เศรษฐกิจ/ กลเกมชิง 2 แหล่งก๊าซ ยุคฮั้วประมูลเพื่อชาติ!!!

เศรษฐกิจ

กลเกมชิง 2 แหล่งก๊าซ

ยุคฮั้วประมูลเพื่อชาติ!!!

ภารกิจประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจ ในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 ตามทีโออาร์การเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ภายใต้การผลักดันของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ใกล้สำเร็จแล้ว (?)

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดให้เอกชนเข้ายื่นแบบฟอร์มแสดงความจำนงลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น (พีคิว)

มีเอกชนสนใจหลายรายเข้ายื่นพีคิว ทั้งบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี ยื่นเจตจำนงเข้าร่วมพิจารณาคุณสมบัติทั้ง 2 แหล่ง คือ บงกชและเอราวัณ

และเอกชนอีก 3 ราย ได้แก่ บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด จากสหรัฐอเมริกา บริษัท โอเอ็มวี แอ็กเทียนวีเซลสคาฟต์ จากออสเตรีย และกิจการร่วมค้าพลังงานสะอาด 101 ร่วมกับบริษัท ไห่เฉิน ปิโตรเลียม แมชชีนเนอรี่ และบริษัท อัล จาเบอร์ กรุ๊ป ร่วมทุนระหว่างไทย จีน และยูเออี

 

หลังจากนี้ต้องลุ้นว่าทั้ง 6 รายจะยื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561 หรือไม่

โดยผู้เข้ายื่นหลักฐานแสดงคุณสมบัติเบื้องต้น ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะแจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เพื่อยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงในการเข้าถึงข้อมูลต่อไป ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2561 ตามด้วยเข้าศึกษาข้อมูลในพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยทั้ง 2 แหล่ง ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน-21 กันยายน 2561 ค่าเข้าร่วมการประมูลเพื่อขอดูหลักเกณฑ์ 7 ล้านบาทต่อ 1 แหล่ง

ลำดับถัดไป ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องยื่นคำขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พร้อมเอกสารแสดงคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514 รวมทั้งแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่จัดทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในทีโออาร์ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตต่อกรม ในวันที่ 25 กันยายน 2561 คิดค่าธรรมเนียมคำขอข้อเสนอ 50,000 บาท และหลักประกันคำขอ 3 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายในการเข้าประมูล 10 ล้านบาท

ขั้นตอนทั้งหมดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะพิจารณาประกาศชื่อผู้ชนะประมูลภายในเดือนธันวาคม 2561

และลงนามสัญญาจ้างผู้ชนะประมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเริ่มกระบวนการสำรวจและผลิตต่อไป

จาก 6 บริษัทที่แสดงตัวเข้าลงทุน จะเห็นว่า เจ้าเดิมอย่าง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้รับสิทธิแหล่งบงกช และบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสิทธิแหล่งเอราวัณ มากันพร้อมหน้า

นอกจากจะยื่นแหล่งเดิมแล้ว ยังขอลุ้นประมูลอีกแหล่งด้วย สร้างความคึกคัก ทำให้การแข่งขันครั้งนี้เข้มข้นขึ้น แต่หากมองลึกในบรรยากาศการประมูลครั้งนี้ จะพบว่า มีเสียงกระแซะถึงเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) อย่างต่อเนื่อง ถึงรายละเอียดที่ดูเอื้อประโยชน์ให้กับรายเก่า คือ ปตท.สผ. และเชฟรอน

โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ด้านประสบการณ์ของผู้ประมูล

แม้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะยืนยันตลอดว่า ทีโออาร์มีความเป็นกลาง แต่ท่าทีของนายศิริเองค่อนข้างคลุมเครือ

ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ก็ยอมรับว่า ทีโออาร์อาจจะเอื้อประโยชน์ให้รายเก่า เนื่องจากรายเก่ามีความรู้ความเข้าใจในแหล่งที่ทำอยู่แล้ว และมีประสบการณ์มากกว่ารายที่ไม่เคยดำเนินการในแหล่งดังกล่าวมาก่อน หากรายใหม่ต้องการจะชนะการแข่งขันจะต้องเสนอผลประโยชน์ที่เป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุด

ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) คู่ปรับรัฐบาล มองว่า การออกทีโออาร์ใหม่ถือว่าเป็นการล็อกสเป๊กเพื่อเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งการที่ไม่ให้รายใหม่เข้ามาในพื้นที่ และอ้างว่ารายเก่ายังถือสัญญาที่เป็นสัมปทานอยู่ ทำให้ความรู้ความเข้าใจในแหล่งน้อยกว่ารายเก่าแน่นอน ขณะเดียวกัน ยังระบุให้รายใหม่ที่ได้สิทธิต้องมีส่วนในการร่วมรื้อถอนแท่น จะส่งผลให้เกิดต้นทุนแก่รายใหม่ การเสนอผลประโยชน์แก่รัฐก็จะน้อยลงตามไปด้วย สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่นี้ น.ส.รสนาให้คำจำกัดความว่า “สัมปทานจำแลง”

