คำต่อคำ ‘อดีตเลขาฯ สมช.’ วิเคราะห์ อนาคตยากเกิดรัฐประหาร ชะตากรรม รัฐบาลประยุทธ์-ผบ.ทบ.-กองทัพ

“ผมมองว่า ไม่มีใครทำนายได้ว่าในอนาคตอันใกล้จะเกิดรัฐประหารอีกหรือเปล่า แต่ถ้าถามว่า จากสถานการณ์-สภาวะแวดล้อมของในประเทศเราเอง ปัจจัยภายใน มันยากมากที่จะเกิดขึ้นในห้วงนี้ ที่สำคัญคือไม่มีแนวร่วม จากทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา และหัวใจหลักคือประชาชน เพราะเวลานี้มีแต่คนออกมาตำหนิมากกว่า” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย มองถึงความเป็นไปไม่ได้และปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยยังคงไม่เกิดขึ้น

โดยเฉพาะการรัฐประหาร

วิเคราะห์ท่าทีกองทัพ-ผบ.ทบ.

พล.ท.ภราดรวิเคราะห์ถึงมูลเหตุที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ต้องออกมาบรรยายจัดหนักเรื่องการเมืองในห้วงเวลาวันนั้น และในตัวเนื้อหาของวันนั้นว่า เป็นช่วงจังหวะก่อนการพิจารณางบฯ และใกล้ช่วงเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครปฐม

การออกมาพูดส่งสัญญาณลักษณะนี้ จริงๆ เป็นเทคนิคทางการเมืองมาป้องปราม 1.เรื่องงบฯ ความมั่นคง ว่าอย่ายุ่งมากนะ 2.ทำให้ภาพลักษณ์ปีกประชาธิปไตยเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบทางการเมืองได้ เพื่อโยงไปถึงผลเลือกตั้งซ่อมนครปฐมที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นปฏิกิริยาว่าเป็นไปในทิศทางใด แล้วจะส่งผลถึงพื้นที่อื่นๆ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้เคยมีข้อมูลว่า ผบ.ทบ.จะออกมาพูดนานแล้ว แต่ก็เว้นจังหวะไป จนยืดมานานมาก ทำให้วิเคราะห์ได้ว่ามีมูลเหตุมูลฐานสัมพันธ์กันกับ 2 ปัจจัยที่กล่าวมา

แต่ทว่าผลที่เกิดขึ้นเรากลับเห็นว่ามีแต่ด้านลบ ไม่มีภาพบวกเลย เพราะสิ่งที่ท่านกล่าวมาเป็นสิ่งที่ประชาชนวิจารณ์และเคลือบแคลงใจ กลายเป็นว่าสถานการณ์ในประเทศ โดยเฉพาะในมิติของความมั่นคง ที่ปลายทางมีคำตอบคือ “ความปรองดอง-สามัคคีสมานฉันท์”

แต่สิ่งที่ผู้บัญชาการทหารบกพูดทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบความมั่นคง กลับสร้างความขัดแย้ง ไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาประเทศ แล้วใช้กลยุทธ์โจมตีหัวหน้าพรรคบางพรรค ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มันยังคงขายได้ ในฝ่ายพวกเดียวกัน แต่ไม่มีวันที่จะได้ผลกับคนที่รักประชาธิปไตยเลย

ไม่ใช่คำตอบหรือกลยุทธ์ที่จะดึงคนที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันมาสมทบกับกองเชียร์ของตัวเองได้เลย แล้วความขัดแย้งยังคงอยู่เหมือนเดิมด้วยซ้ำ

 


แตะงบฯ กองทัพ = พวกหนักแผ่นดิน

ต้องเรียนว่าฝ่ายค้านพูดไปตามข้อเท็จจริง เราควรจะถอยไปที่หลักการก่อนว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านเขากังวลใจ เพราะว่าเขาเห็นตัวเลขงบประมาณกระทรวงกลาโหมด้านความมั่นคงมันไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในขณะนี้ที่ประเทศพึงจะแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะว่าพี่น้องประชาชนเดือดร้อนไม่มีจะกินอยู่แล้ว แต่พอมาเห็นตัวเลขเหล่านี้เขาก็เลยเคลือบแคลงใจเลยต้องซักถามและพูดถึง

ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองลึกลงไปในหลักการ งบประมาณของกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบกที่มากขึ้น คนก็ยังเอะใจอยู่ว่ามันมีภารกิจอื่นที่คู่ขนานกันอยู่ด้วย ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ

กล่าวคือ คนมองว่ากองทัพมีงบฯ 2 ขา ต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่า ภารกิจของกองทัพทุกแห่งในโลกต้องมีการเตรียมกำลังยามปกติและใช้กำลังยามศึกสงครามเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์เมื่อมีภัยคุกคามมา

