วิกฤติศตวรรษที่21 : วิกฤติประชาธิปไตยตามบางรายงาน

วิกฤติประชาธิปไตย (2)

หลังสงครามโลกครั้งที่สองมา ได้เกิดกระแสการวัดและการจัดอันดับขึ้นมากมาย จนในปัจจุบันกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่ถูกวัดและจัดอันดับ

การวัดและการจัดอันดับใหญ่ ได้แก่ การวัดจีดีพี ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน การจัดอันดับประเทศหรือเมืองที่น่าอยู่หรือน่าเที่ยวที่สุด

ไปจนถึงการจัดอันดับการบันเทิง เช่น อันดับรายได้ของภาพยนตร์และเพลง

องค์กรที่จัดทำการวัดและจัดอันดับ มีตั้งแต่องค์กรข้ามชาติ เช่น สหประชาชาติ กลุ่มธนาคารโลก หน่วยงานรัฐบาล บรรษัท สำนักคิด เอ็นจีโอ เป็นต้น

เพื่อใช้ในทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การแข่งขัน ยุทธศาสตร์จัดระเบียบโลก ไปจนถึงการแก้ปัญหาและเคลื่อนไหวต่างๆ

ในเรื่องประชาธิปไตย ก็มีหลายสำนักที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดอันดับ ในที่นี้จะใช้สองสำนักในสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นแม่แบบประชาธิปไตย และยังมีบทบาทในการจัดระเบียบโลก

สำนักวัดและจัดอันดับประชาธิปไตยที่มีชื่อในสหรัฐ ได้แก่ “ฟรีดอม เฮ้าส์” (สื่อเสรี) ถือเป็นเอ็นจีโอที่ได้รับทุนดำเนินการจากรัฐบาล

ก่อตั้งในปี 1941 เพื่อต่อต้านลัทธินาซี ผลักดันให้สหรัฐเข้าร่วมสงคราม “เป็นเสียงแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยของโลก”

ช่วงสงครามเย็นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ (แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับลัทธิแม็กคาร์ธีหรือลัทธิขวาจัดล่าแม่มดทางการเมืองในสหรัฐ) ช่วงทศวรรษ 1970 ขยายการเคลื่อนไหวไปสู่การต่อต้านรัฐบาลหัวรุนแรง ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ในละตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกาและตะวันออกกลาง

ในช่วงเวลานั้นมีการออกรายงานที่ถือว่า เป็นรายงานเด่นขององค์กร ชื่อ “เสรีภาพโลก” ครั้งแรกในปี 1973

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย องค์กรนี้เน้นการขยายเสรีภาพและประชาธิปไตยโดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก

เช่น เข้าไปมีบทบาทในการร่วมโค่นล้มรัฐบาลมีลอเซวิชแห่งเซอร์เบีย (ปี 2000)

หลังเหตุการณ์วินาศกรรมเวิลด์เทรด 2001 ฟรีดอม เฮ้าส์ได้ขยายการเคลื่อนไหวไปสู่ตะวันออกกลางและเอเชียกลาง

ปัจจุบันมีสำนักงานสาขาทั่วโลก ผู้นำอยู่ในกลุ่มแนวขวาโลกาภิวัตน์ (ซึ่งต่างกับแนวของทรัมป์ที่เป็นแบบขวาปฏิบัติตามลำพัง แต่ทั้งสองแนวก็มีความต้องการรักษาความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเหมือนกัน)

งานขององค์การ “ฟรีดอม เฮ้าส์” ถูกวิจารณ์หลายประการ

ข้อแรก คือมีแนวโน้มที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐต่างๆ ที่ต่อต้านผลประโยชน์ของสหรัฐ ขณะที่ผ่อนปรนหรือเห็นอกเห็นใจรัฐที่สนับสนุนผลประโยชน์ของสหรัฐ

นอกจากนี้ ยังถูกโจมตีว่าใช้เงินเพื่อเข้าแทรกแซงทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น ในระยะหลังช่วยเหลือผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนในยูเครน เป็นต้น แม้กระทั่งในการศึกษาทางวิชาการเอง ก็มีผู้วิจารณ์ว่าระเบียบวิธีวิจัยขององค์การนี้ เน้นแต่บางด้านของประชาธิปไตย

