สุรชาติ บำรุงสุข : ทหารเสียหน้า จุฬาฯ เสียหาย! เรื่องเก็บตกจากสามย่าน

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“มหาวิทยาลัยควรจะเป็นสถานที่ที่มีแสงสว่าง เสรีภาพ และการเรียนรู้”

Benjamin Disraeli

อยากจะขอเริ่มบทความนี้ด้วยคำกล่าวของ เบนจามิน ดีสราลี อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษอังกฤษ (พ.ศ.2347-2427)

เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างพรรคอนุรักษนิยมสมัยใหม่ แม้เขาจะเป็นผู้นำฝ่ายอนุรักษนิยมคนสำคัญยิ่งของการเมืองอังกฤษ

แต่คำกล่าวของเขาเป็นสิ่งที่มักจะถูกนำมาอ้างเสมอเมื่อกล่าวถึงมหาวิทยาลัย

และเป็นข้อเตือนใจอย่างดียิ่งสำหรับชาวมหาวิทยาลัยในทุกยุคทุกสมัย

เริ่มเรื่อง

สําหรับเรื่องเก็บตกครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจมาเยือนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ต้องยอมรับในทางการเมืองว่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะเป็นการมามหาวิทยาลัยของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร

เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ทันทีว่า การมาครั้งนี้ย่อมจะต้องเผชิญกับเสียงต่อต้านไม่มากก็น้อย

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเสียงต่อต้านการรัฐประหารในสังคมไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเสียงต้านเช่นนี้ส่วนหนึ่งดังก้องกังวานในรั้วมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด

ยกเว้นฝ่ายทหารจะเชื่อมั่นในพลังอนุรักษนิยมในมหาวิทยาลัยที่จะแสดงบทบาทเป็นกองเชียร์ที่แข็งแกร่งให้แก่การรัฐประหาร

และเชื่อว่าการมาเยือนมหาวิทยาลัยจะได้รับการต้อนรับอย่างดีและอบอุ่น

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องวิจารณ์รัฐบาลทหารดังต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยเสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงแทบไม่ต้องอาศัยงานข่าวกรองที่ซับซ้อนใดๆ มาช่วยในการประเมินสถานการณ์สำหรับการมาของหัวหน้ารัฐบาลทหารครั้งนี้ว่าจะมีเสียงต้านเกิดขึ้นหรือไม่

และในอีกด้านหนึ่งก็น่าสนใจว่า ฝ่ายอำนวยการของรัฐบาลทหารประเมินการมาครั้งนี้อย่างไร หรือจะประเมินด้วยความเชื่อว่า ไม่ต้อง “แคร์” อะไร ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้ว จะ “เหยียบย่าง” เข้าไปในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยใดก็ได้ ไยต้องไปสนใจอะไร!

สำหรับมุมมองของนิสิตและคณาจารย์จุฬาฯ ในฝ่าย “ประชาธิปไตยนิยม” นั้น การที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตัดสินใจเปิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อต้อนรับหัวหน้ารัฐบาลทหาร

ไม่ใช่เป็นเพียงการ “เหยียบย่ำ” จิตใจเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเสมือนการนำเอามหาวิทยาลัยไปเป็นเครื่องมือในการรับรองความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน…

จุฬาฯ ไม่เคยมีบทบาทเช่นนี้ แม้ในอดีตของยุครัฐบาลทหาร มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยต่างก็เคยมีอธิการบดีเป็นผู้นำทหารมาแล้ว [จอมพลประภาส จารุเสถียร (จุฬาฯ) และจอมพลถนอม กิตติขจร (ธรรมศาสตร์)]

แต่นั่นเป็นเพียงเรื่องราวในอดีต

นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยได้ปลดพันธนาการออกจากระบบทหารแล้ว ยุคที่ทหารควบคุมมหาวิทยาลัย เช่น ก่อนปี 2516 ได้สิ้นสุดไปนานแล้ว และไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ควรจะเกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไม่ใช่ฐานรองรับการกำเนิดของ “รัฐทหาร”

สำหรับครั้งนี้ว่าที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดคาดแต่อย่างใด ที่ผู้บริหารจุฬาฯ จะตัดสินใจด้วยความภาคภูมิในการต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหาร

ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจนนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 นั้น ผู้บริหารหลายมหาวิทยาลัยแสดงจุดยืนอย่างเด่นชัดในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผู้บริหารจุฬาฯ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น และในท่ามกลางการเคลื่อนไหวอย่างสุดโต่งที่มีเป้าหมายโดยตรงในการล้มรัฐบาลในช่วงปี 2556-2557 จุดยืนในฐานะของการเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมที่สนับสนุน “เสนานิยม” ปรากฏอย่างเด่นชัดในแวดวงผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่ง จนดูเหมือนมหาวิทยาลัยไทยที่น่าจะเป็นปราการของฝ่าย “เสรีนิยม” กลับกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญของฝ่าย “รัฐประหารนิยม” อย่างน่าฉงน

และยังเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนของจุฬาฯ ที่มีต่อการชุมนุมของ กปปส. ในบริเวณแยกปทุมวัน

จนกล่าวกันว่า จุฬาฯ เป็นดัง “เจ้าภาพ” และเป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” ของการชุมนุมในพื้นที่นี้

ทั้งที่ในวาระนั้น จุฬาฯ ควรจะเป็น “เวทีกลาง” ของการพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้งในสังคมไทย ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จุฬาฯ จะรับรองการมาเยือนของผู้นำรัฐประหารในครั้งนี้

ขายตรงทางการเมือง

ในมุมมองเช่นนี้ การมาเยือนจุฬาฯ ของหัวหน้ารัฐประหารจึงกลายเป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่าจะเป็นเรื่องน่ากังวล สำหรับผู้บริหารและกลุ่ม “รัฐประหารนิยม” แล้ว

การมาครั้งนี้จึงเป็นเสมือนการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่นิยมชมชอบระบบอำนาจนิยมกับผู้นำรัฐบาลทหาร

และขณะเดียวกัน ระบบนี้ก็ให้ผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งด้วยตำแหน่งในเวทีการเมืองอย่างที่ในระบบเลือกตั้งไม่อาจกระทำได้

นอกจากนี้ การเยือนจุฬาฯ ยังเป็นเสมือนกับการเตรียม “เปิดตัว” และ “ขายตรง” ทางการเมือง ที่จำเป็นต้องเรียกร้องหาเสียงสนับสนุนในสภาวะขาลงที่ “หมดกองหนุน” และประเด็นสำคัญก็คือ หากการเลือกตั้งจำเป็นจะต้องมีขึ้นภายใต้แรงกดดันที่เกิดอย่างรอบด้านแล้ว

ปาฐกถาที่จุฬาฯ ก็คือหนึ่งในเส้นทางของการหาเสียงที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในการเดินทางของผู้นำรัฐบาล ที่มีความหวังว่าผู้นำทหารจะมีโอกาสกลับมาเป็นผู้นำรัฐบาลอีกครั้ง อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การมาพูดครั้งนี้เป็นการ “เสนอตัว” อย่างชัดเจนแก่ชาวมหาวิทยาลัย ด้วยความพยายามในการขายวิสัยทัศน์และนโยบายผ่านเวทีจุฬาฯ

ส่วนการเสนอขายทางการเมืองทั้งในรูปตัวบุคคลและวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลที่จุฬาฯ ครั้งนี้จะเป็นประสบความสำเร็จหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับทัศนะและการยอมรับต่อรัฐบาลทหาร สำหรับผู้ที่นิยมรัฐประหารและยังยึดมั่นในระบบอำนาจนิยมแล้ว แน่นอนว่าพวกเขายังยืนยันที่จะอยู่กับระบบทหารต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่า การบริหารประเทศของคณะรัฐประหารชุดนี้จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้จริงเพียงใด

แต่หากเราพิจารณาในเชิงสาระแล้ว ปาฐกถาที่จุฬาฯ ไม่ได้นำเสนอทิศทางใหม่สำหรับสังคมไทยเท่าใดนัก

จนเป็นเสมือนภาคพิเศษของรายการ “คืนความสุข” ที่มีการออกอากาศในทุกค่ำคืนวันศุกร์

อย่างไรก็ตาม หากคิดในบริบททางการเมืองแล้ว การตัดสินใจมาเปิดเวทีในมหาวิทยาลัยไม่เพียงจะเป็นความท้าทายสำหรับผู้นำรัฐประหารในการนำเสนอสาระในทางนโยบายเท่านั้น

หากแต่ยังจะต้องสามารถนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความน่าเชื่อถือและความโดดเด่นในความเป็นผู้นำอีกด้วย