ภารกิจรองคือการสนับสนุนเสริมความมั่นคงภายใน ตามด้วยการพัฒนาคือการป้องกันภัยพิบัติ เป็นภารกิจรองๆ

แต่ปัจจุบันนี้กองทัพไทยแตกต่างจากประเทศอื่นเขา กลายเป็นว่าภารกิจหลักที่มีอยู่แล้วมาบวกกับภารกิจรองทั้งสองคือเรื่องภายในและภัยพิบัติ ทำให้ทุกคนมองว่างบประมาณทับซ้อนกันหรือเปล่า ภายในควรจะเป็นเรื่องของตำรวจ-ฝ่ายมหาดไทยในการจัดการงบประมาณเลยทับซ้อนขี่กันอยู่หรือไม่? ทำให้งบฯ ปูดขึ้นเพิ่ม

ภัยพิบัติก็เช่นกัน ในเมื่อเรามี พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เป็นเจ้าภาพอยู่แล้ว กองทัพก็ต้องมาเป็นฝ่ายสนับสนุน แต่ภายหลังการยึดอำนาจมามีการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคงให้เรื่อง พ.ร.บ.นี้มีเรื่องภัยพิบัติเข้าไปอยู่ด้วย แล้วมันไปทับซ้อนกับฝ่ายพลเรือน ทำให้การอธิบายความในงบประมาณถ้าไม่ขีดเส้น ถ้าไม่แบ่งออกมาให้เห็นชัด

ไม่อ้างถึงฝ่ายค้านหรอก พี่น้องประชาชนเขาก็จะรู้สึกว่าทำไมตัวเลขมันสูง เพราะมีภารกิจซ้อนอยู่ แล้วคำถามสำคัญคือว่า ประสิทธิภาพมันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? ผมเชื่อว่าไม่ เพราะว่าเรื่องของอำนาจสั่งการ เอกภาพต่างๆ ก็จะมีปัญหาตามมา

ผมไม่ปฏิเสธเรื่องกฎหมายความมั่นคงจำเป็น แต่ต้องบูรณาการกำลังพล-ทรัพยากร-อำนาจหน้าที่ ใช้เมื่อการออกแบบผิดแต่แรกเลยกลายเป็นว่ากลับหัวกลับหางกันไปหมด ถ้ามีการออกแบบโครงสร้างที่ดีมันจะประหยัดงบประมาณได้เยอะมาก

ส่วนการซื้ออาวุธที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้น ผมก็มองว่ายังคงเป็นปัญหาอยู่เพราะกองทัพเราไม่ได้ยืนอยู่บนการพึ่งพาตัวเอง คำถามแรกคืออาวุธยุทโธปกรณ์มีความจำเป็นไหม?

ผมไม่ปฏิเสธ แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ ความเร่งด่วนต่างๆ มันตอบปัญหาสังคมไม่ได้ แล้วตั้งแต่การยึดอำนาจมา รัฐบาลได้มีการซื้ออาวุธที่ไปสอดรับกับสงครามขนาดใหญ่ แบบว่ารบกันทั้งเรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบินรบ ก็ทำให้พี่น้องประชาชนคลางแคลงใจว่าภัยคุกคามที่มันเกิดขึ้นในการรบกันแบบสงครามนี้ มันจะยังมีอยู่หรือ?

หรือถ้าต่อให้มี แล้วประเทศไทยเป็นผู้ต้องเข้าไปเผชิญเหตุด้วยหรือไม่?

ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่ ทุกคนก็จะมองว่าภัยคุกคามที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เป็นรูปแบบของการก่อการร้าย สอดรับกับเรื่องของ “สงครามไฮบริด” ที่มีความสลับซับซ้อนที่อาจจะมีเรื่องก่อการร้ายสัมพันธ์กับอาชญากรรมข้ามชาติหรือไปสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนยาเสพติด, ค้าของเถื่อน, ค้ามนุษย์เพื่อซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน

ด้วยภัยรูปแบบใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นก็ต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือการจัดการกับสภาวะนี้ เครื่องมือข่าวสารเทคโนโลยีควรจะเป็นเครื่องมือแบบนี้มากกว่าอาวุธอุปกรณ์ขนาดใหญ่ จึงทำให้กองทัพไม่ว่าจะจัดซื้ออะไร จึงถูกตั้งข้อสังเกตตลอด

แทนที่จะทุ่มเรื่องเทคโนโลยี โดรนเครื่องตรวจการณ์ เครื่องดักฟัง เทคโนโลยีพิเศษต่างๆ ฯลฯ มองในความเป็นจริงก็น่าจะรับได้

แต่ถ้าเราไปซื้อแบบนี้กลายเป็นว่า เกิดการตั้งข้อสังเกตเชิงลบ มันก็จะวนกลับไปแบบอดีตเลยว่ามีการรับค่าคอมมิสชั่นหรือไม่? จากเหตุผลที่ว่ามาเลยเป็นจุดอ่อนของกองทัพ

ไม่มีหวังเห็นการปฏิรูปกองทัพในยุคนี้แน่นอน?

