ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 4 - 10 พฤษภาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ดังได้สดับมา |
ผู้เขียน | วิเวกา นาคร |
เผยแพร่ |
หากอ่านหนังสือ” ปรัชญามหายาน” ในตอนต้นๆ คล้ายกับจะเห็นความโน้มเอียงบางประการของผู้เขียน คือ เสถียร โพธินันทะ ที่แม้จะเสนอเชิงเปรียบเทียบ
แต่ก็เน้นทางด้าน “โพธิสัตวยาน” มากกว่า “สาวกยาน”
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะความตระหนักดังที่ปรากฏในกถามุขว่า “รู้สึกว่าการศึกษาพระพุทธศาสนาโดยกว้างขวางนั้นวงการพระปริยัติธรรมของเรายังขาดแคลนหนังสือประเภทนี้มาก”
เท่าที่มีก็เพียงแต่ “ลัทธิของเพื่อน” เท่านั้น
“หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนหนึ่งกุญแจที่จะไขชี้ให้ท่านรู้จักปรัชญาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างพอเพียงแก่ความต้องการ”
เช่นนั้นเองจึงได้บังเกิดความโน้มเอียง
กระนั้น ความโน้มเอียงนี้ก็อยู่บนฐานความเป็นจริงที่ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งเถรวาทหรือทางด้านสาวกยาน มีความเข้าใจพุทธศาสนาในเส้นทางนี้อยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นต้องเน้นและชี้ให้เห็นหลักการของมหายานมากเป็นพิเศษ
ดังเห็นได้จากเมื่อ เสถียร โพธินันทะ ได้นำเอาข้อแตกต่างระหว่างมหายาน-สาวกยานโดยยกเอาวาทะของฝ่ายมหายานมาเน้นอย่างเป็นพิเศษ
ต้องอ่าน
ประการ 1 สาวกยานเป็นยานคับแคบ มุ่งเอาตัวรอดเฉพาะตัว มหายานเป็นยานใหญ่แห่งอุดมคติและการปฏิบัติเพื่อช่วยมหาชน
ประการ 2 สาวกยาน เข้าถึงการตรัสรู้ได้ก็เพียงเห็นแจ้งในบุคคลศูนยตา
คือ สามารถทำลายความยึดถือในเรื่องอัตตาได้ แต่ไม่เห็นแจ้งในธรรมศูนยตา คือ ยังติดยึดในเรื่องขันธ์ ธาตุ อายตนะ และสภาวธรรมอยู่ พูดง่ายๆ ก็คือว่า สาวกยานยังมีธรรมุปาทาน แต่อัตตาวาทุปาทานไม่มี
ส่วนมหายานนั้นเห็นแจ้งทั้งบุคคลศูนยตา และธรรมศูนยตา
ประการ 3 การหลุดพ้นของสาวกยานเป็นการหลุดพ้นแบบ “ลบ” ส่วนการหลุดพ้นของมหายานเป็นการหลุดพ้นแบบ “บวก” เพราะไม่รีบด่วนไปสู่การดับเสียก่อนจนกว่าจะช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์หมด
ประการ 4 สาวกยานปฏิเสธต่อภาวะความมี ความเป็นและการรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของพระพุทธเจ้าหลังปรินิพพานด้วยถือว่าชีวิตจิตใจของพระองค์ได้ดับสนิทสิ้นเชิง เป็นการเข้าใจผิด
แต่มหายานถือว่าการที่พระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานนั้นเป็นเพียงมายา ซึ่งพระองค์แสดงให้เห็นเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ แท้จริงพระองค์หาได้ดับไม่ และพระพุทธองค์ยังทรงรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้แล อาจมาสู่โลกนี้อีกได้เพื่อโปรดสรรพสัตว์
ประการ 5 สาวกยานปฏิเสธจิตสากลหรือพุทธภาวะที่มีอยู่แล้วในสรรพสัตว์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มหายาน (จำกัดฝ่ายภูตตถตาวาทิน) ถือว่าสัตว์ทั้งหลายมีพุทธภาวะอันแจ่มจ้าปราศจากกิเลสเป็นอันเดียวสิ้น
ประการ 6 พระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ที่แสดงแก่พวกสาวกยานเป็นเพียงอุบายโกศลเท่านั้น ยังหาใช่ที่สูงสุดตามพุทธประสงค์ไม่ พระธรรมของมหายานจึงประเสริฐกว่าสาวกยานมาก
แลเมื่อมาถึงบทที่ 11 อันเป็นบทสุดท้ายซึ่งจั่วหัวว่า “บทวิจารณ์” เสถียร โพธินันทะ ได้สำแดงความเห็นของตนออกมาว่า
น่าอัศจรรย์ในความกว้างขวางของพระพุทธศาสนานี้นักหนา
ไม่ว่าจะเป็นลัทธิปรัชญาศาสนาอะไรในโลกที่สำคัญๆ เป็นต้องหาได้ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา หลักธรรมอันใดที่ลัทธิศาสนาอื่นๆ ที่อ้างว่าสำคัญและดีที่สุดก็ปรากฏว่ามีอยู่ในพระพุทธศาสนาสิ้น
เช่น ผู้ที่พอใจในการสวดอ้อนวอน พอใจที่จะไปเกิดในสถานสุขารมย์ แลเป็นผู้มีศรัทธาจริต ยังเป็นผู้ที่อ่อนต่อการฟังเรื่องปรัชญาสูงๆ ก็อาจมานับถือนิกายสุขาวดีได้
ผู้ที่ชอบใจในเรื่องคาถาอาคม วิชาไสยศาสตร์ต่างๆ ก็อาจมานับถือนิกายมนตรยานได้
ผู้ที่ยังติดใจในเรื่องจิตสากลหรืออาตมันก็อาจมานับถือนิกายฝ่ายภูตตถตาวาทินได้
ในความเป็นจริงจากมุมมองของ เสถียร โพธินันทะ ความเชื่อ การนับถือ ศรัทธา ไม่ว่ามองจากมุมของสาวกยาน
ไม่ว่ามองจากมุมโพธิสัตวยาน ล้วนตีตรา “พุทธศาสนา” ทั้งสิ้น
นั่นก็คือ มีจุดเริ่มมาจาก “องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ทั้งสิ้น เพียงแต่จะมองว่าพระศากยมุนีองค์เดียว หรือพระพุทธเจ้าหลายพระองค์เท่านั้น