ย้อน บทสัมภาษณ์เปิดใจ “หญิงหน่อย” จะวางมือการเมืองตอนไหน? ท่ามกลางสารพัดข่าวถอดใจ?

“กระแสข่าวก่อนหน้านี้ก็ยอมรับว่าส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจแล้วก็เกรงใจสมาชิกพรรค ประชาชนที่เขาเลือกเรามา เพราะเขาฝากความหวังไว้กับพรรคอย่างมาก ในพรรคควรที่จะสามัคคีเพื่อเดินไปข้างหน้า ณ วันนี้เราเองยังไม่ได้ชนะศึกเลย แล้วจะมาแย่งสมบัติอะไรกัน ส่วนตัวไม่ค่อยอยากให้มีภาพแบบนี้เกิดขึ้น นี่ตั้งแต่วันแรกที่กลับเข้ามาทำงานและได้รับการเสนอให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรค กลับมีแหล่งข่าวที่ไม่ค่อยปรากฏชื่อมาทำลาย เราเองก็ไม่ค่อยได้ตอบโต้อะไร ถ้าใครไม่พอใจอะไรก็อยากให้มาพูดกันตรงๆ การเมืองมันไม่มีใครเห็นตรงกันหมดหรอกในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่เพียงคุณต้องมีความกล้าเป็นลูกผู้ชายมากพอที่จะมาพูดกันตรงๆ ไม่ใช่ทำตัวเป็นแหล่งข่าวออกไปพูดนอกพรรค ซึ่งมันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับพรรคเลย เราเองก็เป็นคนที่พร้อมจะปรับปรุงตัวเองอยู่แล้ว”

ถ้อยคำเปิดใจจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (กล่าวกับทางมติชนเอาไว้เมื่อ 9 ม.ค.63) ในวันที่ทุกคนจับตามองถึงกระแสในพรรคและเฝ้ามองว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น?

ย้อนไทม์ไลน์ไปก่อนหน้านี้ หลังจากถูกตัดสิทธิ์ 5 ปีทางการเมืองเนื่องจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้น “หญิงหน่อย” สมัครใจเว้นวรรคหยุดต่ออีก 6 ปี โดยไม่เข้ามาข้องเกี่ยว-มีตำแหน่งใดๆ

ขณะเดียวกันนับไปนับมา ปรากฏว่าเป็นเวลามากกว่า 14-16 ปีที่ “สุดารัตน์” ไม่ได้เข้าไปบู๊ในสภา-ในฐานะ ส.ส.ผู้แทนประชาชน

เจ้าตัวเคยเล่าเอาไว้ (เมื่อช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2562) ว่า ไม่ค่อยถวิลหาอะไรขนาดนั้น การได้อยู่ข้างนอกทำให้ได้มองภาพกว้าง Bird Eye View เห็นภาพอะไรชัดขึ้น ไม่ต้องไปคลุกกับปัญหาเหมือนเจอฝุ่นที่ทำให้ตามัว แล้วกลายเป็นว่าทำให้ได้มอง Direction ชัดเจนขึ้นด้วย

เมื่อหวนการเมือง ปรากฏว่าการดีไซน์รัฐธรรมนูญ ที่มุ่งตัดกำลังเพื่อไทยโดยเฉพาะก็รู้กันอยู่แก่ใจว่าพรรคนี้ไม่มีทางได้ “บัญชีรายชื่อ” จากกฎที่วางไว้ ช่วงแรกๆ จึงมีความพยายามผลักดันให้ “สุดารัตน์” ไปลงเขตหนึ่งที่ฐานเสียงแข็งแรงใน กทม.เพื่อเข้าสภา แต่เจ้าตัวบอกว่าในเมื่อเราเป็นนักรบ-เป็นแม่ทัพ จะไปเขี่ยให้น้องออกก็คงไม่เอา

สําหรับจุดสูงสุดในทางการเมือง เจ้าตัวเล่าว่าได้เลยจุดนั้นมาแล้ว และพูดอยู่เสมอว่าไม่เคยคิดเรื่องตำแหน่งแห่งหน หรือจะต้องเป็นเบอร์ 1 เพราะในชีวิตนี้อย่างน้อยมี 2-3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ภูมิใจมาก

เช่น เรื่องของ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้วช่วยนำนโยบายนี้มาผลักดันจนสำเร็จ

แม้ว่าจะต้องฟันฝ่าอะไรมามาก ต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการในกระทรวง จนสุดท้ายเราก็เข้าใจกันด้วยดี จับมือร่วมกันทำงานจนโครงการนี้สำเร็จ

