กรองกระแส /กรณี บุรีรัมย์ บทบาท เนวิน ชิดชอบ บทบาท ‘คสช.’

กรองกระแส

กรณี บุรีรัมย์

บทบาท เนวิน ชิดชอบ

บทบาท ‘คสช.’

ปรากฏการณ์อันเกิดขึ้นระหว่าง ครม.สัญจรที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม กำลังนำไปสู่การประเมินผลทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปปรากฏตัวพร้อมกับนายเนวิน ชิดชอบ

ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกรณีนายสกลธี ภัททิยกุล เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล กรณีนายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สถานการณ์จากจังหวัดบุรีรัมย์ในเดือนพฤษภาคม กับสถานการณ์อันเกิดขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนเมษายน มีความแตกต่างกันอย่างแน่นอนในเรื่องกาละและในเรื่องเทศะ แต่ก็มีลักษณะ “ร่วม” อย่างเดียวกัน

นั่นก็คือ การก่อรูปขึ้นของ “พันธมิตร” ในทางการเมือง ระหว่าง คสช. กับนักการเมืองแต่ละพรรคและแต่ละกลุ่มทางการเมือง

เรียกตามสำนวนอันเป็นสมัยนิยมก็ต้องเรียกว่า “ดูด” ในทางการเมือง

การจะสามารถประเมินผลได้ ผลเสีย มีความจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของแต่ละสถานการณ์ ของแต่ละปรากฏการณ์อย่างเข้มงวดและจริงจัง

 

รายละเอียด แตกต่าง

แต่ละกาละ แต่ละเทศะ

อย่าว่าแต่กรณีของบุรีรัมย์จะมีความแตกต่างเลย แม้กระทั่งกรณีระหว่างนายสกลธี ภัททิยกุล กับกรณีของนายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม ก็มีความแตกต่าง

กรณีนายสกลธี ภัททิยกุล เป็นการเรียกตัวแล้วทาบทาม

กรณีนายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นการเข้าพบ หารือและมีการตกลงรายละเอียดในหลายระดับ ไม่เพียงเป็นเรื่องของพรรคพลังชล หากแต่ยังสัมพันธ์กับหลายองค์ประกอบของพรรคพลังชล

จึงมีการโยงไปยังนายสมชาย คุณปลื้ม ซึ่งเป็นตัวจริงเสียงจริงของพรรคพลังชล

ตำแหน่งของนายสกลธี ภัททิยกุล อาจจำกัดเพียงในพื้นที่ กทม. ขณะที่ตำแหน่งของนายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นตำแหน่งระดับชาติและลงลึกไปในพื้นที่ระดับกว้างอันเป็นฐานทางการเมืองของพรรคพลังชล

ยิ่งเมื่อนำไปศึกษาและเปรียบเทียบกับกรณีของนายเนวิน ชิดชอบ และพรรคภูมิใจไทยที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยิ่งเห็นระนาบของความแตกต่างอย่างมหาศาล

 

ความเป็นจริง บุรีรัมย์

กับเนวิน ชิดชอบ

ไม่ว่าจะมองในด้านการทหาร ไม่ว่าจะมองในด้านการเมือง สถานการณ์อันเกิดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์มีความสำคัญ

เรียกตามภาษาทางการทหารก็คือ “ยุทธภูมิ”

การกำหนดให้จังหวัดเป็นฝ่ายกำหนดรายละเอียดพื้นฐานจึงถูกต้อง แต่การอนุมัติขั้นที่สุดของแผนย่อมมาจาก ครม. และส่วนกลางอย่างไม่ต้องสงสัย

ภาพที่ปรากฏทั้งหมดมิได้อยู่ที่การประชุม ครม. หากแต่อยู่ที่การปรากฏตัวที่สนามช้าง อารีน่า

ความสำคัญเป็นอย่างมากอยู่ที่ เป็นการปรากฏตัวพร้อมกับมีประชาชนมากกว่า 30,000 คนรออยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะเจ้าของสถานที่ นายเนวิน ชิดชอบ ยังเป็นคนกำหนดวาระในรายละเอียดว่าจะดำเนินไปอย่างไร

สถานการณ์ที่สนามช้าง อารีน่า จึงไม่เพียงแต่จะอยู่ในความยึดครองของนายเนวิน ชิดชอบ หากเด่นชัดยิ่งว่าบทบาทและการแสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินไปตามที่นายเนวิน ชิดชอบ กำหนดให้โดยปริยาย

เท่ากับนายเนวิน ชิดชอบ เป็นเจ้าของยุทธภูมิ ยิ่งกว่านั้น นายเนวิน ชิดชอบ ยังกำหนดจังหวะก้าวของการเคลื่อนไหวจนหมดสิ้น

ไม่ว่าจะมองในด้านการทหาร ไม่ว่าจะมองในด้านการเมือง สถานะและความได้เปรียบย่อมเป็นของเจ้าของยุทธภูมิ ย่อมเป็นของเจ้าของพื้นที่ นั่นก็คือ นายเนวิน ชิดชอบ และรวมไปถึงพรรคภูมิใจไทยโดยอัตโนมัติ

นายเนวิน ชิดชอบ และพรรคภูมิใจไทย จึงเป็นคำตอบที่ว่าใครได้ ใครกุมประโยชน์

 

ที่สุด ทางการเมือง

ไม่รู้ใครเป็นฝ่ายดูด

เหมือนกับการเคลื่อนไหวนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงเดือนพฤษภาคม 2561 คสช. จะเป็นฝ่ายกำหนดและคุมเกม

รวมถึงเกมการสืบทอดอำนาจ รวมถึงเกมแห่งการดูด

ปฏิบัติการต่อกรณีของนายสกลธี ภัททิยกุล อาจเป็นเช่นนั้น นั่นก็คือ คสช. เป็นฝ่ายรุกและเป็นฝ่ายกระทำ แต่ปฏิบัติการต่อกรณีของนายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม แห่งพรรคพลังชล กระทั่งมาถึงกรณีนายเนวิน ชิดชอบ นายอนุทิน ชาญวีรกูล แห่งพรรคภูมิใจไทย มีความเด่นชัดว่าเริ่มไม่แจ่มชัดว่า คสช. จะเป็นฝ่ายรุก เป็นฝ่ายกระทำ

อย่างน้อย คสช. ก็ยังมิอาจกำกับพรรคพลังชลได้อย่างเบ็ดเสร็จ อย่างน้อย คสช. ก็ยังมิอาจกำกับพรรคภูมิใจไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ยังไม่แน่ว่าพรรคการเมืองเป็นฝ่ายรุก หรือ คสช. เป็นฝ่ายรุก