แต่ถ้าทำเช่นนี้ไม่ได้แล้ว ปาฐกถาในมหาวิทยาลัยอาจจะกลายเป็นผลลบทางการเมืองมากกว่าจะให้ผลตอบแทนเชิงบวก เพราะอาจจะถูกประเมินว่าเป็นการหาเสียงที่ไม่มีสาระ และเป็นได้เพียงแค่การโชว์ตัว หรือถูกดูแคลนว่าเป็นปาฐกถาที่ไม่มีคุณค่าจนถึงกับต้องเดินทางมาเปิดเวทีที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ

เมื่อพิจารณาควบคู่กับท่าทีของผู้นำรัฐบาลที่ต้องเผชิญกับแรงต้านอย่าง “เบาๆ” จากนิสิตหญิงชายไม่กี่คน ที่แทบไม่มีความน่ากลัวเลย

แต่การแสดงออกของผู้นำในแบบเก็บอารมณ์ไม่อยู่พร้อมกับคำประชดประชันที่ว่า “ปล่อยเขาเถอะ อย่าไปทำร้ายอะไร เขาไม่เข้าใจก็ปล่อยเขาไปนะ ไปเถอะคนเก่ง เยี่ยม เก่งมาก…” คำประชดแบบสะกดอารมณ์ตัวเองเช่นนี้ กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของรัฐบาลทหารเป็นอย่างยิ่ง

หรือมีความกลัวนิสิตบางคนจนต้องใช้วิธีทางธุรการให้ไปนั่งชั้นบนและมีเจ้าหน้าที่ประกบไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการประท้วง

เหล่านี้ล้วนเป็นภาพลบที่สะท้อนว่า รัฐบาลทหารไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาเปิดเวทีในมหาวิทยาลัย

เพราะหากเป็นในยุครัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว อาจจะต้องถือว่าการประท้วงเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของการมีเสรีภาพ และไม่ใช่สิ่งที่จะต้องตามไปคุกคามในภายหลังแต่อย่างใด

บททดสอบที่จุฬาฯ

แต่เมื่อผู้นำรัฐบาลทหารมาเสนอ “ขายตรง” ทางการเมืองและต้องเผชิญกับนิสิตมาชู “แผ่นกระดาษ” (ไม่ใช่แผ่นผ้าประท้วง) กลับรู้สึกทนไม่ได้ และข้อความบนกระดาษขนาดเอสี่ก็มีเพียงสั้นๆ ว่า “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)”

ต้องยอมรับว่าข้อความการประท้วงทางการเมืองของนิสิตเช่นนี้เบาอย่างมาก เพราะไม่ได้มีลักษณะของการด่าทอด้วยการใช้คำหยาบคายแต่อย่างใด

ฉะนั้น ว่าที่จริงแล้วการเสียหน้าครั้งนี้หากจะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้เกิดจากการถูกประท้วง แต่เกิดจากการแสดงออกเมื่อถูกประท้วงต่างหาก เช่น การฉีกกระดาษแผ่นดังกล่าว

กรณีนี้ต่อมาได้ขยายตัวกลายเป็นความเสียหายทางการเมือง เมื่อมีเจ้าหน้าที่ไปคุกคามนิสิตเหล่านั้นถึงที่บ้าน

ซึ่งเท่ากับยิ่งสะท้อนให้เห็นทั้งความกลัวและความเปราะบางของรัฐบาลทหารปัจจุบัน

และการประท้วงครั้งนี้ไม่ได้มีลักษณะของการรวมพลขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องขยายเสียงเปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลแต่อย่างใด

จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปยังบ้านของนิสิตที่จัดการประท้วง จนกลายเป็นพยานที่ชัดเจนของการคุกคามของฝ่ายรัฐ และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารที่มีปัญหาอยู่แล้วให้ตกต่ำลงไปอีก… เสียทั้งหน้า เสียทั้งการเมือง

และสำหรับผู้นำทหารที่เผชิญกับเสียงต้านในแบบที่จุฬาฯ แล้วรู้สึกทนไม่ได้ ก็บอกได้เลยว่าเมื่อต้องออกหาเสียงหลังการปลดล็อกพรรคการเมืองแล้ว เสียงต้านจะแรงกว่านี้อย่างแน่นอน หรือถ้าชนะแล้วต้องเผชิญกับการอภิปรายในสภาแล้ว จะทนได้อย่างไร ความเปราะบางทางอารมณ์เช่นนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