แม้ว่าปัจจุบันหรือยุคต่อมาโครงการเพี้ยนไปเยอะจากเจตนารมณ์เพราะไม่เข้าใจหลักการ โดยเฉพาะรัฐบาลประยุทธ์ 5-6 ปีที่ผ่านมาพยายามทำให้ 30 บาทแย่ลงไปกว่าเดิม

ต่อมาคือเรื่องของการปฏิรูปการเกษตร-โมเดลแก้จน ก็ได้วางรากฐานเอาไว้ ตอนเป็น รมว.กระทรวงนี้ก็อยากเข้าไปทำ “โมเดลการแก้จน” ซึ่งส่วนตัวมองเห็นแล้วว่าทำได้ไม่ยาก ประเทศไทยเรามีทรัพย์ในดินที่อุดมกับกำลังพลที่เป็นเกษตรกรเก่งๆ ปัจจุบันนี้โลกขาดแคลนอาหาร ในเมื่อเรามีความพร้อมทำได้ แล้วเกิดคำถามในใจว่าทำไมเกษตรกรต้องเป็นคนที่จนที่สุด

เราทำแผนเอาไว้ช่วงนั้น ผลักดันตอนอยู่ในตำแหน่งไม่ทันไรรัฐบาลก็ถูกรัฐประหาร (2549) เสียก่อน ก็เป็นหนึ่งในเรื่องในใจที่เสียดาย อยากทำให้สำเร็จ

อีกเรื่องในชีวิตที่คิดว่าเลยจุดสูงสุดมาแล้วคือการทำงานรับใช้ถวายในหลวง ร.9 และสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคุณหญิง

ส่วนตัวคิดว่า อันนี้คือสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจ ว่าเราได้เป็นมดงานตัวเล็กๆ เข้าไปช่วยโครงการพระราชดำริหลายโครงการ

ส่วนตัวจึงรู้สึกพอใจและค่อนข้างอิ่มตัวจริงๆ จนเคยคิดถึงขั้นว่าจะไม่กลับเข้าการเมืองอีกแล้ว…

หญิงหน่อยเปิดใจเล่าว่า “พูดตรงๆ ที่ผ่านมาตลอดชีวิตที่ทำงานการเมืองมาแทบไม่ได้ใช้ชีวิตเลย มีโอกาสกระโดดเข้าการเมืองตั้งแต่อายุ 29 กว่าๆ อายุ 30 กว่าๆ ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว แล้วก็อยู่กับวงการการเมืองมายาวนานมากไม่เคยได้หยุด”

“ช่วงที่ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี ตอนนั้นมันเป็นช่วงที่ต้องบังคับหยุด เรากลับได้ชีวิตคืนมาถึง 3 ด้าน 1.คือหน้าที่ของความเป็นลูกได้กลับมาดูแลพ่อและแม่ แม้ช่วงนั้นจะเป็นช่วงปลายชีวิตของคุณแม่ แต่เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ขณะเดียวกันได้กลับมา “ทำหน้าที่ของความเป็นแม่” ส่วนตัวเองยอมรับว่าไม่ค่อยได้ดูแลลูกอย่างเต็มที่เลย เมื่อก่อนกว่าจะออกมาจากกระทรวงก็ 3-4 ทุ่ม เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องออกเดินทางไปตรวจงาน ช่วงนั้นก็มีโอกาสได้กลับมาเป็นแม่มีโอกาสทำกับข้าว ทำหน้าที่ให้ลูกได้ในบางเรื่อง จากคนที่ไม่เคยทำอะไรเป็น กับข้าวทำไม่เป็นสักอย่าง เราก็ได้กลับมาทำหน้าที่ตรงนั้น”

“ประการต่อมาคือสิ่งที่เราได้ค้นพบ หลังจากเสียคุณแม่ไป สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้คือเรื่องของศาสนา เราไม่ได้มองศาสนาว่าเป็นเรื่องของความเชื่อ เป็นสิ่งที่ต้องไปร้องขอจากเทพเจ้า แต่เราศรัทธาศาสนาพุทธตรงที่ทำให้เราเป็นคนมีเหตุผล สอนให้เรารู้จักทำใจ ในเรื่องของความทุกข์ ความสุขและความพอ ช่วงนั้นหลังจากพ้นการถูกตัดสิทธิ์ 5 ปีก็เลยสมัครใจหยุดต่อ มีความรู้สึกว่าอยากเป็นเพียงแค่เบื้องหลัง”

