คุยจุดยืน และเรื่อง ที่ทำให้ ‘ณวัฒน์ อิสรไกรศีล’ ต้องออกมา call out ประเด็นการเมือง

“ผมมีอาชีพดี รายรับดี มีเงินใช้ ไม่ลำบาก ถ้าผมคิดแค่นี้ก็ได้นะครับ ไม่ต้องออกมาพูด แต่ว่ามันก็เห็นแก่ตัวเกินไป คนเราต้องมีจิตวิญญาณ ต้องมีสปิริตและต้องมีการแบ่งปันให้ผู้อื่นบ้าง เพราะฉะนั้น ก็มีความรู้สึกว่ามันเกินเหตุ เกินไปหลายเรื่องก็เลยอยากขอพูดบ้าง”

ณวัฒน์ อิสรไกรศีล พิธีกรและเจ้าของกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ เปิดใจเล่าถึงจุดที่ต้องออกมา call out พูดเรื่องการเมือง ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์เหตุบ้านการเมืองบ่อยครั้งในระยะหลัง

ณวัฒน์เผยว่า เวลาที่จะพูดการเมืองแต่ละครั้งผมก็ไม่เคยก้าวล่วงฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล “ลองสังเกตสิ่งที่ผมพูดย้อนหลังได้ ผมจะพูดถึงสิทธิของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล ผมจะไม่พูดว่าไปถึงตัวบุคคลที่มาเชียร์รัฐบาลว่าเป็นคนไม่ดี คือตราบใดที่เรายืนอยู่บนหลักประชาธิปไตย เราต้องยอมรับทุกอย่างของทุกคน”

“นี่คือสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอด”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ณวัฒน์เริ่มพูดการเมืองมากขึ้น เนื่องจากยิ่งนานวันขึ้นก็ยิ่งรู้สึก ส่วนตัวเป็นคนที่ปากกัดตีนถีบ ด้วยความสามารถ เป็นคนที่คิดว่ามือเท้าสมองจะพาเราไปสู่ความสำเร็จได้

แต่ในระยะหลังที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารปี 2557 มีความรู้สึกว่า ทำไมประเทศของเราไม่ได้ใช้ความสามารถ ไม่ใช้โอกาสของประเทศไทยในขับเคลื่อนที่จะทำให้วิถีชีวิตประชาชนดีขึ้น

ในที่นี้ เราไม่ได้ตำหนิรัฐบาล แต่อยากให้รัฐบาลเปิดใจกว้างๆ อยากจะให้เห็นว่ามันมีกี่เรื่องแล้ว อย่างเรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดในปัจจุบัน คือเรื่องของรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เราเองมีความรู้สึกว่าในอดีตตอนที่มีมาตรา 44 ตอนที่มีร่างรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่าคงยกเลิก การวิพากษ์วิจารณ์ทำประชาพิจารณ์อะไรต่างๆ เพื่อให้กลับไปแก้ไขได้

แต่แล้วก็ไม่ยกเลิก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการห้ามรวมตัวกันเกิน 5 คน มีหลายกรณีที่ถูกจับ เพียงเพราะพูดถึงรัฐธรรมนูญในอีกด้าน ถูกจับทั้งที่รัฐธรรมนูญคือหัวใจของประชาธิปไตย ถ้าเราไม่พูดถึงหัวใจได้ เราจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร

กฎหมายสำคัญแบบนี้ ถามว่าเราจะออกความเห็นได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราเริ่มรู้สึกเริ่มต้นในใจแล้วเรื่องหนึ่ง

“คุณลองนึกภาพ สมมุติว่าเราอยู่หมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง อยู่ๆ ทางหมู่บ้านก็ออกระเบียบขึ้นมาว่าห้ามทำ 1, 2, 3… ห้ามออกจากบ้าน ห้ามนั่นห้ามนี่ เราจะยกมือบอกว่าไม่ยอมไม่ได้ อันนี้เป็นกฎพิเศษ ถ้าคุณต่อต้านคุณจะถูกจับดำเนินคดีอย่างนี้ ถือว่าถูกต้องหรือไม่ นี่คือความรู้สึกว่าก็เริ่มต้นที่เริ่มคิด”

พอมีเรื่องของสมาชิกวุฒิสภา 250 ขึ้นมาอีก ในฐานะที่อยู่เมืองนอกมานาน ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ไปเอา ส.ว.มาจากไหน แต่งตั้งกันเข้ามา โดยใช้งบประมาณหลักพันล้าน แต่งตั้งโดยที่มีแต่คนแวดล้อมทั้งนั้น แล้วจะบอกว่า การคัดเลือกจากสาขาอาชีพต่างๆ มีตัวแทนคนทุกกลุ่ม ฟังดูวิลิศมาหรา

