4NOLOGUE พลิกขาดทุน…ขึ้นแท่นผู้จัดเบอร์ 1 สัญญายาว 4 ปี ดูแล GOT7

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 แบบเขย่าวงการบันเทิงสำหรับผู้จัด บริษัท โฟร์โนล็อค จำกัด (4NOLOGUE) ภายใต้การบริหารของ “อนุวัฒน์ วิเชียรณรัตน์” หรือวุธ ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง ที่ประกาศรุกธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร อัดงบฯ ลงทุนอีกราว 300 ล้านบาทในปีนี้กับ 3 โปรเจ็กต์สำคัญคือ 5:7:9 คือ SBFIVE นำนักแสดง 5 คนจากซีรี่ส์ดังเดือนเกี้ยวเดือน ที่กระแสดีมาจัดโชว์เต็มรูปแบบในแถบเอเชียทั้งหมด

ถัดมาคือ 7 นำก็อตเซเว่น (GOT7) มาจัดคอนเสิร์ตในไทย

และ 9 คือ 9×9 หรือ ไนน์ บาย นาย นำนักแสดงจากหลายค่ายรวม 9 คนมาทำกิจกรรมต่างๆ สะท้อนถึงศักยภาพและการเป็นผู้นำในธุรกิจนี้

แต่กว่าจะมายืนในจุดที่เรียกว่า ประสบความสำเร็จ “วุธ” ฉายภาพเมื่อ 10 ปีที่แล้วของโฟร์โนล็อค ว่า เขาเริ่มต้นกับธุรกิจรับจัดอีเวนต์ และเก็บเล็กผสมน้อยไปเรื่อยๆ จนถึงระดับหนึ่งเขาต้องการต่อจิ๊กซอว์เพิ่มเติมธุรกิจที่ตัวเองรัก คือ “ดนตรี” และ “คอนเสิร์ต”

ในช่วงนั้น วุธบอกต้องเรียกว่าช่วงดิ้นรน เพราะต้นทุนการจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

“ผมอายุแค่ 24 ในตอนนั้น การเข้าไปเสนองานที่ต้องใช้เงินสูงถือว่ายากมาก จนกระทั่งโอกาสก็เข้ามา เราตั้งเป้าหมายทันทีว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะต้องทำให้ดีกว่าที่ลูกค้าคาดหวังให้ได้”

ดงบังชินกิ (TVXQ) ถูกเลือกให้เป็นคอนเสิร์ตแรกที่จัดโดยโฟร์โนล็อค เพราะในขณะนั้นถือว่าได้รับความนิยมทั้งในเกาหลีและในต่างประเทศ โดยเฉพาะในไทย ซึ่งส่งผลให้โฟร์โนล็อคเป็นที่รู้จักมากขึ้นเช่นกัน จากนั้นตามมาด้วย ซูเปอร์ จูเนียร์ (Super Junior) และบิ๊กแบง (BIGBANG) ฯลฯ

ในช่วงนั้น โฟร์โนล็อคให้น้ำหนักไปที่การจัดคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีรวม 10 โปรเจ็กต์ แต่ประสบความสำเร็จเพียง 2 โปรเจ็กต์ ส่วนที่เหลือ “ขาดทุน”

ทุกธุรกิจต่างมีความเสี่ยง ธุรกิจจัดโชว์ก็เช่นกัน วุธยังบอกว่า การจัดคอนเสิร์ตมีปัจจัยที่ผู้จัดไม่สามารถควบคุมได้คือ ความสนใจของผู้ชมและแฟนคลับ เหมือนกับการเล่นกับสิ่งที่ “มองไม่เห็น”

ฉะนั้น สิ่งเดียวที่เราคิดคือ ทุกคอนเสิร์ตต้องสมบูรณ์แบบและได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะระบบแสง สี เสียง ที่โฟร์โนล็อคต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ชมเต็มอิ่ม แม้ว่าเมื่อคำนวณต้นทุนแล้วจะขาดทุนก็ตาม!

“ตอนนั้นรู้สึกว่าต้องตั้งหลักก่อน ปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ ไม่ได้อีกแล้ว ระดับ 100 ล้านบาทไม่ใช่เรื่องธรรมดา ผมก็มองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทกลับมามีกำไรต่อเนื่อง ก็ต้องตัดสินใจพักคอนเสิร์ตเอาไว้ รักษาแผลให้หาย และเดินหน้าธุรกิจที่มีอยู่ทดแทน”

อย่างไรก็ตาม วันนี้ของโฟร์โนล็อคได้พัฒนาตัวเองไปสู่ธุรกิจบันเทิงครบวงจร พร้อมทั้งขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจจัดโชว์ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด มีบริษัทผู้จัดโชว์เกิดใหม่มากมาย ที่โดดเข้ามาร่วมแย่งส่วนแบ่งในตลาดที่มีมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาทนี้ และคาดว่ายังมีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโปรเจ็กต์ในปี 2561 นี้ วุธบอกว่า จะมีคอนเสิร์ตของวงก็อตเซเว่น (GOT7) ศิลปินจากค่ายเจวายพี ใน “ก็อตเซเว่น 2018 เวิลด์ทัวร์ อายส์ ออน ยู อิน แบงค็อก” (GOT7 2018 WORLD TOUR “EYES ON YOU” IN BANGKOK) ซึ่งจัดขึ้นถึง 3 รอบในวันที่ 11-13 พฤษภาคมนี้ และบัตรถูกจำหน่ายไปหมดแล้ว