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวถึงเป้าหมายทางการเมืองว่า สิ่งที่เป็น Agenda อยู่ในใจเสมอ คือการสร้างคนใหม่ๆ ขึ้นมาแทนเรา วันนี้เราเองที่กลับมาทำงานให้พรรค กว่าจะกลับมาได้ก็มีการพูดจากันยาวกันกับหลายคน เหมือนกับว่ามันอยู่ในห้วงที่ ถ้าพรรคอยู่ในช่วงที่บริบูรณ์ หรือเป็นรัฐบาลอยู่ ก็ไม่คิดจะกลับมา เขาไม่จำเป็นต้องมีเรา ใครก็ได้ก็ทำพรรคได้

แต่ในห้วงที่ผ่านมา มันเหมือนกับพรรคมีระเบิดลงบ้าน แล้วไม่เหลือใครเลยจึงถูกขอร้องว่าให้ช่วยกลับมาทำพรรค ก็จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่หลายคนก็ต้องกลับเข้ามาช่วย กลับมายามที่ระเบิดลงกลางบ้านพังไป

ภารกิจในใจคืออยากสร้างพรรค อยากสร้างคนรุ่นใหม่

ถามว่าตัวเองอยากรับตำแหน่งหรือเปล่า อยากไปบู๊เป็นแนวหน้าหรือเปล่า ก็ไม่ค่อยอยากแล้ว

เมื่อถามว่าปรารถนาอยากเป็นนายกฯ หรือเปล่า คุณหญิงตอบว่า จริงๆ แล้ว “อยากเป็นผู้กำกับ” อยากเป็นผู้จัดการ (รัฐบาล) มากกว่า ส่วนตัวคิดว่าความเชี่ยวชาญตัวเองคือ “การจัดการ” ไม่ได้ expert ด้านไหน แต่ว่าเราเป็นนักบริหารจัดการ เราจัดการทุกปัญหาได้

ตอนได้ทำงานกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มา เพราะช่วงที่ทำนโยบายไทยรักไทย เราเข้าแต่ห้อง OTOP เพราะว่าเราชอบค้าขายตั้งแต่อยู่ ม.ศ.3 เราชอบการค้า ชอบความเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ตอนนั้น เราก็เข้าห้องนโยบายนั้นเพราะเชื่อมั่นว่าเราจะได้ใช้ความสามารถตรงนี้อย่างมาก

ปรากฏว่า ได้ทำ 30 บาท อยากจะบอกว่าเราเป็นไข้เป็นหวัดยังไม่เคยคิดไปหาหมอเลย ซื้อยากินเองตลอดเพราะเรากลัวเข็ม

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาอยู่กระทรวงนี้ มาอยู่กับหมอมากมายไปหมด เราก็ทำได้สำเร็จ

พอมาทำกระทรวงเกษตรฯ ก็ทำได้ หรืออดีตตอนทำจราจรก็ทำได้ ทางด่วนทั้งหลายที่เราได้วางแผนแม่บททางด่วนรถไฟฟ้าเอาไว้ ก็เลยมองตัวเองว่าเป็นนักบริหารจัดการ เชื่อมั่นตัวเองว่าเราสามารถจัดการเรื่องยากได้ ชอบแก้ไขปัญหาชอบความท้าทาย ไม่ได้มองเรื่องของตำแหน่ง

หากวันหนึ่งมีใครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมก็อยากจะสนับสนุนคนนั้น สรุปคือ “อยากเป็นคนปั้นนายกฯ”

เราคิดว่า “เราบอร์นทูบีตรงนี้” เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ถามว่าอยากจะเข้าไปดำรงตำแหน่งหรือไม่ก็คิดว่าไม่ อยากแล้ว เอาตรงๆ ว่าชีวิตอยู่ข้างนอกสบายกว่าแล้ว เราได้ใช้เวลาไปกับสิ่งที่เรารักบ้าง ได้วาดรูปไว้ ได้ทำอะไรที่เราชอบ

ก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งในอนาคต หากพรรคสามารถฟื้นฟูได้ เราก็คิดว่าเราจะวางมือ โดยพยายามสร้างคน ให้มีการรับช่วงต่อ

เราพูดกับน้องๆ เสมอว่า “เราจะอยู่ไม่นาน น้องๆ ต้องเร่งสร้างตัวเองกันทุกๆ คน” พี่จะเป็นเสาเข็มให้เพียงอีกแค่ระยะหนึ่ง พวกคุณจะต้องมาช่วยกันเป็นเสาเข็มให้พรรคกันต่อไป”

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับเป้าหมาย-จุดอิ่มตัวทางการเมือง เคยเปิดใจเอาไว้กับ “มติชนสุดสัปดาห์” เมื่อช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

ย้อนชมคลิป