ฉัตรสุมาลย์ : ทำไมกลิงคะ

ในพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น จุดหักเหที่สำคัญในชีวิตของพระองค์ก็คือสงครามที่กลิงคะ ที่ทรงทอดพระเนตรเห็นผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก

ทรงเกิดความเศร้าสลดพระทัยเป็นที่สุด จนต้องบันทึกเรื่องราวไว้บนศิลา เพื่อเป็นหลักฐาน ที่แม้เวลาผ่านมานานมากแล้ว เราก็ยังมีหลักฐานให้ได้ศึกษา

แต่แม้กระนั้น เราก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากไปกว่านั้น

วันนี้ เรามาศึกษาเรื่องราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองกลิงคะอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

 

ราชวงศ์เมารยะที่รวบรวมกำลังเป็นประเทศได้สำเร็จก็ในสมัยราชวงศ์นี้ โดยพระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งเป็นปู่ของพระเจ้าอโศก ซึ่งถือเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกที่รวบรวมดินแดนอินเดียทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน โดยอาศัยกำลังทหารจึง 6 แสนนาย ครอบครองดินแดนตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัยทางเหนือจนจรดทะเลทางทิศใต้ จากเทือกเขาฮินดูกุชทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปจรดแม่น้ำพรหมบุตรทางตะวันออก จากเชิงเขาหิมาลัยตอนเหนือ จรดไมซอร์ทางใต้สุด ส่วนตะวันตกนั้น กินดินแดนไปถึงกาบุล กันดาหาร์ คันธาระ และบาลูชิสถาน

แม้จะได้ครอบครองพื้นที่ในทวีปอินเดียอย่างกว้างขวาง

แต่ดินแดนกลิงคะ ที่อยู่ติดกับจักรวรรดิของพระองค์ท่านกลับไม่แตะต้อง และแม้ในรัชสมัยของพระเจ้าพินทุสาร กษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์เมารยะ ที่ทรงได้ฉายาว่า อมิตรฆาต ซึ่งแปลว่าผู้ผลาญศัตรู แม้แต่พระองค์ก็ไม่เสี่ยงที่จะโจมตีกลิงคะ ที่จ่ออยู่แค่ปลายจมูก

เมื่อมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์เมารยะ ดูเหมือนจะเป็นภาระที่ตกทอดมาถึงพระองค์ให้ครอบครองกลิงคะให้ได้

ดินแดนกลิงคะนี้ เป็นเหมิอนกับสะพานที่เชื่อมดินแดนทางเหนือกับทางใต้ ถ้าครอบครองดินแดนนี้ได้ก็จะสร้างความมั่นคงให้จักรวรรดิของพระองค์

ดินแดนกลิงคะ เป็นดินแดนที่อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดียเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับพ่อค้าชาวมคธ

เรือเดินทะเลที่เข้ามาที่ท่าเมืองกลิงคะมักจะนำเครื่องเพชรพลอยที่มีราคาเข้ามาจากต่างประเทศ

 

เมื่อพระเจ้าอโศกทรงคิดที่จะยกกำลังทหารเข้าตีกลิงคะนั้น พระองค์ต้องทรงรู้ว่า ใครเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นกลิงคะ

ในสมัยสมเด็จปู่ของพระเจ้าอโศก คือสมัยพระเจ้าจันทรคุปต์ ปฐมกษัตริย์ของอินเดียนั้น เจ้าผู้ครองแคว้นกลิงคะ มีทหารราบคุ้มครองพระองค์ถึงหมื่นนาย ทหารม้า 1 พัน และช้างอีก 700 เชือก

แต่ในสมัยที่พระเจ้าอโศกยกกองทัพเข้าโจมตีกลิงคะนั้น อาจจะเป็นช่วงที่ไม่มีเจ้าผู้ปกครองนคร ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกเองใช้คำว่า กลิงคะ ซึ่งอาจจะหมายถึงแคว้นกลิงคะซึ่งเป็นสถานที่ หรืออาจจะหมายถึงชาวกลิงคะ ไม่มีปรากฏพระนามของเจ้าครองแคว้นกลิงคะ

นี่ก็เป็นเรื่องที่สะดุดใจมากอยู่ เพราะในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกนั้น ระบุถึงพระนามกษัตริย์ต่างๆ เสมอ ตั้งแต่กษัตริย์ของซีเรีย อียิปต์ มาซิโดเนีย เป็นต้น

และเพราะไม่มีเจ้าผู้ครองแคว้นนี้เอง ที่ทำให้ชาวเมืองกลิงคะออกสู้รบเพื่อรักษาเอกราชเอง นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตผู้คนและได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนั้นกว้างขวางมากถึง 4 แสนคน และยังมีผู้ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกมากถึง 1.5 แสนคน

เรียกว่า ประชากรหนึ่งในสี่ ได้รับผลกระทบจากสงครามคราวนี้

เมื่อพิจารณาดูประชากรของกลิงคะที่มี 4 ล้านคน การกวาดต้อนผู้คนจำนวน 1.5 แสน เดินทางด้วยระยะทางไกลจากกลิงคะไปยังเมืองหลวงปาฏลีบุตร ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลย

 

ในศิลาจารึกแผ่นที่ 13 ระบุถึงความเศร้าโศกเสียพระทัยของพระเจ้าอโศกเมื่อได้เห็นจำนวนผู้คนที่ถูกฆ่าเป็นเบือ ผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่บาดเจ็บด้วยภัยสงคราม ในศิลาจารึกระบุชัดเจนถึงพราหมณ์ และสมณะที่ต้องได้รับผลกระทบจากภัยสงครามครั้งนี้

