และว่าถึงอาการที่จะเกิดขึ้นระหว่างทำสมาธิกรรมฐาน เช่น อาจมีรูปนิมิตเกิดขึ้น เหมือนกับฝัน แต่เป็นขณะที่เรารู้สึกตัว ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่ง

เช่น อาจจะเห็นเป็นสีแสงต่างๆ เป็นผู้หญิง เป็นของสวยงาม หรือเป็นภูตผีปิศาจ ให้เพียงแต่รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้น เท่านั้น อย่าไปหลงหรือตกใจกลัว “อีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อจิตเริ่มนิ่งหรือสงบลง บางครั้งเสียงที่เกิดขึ้นจากภายนอกจะดังกว่าปกติจนอาจทำให้ตกใจได้ พยายามคุมสติไว้ให้ดี อย่าไปตกใจเกินกว่าเหตุ”

พระครูพรหมอธิบายละเอียดเพื่อให้เข้าใจ “ถ้าง่วงนอนอย่าไปฝืนทำ ระหว่างทำใหม่ๆ อาจเกิดอาการง่วงนอน เพราะจิตเริ่มสงบ ถ้าง่วงจนทนไม่ไหวก็นอนหลับ เมื่อทำจนชำนาญแล้ว อาการง่วงจะค่อยห่างไปเอง” ระหว่างนั้น พระปานได้แต่นั่งฟังอย่างสนใจ พร้อมรับคำ “ครับ ครับ”

 

เมื่อพระครูหยุดอธิบาย จิบน้ำชา พระปานจึงเอ่ยขึ้นว่า “ผมเคยปฏิบัติมาบ้างแล้วครับ เคยอ่านจากหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องการทำสมาธิ เมื่อเด็กๆ เคยปฏิบัติ แต่ตอนโตมานี่ ห่างไปบ้าง”

“เออ ดี แล้วเป็นยังไงล่ะ” พระครูพรหมถาม

“ก็…ยังไม่ได้อะไรสักเท่าไหร่ดอกครับ แต่ทำให้จิตใจสงบดี” พระปานตอบ

พระครูพรหมพยักหน้ารับและว่า “ตอนนี้กำลังว่างอยู่ ลองไปทำดู จะเป็นตอนบ่ายหรือก่อนนอนก็ได้… เอาละ แค่นี้แหละ” พระครูพรหมบอกเชิงอนุญาตให้กลับได้ “เออ…ถ้ามีอะไรสงสัยมาถามได้นะ”

พระปานกลับมาที่ห้องด้วยความรู้สึกเหมือนกับว่าได้พบกับสิ่งที่เป็นมงคลชีวิต พบทางอันตรงไปสู่สิ่งที่ดีสิ่งที่งาม รู้สึกว่า ได้พบกับพระที่เป็นพระ ทั้งพระปานตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกบวชแล้วว่า เมื่อบวชได้สักเดือนจะถือโอกาสไปหาสำนักกรรมฐานหรือวิปัสสนาเพื่อเรียนรู้วิธีปฏิบัติขณะครองผ้ากาสาวพัสตร์สักพักหนึ่ง แต่กลับได้รับการอธิบายอย่างดีจากท่านพระครู จึงทำให้จิตใจรู้สึกอิ่มเอม มีกำลังใจที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามพระวินัย และปฏิบัติกรรมฐาน

“แม้ยังไม่ได้ผลอะไรก็เท่ากับเป็นการฝึกฝนจิตของเราให้สงบ ห่างจากกิเลสชั่วพักชั่วคราว” พระปานยังจำคำพูดของท่านพระครูได้

 

ในอีกความคิดหนึ่ง พระปานเลิกล้มความคิดจะบวชเพียงสองเดือน ด้วยคิดว่าการบวชเพียงสองเดือนนั้น แม้ใช้เวลาศึกษาและปฏิบัติธรรม ยังไม่น่าจะเพียงพอหรือสามารถให้รู้อะไรดีในพุทธศาสนาไม่ พระปานจึงตัดสินใจตั้งแต่นั้นว่า ยังไม่กำหนดลาสิกขา คือจะบวชไปเรื่อยสักพักจนกว่าเห็นว่าสมควรแก่เวลา อาจเป็นก่อนเข้าพรรษา หรืออีกประมาณ 6 เดือน หรืออาจอยู่ระหว่างพรรษาก็ได้

เวลาว่างช่วงกลางคืน หลังกลับจากสวดพระอภิธรรมที่เมรุหลังวัด หรือหากวันไหนไม่ไปสวด พระปานมักชวนพระสุชัยพูดคุย หรือไม่ก็กับพระมหาสวัสดิ์

พระสุชัยเป็นพระหนุ่ม บวชมาได้สามพรรษาแล้ว ไม่ได้บวชมาตั้งแต่สามเณร แต่บวชหลังพ้นแกณฑ์ทหาร พระสุชัยเล่าว่า ทีแรกตั้งใจจะบวชเพียงพรรษาเดียว แต่เมื่อบวชไปสักพักสามารถสอบนักธรรมตรีได้ ประกอบกับยังไม่อยากสึกออกไปสู่โลกภายนอกที่เคยอยู่มาแล้วระหว่างวัยรุ่นถึงหนุ่ม จึงบวชมาเรื่อย ตั้งใจว่าบวชสักห้าพรรษาจึงตัดสินใจ

พระสุชัยค่อนข้างจะเคร่งพระวินัยและหมั่นศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อเห็นพระปานทำอะไรผิดพระวินัยแม้ส่วนน้อย จะว่ากล่าวตักเตือน โดยยกพระวินัยขึ้นมาบอกให้ฟัง

เช่นเดียวกับเมื่อพระสุชัยเผลอตัว พระปานจะเตือนบ้าง นัยว่าแก้เผ็ด แต่มิได้เป็นไปอย่างโกรธหรืออย่างใดทั้งสิ้น

เป็นไปเพียงเย้าแหย่กันเท่านั้น