ป้อมมหากาฬ ในรัฐที่ไม่สนับสนุนมิวเซียมที่มีชีวิต

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อันที่จริงแล้ว “พิพิธภัณฑ์” หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” (museum) นั้น ไม่ได้หมายถึงสถานที่เก็บของเก่า แต่หมายถึง “แหล่งเรียนรู้”

ดังนั้น ไม่ว่าของที่มีไว้ให้เรียนรู้นั้นจะเก่า หรือจะใหม่ก็จึงไม่สำคัญเลยสักนิด เพียงขอให้อะไรก็ตามที่มีไว้ให้เรียนรู้นั้น มีคุณค่าในทางใดทางหนึ่งจนสามารถสร้างความรู้ และจินตนาการแก่ผู้เข้าชมได้เท่านั้นก็พอแล้ว

และเมื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว มิวเซียมจึงไม่จำเป็นต้องมีกำแพงล้อมรอบให้เป็นสัดเป็นส่วน อย่างที่ฝรั่งเขามีสำนวนว่า “museum without wall” นั่นเอง

เพราะว่าในหลายครั้งก็เป็น “กำแพง” นี่แหละครับ ที่ไม่ได้กั้นเป็นรั้วรอบขอบชิดอยู่เฉพาะรอบๆ พิพิธภัณฑ์ หรือมิวเซียมที่ไหน แต่กลับไปกั้นอยู่รอบๆ “ใจ” ของใครหลายต่อหลายคนเข้ามากกว่า

และก็แน่นอนด้วยว่า เมื่อมิวเซียมนั้นไม่จำเป็นต้องมีกำแพง ของข้างในก็จึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวัตถุ และยิ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโบราณวัตถุที่เก่าแก่จนเหยเก เพราะอะไรก็ตามที่อยู่ในมิวเซียมนั้น อาจจะเป็นอะไรที่มีชีวิตอยู่ก็ได้

แต่อะไรก็ตามที่จะมีชีวิตได้นั้น ก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคน สัตว์ หรือพืชพรรณต่างๆ เสมอไป บางครั้งทั้งวัฒนธรรม ทั้งประวัติศาสตร์ก็มีชีวิตอยู่ได้ พวกฝรั่งจึงเรียกมิวเซียมประเภทนี้ “living museum” คือ มิวเซียมที่มีชีวิต

เรียกง่ายๆ ว่า ทั้งวัฒนธรรม ทั้งประวัติศาสตร์ นั่นแหละ ที่ทำให้ของตายซากไม่มีชีวิตอย่างมิวเซียม กลับกลายเป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวาขึ้นมา

ว่าแต่อะไรกันเล่าครับ ที่จะทำให้ทั้งประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมมีชีวิตอยู่ได้ ถ้าไม่ใช่ตัวของมนุษย์เอง และชุมชน อันเป็นสังคมที่พวกเขาสังกัดอยู่?

 

โบราณวัตถุ และโบราณสถาน อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงภาพประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของพวกมัน แต่ถึงอย่างไร มันก็เป็นยุคสมัยที่ล้มหายตายจากพวกเราไปแล้ว และเมื่อขึ้นชื่อว่า “ความตาย” ทำอย่างไรมันก็ไม่มีทางฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้อีกแน่

ชุมชน อันเป็นแรงขับเคลื่อนจากคนเป็นๆ ที่มีชีวิตอยู่ต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า เพราะพวกเขานี่แหละครับ ที่จะทำให้ทั้งประวัติศาสตร์ ทั้งวัฒนธรรม ไม่กลายเป็นสิ่งที่ตายซาก แต่กลับมีชีวิตชีวา ดังนั้น ถ้าจะมีมิวเซียมที่มีชีวิตชีวา ก็ต้องเป็นมิวเซียมที่มีทั้งคนและสังคมเป็นสิ่งที่คอยขับเคลื่อนมิวเซียมนั้นนั่นแหละ

