รัฐบาลสอบไม่ผ่าน การสื่อสารเรื่อง “โควิด-แรงงาน” มีปัญหา | คุยกับ ศ.นิติ ภวัครพันธุ์ เทียบการจัดการในสิงคโปร์

“รัฐบาลเรามีปัญหาสำคัญอย่างมากคือการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนสบายใจ มั่นใจว่ามีมาตรการรองรับ รู้สึกได้ว่ามีความปลอดภัยในชีวิต รู้สึกถึงรัฐบาลมีประสิทธิภาพ มีสมอง มีความรู้การวางแผน ไม่ควรมองประชาชนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ผมคิดว่านี่คือปัญหาของรัฐบาลชุดนี้ ทำงานเหมือนสั่ง ซึ่งมันไม่ใช่ ต้องรู้จักสื่อสาร ไม่ใช่สั่ง ถ้าผมให้คะแนนการสื่อสารรัฐบาลนี้เฟลมาก ได้ศูนย์เลย คือทำงานไม่เป็น” นั่นคือความเห็นจาก ศ.นิติ ภวัครพันธุ์ นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มองปัญหาการจัดการวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย

“ถ้าเราเปรียบเทียบตัวอย่างประเทศที่มีการจัดการที่ดี ผมคิดว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ชัดที่สุด วัคซีนล็อตแรกลำเลียงมาทางเครื่องบินแล้ว อันนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มา แต่ว่าเป็นการวางแผนของเขา ตั้งแต่มีการระบาด มีการเจรจากับประเทศอื่นและบริษัทผลิตยา (ในที่สุดเหลือ 3 บริษัท) มีการเจรจาตกลงเป็นช่วงๆ เพื่อจัดสรรวางแผน คือ รัฐบาลและคนในรัฐบาลของเขาดึงคนมีความรู้ความเข้าใจเข้ามาทำงาน ทั้งด้านการแพทย์ การป้องกัน”

“นี่เป็นการทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ก่อนจะมีวัคซีน เขามีการลงทุน การสร้างโครงสร้างทางสาธาธารณสุขไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่เยอะมาก และเขามีแผนจะใส่เม็ดเงินมากขึ้นไปอีกในอนาคต”

คําถามก็คือ ทำไมประสบการณ์ของเขาถึงสำคัญ? ศ.นิติบอกว่า ในแง่หนึ่งคือเขามีการวางแผนระยะยาว เอาคนมีความรู้จริงๆ เข้ามาเจรจาต่อรอง

เขาพยายามมองทุกอย่างอย่างครอบคลุมทั้งระบบ ทั้งวางแผนทุกเรื่อง วางระบบการจัดการ การรักษา

สิงคโปร์เขาคิดมานานว่าการลงทุนในอนาคตที่จะได้กำไรและเป็นประโยชน์คืออะไร?

คำตอบคือ ในอุตสาหกรรมที่เขาสามารถทำได้ คือการผลิตยาร่วมกับบริษัทต่างชาติ เขาคิดเรื่องพวกนี้ในภาพใหญ่ ในที่สุดเขาก็สร้างโรงงานห้องเย็น ผมติดตามจากรายงานของ BBC เขาสร้างโรงงานขนาดใหญ่เหมือนห้องเย็น ป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค ป้องกันวัคซีนดีมาก อันนี้ทำรองรับไว้สำหรับวัคซีนมา แต่มันไม่ใช่แค่วัคซีน เขาวางแผนสำหรับเพื่ออนาคตเลย ไม่ใช่แค่ว่า covid มาแล้วจบ มีการซักซ้อมแผนการลำเลียงหากมีอุปสรรค

เขามองว่า ในอนาคตถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก เขาจะทำอย่างไร หากเกิดโรคระบาด จึงเตรียมพร้อมด้านระบบ ใช้พื้นที่ใหญ่มาก ทั้งที่เขาเป็นประเทศเล็กมาก

พอวัคซีนมาแล้ว จะทำอย่างไรต่อ?