เช่น การเลือกตั้งเสรี สื่อเสรี โดยไม่ได้มองลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริงในสังคมที่สร้าง “กลุ่มผู้มีอำนาจเบื้องหลัง” หรือ “รัฐเร้นลึก” ที่เป็นผู้ปกครองที่แท้จริง ตั้งตัวอยู่เหนือการเลือกตั้งเสรี และควบคุมสื่อเสรีอีกทีหนึ่ง

แม้ว่าจะปรากฏความลำเอียง กระทั่งมีปฏิบัติการลับ และปัญหาทางวิชาการดังกล่าว

แต่รายงานของฟรีดอม เฮ้าส์ก็ยังน่าสนใจ

ด้านหนึ่ง ในแง่ที่สะท้อนมุมมองของสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจโลก

ในอีกด้านหนึ่ง ที่มันสะท้อนภาพใหญ่ของสถานการณ์ประชาธิปไตยในโลกได้พอสมควร

วิกฤติประชาธิปไตยในสายตาของฟรีดอม เฮ้าส์

“รายงานเสรีภาพโลก” ฉบับล่าสุดเผยแพร่มกราคม 2018 ของฟรีดอม เฮ้าส์ ใช้ชื่อรองว่า “ประชาธิปไตยในวิกฤติ” มีสาระสำคัญดังนี้คือ

1) ระบอบประชาธิปไตยต้องเผชิญกับวิกฤติรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

โดยในปี 2017 หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยได้แก่ การมีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม สิทธิของชนส่วนน้อย เสรีภาพของสื่อ และการ ปกครองของกฎหมายหรือธรรมาธิบาลถูกโยกคลอนไปทั่วโลก

เห็นได้จากในปีนี้ มีประเทศที่ถือว่ามีเสรีในโลก มีเพียงร้อยละ 45 ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตก ที่มีเสรีบางส่วนมีร้อยละ 30

ที่ไร้เสรีร้อยละ 25 (ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ตั้งแต่ปี 2015)

ถ้าหากคิดเป็นจำนวนประชากร จำนวนประชากรที่ถือว่ามีเสรีมีเพียงร้อยละ 39 ของโลก ที่มีเสรีบางส่วนร้อยละ 24 ที่ไร้เสรีมีถึงร้อยละ 37

2) ในรอบ 12 ปีต่อเนื่องกันนี้ ปรากฏว่ามีถึง 71 ประเทศที่สิทธิทางการเมืองและอิสรภาพของประชาชนเสื่อมถอยลง

มีเพียง 35 ประเทศที่ดีขึ้น

ประเทศที่มีการเสื่อมถอยทางเสรีภาพมากที่สุดได้แก่ ตุรกี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และเวเนซุเอลา เป็นต้น

รอบ 12 ปีดังกล่าว (เริ่มปี 2006) ประจวบกับการเกิดวิกฤติใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เริ่มจากสหรัฐ แล้วลามไปทั่วโลก (เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2007) นักวิเคราะห์ฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่งเห็นว่า วิกฤติรุนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตัวระบบทุนนิยมเองนี้ ก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองและสังคม

เคยทำให้เกิดลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซีในยุโรปมาแล้ว

แต่ในรายงานนี้ให้ความสำคัญแก่ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกที่เนื่องจากบางเหตุผลที่อยู่นอกตัวระบบ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การแตกแยกเป็นฝักฝ่าย การโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย และการรุกล้ำของผู้อพยพ สร้างความหวาดระแวงต่อคนชาติอื่น เป็นต้น

3) สหรัฐได้ถอยร่นจากบทบาทเดิมในฐานะเป็นผู้ต่อสู้และเป็นแบบอย่างของระบอบประชาธิปไตยในท่ามกลางความเสื่อมถอยของสิทธิทางการเมืองของชาวอเมริกันและสิทธิพลเมือง

การถอยร่นไม่ได้เป็นป้อมปราการของประชาธิปไตยนี้เห็นได้ชัดในรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ชูคำขวัญ “อเมริกันเหนือชาติอื่นใด” ซึ่งเป็นการลดธงการต่อสู้ต่อลัทธิฟาสซิสต์ ส่งเสริมความมั่นคงรวมกันในโลก (หรือการเข้าไปจัดระเบียบโลก) และการค้าระหว่างประเทศที่มีผลดีต่อทุกฝ่าย สร้างความสับสนและการต่อต้านข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิ่งแวดล้อม การควบคุมอาวุธ และเรื่องอื่นๆ ที่ดำเนินมาหลายสิบปี

