นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ฟันธง “61 ไม่มีเลือกตั้ง ร้ายกว่านั้นคว่ำกฎหมายยืดไปไม่มีกำหนด

“ทิศทางการเมืองขณะนี้มีอยู่ 2 ทางคือ 1.การเลือกตั้งเลยเวลาออกไป แต่อยู่ภายใต้โรดแม็ปเพราะถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญ แต่ก็จะใช้เวลาอย่างเต็มที่ ยืดยาวสุดเท่าที่จะทำได้ 2.ร้ายแรงกว่าก็คือการคว่ำกฎหมาย ซึ่งไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าถามผมว่าวันนี้มันไปอย่างไร-ระดับไหน ต้องดูที่การแก้กฎหมายพรรคการเมือง น้ำหนักในใจผมไปในทางที่จะไม่มีการเลือกตั้งมากกว่า แต่ถ้าถามสั้นๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องใช้ข้อมูลเยอะ ผมคิดว่าปี 2561 น่าจะไม่มีเลือกตั้ง แต่จะเป็นปี 2562-2663 หรือไม่ ผมไม่ทราบ อยู่ที่การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ-การคว่ำกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.”

นั่นคือการฟันธงและการวิเคราะห์ของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เชื่อว่าหลายคนเงี่ยหูฟัง

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นิพิฏฐ์ให้เหตุผลที่วิเคราะห์เช่นนั้นเพราะว่า ขณะนี้กำลังร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการในวาระที่ 1 ผ่านมา 30 กว่าวันแล้ว และเขาก็เหล่ตามองกฎหมายพรรคการเมืองอยู่ หากเกิดมีการแก้กฎหมายพรรคการเมือง โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขัดแย้งกับการรับหลักการในวาระที่ 1 มีทางเดียว ต้องคว่ำกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.

พอคว่ำกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ และการแก้นั้นใช้เวลานานเท่าไหร่ไม่รู้ 1 ปีจะเสร็จหรือไม่ก็ไม่ทราบ พอแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ จากนั้นก็ต้องเริ่มกระบวนการร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่หมด ทีนี้คือยาวเลยแบบไม่มีกำหนดเวลา

“ผ่านมาถึงวันนี้ ผมไม่เรียกร้องแล้วว่าให้มีเลือกตั้งเสียเถิด ปี 2561-2562 ก็ได้ แต่ผมเรียกร้องใหม่ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่ให้นานที่สุด อยู่จนคุณประยุทธ์-ประวิตรถือไม้เท้ากลับบ้าน อยู่ให้พอใจจะได้เป็นบทเรียนให้กับประชาชน ให้กับประเทศ และบทเรียนให้กับตัวท่านเองด้วย” นายนิพิฏฐ์กล่าวพร้อมชี้เหตุผล

“เพราะจากนี้ไป คสช. ไม่มีขาขึ้นแล้ว จะมีแต่ขาลง มันเป็นความจริงทางการเมือง มีคำกล่าวหนึ่งเขาบอกว่าประวัติศาสตร์สอนให้เรารู้ว่าเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย ถ้าพวกยึดอำนาจจำประวัติศาสตร์ไม่ได้ ให้ไปดูว่าจุดจบของจอมพลถนอม-จอมพลประภาส-จอมพลสฤษดิ์ ที่มาจากการยึดอำนาจเป็นอย่างไร พูดกันตามจริงคือไม่มีใครที่จบสวยเลย”

ส่วนกระแสที่มาเป็นระลอกเรื่องการหนุนนายกฯ คนนอก นายนิพิฏฐ์บอกว่า “ผมมองว่าสมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไหนต้องสนับสนุนให้หัวหน้าพรรคของตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี มันต้องเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเวลาเขาร่วมรัฐบาลต้องดูว่าพรรคการเมืองไหนที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุด ถ้าสมมติว่าพรรคทหารเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาเป็นแกนนำเราก็ต้องมาโหวตกันในพรรคอีกทีว่าเราจะไปร่วมกับพวกทหารหรือไม่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ในพรรคบอกว่าไม่ร่วม เราก็ยืนอยู่ฝ่ายค้าน แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่จะไปร่วมกับพรรคทหารผมคิดว่าพรรคก็จะต้องเดินไปจุดนั้น มันเป็นกฎกติกาของพรรคเรา”

“แต่ถ้าถามคนหลายๆ คนก็ต้องบอกว่าเขาก็ไม่มีความสุขหรอก อย่างตัวผมเองผมประกาศชัดว่าไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในมติกรรมการบริหารพรรค ผมจะไม่ยกมือให้คนนอกมาเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเด็ดขาด ผมจะต้องเอาคนที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นเป็นนายกรัฐมนตรี”

“อีกอย่างหนึ่งผมมองว่ากติกาแบบนี้มันไม่ชอบธรรม รัฐธรรมนูญบอกว่า ส.ว. 250 คน ที่มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้ (คนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.+ส.ว. = 750 คือต้องมีมากกว่า 375 เสียงขึ้นไป) ที่ผมบอกว่ากติกาไม่เป็นธรรมเพราะว่าในขณะนี้นายกฯ คนนอก ที่จะเข้ามาแข่งกับนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไปยืนรออยู่ที่กิโลเมตรที่ 250 แล้ว จะถึง 375 ไม่ยาก แต่คนที่มาจากการเลือกตั้งยืนอยู่ที่กิโลเมตรที่ 0 แต่ให้วิ่งเข้าสู่เส้นชัยที่ 375 เท่ากัน คนนอกจึงมีโอกาสเข้าสู่เส้นชัยได้เร็วกว่า”

