เสียงเตือนหาก น.ศ.อยากลงถนน ในมุม ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ผู้ใช้กำลังปราบปรามในประเทศนี้ “ลอยนวลทุกราย”

พลังนิสิต-นักศึกษาขณะนี้จุดติดแล้ว นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราไม่เคยเห็นขบวนการนิสิตนักศึกษาแสดงตัวชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองแบบนี้มาก่อน แล้วเที่ยวนี้ไปไกลถึงนักเรียนระดับมัธยมด้วย แต่ว่าจะมีพัฒนาการไปเป็นพลังที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่ อันนี้ยังคงเป็นคำถามและก็ต้องใช้เวลา

เพราะโดยธรรมชาตินักศึกษาแต่ละสถาบันเขาก็จะมีวิธีคิด มีแนวทางของตัวเอง มีเหตุปัจจัยเรื่องการเรียน มีเหตุปัจจัยเรื่องต่างๆ ในชีวิตของตัวเอง

ดังนั้น ถ้าหากพลังเหล่านี้ต้องการจะแสดงศักยภาพมากกว่านี้นั้น หมายความว่าเขาจะต้องมีการเชื่อมประสานเป็นเครือข่าย เป็นแนวร่วมประกาศเป็นองค์กรร่วมกัน แล้วก็มีข้อเรียกร้องที่เป็น “เอกภาพ” ซึ่งเกิดจากการหาข้อสรุปด้วยกัน

ตรงนี้ยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังจะเดินไปถึงจุดนั้นหรือไม่อย่างไร แล้วการทำงานเครือข่ายทำงานร่วมกันได้ จะต้องผ่านความแตกต่าง ผ่านการถกเถียงกัน ผ่านความรู้สึกไม่เข้าใจกันบ้าง

นั่นคือมุมมองของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช. ที่ผ่านการเคลื่อนไหวเรียกร้องมาในอดีต

ณัฐวุฒิมองว่า หากมองไปที่ตัวของผู้มีอำนาจเท่าที่สังเกต ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็พยายามจะปรับท่าทีลดโทนตัวเองในเรื่องการเมืองลง เลือกที่จะไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง เลือกที่จะไม่พูดถึง ไม่แสดงความเห็นต่อความเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา อันนี้ก็เป็นความพยายามที่จะไม่ทำให้ตัวนายกฯ กลายเป็นเป้า เสมือนไปยืนเผชิญหน้าโดยตรงกับนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว

ถามว่า เป็นวิธีการที่ถูกหรือไม่สำหรับฝ่ายรัฐบาล ก็เห็นว่าน่าจะได้ผลอยู่ แต่กับความเป็นตัวตนของนายกรัฐมนตรี ไม่แน่ใจว่าท่านจะทนแบบนี้อยู่ได้อีกสักเท่าไหร่ ประกอบกับการบริหารงานหรือการแก้ไขสถานการณ์อื่นๆ ของรัฐบาลก็ไม่ได้ทำให้ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเลย

อาทิ การจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายๆ ประเทศทั่วโลกเขาไปกันถึงไหนต่อไหน แต่ประเทศไทยยังแก้ปัญหาหน้ากากกันไม่จบ

หรือว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งมันทรุดลงมาอย่างต่อเนื่องก็ไม่ปรากฏอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าจะจริงจังแก้ปัญหา

ลำพังมาตรการแจกเงินกับประชาชนที่ออกมา มันสร้างความตื่นเต้นได้เพียงชั่วระยะสั้นๆ เหมือนไฟไหม้ฟาง แล้วทุกคนก็เผชิญกับความจริงว่าไม่มีโครงการ ไม่มีมาตรการที่จะให้เกิดความเชื่อมั่นได้ในระยะยาว

สิ่งเหล่านี้ผมว่ามันจะผสมปนเปกัน จน “ความไม่พึงพอใจทางการเมือง” กับรัฐบาลชุดนี้ ติดลบอย่างสิ้นเชิงไปแล้ว

หมดทางแล้วที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เขายอมรับ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการรับมือกับวิกฤตมีปัญหาหมด ยิ่งทำให้แรงเสียดทานมากขึ้น

แล้วก็ไม่รู้ว่าท่านนายกฯ จะทนกบดานจำศีลแบบที่เป็นอยู่นี้ได้นานแค่ไหน เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้นำรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวพูดจาเสมือนไปเผชิญหน้าโดยตรงกับพลังของนิสิตนักศึกษาในสถานการณ์เสี่ยงที่อาจจะขยายผลไปเป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