ซึ่งหมายความว่า ท่านไม่ได้พูดถึงไพร่พลทหารในกองทัพของท่านที่ล้มตายในสงคราม เพราะในกองทัพของท่านมีแต่ทหาร ไม่มี พราหมณ์ และสมณะ

ภาพที่ทำให้พระองค์เศร้าพระทัยเป็นภาพของผู้คนชาวกลิงคะเอง เราจึงเห็นภาพชัดเจนว่า การสงครมที่กลิงคะเป็นสงครามระหว่างฝ่ายหนึ่งที่มีกษัตริย์นำในการตัดสินใจ กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เข้าสู่สงครามโดยไม่มีกษัตริย์ แต่เป็นการตัดสินใจของประชาชนเอง

ความเสียพระทัยยิ่งทวีคูณเพราะเป็นการต่อสู้ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนของกลิงคะ กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่จากราชวงศ์เมารยะต้องมาทำสงครามกับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่พระเจ้าอโศกมหาราชเสียพระทัยเป็นทวีคูณ

จากจันทาโศก หรืออโศกผู้ดุร้าย เหตุการณ์ที่กลิงคะจึงเปลี่ยนพระทัยของพระองค์มาเป็นธรรมาโศก อโศกผู้ทรงธรรม

 

เหตุการณ์ที่รบกวนพระทัยพระองค์ในครั้งนี้ จึงนำมาซึ่งการตัดสินพระทัยดำเนินชีวิตในวิถีทางใหม่

หักมุมกลับจากเดิมโดยสิ้นเชิง ไม่แต่ทรงยกเลิกการสงครามเท่านั้น พระองค์ยังทรงเผยแผ่คำสอนเรื่องอหิงสาธรรม คือไม่ทำร้ายชีวิตของทั้งมนุษย์และสัตว์

และเพราะทรงเห็นว่าความคิดของพระองค์ที่เปลี่ยนไปนั้น สำคัญว่าจะต้องได้รับการรักษาและปฏิบัติสืบต่อไปในอนาคต จึงทรงให้จารึกไว้บนแผ่นหิน และเสาหิน

หลังจากเหตุการณ์ที่กลิงคะ เป็นช่วงเดียวกับที่ทรงหันมาหาคำสอนในพุทธศาสนา และด้วยความที่อยากจะมีความใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนาให้มากที่สุด

จึงทรงขอให้พระโอรสและพระธิดาองค์โต ซึ่งเกิดจากพระชายาองค์แรก คือ พระนางวิเทหิ สมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นพระยุพราช พระมหินท์และพระนางสังฆมิตตา พระธิดา จึงได้ออกบวช และได้เป็นผู้นำคณะธรรมทูตจากอินเดียไปเผยแผ่พระศาสนาที่ศรีลังกา

คำสอนที่ปรากฏในศิลาจารึกนั้น จารึกเป็นภาษาต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาษาพื้นบ้านในละแวกนั้น

แม้ว่าทรงหันมานับถือพุทธศาสนาแล้ว แต่คำสอนที่ทรงให้จารึกนั้น เป็นธรรมที่ใช้ได้กับศาสนาอื่นๆ ด้วยทั้งฮินดู และเชน แสดงว่าทรงมีความเป็นกษัตริย์ที่จะไม่ทรงยัดเยียดความเชื่อส่วนพระองค์ในประชาชนที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา

คำสอนที่จารึกเพื่อประชาชน จึงเป็นคำสอนกว้างๆ ที่ปฏิบัติได้โดยศาสนิกทุกศาสนา

เฉพาะในส่วนของพุทธศาสนานั้นทรงย้ำอย่างยิ่งให้มีความสามัคคี สำหรับคนที่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในคณะสงฆ์นั้น ทรงมีวิธีการลงโทษคือให้นุ่งขาวและขับออกจากสงฆ์ หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติทรงกล่าวถึงพระภิกษุและภิกษุณีอย่างชัดเจนให้ตั้งใจรักษาพระธรรมวินัยและตั้งมั่นอยู่ในธรรม

ทรงมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทุกผู้ทุกนาม ทรงยืนยันว่า การปกครองโดยธรรมเท่านั้นที่จะปกครองหัวใจของประชาชนไว้ได้ ไม่ใช่อำนาจที่มาจากความรุนแรง การปกครองโดยธรรมเป็นวิธีที่ให้คุณค่าทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า

 

กลางใจเมืองกลิงคะ มีเสาพระเจ้าอโศกที่กล่าวถึงหลักการสำคัญ

ทรงรับสั่งว่าประชาชนทุกคนเป็นลูกของพระองค์

พระองค์ปรารถนาความสุขให้บังเกิดแก่ลูกของพระองค์ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้าฉันใด พระองค์ก็ทรงปรารถนาเช่นนั้นสำหรับทุกผู้ทุกนาม ทรงรับสั่งข้าราชการที่ประจำอยู่ที่เมืองโตศาลี เมืองหลวงของกลิงคะ ให้พัฒนาความเมตตาสำหรับทุกผู้ ด้วยท่าทีเช่นนี้

พระองค์ทรงเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากเดิมโดยสิ้นเชิง ในฐานะที่เป็นมหาราช จึงทรงเป็นกษัตริย์ที่ประวัติศาสตร์ถือว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ

ทรงขยายอาณาจักรด้วยธรรมวิชัย และทรงส่งพระธรรมทูตออกไปทั้ง 9 สายเพื่อเผยแผ่สามัคคีธรรมและสันติภาพที่เป็นสากล

การเปลี่ยนแปลงที่กลับหน้ามือเป็นหลังมือของพระเจ้าอโศกนั้น เกิดขึ้นที่พระหทัยของพระองค์ และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น เกิดขึ้นที่แคว้นกลิงคะ

ซึ่งปัจจุบัน คือรัฐโอริสสา ดินแดนทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอินเดียปัจจุบัน