สำเนียงส่อภาษา : นิตยา กาญจนะวรรณ

คําว่า สำเนียง หมายถึง เสียง น้ำเสียง หางเสียง วิธีออกเสียง เช่น

“พิธีกรคนนี้พูดสำเนียงไม่ชัด”

“ท่านประธานพูดภาษาไทยแต่สำเนียงเป็นฝรั่ง”

คำว่า ส่อ หมายถึง แสดงให้รู้เป็นนัยๆ ส่วนมากใช้ไปในทางที่ไม่ดี เช่น

“การกระทำเช่นนี้ส่อเจตนาทุจริต”

“ผู้ต้องหามีอาการส่อพิรุธ”

สำเนียงส่อภาษา หมายความว่า วิธีการพูดจาแสดงให้รู้โดยไม่ต้องบอกว่า ผู้พูดพูดภาษาอะไรเป็นภาษาแม่ ถ้าเป็นภาษาเดียวกัน เช่น ภาษาไทย ก็จับได้ว่าเป็นภาษาไทยถิ่นไหน ถ้าเป็นภาษาต่างประเทศ ผู้พูดก็มักจะติดสำเนียงภาษาแม่ของตนอยู่ เช่น ฝรั่งพูดไทย อาจจะออกเสียง ป ปลา ที่เป็นพยัญชนะต้นไม่ได้ ส่วนไทยพูดอังกฤษ ก็อาจจะออกเสียง z ไม่ได้

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเสียงบางเสียงอาจจะไม่ปรากฏในอีกภาษาหนึ่ง จึงต้องแทนที่ด้วยเสียงที่ภาษาของตนมีอยู่ บางคนอาจจะฝึกฝนมาดี สามารถเลียนแบบสำเนียงที่ต่างไปจากภาษาของตนได้อย่างถูกต้อง แต่เชื่อเถอะทีเผลอก็มี

วลี สำเนียงส่อภาษา น่าจะเป็นข้อความที่ใช้บรรยายข้อเท็จจริงบางประการในด้านการพูดจาของมนุษย์ได้

แต่ถ้านำไปรวมกับวลี กิริยาส่อสกุล เป็น สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล ก็จะกลายเป็นคำตำหนิในเชิงเปรียบเทียบว่า “การพูดจาบอกให้ทราบได้ว่าคนผู้นั้นเป็นคนอย่างใด ในทำนองเดียวกัน การกระทํา อาการที่แสดงออกมาทางกาย มารยาทที่เห็นก็บอกให้ทราบได้ว่าคนผู้นั้นมาจากตระกูลวงศ์ เชื้อสาย เผ่าพันธุ์ใด”

กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ วิธีการพูดจาและมารยาทที่แสดงออกทำให้ทราบได้ว่า บุคคลผู้นั้นมาจากไหน ได้รับการอบรมมาเพียงใด ตัวตนจริงๆ ของเขาคืออย่างไร

ในโลกของเทคโนโลยีปัจจุบันที่ผู้คนสื่อสารกันอยู่หน้าจอ ข้อมูลที่มนุษย์ส่งเข้าสู่ระบบแทนการพูดจากันก็คือตัวตนของบุคคลนั้น ข้อมูลหลากหลายปริมาณมหาศาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลดัชนีการค้นคืนของเว็บ ข้อมูลการสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลในเครือข่ายสังคม ข้อมูลการพยากรณ์อากาศ ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ฯลฯ คือสิ่งที่เรียกว่า ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data)

ข้อมูลดังกล่าวเมื่อนำมาวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ก็จะบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น ในทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถจะบอกได้ว่า ลูกค้าคือใคร เป็นคนอย่างไร ชอบอะไร จะได้เสนอขายได้ถูก

ผู้ที่เคยสั่งซื้อของผ่านทางอินเทอร์เน็ต อาจจะมีข้อเสนอส่งกลับมาด้วย เช่น ถ้าสั่งซื้อหนังสือประเภทหนึ่ง ก็จะมีข้อเสนอขึ้นมาว่า ผู้ที่เคยสั่งซื้อหนังสือเล่มนั้น มักจะซื้อหนังสือเหล่านี้ด้วย คุณสนใจไหม

ผู้ที่เคยเข้าไปค้นหาเรื่องที่สนใจ ก็มักจะมีเรื่องในทำนองเดียวกันส่งมาให้ดูด้วย เช่น ถ้าเคยคลิกเข้าไปดูวิธีทำกับข้าว คราวต่อไปเมื่อคุณเปิดเครื่องขึ้นมาก็จะมีกับข้าวชนิดต่างๆ เสนอกันขึ้นมาทันที

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ข้อมูลที่คุณส่งเข้าสู่ระบบนั่นแหละที่แสดงตัวตนของคุณ เช่นเดียวกับ สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล โทษใครไม่ได้

ลองสังเกตดูเถอะ หน้าจอของแต่ละคนนั้นจะต่างกันตามแต่ลักษณะของบุคคล

สมัยนี้ต้องขอปรับวลีเสียใหม่ว่า สำเนียงส่อภาษา หน้าจอส่อตัวตน