สำหรับผู้บริหารจุฬาฯ จากกรณีอาจารย์ล็อกคอนิสิต จนถึงการเปิดบ้านให้ผู้นำรัฐบาลทหารมาแสดงปาฐกถาแล้ว คงต้องยอมรับว่า เหตุการณ์นี้เป็นความเสียหายทางการเมืองอย่างมาก

ผู้บริหารจุฬาฯ อาจจะไม่รู้สึกมากนัก และหวังเพียงเสียงชื่นชมจากกลุ่มนิยมรัฐประหารทั้งในและนอกจุฬาฯ

แต่การที่มหาวิทยาลัยแสดงออกอย่างชัดเจนในการเป็นเวทีให้กับรัฐบาลรัฐประหาร อีกทั้งไม่ใส่ใจและปกป้องนิสิตที่ถูกคุกคาม สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณของความเสียหลักทางการเมืองสำหรับจุฬาฯ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

และหากถึงวันหนึ่งเมื่อหมดยุครัฐบาลทหารไปแล้ว ผู้บริหารจะเขียนประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายให้กับอนุชนจุฬาฯ รุ่นหลังอย่างไร…

เราชาวจุฬาฯ ควรจะภาคภูมิใจหรือกับความผูกพันระหว่างจุฬาฯ กับการรัฐประหาร และในสายตาของฝ่ายนิยมประชาธิปไตยแล้ว ปาฐกถาของผู้นำรัฐบาลทหารที่จุฬาฯ

และตามมาด้วยนิสิตถูกคุกคามนั้น ได้กลายเป็นความเสียหายทางการเมืองครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัย และก็ไม่ชัดเจนว่าจุฬาฯ ได้อะไรจากการนี้

เกียรติภูมิจุฬาฯ?

แม้วันนี้การจัดลำดับของมหาวิทยาลัยในเวทีโลกยังไม่มีปัจจัยด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยมาเป็นตัวชี้วัด แต่อย่างน้อยการให้คุณค่าแก่เสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นองค์ประกอบสำคัญของมหาวิทยาลัยในอารยประเทศ และมหาวิทยาลัยไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นที่ควรจะมีองค์ประกอบเช่นนี้ด้วย

การกล่าวเช่นนี้มิใช่การเป็นพวก “นิยมตะวันตก” แบบโงหัวไม่ขึ้น แต่หากพิจารณาในบริบทของประเทศที่ประชาธิปไตยมีความมั่นคงแล้ว การใช้เสรีภาพในการประท้วงในรั้วมหาวิทยาลัยแทบจะเป็นเรื่องปกติ จนอาจจะต้องยอมรับว่า การประท้วงเป็นวัฒนธรรมของปัญญาชนทั่วโลก แต่อาจเป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและผู้นำทหารไทยไม่มีความคุ้นเคย

และขณะเดียวกันก็ไม่ตระหนักว่า เสรีภาพมีความสำคัญกับความเป็นมหาวิทยาลัย เพราะการแสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างศาสตร์ต่างๆ ในทางทางปัญญานั้นทำได้ด้วยการมีเสรีภาพ ไม่ใช่ด้วยการปิดกั้นเสรีภาพ มหาวิทยาลัยจึงดำรงอยู่ได้ด้วยเสรีภาพ มหาวิทยาลัยที่ปราศจากเสรีภาพ ก็ปราศจากปัญญา… มหาวิทยาลัยที่ไร้ปัญญาไม่ต้องการเสรีภาพ

สุดท้ายนี้ในฐานะที่เป็นทั้งศิษย์เก่าและอาจารย์ ผมเชื่อเสมอว่าทิศทางการพัฒนาจุฬาฯ ให้เป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ตามปณิธานที่ตั้งไว้นั้น ทำได้ด้วยการมีเสรีภาพ และสนับสนุนให้นิสิตคิดและแสดงออกอย่างเสรี

และที่สำคัญจุฬาฯ สามารถสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดรวมถึง “เกียรติภูมิจุฬาฯ” ดังเช่นเพลงของมหาวิทยาลัยนั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดมั่นและผูกพันอยู่กับระบอบทหาร

อีกทั้งผู้บริหารคงต้องตระหนักว่าจุฬาฯ จะต้องไม่เป็น “เสาหลักแห่งการรัฐประหารของแผ่นดิน”!