“เวลานี้นายกฯ ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว ท่านกำลังแสดงตัวเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งเราก็จับตาดูว่าเขาจะแสดงได้อีกนานแค่ไหน นายกฯ จะเก็บปากเก็บคำไม่พูดเรื่องการเมืองแบบนี้ต่อไปในขณะที่ข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่ออกมาไม่ได้มีความพยายามในการแก้ไข ไม่มีท่าทีใดๆ ว่าจะได้รับการตอบสนองมากน้อยแค่ไหนไม่ทราบ รัฐบาล-บรรดาผู้มีอำนาจต้องเปิดใจรับฟัง ที่สำคัญในความเป็นจริงต้องยอมรับที่จะรู้จัก “พอ” จากอำนาจได้แล้วด้วยซ้ำ เพราะขืนเดินต่อไปจากนี้คาดเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาความขัดแย้งครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง”

ณัฐวุฒิกล่าว

สําหรับข้อกังวลการเคลื่อนไหวนั้น ณัฐวุฒิกล่าวว่า เราต้องไม่ลืมว่าคณะผู้มีอำนาจชุดปัจจุบันมาจากการรัฐประหาร มาจากกลไกของกองทัพ การใช้กำลัง การใช้ปฏิบัติการทางทหารซึ่งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งในสังคมไทย ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก

มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นที่จะต้องป้องกันข้อกังวลเหล่านี้ได้ก็คือผู้มีอำนาจรู้จักพอ

มองดูท่าทีการปราศรัยและสัญลักษณ์การแสดงออก ป้ายต่างๆ ที่มีความร้อนแรงนั้น เป็นเรื่องปกติเข้าใจได้ น้องๆ นักศึกษาก็ต้องมองให้ออกว่าพื้นที่แสดงออกเป็นพื้นที่อยู่ในรั้วโรงเรียน อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยังไม่ใช่การออกมาแสดงอยู่ข้างนอกบนท้องถนนหรือพื้นที่ใดๆ

ส่วนตัวเห็นว่ายังไม่ต้องรีบร้อนออกมาข้างนอก จะมีข้อเสนอ มีข้อเรียกร้อง จะมีการทำงานแนวร่วมทำงานเครือข่ายก็ว่ากันไปในนั้น แล้วถึงวันหนึ่งถ้าสถานการณ์เห็นว่ามันจำเป็นจะต้องออกมาสื่อสาร หรือถ้าหากมีการไปเติมเงื่อนไขให้การอยู่เฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็ค่อยประเมิน

อันนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่กล้าไปชี้นำหรือแนะนำอะไร เพราะว่าในวันเวลาที่ผมเคลื่อนไหว สถานการณ์เหตุปัจจัยและบริบทมันก็ต่างกับวันนี้ และวันนี้นักศึกษาเขาเป็นคนออกมาเคลื่อนไหวแล้วก็ต้องเชื่อว่าเขาเติบโตและมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะดูแลและรับผิดชอบการต่อสู้ของตัวเองได้

เพียงแต่เราอยากจะสื่อว่าสิ่งที่เราเคยเจอมาคืออำนาจรัฐในบ้านเมืองนี้ เขากล้าตัดสินใจที่จะใช้กำลังกับการชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนและมีการเจ็บปวดมีสูญเสียมาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า อีกทั้งคณะผู้มีอำนาจปัจจุบันนี้เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่เคยจัดการกับการชุมนุมของประชาชนเมื่อปี 2552-2553 ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการยุติธรรมเข้าไปถึงตัวผู้กระทำต่อประชาชนได้

ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาไม่ควรมองข้ามและควรเป็นองค์ประกอบในการประเมินพิจารณาแนวทาง รูปแบบการเคลื่อนไหว

ส่วนผู้มีอำนาจควรมองด้วยความเข้าใจแล้วก็มีความเมตตาต่อลูกหลาน-อนาคตของชาติ ผมเคยพูดไว้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้มีอำนาจมองลูกหลานเหล่านี้เป็นศัตรูและปฏิบัติต่อเขาเป็นศัตรู เท่ากับว่าท่านกำลังประกาศสู้กับคนทั้งประเทศซึ่งไม่ควรจะให้เป็นแบบนั้น จึงอดห่วงเรื่องของความปลอดภัยไม่ได้

บทเรียนที่ประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมายืนเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ ที่ในทางกลับกันผู้ถืออำนาจหรือฝ่ายเผด็จการกลับมีหลักประกันว่าถ้าหากเลือกใช้ความรุนแรงกับประชาชนท่านไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

มันไม่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนะ ที่คณะผู้มีอำนาจที่ใช้กำลังใช้ความรุนแรงกับประชาชนแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถูกดำเนินคดีมีการตัดสินโทษตามกฎหมายไม่มี