“พอกติกาไม่เป็นธรรม ผมคิดว่าไม่ว่านายกฯ คนนอกจะมาอย่างไรก็แล้วแต่ จะไม่ได้รับการยอมรับ ระบบรัฐสภา-นักการเมืองอยู่ได้ด้วยการยอมรับ จะดีจะเลวอย่างไรก็แล้วแต่ประชาชนยอมรับ แต่ถ้ากติกามันไม่เป็นธรรมอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เขาไม่ถูกยอมรับแล้วก็จะอยู่ยาก แล้วจะเกิดความวุ่นวายตามมา” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ส่วนความสัมพันธ์ของ กปปส. กับพรรคประชาธิปัตย์ที่หลายคนมีข้อกังขานั้น นายนิพิฏฐ์ให้ความเห็นว่า “ต้องยอมรับว่าคนของ กปปส. ส่วนใหญ่มาจากพรรคประชาธิปัตย์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วเขาก็เดินกลับเข้ามาที่พรรคประชาธิปัตย์ คนที่เขาอยู่กลางดินกินกลางทรายเป็นเวลาปีๆ เขาก็ซึมซับวิธีการต่อสู้แบบนั้น ความคิดเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ แต่เมื่อเข้ามาในพรรคประชาธิปัตย์ เขาต้องสละความคิดอื่นทิ้ง ต้องทำตามมติพรรค”

“ส่วนจะรักชอบใคร ศรัทธาใคร สัมพันธ์กับใครเป็นการส่วนตัวมันก็มีอยู่ แต่ต้องทำตามกติกาของพรรค ซึ่งคนยังแยกไม่ออกและคิดว่าคนเหล่านี้เมื่ออยู่ในพรรคประชาธิปัตย์แล้วจะทำให้พรรคเสียหาย แต่ผมเชื่อว่าผู้นำของพรรคอย่างท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หรือ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เขาก็รับทราบปัญหาเหล่านี้และเขาก็รู้ว่าคนที่มาอยู่ในพรรคต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของพรรค เราก็เข้าใจในพรรคเองไม่มีปัญหาหรอก แต่คนข้างนอกอาจจะมองว่ามีปัญหากันอยู่”

ส่วนสูตรการรวมพลัง 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ในการสู้กับพรรคทหารนั้น นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า เนื่องจากกองเชียร์ของทั้งสองฝ่าย ยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ยังเกลียดกัน อันนี้เป็นผลจากการทำเรื่องปรองดองหรือสมานฉันท์ของรัฐบาลที่ประสบความล้มเหลว “ผมพูดมาตลอดว่า ถ้าวินาทีแรกที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจ วินาทีที่ 2 ต้องเร่งทำเรื่องปรองดอง ถ้าประเทศนี้คนมันปรองดองกันไม่ได้ ต่อให้เป็นระบบการปกครองแบบไหนก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น การปรองดองมันล้มเหลวเพราะว่าคนที่อยู่ในอำนาจดันเป็นอีกขั้วของความขัดแย้งเสียเอง ไม่ได้เป็นกรรมการ ตอนแรกทุกคนก็เข้าใจว่าจะเป็นกรรมการ แต่ตอนหลังดันลงชกเองมันก็ตะลุมบอนกันหมด การปรองดองเลยไปไม่ได้”

“ฉะนั้น การที่พรรคใหญ่จะจับมือกันในขณะนี้ ท่ามกลางบรรยากาศที่ยังเป็นอย่างนี้ ผมคิดว่าเกิดขึ้นยาก ถ้าผมบอกว่าประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยจับมือกัน ผมจะเข้าไปในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เลย คนในพรรคประชาธิปัตย์เขาจะกระทืบผม จึงต้องปล่อยสถานการณ์ในอนาคตมาเป็นตัวกำหนดจะดีกว่า ขณะนี้พรรคการเมืองแต่ละพรรคก็อยู่ในที่ตั้งของตัวเอง พยายามที่จะหาคะแนนหาเสียงให้ได้มากที่สุด ส่วนใครจะไปรวมกับใครเป็นเรื่องของอนาคตพูดไม่ได้”

ส่วนประเด็นทางการเมืองที่ต้องจับตาภายในปี 2561 นายนิพิฏฐ์ให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่าจะมีกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจากประชาชนโดยทั่วไปและเป็นวงกว้างมากขึ้น ซึ่งการเรียกร้องเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับปัจจัยของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”

“ซึ่งรัฐบาลก็ตระหนักและเห็นอยู่ เราจะเห็นได้ว่ามาตรการทั้งหลายขณะนี้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา เช่น การปรับ ครม. ก็ดี เพื่อจะแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจโดยเขาคิดว่าถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งมันจะเบาลงน้อยลง ต้องรอดูการแก้ปัญหาของรัฐบาลว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่”

“ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ เสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งจะดังและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งตอนนี้เขาถึงยังไม่ปลดล็อก 100% หรือสิ้นเชิง เขาคงชั่งน้ำหนักอยู่ว่าจะควบคุมได้หรือไม่”