ทางนายกรัฐมนตรี ลีเซียนลุง เขาประกาศจะฉีดให้ทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่เป็นพลเมือง แต่ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในประเทศ ถือว่าเป็นของขวัญจากรัฐบาลมอบให้ จะฉีดให้หมด

“ผมคิดว่าในแง่เศรษฐกิจ นี่คือการลงทุนที่ได้ผลดีเลิศ ประชากรทุกคนแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในแง่สังคม ก็เกิดความมั่นใจได้ว่า ไม่มีใครจะเอาเชื้อโรคมาติดเราได้ ในแง่ความรู้สึกทางสังคมกับคนรอบข้าง ทำให้เกิดความรู้สึกที่อยู่ร่วมกันในสังคมได้ อยู่ประเทศนี้รู้สึกดี ไม่มีการแบ่งแยก ได้ประโยชน์มาก”

ศ.นิติบอกว่า เหตุที่ยกตัวอย่างสิงคโปร์เพราะว่ามีเหตุที่เกิดในแคมป์คนงานของเขาคล้ายคลึงกันหลายอย่างกับเรา แม้จะหลายเดือนแล้ว ที่คนงานในแคมป์ติดเชื้อและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วมาก รัฐบาลก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ พบว่ามีปัญหาคือว่า มีการอาศัยอยู่แออัด อยู่กันหลายสิบคนในห้องหนึ่ง แพร่เชื้อได้เร็ว สุขอนามัยก็ไม่ค่อยดี เหมือนกับที่มหาชัยของเรา ไม่ค่อยสะอาด รัฐบาลจึงสั่งล็อกดาวแคมป์ ควบคุมไม่ให้คนงานออก ไม่ให้คนนอกเข้า คนติดเชื้อก็ไปกักตัว ไปรักษา

ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพจิตของคนงานรู้สึกโดนกีดกัน ไม่มีใครอยากอยู่ในสภาวะแบบนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับเขา ควบคู่ไปกับการมีมาตรการดูแล พอเขาล็อกดาวน์อย่างจริงจัง ส่งคนป่วยไปรักษา ปรากฏว่าหายได้ผลจริงจังเพราะทำเต็มที่ เขามี mindset มองว่าแรงงานเป็นส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจ

เราเลยต้องถอดบทเรียนแบบจากเขา แก้ปัญหาให้ครบวงจร ต้องมีมาตรการหลายขั้นตอนให้ชัดเจน วางแผนทั้งด้านกายภาพและดูแลสภาพจิตใจให้หมด ต้องคิดเรื่องพวกนี้ไว้ให้พร้อม ต้องมีงานรองรับ มีที่พัก มีอาหารให้เขากิน ควรลงทุนต่อเขาที่ทำประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องมีรายละเอียดชัดเจน

รัฐไทยต้องเลิกคิดแบบวัวหายล้อมคอก ต้องวางแผนเห็นภาพทั้งหมดชัดเจน

ขณะเดียวกันถ้ามองว่ามีผลต่อการเมืองหรือไม่ ศ.นิติบอกว่า แน่นอนว่ารัฐบาลนี้ลงทุนและได้เสียงแน่นอน แทนที่จะเอาเงินไปใช้จ่ายไม่จำเป็น (แบบรัฐบาลที่เราคุ้นเคย) ผมคิดว่าได้ใจประชาชนในการโหวตให้ เพราะว่านี่คือการแสดงวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าเขาดูแลเราได้ ไม่ใช่เป็นรัฐบาลที่มีอะไรก็มาด่าประชาชน โทษเราตลอดเวลา แบบที่เราเห็นๆ กันอยู่ เป็นรัฐบาลที่ไม่ปัดความรับผิดชอบ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เขาก็ทำหน้าที่แก้ปัญหา เอาผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีความรู้เข้ามา ผมคิดว่าเราต้องให้เครดิตรัฐบาลสิงคโปร์

“นอกจากรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ วิสัยทัศน์ยาวไกล อีกด้านหนึ่งมีความรู้สึกว่า คนสัญชาติอื่นของเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศ อย่างผมเคยทำงานอยู่ที่สิงคโปร์ กลายเป็นคนที่มีความสำคัญต่อประเทศของเขา เพราะเข้ามาทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น เข้ามาใช้ความรู้ทักษะต่างๆ อันนี้เป็นจุดสำคัญ ที่เราควรจะหันไปดูประเทศเขา ว่าจะต้องดูแลคนอย่างดี”

“ผมคิดว่ารัฐบาลต้องมีมาตรการต่างๆ ชัดเจน สื่อสารให้เข้าใจ รู้สึกถึงความปลอดภัยในชีวิต มันเป็นความรู้สึกของสังคมร่วมกัน ว่าเป็นสังคมที่น่าอยู่ อยากทำงาน ฉันอยากมีครอบครัวอยู่ที่นี่”

ศ.นิติกล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของ covid-19 ทุกรัฐบาลทุกประเทศก็ตกใจกันหมด ต่างก็มีมาตรการควบคุมหลากหลาย

ในแง่หนึ่งที่ผ่านมาประเทศเราดูแลดีหรือไม่ เราก็ต้องให้เครดิต โดยเฉพาะหมอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องให้เครดิตพวกเขาในการทำหน้าที่

