ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
ผู้เขียน | พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์ |
เผยแพร่ |
“การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้มีความน่าสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างไรบ้าง ก็ต้องบอกว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับไทยโดยตรงทางนโยบายของผู้ชนะ ไม่ว่าใครจะขึ้นมา จะเป็นโจ ไบเดน หรือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ว เขาก็ไม่ได้มองไทยว่าเป็นพระเอกในภูมิภาค อาจจะมองว่าแค่เป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนที่จะคอยคานอำนาจกับจีน และมันขึ้นอยู่กับนโยบายของประเทศไทยเองว่าจะเอนเอียงไปทางด้านไหน”
คือมุมมองของอิสรา สุนทรวัฒน์ อดีต ส.ส.กทม./อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นกรรมการสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย
อิสรามองว่า ไม่ว่าใครจะชนะ มหาอำนาจก็จะยึดหลักที่ว่าเป็นเพื่อนกับทุกคนอยู่แล้ว ถ้าเรามองที่สหรัฐอเมริกา ก็จะมองเรื่องของอาวุธ ความมั่นคงเป็นหลัก ส่วนประเทศจีนเราจะมองเรื่องเศรษฐกิจ
ถ้าเรามองแบบนี้ มองแยกกันแบบนี้ ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมีประธานาธิบดีชื่อโจ ไบเดน หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงจะต้องรักษาในสิ่งเหล่านี้ต่อไป และถึงแม้ว่าเขาจะพยายามขายของกับเรา ตัวเราเองก็ซื้อและขายกับคนทุกคนอยู่แล้ว
คำถามที่ว่า คนไทยควรจะต้องสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นพิเศษหรือไม่ ผมมองว่าสนใจให้เป็นความรู้รอบตัวจะดีกว่า และศึกษาระบบระบอบประชาธิปไตยของเขาว่าเป็นอย่างไร
อีกหนึ่งข้อกล่าวหาสำคัญที่ถูกคนไทยนำมาขายมาฉายซ้ำบ่อยๆ ว่า “สหรัฐอเมริกา” เป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมนักศึกษาไทย จนนำไปสู่การรวมตัวประท้วงหน้าสถานทูตหรือวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานานั้น
อิสราเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมอะไรก็แล้วแต่ เสื้อสีใดๆ ก็ตาม เรามักจะได้ยินข้อกล่าวหาว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลัง
ผมบอกได้เลยครับว่า ถ้าเราจะบอกว่าสหรัฐอยู่เบื้องหลัง หรือหมายความว่าอเมริกาทั้งหมด หมายถึงระบบ-ระดับรัฐบาล เหมือนกับกรณีถล่มอิหร่าน อิรัก อันนั้นคือเต็มๆ ที่มีเบื้องหลัง
แต่สำหรับบ้านเราแล้ว จากความเชื่อและมุมมองส่วนตัว ผมไม่ได้มีหลักฐานอะไรทั้งสิ้น ผมไม่เชื่อว่าทางการของสหรัฐอยู่เบื้องหลังการชุมนุมอะไรทั้งสิ้นของเมืองไทยทั้งหมด
อาจจะมีบางส่วนบางบุคคลที่เห็นชอบ อาจจะมีบางแผนกที่เห็นด้วย อาจจะมีบางคนแอบให้ความช่วยเหลือ อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีขึ้นมาแบบนี้ผมก็จะไม่แปลกใจ
แต่ถ้าจะบอกว่าทางการจะเข้ามาเกี่ยวข้องผมไม่เชื่อ คิดว่าไม่มีแน่
ถ้าหากถามว่า ประโยชน์อะไรหากเขาจะเข้ามายุ่งเกี่ยว ผมมองว่าเขาคงประเมินออกเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายเห็นด้วยกับการชุมนุมให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอำนาจ-การปกครอง อีกฝ่ายก็จะมองว่าควรรักษาแบบเดิมไว้ไม่ได้เสียหายอะไร เป็นระบบของบ้านเมืองเขา