ในด้านการเป็นแบบอย่างดูได้จากคะแนนรวมด้านประชาธิปไตย ได้แก่ การมีธรรมาภิบาลและสิทธิมนุษยชนของสหรัฐลดลงมาโดยตลอดจากราว 94 ในปี 2008 (ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยใหญ่) เหลือเพียงราว 86 ในปี 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์เองออกมาคุกคามสื่อ แสดงอาการดูหมิ่นผู้อพยพชาวมุสลิมและละตินอเมริกา

4) สถานการณ์แสดงภาวะวิกฤติประชาธิปไตยอีกประการหนึ่งได้แก่ จีนและรัสเซียได้ขยายอิทธิพลต่อต้านประชาธิปไตยแบบตะวันตก ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไร้ความหมาย สื่อถูกควบคุม สร้างลัทธิชาตินิยม เป็นต้น

(ดูรายงานชื่อ Freedom in the World 2018 – Democracy in Crisis โดย Michael J. Abramowitz ประธานขององค์กร ใน freedomhouse.org มกราคม 2018)

ดัชนีประชาธิปไตยของกลุ่มดิ อีโคโนมิสต์

กลุ่มดิ อีโคโนมิสต์ เป็นกลุ่มสื่อเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก มีแนวคิดไปในทางลัทธิโลกาภิวัตน์

โดยบรรษัทผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกลุ่มทุนธนาคารและทุนอุตสาหกรรม สำนักงานใหญ่ที่กรุงลอนดอน ได้ตั้งศูนย์ข่าวกรองเศรษฐกิจให้บริการทางการศึกษาและคำปรึกษาแก่ประเทศ บริษัทและสถาบันการเงิน เพื่อการบริหารโอกาสและความเสี่ยงในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์นี้ได้ริเริ่มทำดัชนีประชาธิปไตยโลกเผยแพร่ครั้งแรกปี 2006

การริเริ่มทำนี้คงสืบเนื่องจากประชาธิปไตยกำลังเป็นประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ

ได้แก่ ข้อแรก ตะวันตกชูธงระบอบเสรีประชาธิปไตยต่อสู้กับลัทธิก่อการร้าย และลัทธิชนเผ่ารวมทั้งลัทธิรวบอำนาจในประเทศตลาดเกิดใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง พบว่าในสหภาพยุโรปเองก็ได้เกิดลัทธิกังขาสหภาพยุโรป (Euroscepticism) ที่ขึ้นสู่กระแสสูงตั้งแต่ปี 2004 เห็นว่าสหภาพยุโรปรวมศูนย์อำนาจมากเกินไป ควรเปิดให้ประเทศสมาชิกเป็นอิสระและเป็นประชาธิปไตยกว่านี้

กระแสนี้ในอังกฤษสูงเป็นพิเศษจนถึงขั้นได้ชัยชนะในการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรปในปี 2016

ดัชนีประชาธิปไตยนี้ ทำการสำรวจวิเคราะห์ประเมินภาวะประชาธิปไตยทั่วโลกใน 165 ประเทศ และสองเขตแคว้นซึ่งเป็นประชากรเกือบทั้งโลก

วิธีศึกษาใช้การถามผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก มีตัวชี้วัด 60 ตัว แบ่งเป็นห้าประเภท ได้แก่

ก) กระบวนการเลือกตั้งและความหลากหลายของตัวเลือก

ข) อิสรภาพของพลเมือง

ค) การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล

ง) การมีส่วนร่วมทางการเมือง

และ จ) วัฒนธรรมทางการเมือง

หลังการประเมินให้คะแนน (จาก 10-0) แล้วแบ่งประเทศต่างๆ ตามลำดับการเป็นประชาธิปไตยได้ 4 กลุ่ม ได้แก่

1) ประเทศที่มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ ได้คะแนนระหว่าง 8-10 ตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี

2) ประเทศประชาธิปไตยพร่อง คะแนนอยู่ระหว่าง 6-8 ตัวอย่างเช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง นามิเบีย

3) ประเทศในระบบพันทาง คะแนนระหว่าง 4-6 ตัวอย่างเช่น แอลเบเนีย แซมเบีย บังกลาเทศ ตุรกี ไทย (ได้คะแนน 5)

