“จาตุรนต์” อ่านเกมศึกในรัฐบาล กับกดักที่สะดุดขาตัวเอง และการปรับ ครม. ไม่เป็นความหวังของประชาชน

“การบอกว่าอำนาจการตัดสินใจปรับ ครม.ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นในเวลานี้ คงพูดเช่นนั้นไม่ได้แล้ว นี่ไม่ใช่ยุคเดิมๆ แบบ คสช.แล้ว” จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี อ่านเกมการปรับเปลี่ยนภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาล ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ตั้งแต่ตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งจะนำไปสู่การปรับ ครม.

“รัฐบาลนี้มีพรรคการเมืองเข้าไปร่วมหลายพรรคมาก การทำแบบเดิมดึงเอาโควต้าคนนอกที่เขามักใช้คำว่าคนดีคนมีความรู้ สายเทคโนแครต เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ แล้วเพราะว่านาทีนี้ยื้อแย่งกันหมด การจะไปเอาใครไม่รู้มาเป็น รมต.ในพรรคก็จะเกิดการไม่ยอมรับ”

“มันเป็นพัฒนาการทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของระบบพรรคการเมืองที่เมื่อมีการจัดดุลกำลังกันใหม่ภายใน ส่งผลให้มีการปรับ ครม.ซึ่งมันต้องสอดคล้องกัน”

“ยิ่งพอเรามองไปที่พรรคร่วมรัฐบาลแล้วก็จะเห็นถึงความไม่ลงตัว อย่างพรรคประชาธิปัตย์มีกลุ่มนั้นกลุ่มนี้จะออก ไม่นิ่ง แถมยังมีเสียงเรียกร้องให้มีปรับกันภายในพรรคอีก มันก็เป็นความปั่นป่วนรวนเรมากพอสมควร”

“ถ้าหากมองทุกฝ่ายทุกพรรค ปรากฏว่าแม้แต่ในซีกฝ่ายค้านก็เกิดความปั่นป่วนอ่อนแอลง จริงๆ แล้วมันคือผลพวงโดยตรงจากการจัดการของ คสช.ในอดีตและเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองไว้โดยมีเจตนาสำคัญที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ”

“เป็นจุดมุ่งหมายของเขา ผ่านการกระทำที่เราเห็น ทั้งดูดคน แย่งคน การใช้อำนาจอิทธิพลเข้าไปบีบ เอาผลประโยชน์เข้ามาล่อ มันก็เลยเกิดกลุ่มนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะว่าถูกบีบจากคดีด้วยหรืออะไรต่างๆ ก็เลยต้องเข้าไปรวมกันในพลังประชารัฐ”

จาตุรนต์ชวนมองย้อนไปว่า ในช่วงต้นการตั้งพรรค พปชร.นี้มีจุดเริ่มต้นด้วยความพยายามสร้างภาพให้ดูดีหน่อย มีการเอานักวิชาการ เอาเทคโนแครตมาอยู่ในโครงสร้าง กก.บห.พรรค

แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งมันมาเจอกับความเป็นจริงทางการเมืองจากนักการเมืองจากที่ คสช.บีบเขาเข้ามาผ่านรัฐธรรมนูญ มันก็เกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

ส่วนปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ คือผลพวงที่มาจากการเมืองตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ก่อนการยึดอำนาจ หากเราย้อนไปจะมองเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์มีการแตกตัวออกไปเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบสนับสนุนเผด็จการส่วนหนึ่งกลับเข้ามา บางส่วนไม่กลับเข้ามา แต่การปรับตัวครั้งใหญ่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งและเปลี่ยนหัวหน้าพรรค บางส่วนออกไปพรรคอื่น

วิเคราะห์ไปที่ซีกฝ่ายค้าน จากบทบาทของ คสช.และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีเจตนาใหญ่ทำให้พรรคเพื่อไทยถูกกระทำ แม้ได้เสียง ส.ส.เขตจำนวนมากแต่ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย แล้วพออีกพรรคแตกไปก็ถูกยุบ นักการเมืองหลายคนในพรรคก็ถูกบีบจากเรื่องคดีความต่างๆ ก็บีบให้ไปอยู่พรรคอื่นๆ ที่ไปร่วมรัฐบาลในเวลาต่อมา ทำให้พรรคเพื่อไทยเล็กลงไปพอสมควร