น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจ และฐานะในประเทศของเรา ไม่ค่อยจะนึกถึงมิวเซียมในฐานะของชุมชน มากเท่ากับการเป็นห้องจัดแสดงวัตถุมีราคา ชุมชนใหญ่น้อยที่ความจริงแล้วก็ไม่ต่างไปจากมิวเซียมที่มีชีวิตเหล่านั้น จึงถูกทอดทิ้งและไม่ให้ค่า

แต่ที่ไม่ให้ค่า ก็ยังนับว่าโชคดีกว่าบางชุมชนซึ่งรัฐของเรานั่นแหละ ที่จะไปรุกรานและปลิดลมหายใจที่ยังมีชีวิตอยู่ของชุมชน ที่เปรียบเสมือนมิวเซียมที่ชีวิต

ตัวอย่างที่สำคัญที่สำคัญในกรณีนี้ ที่ลมหายใจเฮือกสุดท้ายเพิ่งจะขาดหายไปก็คือ “ชุมชนป้อมมหากาฬ”

 

อันที่จริงแล้วชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่ได้เป็นเพียงแค่มิวเซียมที่มีชีวิต แต่เป็นตัวอย่างของมิวเซียมที่มีชีวิตชั้นเยี่ยมเลยต่างหาก เพราะนอกจากป้อมมหากาฬจะเป็นชุมชนโบราณที่มีมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงเทพฯ และอาศัยสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันแล้ว ชุมชนแห่งนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของมหรสพสำคัญอย่างหนึ่งในยุคกรุงเทพฯ นั่นก็คือ “ลิเก”

“ลิเก” ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยดัดแปลงมาจากมหรสพของชาวมุสลิมมลายูที่ชื่อ “ดิเกร์ฮูลู” (ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยหรอกเลยว่า ทำไมก่อนจะเล่นลิเกได้เขาจึงต้อง “ออกแขก” กัน?) แล้วจับยำเข้ากับละครต่างๆ ที่นิยมอยู่ในลุ่มแม่น้ำภาคกลาง แล้วจับแต่งตัวให้เว่อร์วังอลังการ ต้องจริตตรงใจกับผู้คนในยุคโน้น จนการเป็นมหรสพสุดฮิปในยุคพระพุทธเจ้าหลวง ที่ใครไม่เคยมีโอกาสได้ไปดูนี่ก็ต้องถือว่าไม่ชิค ไม่คูลเอาเสียเลย

ส่วนมนุษย์กรุงเทพฯ คนที่ก้าวหน้าอาว็องการ์ด (avant-garde) ขนาดที่ประดิษฐ์มหรสพระดับ “นวัตกรรมแห่งยุคกรุงเทพฯ” อย่าง “ลิเก” ขึ้นมาได้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ท่านชื่อ “พระยาเพชรปาณี” ที่มีถิ่นที่อยู่ตรง “ชุมชนป้อมมหากาฬ” นี่แหละ

ตัวอย่างความฮิปของวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ก็คือการที่แม้แต่อีลิต (elite) คนดังของยุคสมัยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอนุชา (น้องชาย) ของรัชกาลที่ 5 ยังต้องเสด็จไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ดังมีหลักฐานอยู่ในลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ (จดหมายส่วนตัว) ที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังความที่ว่า

“เมื่อพระยาเพชรปาณี (ตรี) ตั้งโรงเล่นยี่เกให้คนดูอยู่ที่บ้านหน้าวัดราชนัดดา แกเชิญหม่อมฉันไปดูครั้งหนึ่ง และมานั่งอยู่ด้วยตลอดเวลาเล่น”

หน้าวัดราชนัดดาที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงหมายถึงก็คือป้อมมหากาฬนั่นแหละนะครับ ดังนั้น วิกลิเกแห่งแรกของประเทศไทย แถมยังเป็นวิกลิเกที่ดังที่สุดในช่วงสมัยนั้นเลยอีกด้วย