แต่อยากให้ไปอ่านรายชื่อเอาดูก็จะเห็นเองว่ามีใครบ้าง แล้วตามไปดูว่าเวลาเขาไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงมีใครแตกแถวหรือไม่ ท่าที support รัฐบาลขนาดไหน อะไรมันช่างบังเอิญ ทุกคนไปกันเป็นก้อนเหมือนกันหมด แล้วใครจะค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ต่อมาคือสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทำไมการเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารควรต้องเป็นเรื่องของประชาชน ต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

พวกคุณมาหาเสียง คุณสัญญาจะทำอะไรไม่ทำอะไร

“ผมเลือกเพราะอยากจะผลักดันให้พวกคุณไปอยู่ในสภา อยากให้คุณได้เข้าไปเป็นรัฐมนตรี ไปเป็นนายกรัฐมนตรี แต่มันทำไม่ได้เพราะว่าสิทธิ์ของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนมันมากล้นเหลือเกิน มายกมือให้ใครก็ได้เป็นนายกฯ ก็เลยรู้สึกว่าเราจะเลือกตั้งกันไปทำไม หรือถ้าคุณจะยอมย้ายไปร่วมกับรัฐบาล ร่วมกับคนที่อยากเป็นนายกฯ คุณก็จะต่อรองได้ตำแหน่ง มันก็น่าเบื่อเหมือนกันนะ ตกลงแล้วคุณจะมาทำงานหรือคุณจะมาต่อรองเอาผลประโยชน์ ทำไมหลายคนเป็นแบบนี้ ผมก็เลยรู้สึกว่ามีคำถาม”

เช่น กระทรวง DE ผมก็เคยเห็นเขาอยู่บนเวทีชัตดาวน์กรุงเทพฯ เคสของคุณธรรมนัสผมก็เคยเห็นเขาในที่อื่น

หลายๆ คนมันมีคำถามเต็มไปหมด คนไทยในยุคนี้ก็ไม่ใช่ยุคเดิมที่จะบอกอะไรก็เชื่อ คนเขาก็เข้าไปดูว่ามีประสบการณ์อะไร ผ่านอะไรมา เคยทำอะไรมาก่อน เคยมีลักษณะการกระทำอะไรมาก่อนที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีมาร่วมรัฐบาล มันทำให้รู้สึกว่ามันใจหายเหมือนกัน ก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์และอยากจะบอกทุกคนที่ฟังไว้เลยว่าเวลาที่คุณเลือกพรรคไหนก็แล้วแต่ ให้คุณจำเอาไว้เลย พรรคที่คุณเลือกเคยพูดว่าอะไรไว้แล้วปัจจุบันเขาทำอะไรไว้

เช่น พรรคประชาธิปัตย์เคยพูดว่าจะไม่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ในที่สุดก็ร่วม

จะให้คุณอภิสิทธิ์ออกอ้างยังไงก็แล้วแต่ แต่มติเป็นของพรรค การพูดไม่ใช่พูดในนามส่วนตัว

ถ้าผมเป็นเจ้าของบริษัทพูดอะไรก็ถือว่าเป็นในนามบริษัทว่าอย่างนั้น แต่มันก็เปลี่ยนไป ไม่ได้ทำตามสัญญา คนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็คาดหวังว่าจะไม่ร่วมแล้ว พอกันทีกับทหารที่มาจากการรัฐประหาร ควรจะหยุด แต่ปรากฏว่าเลือกไปแล้ว กลับกลายเป็นว่ากลับลำไปเฉยๆ

คนไทยต้องจำให้ได้นะ ต่อไปนี้คุณต้องจำ เหมือนกับอีกพรรคหนึ่งที่บอกว่าจะไม่ร่วม ในที่สุดก็ร่วม เราทุกคนต้องจำว่าเลือกพวกเขาเพราะคำสัญญาอะไร

แต่เมื่อเขาได้เสียงพวกเราไปแล้วเขากลับเปลี่ยนคำสัญญา ไม่ว่าจะเป็นวลีอะไรก็แล้วแต่ จะเปลี่ยนน้ำลายเพื่อชาติก็ไม่ควรทำ

การที่คุณให้สัญญาประชาชน คุณต้องทำแบบนั้น ถ้าจะเปลี่ยนต้องเปลี่ยนในวาระถัดไปแล้วมาเดินหาเสียงใหม่ว่าถ้าเลือกฉัน ฉันจะเป็นแบบนี้ จะไม่ทำแบบนี้