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็มาจากกลไกและกติกาของรัฐธรรมนูญ พรรคร่วมรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจดึง ส.ส.ไปอาจมีเรื่องผลประโยชน์มาล่อบ้าง (อย่างที่ข่าวมีสื่อนำเสนอ) ทั้งหมดนี้เกิดจากหลักคิดว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองแข็งแรงจึงวางกลไกหาเครื่องมือมาจัดการ ในทางตรงกันข้ามเขาก็คิดแค่ว่าต้องการดึง ส.ส.บางส่วนเข้ามาเป็นฐานเพื่อที่จะรักษาอำนาจสืบทอดอำนาจต่อ สุดท้ายผลจึงออกมาอย่างที่เห็น มันเป็นแผนการ เป็นความตั้งใจมาตั้งแต่ต้น

แต่ด้วยกลไกกับดักที่วางเอาไว้ให้พรรคการเมืองอื่นแบบนี้เองทำให้หลายครั้งพลังประชารัฐมักสะดุดขาตัวเอง

อดีตรองนายกฯ มองว่า เขาคงถอดบทเรียนจากพรรคสามัคคีธรรมมาว่า ในอดีตเป็นรัฐบาลได้แค่ไม่กี่วันเลยต้องทำอีกแบบหนึ่งโดยเอานักการเมืองเข้ามาผ่านการบีบหรือวิธีต่างๆ แล้วก็คิดว่าจะทำให้ดูดีหน่อย โดยเอาสายวิชาการมาเพราะเขาคงคิดว่าหากทำพรรคการเมืองแบบเอานักการเมืองล้วนเป็นโมเดลอาจจะดูไม่ดี ไปต่อได้ยาก ทำให้คนที่ก่อตั้งพรรคก็เข้าไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ

แต่สุดท้ายก็แพ้ภัยตัวเอง คุณจะหวังแค่เพียงภาพไม่ได้ เพราะกำลังสำคัญจริงๆ ของพวกคุณทั้งหมดมันมาจากเครือข่ายของผู้มีอำนาจอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และมีนักการเมืองที่เรียกว่าเป็นเสือสิงห์กระทิงแรดเต็มไปหมด เพียงเพราะพวกนี้เจรจาง่าย บางส่วนก็บีบเขามา มันเลยเติบโตขึ้น

มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ คุณเอาคนแบบไหนเข้ามารวมกัน ถึงเวลาเขาก็ต้องการมีอำนาจ ต้องการรักษาประโยชน์ เลยยากที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับ แถมมีแนวโน้มตกต่ำลงไปอีก

จึงเชื่ออย่างยิ่งว่าหลังการปรับ ครม.หนนี้ เราจะได้รัฐมนตรีที่หน้าตาแย่กว่าเดิม บริหารได้แย่กว่าเดิม ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิมจากประชาชน แล้วจะกลายเป็นความเสื่อมของพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาล คือผลที่จะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มองไปที่ตัวของ พล.อ.ประวิตร ว่าที่หัวหน้าพรรค อาจจะมีปัญหาติดตัวคือเรื่องยืมทรัพย์คงรูป มันเป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจผู้คนไปอีกนาน แต่อีกส่วนหนึ่ง จากเครือข่ายจำนวนมากที่จะรวมคนเครือข่ายเหล่านี้เข้าด้วยกัน มันก็จะดึงภาพของรัฐบาลให้ทรุดลงไป แล้วจะพลันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สั่งหรือควบคุมอะไรได้ลดน้อยลงอย่างแน่นอน

เดิมที่สั่งได้ก็ไม่ใช่ว่าจะดี กลายเป็นยิ่งสั่งไม่ได้เข้าไปอีก มันจะยิ่งกลายเป็นความเสียหายมากขึ้น เสียหายไปด้วยกัน