“แต่ผมคิดว่าแค่นี้ยังไม่พอ เราต้องรู้สึกได้ว่ามีการวางแผนจากรัฐบาลในระยะยาว ถ้าเกิดว่ามีการระบาดรอบ 2 หรือระลอกใหม่อย่างที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร ผมคิดว่าในหลายประเทศโดยเฉพาะสิงคโปร์ หรือประเทศที่ผมเคยเรียนหนังสือ เช่น นิวซีแลนด์ มีมาตรการที่น่าเชื่อถือ จนส่งเสริมให้คนออกมาใช้จ่ายเศรษฐกิจหมุนเวียน เงินสะพัด”

“ผมเองเลยไม่แน่ใจว่ารัฐบาลของเรามีแผนระยะยาวที่เตรียมพร้อมขนาดไหน เหมือนตอนแรกที่ผู้ติดเชื้อไม่มีเพิ่มขึ้นในระยะเวลาหนึ่งก็ออกมาเคลมเครดิต ซึ่งแค่นั้นมันไม่พอ เราต้องพร้อมว่า ถ้าระบาดอีกจะทำอย่างไร ประการต่อมาต้องไกลแบบสิงคโปร์ มีวัคซีน ต้องลงทุน ไม่ใช่ใช้เงินกับเรื่องไม่เข้าเรื่อง”

ตัวอย่างจากสิงคโปร์ในการลงทุนด้านสาธารณสุข การผลิตยาจึงชัดเจนได้ผลที่สุด ความกลัวหายไป การสูญเสียลดลง ความมั่นใจเพิ่มขึ้น

เราไม่เคยเห็นว่าประเทศไทยเรามีการพูดถึงการลงทุนด้านนี้ มีแต่ข่าวที่ออกมาว่าจุฬาฯ จะขอเปิดรับบริจาคคนละ 500 บาทเพื่อนำไปผลิตวัคซีน

ถามว่ามีประเทศไหนที่มหาวิทยาลัยมาขอเงินบริจาค มีแต่ประเทศนี้

ลองคิดดูแล้วกัน ที่อื่นอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ระบบประกันสุขภาพของเขาแย่ (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญด้วยกันแล้ว) แต่เขาจะฉีดวัคซีนให้ฟรี เขาก็ลงทุน โดยให้เงินสับสนุนเอกชน เพื่อฉีดให้ เขายังดูแลพลเมืองของเขา

ตัดภาพมาที่ของเรา ไม่เห็นคิดอะไรในระยะยาว ปล่อยให้เรื่องเกิดขึ้นแล้วก็มาตามแก้ปัญหาทีหลังมากกว่า

ศ.นิติย้ำว่า เจ้าภาพที่สำคัญในการนำเรื่องนี้ควรเป็นรัฐบาลเป็นคนคิด ไม่ใช่ปล่อยให้หมอ แล้วต้องเลิกโทษคนอื่น โยนกันไปโยนกันมา รู้สึกว่ารัฐบาลแบบนี้มันน่าเบื่อมาก สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยมี วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าไกลๆ ไม่ต้องพูดเรื่องการวางแผน มันต้องมีวิสัยทัศน์ก่อนถึงจะวางแผนได้ มีแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ถ้าคุณเป็นเจ้าของอำนาจรัฐทำอย่างนี้ไม่ได้

รัฐบาลเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ต้องดูพวกเขาแล้วเอาคนที่มีความรู้จริงๆ เข้ามา ทำงานและรับฟังเขาอย่างจริงจัง

เพราะรัฐบาลที่ดีต้องเปิดให้มีการลงทุนและมองไปไกล มองทั้งภาพอุตสาหกรรม-ธุรกิจ ดูว่าอะไรจะได้ผล

นี่ของเราไม่เคยคิดอะไรนอกจากจะพึ่งพาการท่องเที่ยวและเกษตร ไม่เคยคิดต่อยอด ลงทุนในระบบการแพทย์ แล้วไม่ต้องปฏิเสธ สิ่งที่คนของพวกคุณเสนอมันล้าหลัง เช่น การเปิดมหาวิทยาลัยหลักสูตรด้านพุทธศาสนา จะเปิดไปทำไม เรายังเป็นพุทธศาสนิกชนไม่พออีกหรือ? ทำไมไม่ไปเน้นเรื่องการแพทย์ ตามโลกให้ทันเรื่องของ AI ไม่ใช่มีแต่ IO แล้วไล่จับคน ไม่ใช่ด้านนี้ คุณต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี

คือพูดตรงๆ ในเอเชียผมว่าของเราต่ำสุดแล้ว เทคโนโลยีเราได้แค่ระบบครึ่งๆ กลางๆ ขาดๆ เกินๆ

ชมคลิป