น.ส.รสนาย้ำว่า ไม่ใช่ระบบพีเอสซีที่ต้องแบ่งปิโตรเลียมที่ได้มา ไม่ใช่แบ่งเงิน ถือเป็นการล็อกสเป๊กที่ผลประโยชน์จะตกกับกลุ่มทุนเดิม ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร และรัฐบาลอาจไม่ได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่เท่าที่ควร

 

ข้อวิจารณ์ดังกล่าว ถูกตอกย้ำจากนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อดีตผู้บริหารเครือ ปตท. ยอมรับว่า ผู้ลงทุนเดิมอย่าง ปตท.สผ. และเชฟรอน ควรชนะการประมูล เพราะมีประสบการณ์ อย่ามองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ ต้องมองว่าการสำรวจแหล่งก๊าซแต่ละบริษัทจะมีการขุดเจาะต่างกันตามเทคนิคและสภาพพื้นที่

หากได้รายเดิมที่มีความชำนาญแล้วจะผลิตต่อได้ทันที เพราะแหล่งก๊าซจะหมดอายุปี 2565-2566 นี้ หากสามารถเซ็นสัญญาเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีเวลาดำเนินการแค่ 3 ปี ซึ่งปกติการลงทุนธุรกิจนี้รายใหม่จะใช้เวลาสำรวจ 3 ปี สำหรับประเทศไทยอาจไม่ทันการ เพราะต้องเดินหน้าผลิตทันที

นายบวรยังแสดงความกังวลว่า ส่วนตัวเชื่อว่ากระบวนการเปิดประมูลปิโตรเลียมจะไม่ราบรื่น เพราะไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาครัฐ อย่างขั้นตอนที่ผ่านมามีความล่าช้า แม้กำหนดขั้นตอนต่างๆ ชัดเจนแต่ก็เลื่อนมาตลอดหลายปี

“ยังเชื่อว่าจะมีการประท้วงของกลุ่มต้านเกิดขึ้นอีก และรัฐเองมีโอกาสที่จะถอย เพราะศรัทธาไม่มา ขอทายว่าเรื่องนี้จะสะดุดลงอีกแน่นอน”

 

หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นให้ต้องเลื่อนอีก นายบวรได้คาดการณ์ความเสียหายว่าจะทำให้ประเทศเสียโอกาสจากการจัดเก็บค่าภาคหลวง และมีโอกาสทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นประมาณ 18 สตางค์ต่อหน่วย กระทบต่อความเป็นอยู่ประชาชน

หากปริมาณก๊าซจาก 2 แหล่งหายไป จะเท่ากับโรงไฟฟ้า 2 โรง จำนวน 1,200 เมกะวัตต์ กระทบต่อแผนพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่จะพาคนไทยก้าวพ้นความยากจนในปี 2575 กระทบกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งระบบ อาจกระทบต่อผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) มากประมาณ 1,000 ราย เพราะจะไม่มีวัตถุดิบในประเทศ ต้องนำเข้ามาแทน รวมความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนล้านบาท

“จากนโยบายรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ที่จะมุ่งสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (เอสเคิร์ฟ) หากไม่มีพลังงานที่เพียงพอ ไฟฟ้าราคาแพง เอสเคิร์ฟเกิดลำบาก อีอีซีจะไม่มีทางเกิดหรือหากเกิดขึ้นก็จะมีปัญหาตามมา ไม่ประสบความสำเร็จ”

นายบวรกล่าว

 

ขณะที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงกรณีภาคเอกชนออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่มั่นใจว่าการเปิดประมูลครั้งนี้จะสำเร็จได้ตามแผนงานที่วางไว้ ว่า สิ่งที่ห่วงใยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีต ตั้งแต่การเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 สำหรับแหล่งใหม่ๆ ที่ได้รับการคัดค้านต่อต้านมาโดยตลอด จนไม่สามารถที่จะเปิดประมูลรอบที่ 21 ได้มานานหลายปี

ฉะนั้น ในความกังวล ความเป็นห่วงนี้ ถือเป็นแสดงความห่วงใยแทนประเทศชาติ ถ้าหากไม่สามารถเปิดประมูลในทั้ง 2 แหล่งได้จริง ก็ยอมรับว่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตแบบย้อนกลับมาแก้ไขไม่ได้

แต่หากสุดท้ายเกิดอุปสรรคทำให้การประมูลมีปัญหาล่าช้า ผมจะเจรจาให้ ปตท.สผ. และเชฟรอน ผลิตในหลุมเดิมต่อ เพราะความมั่นคงประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ถึงบรรทัดนี้น่าติดตามด้วยใจระทึกว่า สิ้นปีนี้บริษัทใดจะได้ครอง 2 แหล่งก๊าซท่ามกลางบรรยากาศฮั้วประมูลเพื่อชาติ!!!