จากปัญหาทางการเมืองแบบนี้ทางฝ่ายปฏิบัติการไอโอของ พล.อ.ประยุทธ์-รัฐบาลอาจจะพยายามสื่อสารประโคมบอกว่านี่คือปัญหาของนักการเมือง เพราะว่านักการเมืองกลับมามีอำนาจก็เลยเป็นแบบนี้ ไม่เหมือนกับยุคตอนที่เป็นเผด็จการให้ คสช.บริหารประเทศ เผด็จการจะดีกว่า หวยอาจจะออกมาในรูปแบบนี้

แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่มันเกิดขึ้นนี้มันไม่ใช่พัฒนาการทางการเมืองของพรรคการเมืองอย่างเป็นอิสระในตัวมันเอง ไม่ใช่เรื่องพรรคการเมืองที่ได้ทำหน้าที่แข่งขันกันทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดจากการกระทำของ คสช.ที่มาจากการยึดอำนาจและต้องการจะอยู่สืบทอดอำนาจผ่าน 250 ส.ว. แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เพราะต้องการเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

สิ่งที่เขาพยายามทำก็คือการเข้ามาจากการทำให้พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมนี้เล็กลงและออกไปจากกระดาน หลุดจากการแข่งขันหรือยุบมันทิ้งไปเสียบ้าง

ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างภาพของตัวเองขึ้น ทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดขึ้นจากความต่อเนื่องของการยึดอำนาจและสืบทอดอำนาจ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นกับนักการเมือง มันไม่ได้เป็นเพราะนักการเมืองเอง แต่มันเกิดจากการกระทำถูกแทรกแซง อันนี้ทุกคนมองมาก็จะรู้สึกว่าทำไมมันแย่อย่างนี้ ทำไมมันเละเทะอย่างนี้

มันกลายเป็นว่าอะไรที่เป็นผลผลิตจากการยึดอำนาจและจากการเขียนรัฐธรรมนูญไว้แบบนี้ คือผลของการสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น

ปิดท้ายด้วยการมองว่า “ยุบสภา” จะเป็นทางออกของรัฐบาลนี้เลือกใช้หรือไม่

จาตุรนต์มองว่า จากวิกฤตโควิด มันไม่ค่อยจะมีคนออกมาพูดว่าตกงานจะแก้ยังไง เศรษฐกิจไม่ดีจะแก้อย่างไร คนมองเข้ามาก็รู้สึกมันล้มเหลว ยิ่งเห็นความเละเทะของรัฐบาลพรรคร่วมมีการแก่งแย่งอำนาจกัน จะเปลี่ยน ครม. ที่ไม่ได้ถูกตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าจะมาแก้ปัญหาโรคระบาดครั้งนี้ได้ดีขึ้น หรือจะเข้ามากู้ศรัทธาเศรษฐกิจหลังจากการระบาด แต่มันกลายเป็นการแย่งอำนาจกันอย่างชัดเจน แถมการใช้เงินงบประมาณอย่างมหาศาลเป็นปัญหาไว้ใจไม่ได้ ไร้ทิศทาง ไม่น่าเชื่อถือ คนก็เลยต้องรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไม่ไหว แล้วจะมีเสียงเรียกร้อง มองว่ารัฐบาลนี้ยิ่งอยู่ไปจะยิ่งแย่ ยิ่งเดือดร้อน

ถามว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นเร็วหรือไม่

ในความรู้สึกของผมมองว่า การยุบสภาเกิดขึ้นได้ 2-3 สาเหตุ เช่น พรรคร่วมถอนตัว แต่ดูแล้วไม่มีพรรคไหนที่อยากจะลงตอนนี้ เพราะแลดูมีความสุขดีกับการดูแลกระทรวงต่างๆ

แต่จริงๆ แล้วการยุบสภาจากในอดีตไม่ได้เกิดจากความวุ่นวายในสภา มันมักจะมี “เสียงเรียกร้องของประชาชน” ก็คงต้องใช้เวลา

ผมเชื่อว่ามันคงต้องใช้เวลาอีกมาก ในระยะเวลาใกล้ๆ นี้ ดูแล้วเหมือนรัฐบาลก็ย่อมมีทางออกทางเลือกอื่นอยู่


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่