แถมลิเกของพระยาเพชรปาณีท่านก็คงจะเป็นนิยมอยู่เอาการ เพราะมีหลักฐานที่ทำให้ทราบว่า ลิเกของท่านนั้นได้ถูกนำไปออกงานในเทศกาลสำคัญของกรุงเทพฯ เมื่อครั้งกระโน้นอย่างงานภูเขาทองที่วัดสระเกศอีกด้วย

 

หลักฐานมีอยู่ในโปสการ์ดใบหนึ่งของนาย เจ. อันโตนิโอ (J. Antonio) ซึ่งถ่ายรูปป้ายที่มีข้อความว่า “ลิเกพระยาเพชรปาณี” โดยมีคำอธิบายภาพเขียนอยู่ในโปสการ์ดเขียนด้วยภาษาฝรั่งเศส แปลเป็นไทยได้ว่า “มุมหนึ่งของงานเทศกาลวัดสระเกศ”

นาย เจ. อันโตนิโอ เป็นฝรั่งผู้มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 และได้เปิดร้านถ่ายรูปตรงปากซอยชาเตอร์แบงก์ ถนนเจริญกรุง แน่นอนว่า ร้านของนายฝรั่งคนนี้ย่อมถ่ายและพิมพ์โปสการ์ดขายด้วย

โปสการ์ดแผ่นที่ว่า ซึ่งถูกถ่าย ตีพิมพ์ และเคยวางขายอยู่ที่ห้างของนาย เจ. อันโตนิโอ จึงเป็นหลักฐานที่ช่วยสนับสนุนให้เห็นถึงความนิยมในการละเล่นลิเก ที่ถือกำเนิดขึ้นในชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อครั้งกระโน้น โดยไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ประหลาดดีนะครับ ในขณะที่ประเทศอาร์เจนตินา และอุรุกวัย เขาพากันเอาการเต้นแทงโก ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสาขาวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage, ซึ่งก็คือมรดกโลก อันเดียวกันกับที่เมื่อปีก่อน ประเทศกัมพูชาได้เสนอโขน เอาไปขึ้นทะเบียนนั่นเอง) กับยูเนสโก บ้านของศิลปินเอกใหญ่ๆ ของโลก เช่น บ้านเกิดของบีโธเฟน ที่เมืองบอนน์ ก็ถูกนำมาสร้างเป็นมิวเซียม

ฮอลล์คอนเสิร์ตสำคัญของรัสเซียอย่างเซนต์ปีเตอร์เบิร์กสเตต (St. Petersburg State) ก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นมิวเซียม ที่ยังมีทั้งส่วนของฮอลล์จัดแสดง ห้องเล็กเชอร์ มิวเซียมของเธียเตอร์เอง และมิวเซียมจัดแสดงชีวประวัติของนักดนตรีคนสำคัญ ที่เคยมาพักอยู่ที่นั่น เป็นการเฉพาะแต่ละรายบุคคล

แต่ในประเทศไทยกลับจะรื้อเอาบ้านและวิกลิเกแห่งแรกของเราทิ้งมันเสียอย่างนั้น?

 

ไม่ต้องแปลกใจหรอกนะครับว่าทำไมมหรสพเก่าแก่ทั้งหลายจึงไม่ค่อยจะมีที่ยืนอยู่ในสังคมไทย ทั้งๆ ที่รัฐเองนั่นแหละที่ชอบประกาศปาวๆ ว่าต้องดูแลรักษาอย่างนู้นอย่างนี้อยู่เสมอ

ก็ขนาด “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ซึ่งเป็นทั้งมิวเซียมที่มีชีวิต แถมยังเป็นชุมชนต้นกำเนิดลิเกไทย และวิกลิเกแห่งแรกของสยาม ควบตำแหน่งบ้านของศิลปินเอกผู้ประดิษฐ์ลิเกขึ้นอย่างพระยาเพชรปาณี

รัฐท่านก็ยังรื้อทิ้งได้ลงคอเลยนี่ครับ?