อีกส่วนต่อมาคือจะไปทางไหนผมก็ไม่แคร์ ขออย่างเดียวคือให้คานอำนาจ ให้มีดุลอำนาจกับจีนก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบอะไรก็แล้วแต่ ขอให้เป็นเพื่อนกันในการที่จะต่อสู้กับจีนได้ก็พอ
แต่ถ้าเราย้อนเวลากลับไปดูในยุคสงครามเย็นมันมีการแบ่งโลกอย่างชัดเจนว่าเป็นฝ่ายเสรีนิยมตลาดเปิด กับคอมมิวนิสต์ เลือกเอาเลยว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นคอมมิวนิสต์
อิสรามองว่า ในยุคนั้นเริ่มมีการก่อตั้งอาเซียนเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่พอยุคนี้มันไม่ต้องมีอะไรที่ชัดเจน หมายความว่าเมื่อเปรียบเทียบจากอเมริกา หรือโซเวียตในสมัยนั้น กับตอนนี้คุณจะอยู่ฝ่ายจีนหรืออเมริกา โดยที่ไม่ได้มีเรื่องของความคิดที่แตกแยกออกมา แบ่งระบบชัดเจนอย่างในอดีตยุคนั้น ถึงแม้ว่าตามทฤษฎีแล้วจีนจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่เขาเป็นตลาดเปิด
คราวนี้โจทย์หลักๆ ของทุกประเทศบนโลกคือความเป็นห่วงเรื่องการคลังการเงิน
ดังนั้น ทุกประเทศถ้าฉลาดพอเขาจะต้องคิดในใจแล้วว่าเราจะค้าขายกับใครอย่างไรเพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มๆ กับประเทศของตัวเองให้มากที่สุด
มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีต ศัตรูไม่ชัดเจนเหมือนในอดีต เมื่อก่อนเราจะต้องเลือกข้างด้วยซ้ำ
สมมุติว่าผมเป็นอเมริกา ถ้าเป็นเมื่อก่อนหมายความว่าศัตรูของผมก็เท่ากับว่าต้องเป็นศัตรูของคุณด้วย แต่คราวนี้มันไม่มีแล้วที่จะบอกได้อย่างนั้น
จีนกับสหรัฐต่างไม่ได้บอกว่าเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน แต่เขาเป็นคู่แข่งที่สำคัญ แล้วมันมีทางเลือกอยู่มากมาย ถ้าบทบาทแต่ละประเทศฉลาดพออย่างที่เราเคยทำมาก่อน เช่น การเป็นมิตรกับทุกฝ่าย เราไม่ได้เลือกฝ่ายใด เทใจไปกับทางใดทางหนึ่งมากกว่า เราต้องค้าขายกับทุกคนให้ได้
ดังนั้น มีความแตกต่างกันกับบริบทในอดีตอย่างชัดเจน
อิสราบอกอีกว่า สำหรับสถานการณ์ช่วงนี้ ต้องมองว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐ พรรคใดเป็นผู้นำ ปกครองทำเนียบขาว ครองทั้งสภาล่างสภาบน อย่างเดโมแครตเขายึดเรื่องของหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ เขาจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เขาก็อาจจะเข้ามาดูว่าประเทศเราเข้าหลักเกณฑ์ตามนี้หรือไม่ จะให้ความสนใจเรื่องนี้มากกว่าเป็นหลัก
แต่ถ้าเป็นพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะหากเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาอีก คือคุณจะทำอะไรก็ทำไป แต่ถึงเวลาก็เป็นเพื่อนกัน ขอให้ค้าขายกันได้ เรายอมรับในสิ่งที่คุณเป็น ไม่ได้เข้ามาจู้จี้จุกจิก ไม่บอกว่าคุณผิดหรือถูก ทำไปเถอะแต่ขอให้เป็นเพื่อนกัน
สถานการณ์ ณ เวลานี้จะเป็นแบบนี้ ซึ่งถ้าเราย้อนไปในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในห้วง 8 ปีที่แล้วที่มาครองตำแหน่ง เขาก็จะซีเรียสเรื่องสิทธิมนุษยชน จะต้องทำตามหลักสากล คือคำว่าสากลในที่นี้มันต้องผ่านสายตาของฝรั่ง ซึ่งบางคนอาจจะมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมของฝั่งเขา แต่ทางเราอาจจะมีวิธีของเรา ไม่อยากให้มาสั่งสอนกัน หรือพูดว่าอย่าพยายามบังคับให้เราต้องเป็นเหมือนคุณอะไรทำนองนี้
ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาในยุคทรัมป์ เราก็เห็นได้ว่าเขาก็ไม่ได้สนใจอะไรมากมาย เขาไม่ได้ให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชนเท่ากับโอบามา
ทีนี้มันก็เลยขึ้นอยู่กับว่าผลแพ้-ชนะครั้งนี้ หากโจ ไบเดน ชนะขึ้นมาก็ต้องเตรียมตัวเรื่องสิทธิมนุษยชนเสรีภาพ ถ้าทรัมป์ชนะก็เหมือนเดิม
สถานการณ์การเมืองไทยที่มีคนพยายามพูด จะเกิดรัฐประหารหรือไม่ การบังคับให้นายกฯ ลาออก หรือจะยุบสภาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติอะไรต่างๆ นั้น อิสราให้ความเห็นว่า ก็มีคนทำนายอะไรกันมากมาย แต่ไม่มีใครจะรู้ความจริงว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งคงไม่มีใครอยากเห็นการรัฐประหารอยู่แล้ว
แต่ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า โจ ไบเดน หรือแม้แต่ทรัมป์ขึ้นมา หลังจากนี้ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ใครจะครองอำนาจ เขาก็จะมีนโยบายชัดเจน มีกฎเป็นระเบียบชัดเจน ว่าเขาจะไม่ค้าขายหรือยอมรับประเทศไหนที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ
ซึ่งถ้ายังเกิดขึ้นอีกผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีคนไหน ความสัมพันธ์ที่มีต่ออเมริกาก็จะมีความชะงักลงชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เช่น 6 ปีที่แล้วที่มีรัฐประหาร ทุกอย่างก็ชะงักลง แต่พอใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ก็จะเริ่มเปิดประตูขึ้นมา
แล้วเราก็จะเห็นท่าทีของจีนว่ามีการเปิดประตูเต็มที่ อ้าแขนรับเต็มที่ เมื่อมองว่าฝรั่งเขาไม่เอาแล้วในฐานะคนเอเชียเหมือนกัน พี่น้องกัน ผมสีเดียวกัน เราเข้าใจกัน เขาจะไม่เข้ามายุ่งว่าทำผิดหรือทำถูก สนใจแค่เรื่องค้าขาย
เมื่อมองเห็นสถานการณ์แบบนี้ สหรัฐก็จะใช้วิธีค่อยๆ เปิดประตู แต่ถ้ามีการรัฐประหารขึ้นมาอีก ตามธรรมเนียมจะต้องบอกว่ารับไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นโมเดลไหนก็จะเป็นแบบนี้ก่อนแง้มประตูค้าขาย
“สมมุติฐานหากมีรัฐประหารหรือการเมืองในลักษณะแบบนั้นเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าสหรัฐจะต้องทำตามธรรมเนียมคือถือธงว่ารับไม่ได้ แต่เขาจะยืนหยัดด้วยความมั่นคงในการถือธงนี้และประกาศเสียงดังชัดเจนเต็มเสียงว่ารับไม่ได้ หรือพูดได้เบาๆ มันจะต้องขึ้นอยู่กับว่าท่าทีจีนเขาก็จะบอกว่ายังไง ผมเองก็มีความเชื่อว่าถ้าหากอเมริกาออกมานำธงอย่างนี้ทางยุโรปก็จะต้องตามออกมาด้วย ถ้ามองแบบเร็วๆ คือฝรั่งทั้งหลายเขาก็จะบอกทันทีว่ารับไม่ได้แต่ฝั่งเอเชียก็บอกไม่เป็นไรเข้าใจกัน ผมคิดว่าน่าจะไปเป็นเส้นทางนั้น”
“สถานการณ์จะต้องดำเนินไปแบบนี้ เพราะว่าเรื่องของสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ถ้าเป็นในยุคอดีตในยุคที่จีนไม่ได้เป็นมหาอำนาจ เป็นเพียงแค่ประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง ผมเชื่อว่าสหรัฐสามารถจะเป็นพี่ใหญ่ของโลกในการจัดการถือธงนำและชี้นำประเทศอื่นๆ ไม่ให้มามีสัมพันธ์ที่ดี เพราะว่าไม่มีทางเลือกอื่นในยุคนั้น”
“แต่คราวนี้อาจจะแค่เตือนนิดๆ หน่อยๆ ตามธรรมเนียม แต่ในที่สุดแล้วก็คือยังพอขายได้ระดับหนึ่ง”
ชมคลิป