อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : รัฐมนตรีกลาโหมหญิงญี่ปุ่น กับปัญหาในทะเลจีนใต้

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

สื่อมวลชนหลายแขนงรายงานการเดินทางเยือนนครวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกของ นาง Tomomi Inada และตีความคำกล่าวของเธอที่สถาบันคลังสมอง Center for Strategic and International Studies ว่า ประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มกิจกรรมต่างในทะเลจีนใต้มากขึ้น

คำกล่าวของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นท่านนี้ เป็นคำกล่าวที่หลายคนต้องฟัง เพราะเธอเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่ของญี่ปุ่น

อีกทั้งเธอเลือกเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาพันธมิตรหลักของญี่ปุ่น

ที่สำคัญ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมหญิงท่านนี้เลือกพูดประเด็นทะเลจีนใต้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศคู่กรณีสำคัญในปัญหาทะเลจีนใต้ เพิ่งโต้แย้งการเคลื่อนไหวกิจการต่างๆ ของญี่ปุ่นในบริเวณน่านน้ำทะเลจีนใต้

นอกจากฟังน้ำเสียงของเธอแล้ว เรามีความจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างสำคัญในบทบาทของญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้

ญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้

มีรายละเอียดที่ควรทราบถึงคำกล่าวของรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น โทโมมิ อินาดะ เรื่องทะเลจีนใต้ ในคราวเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งแรกของเธอพอสรุปได้ว่า ญี่ปุ่นและหน่วยงานต่างๆ จะเพิ่มความเกี่ยวข้องของญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้

เช่น หน่วยกำลังร่วมป้องกันตนเองทางทะเล (Maritime Self Defense Force Joint) ทำการฝึกร่วมกับเรือรบต่างๆ กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา

กองกำลังร่วมนี้ทำการฝีกทั้งระดับทวิภาคีและพหุพาคีกับกองเรือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านต่างๆ ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

นี่เป็นบทบาทเชิงรุกทางทหารในทะเลจีนใต้โดยตรงของญี่ปุ่นถึงแม้จะเรียกว่า กองกำลังร่วมป้องกันตนเองทางทะเล

ในขณะที่ญี่ปุ่นไม่ได้เข้าไปกล่าวอ้างในข้อพิพาททางดินแดนอันสลับซับซ้อนในทะเลจีนใต้ บริเวณที่เป็นเส้นทางขนส่งทางเรืออันสำคัญยิ่งนี้

ญี่ปุ่นมักโต้แย้งต่อทุกๆ ฝ่ายให้ยึดหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ และระงับความพยายามใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลง “สถานภาพเดิม” (status quo) ที่เป็นอยู่ของทะเลจีนใต้

ญี่ปุ่นยังจัดการให้ความช่วยเหลือเรื่อง เรือชายฝั่งและกองทัพเรือของชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางนี้ช่วยให้ญี่ปุ่นเองแยกตัวเองออกจากความขัดแย้งด้านดินแดนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน

แต่นี่เป็นการเคลื่อนไหวทางทหารของญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้หรือไม่

ในคำกล่าวของ โทโมมิ อินาดะ ซึ่งเป็นคำกล่าวในการเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งแรกของเธอในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม เธอพูดถึงจีนและการกล่าวอ้างของจีนต่อดินแดนโดยรอบในทะเลจีนใต้ โดยญี่ปุ่นแสดงการสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออย่างอิสระของกองทัพเรือสหรัฐในบริเวณนั้น

เธอเห็นว่า การพยายามใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงต่างๆ และการทำให้กลับหัวกลับหางในพื้นฐานที่เป็นจริง ญี่ปุ่นเห็นว่า จะไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ใครเลย ญี่ปุ่นเห็นว่า น่าผิดหวังที่จีนกำลังทำสิ่งนี้เมื่อไม่นานมานี้ทั้งในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ซึ่งสิ่งนี้กำลังเพิ่มความจิตกกังวลอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เอง ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พบกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) เป็นครั้งแรกหลังจากทั้งสองไม่ได้พบปะกันมาปีครึ่งแล้ว การพบกันครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการประชุมเกี่ยวกับ G 20 Summit ที่เมืองหางโจว (hangzhon) สาธารณรัฐประชาชนจีน

ความจริงแล้ว หนังสือพิมพ์ซินหัว ของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง แสดงความเห็นว่า ญี่ปุ่นควรระมัดระวังการกระทำใดๆ ทั้งคำพูดและการกระทำต่างๆ ในประเด็นทะเลจีนใต้

การเคลื่อนไหวใหม่

โทโมมิ อินาดะ ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2559 เธอเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ของญี่ปุ่นที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกลาโหม เป็นที่รู้กันว่า โทโมมิ อินาดะ มีบทบาทสำคัญในการล้อมกรอบสาเหตุต่างๆ ที่สร้างความระคายเคืองประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า เธอเป็นนักการเมืองญี่ปุ่นที่ได้เยือนและทำความเคารพ ศาลเจ้ายาสูคินิ (Yasukini Shrine)

ซึ่งการเยือนนั้นถูกมองหลายครั้งจากทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกาหลีใต้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวร้าวทางทหารของญี่ปุ่นในเอเชีย

การกล่าวถึงการฝึกร่วมของกองกำลังทางทหารของญี่ปุ่นกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา การฝีกร่วมกองกำลังทางทหารของญี่ปุ่นกับกองทัพเรือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรูปธรรมของการเคลื่อนไหวทางความร่วมมือทางทหารของญี่ปุ่นในทะเลจีนใต้อย่างสำคัญ

โดยเฉพาะด้วยคำแถลงเป็นครั้งแรกของรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นระหว่างที่เยือนสหรัฐอเมริกา อีกทั้งควรมองด้วยว่า เธอเป็นส่วนหนึ่งของนักการเมืองแนวอนุรักษนิยม ซึ่งไม่หวาดหวั่นการให้ความเคารพสัญลักษณ์ของความก้าวร้าวทางทหารของญี่ปุ่นในอดีต นั่นคือ การเยือนศาลเจ้ายาสุคินิ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรแปลกใจการพัฒนาและการผลิตอาวุธ กองเรือของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ญี่ปุ่นและการเพิ่มบทบาทกองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่น

กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่นได้ก้าวเข้าสู่พื้นที่พิพาททางทะเลของโลกแล้ว คือ ทะเลจีนใต้