คุณต้องบอกประชาชน เหมือนกับการที่เราซื้อบ้านหลังหนึ่ง เราจะซื้อเพราะว่าบ้านนี้มีกี่ตารางวา กี่ตารางเมตร จะมีห้องครัวห้องนอนอย่างไร แต่พอจ่ายเงินไปแล้วปรากฏว่าบ้านสร้างเสร็จผิดแบบจากที่ตกลงกัน คุณผิดหวัง มันก็เหมือนกับผม

ความผิดหวังเหล่านี้มันจะนำพาไปซึ่งการสะสมความรู้สึก

ณวัฒน์บอกอีกว่า พอหลังจากท่านนายกฯ คนนี้ได้ถูกโหวตขึ้นมาแล้วโดยการรวมสารพัดพรรคการเมือง รวม ส.ว.แล้วได้ขึ้นมา ในตอนนั้นผมคิดว่าหลายอย่างที่บังคับใช้กฎหมาย กลับได้เห็นความไม่เสมอภาค

เช่น ส.ส.รัฐบาลที่ส่อว่ากระทำผิด มันก็นานมากแล้ว ทั้งทรัพย์สิน เรื่องรุกป่า ก็ยังไปไม่ถึงไหน เราอยากรู้ว่าติดอะไร ยิ่งเมื่อลองไปเทียบดูกับคนอื่นเขาเข้าสภาไม่ได้ กลับผิด ก็สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน

แต่นี่อะไรก็ได้หมด ได้ทุกอย่างได้หมด นี่คือความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา

สำหรับทางออกประเทศเวลานี้ “นายกรัฐมนตรี” ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ผมคิดว่าคือรัฐธรรมนูญคือทางออกสำคัญต้องแก้ให้เร็วที่สุด ยิ่งนานเท่าไหร่ยิ่งบอบช้ำ

ผมคิดเล่นๆ ผมเองไม่ใช่นักการเมือง ทำไมไม่ประกาศเป็นพระราชกำหนดไปเลย หรือไม่ก็ทำให้เป็นวาระพิเศษ เพราะว่าที่มาของพวกคุณก็แบบนี้อยู่แล้ว มันก็ต้องกลับไปแบบนี้

ในเมื่อมันมาแบบฉุกเฉิน ในสถานการณ์พิเศษ ถ้ามันจะกลับไปก็มีอยู่ทางเดียวคือการขึ้นทางด่วนให้พิเศษไปเลย

มาแบบพิเศษ ตอนกลับจะกลับไปปกติ พอเจอซอยตันเข้าหน่อยก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ มันจะต้องตันอีกกี่ครั้ง ละครเรื่องนี้มันเหลืออีกทีตอนกว่าจะแก้กันได้

ทำไมไม่แก้ให้เร็วขึ้น หาช่องทางแก้ให้เร็วขึ้นหรือไม่

อีกหนึ่งข้อเรียกร้องของเจ้าของกองประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ คือถึงเวลาแล้วที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย พวกคุณจะต้องเสียสละ ถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล เริ่มต้นกันใหม่ เลือกตั้งกันใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชน

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะยังไม่ได้แก้ แต่ผมมั่นใจว่าการเลือกตั้งในครั้งต่อไป แม้ว่าจะยังไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดเพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ในครั้งถัดไป ผมคิดว่ามันจะเป็นส่วนผสมใหม่ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญสามารถแก้ได้ในภายภาคหน้า

ผมคิดแบบคนโง่ๆ เลย ต่อให้มี 250 ส.ว. ถ้าเลือกตั้งแล้วฝ่ายการเมืองเสียงมหาศาล 80% ขึ้นมา 250 เสียงก็ไม่มีความหมาย ทุกอย่างทางก็โล่ง

ส่วนคนที่คิดว่าจะมี “รัฐประหาร” ผมคิดว่าหมดยุคแล้วมั้งครับ มันเอาต์เกินไป ผมคิดว่าไม่ควรทำอีกแล้ว ในใจผมคิดว่าไม่มี แต่ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ แต่ในใจผมคิดด้วยเหตุและผลทุกอย่างแล้ว ด้วยภาวะแบบนี้ โลกาภิวัตน์อย่างนี้ ไม่น่ามี

แต่อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ พวกเขาอาจจะตัดสินใจอะไรเฉพาะตัวเกินไปไม่นึกถึงประเทศ แต่ผมคิดว่าไม่มี เพราะหากว่ามี มันก็เป็นแบบนี้ เป็นแบบที่เป็น

ที่สำคัญความคิดของผู้คนยุคนี้ไม่ได้เหมือน 7 ปีที่แล้วนะ คนไม่เหมือนอดีตแล้ว มันจะลำบากไปทั่วหน้า

ชมคลิป