4) ประเทศในระบบรวบอำนาจ คะแนนระหว่าง 0-4 ตัวอย่างเช่น เวเนซุเอลา คูเวต พม่า อียิปต์ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ (อยู่อันดับท้ายสุด)

สำหรับรายงานฉบับล่าสุดของดิ อีโคโนมิสต์ชื่อ “ดัชนีประชาธิปไตย 2017” มีชื่อรองว่า “เสรีภาพทางการพูดที่ถูกโจมตี” ให้ภาพวิกฤติประชาธิปไตยคล้ายกับรายงานของฟรีดอม เฮ้าส์ของสหรัฐ มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

1) ตัวเลขดัชนีประชาธิปไตยโลกปี 2017 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.48 ลดลงจาก 5.52 ในปี 2016 พบว่ามี 89 ประเทศที่ดัชนีประชาธิปไตยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2016 ซึ่งมากเป็นสามเท่าของจำนวนประเทศที่ดัชนีประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น (มี 27 ประเทศ)

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับแต่ปี 2010-11 หลังวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ปี 2008

ส่วนประเทศที่มีดัชนีประชาธิปไตยคงตัวมีอยู่ 51 ประเทศ

และยังพบว่าไม่มีภูมิภาคใดเลยที่มีดัชนีประชาธิปไตยดีขึ้น แม้แต่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือที่ประกอบด้วยสหรัฐและแคนาดา มักมีดัชนีประชาธิปไตยคงที่ แต่ในปี 2017 ดัชนีก็ยังลดลง เนื่องจากสหรัฐมีดัชนีลดลงจากประชาธิปไตยสมบูรณ์เป็นประชาธิปไตยพร่อง

ภูมิภาคที่เหลืออีก 6 ภูมิภาค ก็ล้วนประสบปัญหาการถดถอยทางประชาธิปไตย ภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลียถือว่าเลวร้ายที่สุด

2) เมื่อจำแนกตามจำนวนประเทศและประชากร พบว่าประเทศประชาธิปไตยสมบูรณ์ มี 19 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 11.4 ของประเทศที่จัดอันดับทั้งหมด 167 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรร้อยละ 4.4 ของทั้งหมด

นั่นคือ ทั้งโลกมีประชากรไม่ถึงร้อยละ 5 ที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์

ประเทศประชาธิปไตยพร่อง มี 57 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 34.1 ของประเทศทั้งหมด มีจำนวนประชากรร้อยละ 44.3 ของทั้งหมด

ประเทศในระบบพันทาง มี 39 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 23.4 ของประเทศทั้งหมด คิดเป็นจำนวนประชากรร้อยละ 17.7

ประเทศในระบบรวมศูนย์อำนาจ มี 52 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 31.1 ของประเทศทั้งหมด คิดเป็นจำนวนประชาการร้อยละ 32.3

ดังนั้น ในโลกนี้มีประชากรที่ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยมากกว่าที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย

3) ประเทศที่ประชาชนผิดหวังในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดกลับอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว เรียกได้ว่าเกิดวิกฤติประชาธิปไตยในประเทศตะวันตกเสียเอง ซึ่งมีคำอธิบายหลายอย่าง

เช่น “สังคมกำลังแตกแยกออกเป็นสองส่วน ระหว่างเจตนารมณ์ของประชาชน และการปกครองของผู้เชี่ยวชาญ เกิดการต่อสู้ระหว่างการกดขี่ของเสียงส่วนใหญ่ กับกลุ่มวงในที่ต้องการรักษาอำนาจตนเองไว้”

จากคำอธิบายในรายงานนี้เห็นว่าเจตนารมณ์ของประชาชนก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หากแต่เป็นการกดขี่ของเสียงส่วนใหญ่ หรือ “เผด็จการรัฐสภา” และสร้างประชานิยมขึ้น ส่วนการปกครองของชนชั้นนำก็เป็นเพื่อคนส่วนน้อย ในทัศนะดังกล่าว ย่อมเป็นวิกฤติที่หาทางออกได้ยาก (ดูรายงานชื่อ Democracy Index 2017 – Free speech under attack ใน pages.eiu.com)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงทัศนะของนักวิชาการ ฟรานซิส ฟูกุยามา เรื่องชัยชนะและวิกฤติของประชาธิปไตย

และการเคลื่อนไหวของนักการเงินจอร์จ โซรอส ด้าน “สังคมเปิด” เพื่อเผยแพร่ประชาธิปไตย