ทั้งนี้ โฟร์โนล็อคไม่ได้รับหน้าที่เพื่อจัดคอนเสิร์ตเท่านั้น เพราะล่าสุดค่ายเจวายพีได้เลือกให้โฟร์โนล็อคเป็นผู้ดูแลวงก็อตเซเว่น กับทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในไทย รวม 4 ปี

โดยในแต่ละปีจะมีการกำหนดโควต้าให้กับก็อตเซเว่นว่า สามารถมาทำกิจกรรมในไทยได้กี่วัน และกิจกรรมมีอะไรบ้าง เช่น คอนเสิร์ต งานแฟนมีตติ้ง งานถ่ายโฆษณา งานถ่ายแบบ หรือถ่ายละคร เป็นต้น

“จริงๆ ก็อาจจะเรียกว่าเป็นสัญญาใจมากกว่า ไม่ได้เป็นสัญญา Exclusive เพราะหลังจากที่ได้ร่วมงานกับเจวายพีมานาน และเขาเองเห็นถึงศักยภาพเราที่ทำได้ครบถ้วนตามสัญญา จึงเลือกทำงานกับเราต่อไป เลือกแค่ 1 เดียว แต่ทำได้ทุกขั้นตอน”

เมื่อถามว่าไอดอลเกาหลีมีมากมาย แต่ทำไมถึงเลือกวงก็อตเซเว่น?

วุธตอบแบบไม่ต้องใช้เวลาคิดเยอะว่า เพราะมี แบมแบม (กันต์พิมุกต์ ภูวกุล) ซึ่งเป็นเด็กไทยคนที่ 2 ที่เข้าไปเป็นศิลปินในค่ายเจวายพี ซึ่งคนแรกก็คือ นิชคุณ หรเวชคุณ สมาชิกของวงทูพีเอ็ม (2PM) “ได้เห็นพัฒนาการของแบมแบมและทุกคนในวงมาตลอด ทุกครั้งที่ก็อตเซเว่นคัมแบ็ก จะรู้สึกว่าเป็นเขาเป็นบอยแบนด์ที่เพิ่งจะเริ่มเดบิวต์เสมอ ทุกคนมีความสด มีพัฒนาการตลอดทุกอัลบั้ม ประทับใจในความพยายามของพวกเขามาก”

นอกเหนือจากก็อตเซเว่นแล้ว โฟโนล็อคอยากจัดคอนเสิร์ตให้กับวงดงบังชินกิ เพราะเหมือนเติบโตมาพร้อมกัน ตั้งแต่มีสมาชิกครบ 5 คน จนปัจจุบันเหลือ 2 คน คือ ยุนโฮ และชางมิน

“มันคือความผูกพัน ถ้าทำแล้วมันจะขาดทุนก็จะทำ ในวันที่พวกเขาดังมากเราก็จัดคอนเสิร์ต แต่เมื่อดังน้อยลงถามว่าเราควรทิ้งเขาไหม ในความรู้สึกของผม เหมือนเป็นพี่น้องกันไปแล้ว เมื่อเราให้ใจเขา เขาก็จะให้ใจเรากลับมา ถ้านับงานของโฟร์โนล็อคกับศิลปินเกาหลีจะเห็นว่าเราทำไม่กี่วง แต่ทำนาน ไม่ใช่งานเดียวแล้วจบ”

วุธยังแชร์ไอเดียสำหรับการจัดงานแฟนมีตติ้งในรูปแบบใหม่ ภายใต้โปรเจ็กต์เบลอ (PROJECTBLUR) ด้วยว่า จะแตกต่างจากรูปแบบงานแฟนมีตติ้งทั่วไปตรงที่ “ไม่มีสคริปต์” เพื่อให้แฟนคลับได้เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงของศิลปินที่ชื่นชอบ

นอกจากนี้ ในฐานะผู้จัดต้องการเซอร์ไพรส์คนดู โดยอาจจะนำศิลปินมาทำกิจกรรมในแบบที่ไม่คาดคิดว่าจะทำได้ ซึ่งโฟโนล็อคได้เริ่มโปรเจ็กต์เบลอไปแล้ว โดยนำมาร์คและแบมแบม จากวงก็อตเซเว่น มาพบกับแฟนคลับ และงานนี้ดูจะตอบโจทย์ความต้องการของแฟนคลับ เพราะบัตรขายหมดอย่างรวดเร็ว

และคาดว่าในปีนี้จะมีงานภายใต้โปรเจ็กต์เบลอตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงอนาคตของโฟร์โนล็อคต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร วุธระบุว่า ในแง่ของผลประกอบการ ปีนี้กำไรอาจจะน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ที่ผ่านมา เพราะต้องเดินหน้าลงทุนตามแผนที่วางไว้ และกว่าจะทำรายได้กลับมาต้องใช้เวลา คาดว่าในปี 2563 รายได้ของโฟร์โนล็อคอาจจะเพิ่มขึ้นแบบ “ดับเบิ้ล” ได้ แต่นอกเหนือจากผลประกอบการที่จะใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จแล้ว วุธบอกว่า ในฐานะคนทำธุรกิจบันเทิงที่ต้องส่งผ่านความสุขไปให้ผู้ชม เขากลับให้น้ำหนักไปที่ “ความสุข” ของคนทำงานมากกว่า!!!

วุธทิ้งท้ายว่า จับตาดูโฟร์โนล็อคให้ดี เพราะปีนี้มีเซอร์ไพรส์เพียบ!!!