สิ่งที่ต้องดำเนินการก่อนเรื่องแรกคือเรื่องสำนึกประชาธิปไตย ถ้าไม่มีตรงนี้กองทัพก็ไม่มีวันเป็นทหารอาชีพ มันยึดโยงกัน การเป็นทหารอาชีพได้ ต้องไม่มายุ่งการเมือง ตราบใดที่ไม่มีตรงนี้ ก็ไม่มีวันเกิด ภาพโครงสร้างหน่วยงานที่กระชับกะทัดรัด มีความเป็นสากล จะเป็นได้ก็ต่อเมื่อมีความเป็นทหารอาชีพเท่านั้น

จากคำพูดของ ผบ.ทบ. ก็ยังชัดเจนว่ากองทัพยังมองอะไรแบบโบราณ ถ้ากองทัพเข้าใจปัญหาแล้วทำตามรัฐธรรมนูญต้องมาช่วยดูแลพี่น้องประชาชนให้มีอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ที่ตอนนี้กองทัพคิดเป็นอื่นเพราะว่าไปผูกขาดความรักชาติเอาเอง เขาต้องมองประชาชนเป็นหลัก จะประสบความสำเร็จได้ คือประชาชนร่วมมือด้วย เพราะประชาชนเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพที่สุด แล้วจะมีประสิทธิภาพมาก

ฉะนั้น ถ้าให้ประเมินดูตอนนี้ เรายังคงไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นการปฏิรูปกองทัพเร็วๆ นี้ แต่ผมเชื่อว่าทุกๆ อย่างจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป สถานการณ์ตอนนี้ประชาชนก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะไม่มีการแก้ปัญหา เขาเหล่านั้นยังมีส่วนในการเพิ่มปัญหามากขึ้นไปอีก ประชาชนก็เห็นแล้วว่าการมีผู้นำในปัจจุบันหรือมี ผบ.ทบ.แบบปัจจุบันนั้น ถ้าไม่มีทั้ง 2 คนผมเชื่อว่าปัญหามันจะหายไปเกินครึ่ง นี่คือความคิดที่ประชาชนเขาคิด

กล่าวได้ว่า กรอบความคิดของผู้นำมีความสำคัญที่สุด มันจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมได้ แล้วมันไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด มันเป็นเรื่องของการเคารพเสียงส่วนใหญ่ ฟังเสียงส่วนน้อย จึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พวกเราจะไปคาดหวังให้ผู้ที่ยึดอำนาจมาให้เขามีสำนึก คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นคำตอบตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่าเขาไม่มีสำนึกประชาธิปไตย เขาถึงได้ยึดอำนาจ มันเป็นคำตอบในตัวแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นฝ่ายทหาร-ยึดอำนาจไม่มีสำนึกประชาธิปไตย

ส่วนคอร์รัปชั่น ความจงรักภักดีต่างๆ เหตุผลอื่นๆ เขาใช้เพื่อให้เกิดความชอบธรรม เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างมันแก้ได้ด้วยครรลองของประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ถ้าเขามีสำนึกประชาธิปไตยแต่แรก เป็นแบบทหารต่างๆ ทั่วโลก เขาไม่เห็นทำรัฐประหารกันเลย ในความเป็นทหารอาชีพของพวกเขา เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในครรลองประชาธิปไตย

แล้วอันตรายที่สุดคือการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองประชาชนของเขาเองเป็นภัยคุกคาม

วิเคราะห์การเมือง-ประเมินอายุรัฐบาล

ผมเชื่อมั่นว่าอายุรัฐบาลไม่ยาวแน่นอน คนข้างนอกหลายวงวิเคราะห์ก็เชื่อเช่นนั้น และด้วยสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลให้อยู่ยาวไม่ได้แน่นอน ไหนจะเรื่องเศรษฐกิจอีก ประชาชนไม่มีจะกิน ผมก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ไปไวมากที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจ และความเป็นธรรม-ความยุติธรรม ทุกแห่งในโลกมีบทเรียนเช่นนี้เสมอ และ ณ ตอนนี้ 2 สิ่งนี้มันมาบรรจบในสถานการณ์ปัจจุบันพอดี

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วมันจะฝืนธรรมชาติไม่ได้ จะเลี้ยงลิงได้ตลอดไม่ไหว ไม่มีใครเอาด้วย แล้วผมเชื่อมั่นว่าการจะล้มตัวลงของรัฐบาลมันเกิดจากฝ่ายเดียวกันนั่นแหละ ถ้าเกิดจังหวะที่ลงก็ปิดเกมได้!