ดังนั้น สำหรับประชาชนที่ออกมาเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ ไม่มีหลักประกันแม้แต่ด้านความปลอดภัย

แต่สำหรับฝ่ายผู้มีอำนาจมีหลักประกัน ไปจนถึงขั้นไม่ต้องรับผิดชอบต่อกระบวนการทางกฎหมายใดๆ

นี่คือความแตกต่างและอยากให้น้องๆ นักศึกษาทำความเข้าใจอย่างละเอียดรอบคอบ

ขณะที่มองไป “สภายุคนี้” ณัฐวุฒิเห็นว่า กลับกลายเป็นหนทางเข้าสู่วิกฤตของประเทศที่ลึกขึ้นมากขึ้น ไม่ใช่ทางออกของประเทศ เพราะเป็นสภาที่มาจากกติกาการสืบทอดอำนาจ เป็นสภาที่มีการควบรวมปะปนกันระหว่างตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งวางแผนเตรียมการจะนำตัวเองเข้าสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ถ้ามองจากความขัดแย้งที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็เห็นชัดเจนนะว่า สภาไม่ได้ยอมรับความเป็นจริงของประเทศว่าเราจะขัดแย้งกันต่อไปแบบนี้ไม่ได้

สภาไม่ได้ให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน เพราะมีความพยายามอย่างแท้จริงที่สภาจะยังคงใช้เสียงของ ส.ว.ควบคุมให้ความปลอดภัยแก่รัฐบาล

สภายังใช้เสียงข้างมากในการทำให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ว่าจะมีคุณสมบัติแบบไหน จะมีปัญหาต่อสายตาประชาชนอย่างไร สิ่งเหล่านี้มันบ่งชี้ว่าสภาชุดนี้ไม่ใช่ทางออกจากวิกฤต แต่เป็นทางเข้าแล้วก็กำลังเข้าลึกเข้าไปเรื่อยๆ สู่ปัญหา

“ทางออกที่ดีที่สุด” ณ เวลานี้คือผู้มีอำนาจถอนตัวออกจากอำนาจเสีย โดยการยุบสภาก็ได้ แล้วก็นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีกติกาที่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน ให้มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ถ้าจะมี ส.ว.ก็ควรยึดโยงกับประชาชนผู้มีอำนาจแท้จริง แบบนี้ก็พอจะเห็นทางออก

แต่หากขืนอยู่ในอำนาจต่อไป แล้วก็อ้างเหตุผลนานัปการ ให้ข้อเรียกร้องทั้งหลายไม่ได้รับการตอบสนองมันก็จะยิ่งแก้ยากขึ้น

บางการตอบรับก็เป็นเพียงวาจา หรือการตั้งคณะกรรมาธิการรับฟังแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเชื่อว่าที่สุดก็จะไปไม่ถึงไหน

หรือการเสนอให้เอานักศึกษาเข้ามาใน กมธ.วิสามัญรับฟังข้อเสนอจากนักศึกษาก็จะมีสภาพไม่ต่างไปจากกัน เพราะว่าในใจของผู้มีอำนาจ อยากอยู่ในอำนาจต่อไป เพียงแค่เขารู้จักพอก็จะเห็นทางไปต่อทันที

ที่ผ่านมาเขาต้องการทุกอย่าง รัฐธรรมนูญนี้ไม่ใช่ว่าเขียนให้พรรคพลังประชารัฐ แต่เขียนเพื่อ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวเท่านั้น ชัดเจนอยู่แล้ววันนี้คืออำนาจกินรวบ ไม่ใช่อำนาจกินแบ่ง เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะกินรวบมากขึ้นๆ แล้วในที่สุดจะระเบิดออกมา

มันไม่มีอำนาจอันไม่ชอบธรรมใดที่มันจะอยู่ไปได้ยาวนานท่ามกลางสังคมที่ขณะนี้แม้แต่นักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้นก็มองเห็นแล้วว่าตรงไหนคือปัญหา

เวลานี้สิ่งที่ควรทำที่สุดก็คือยอมรับความจริง แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่าบ้านเมืองไม่ได้จำเป็นจะต้องอยู่ใต้อำนาจของพวกท่านไปตลอด ถึงจะเรียกว่ามีอนาคต ถึงจะเรียกว่าเป็นบ้านเมืองที่ดีได้

ผมเชื่อว่า อนาคต พล.อ.ประยุทธ์จะกลัวแม้แต่กระทั่งแสงจากกล้องโทรศัพท์มือถือ แสงแฟลชจากกล้องโทรศัพท์จะกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านและขับไล่ คุณต้องยอมรับความจริง

ชมคลิป