ทำไม (สื่อ)โลกมองไทย ย้อนยุคไป 1980 – ประชาธิปไตยจอมปลอม ? คนไทยไม่(ยอม)ลงถนน

คสช.เองนั่นแหละอยู่เบื้องหลังปฏิกิริยาพานไหว้ครู คุณเองไม่ใช่หรือที่บังคับให้เขาฟังเพลงจนจะครบอัลบั้มอยู่แล้ว บังคับเด็กท่องค่านิยม 12 ประการ คุณมีอำนาจซะขนาดนี้ โรงเรียนก็ถูกกระทำอะไรต่อมิอะไรตอบสนอง คสช. ฉะนั้น ไม่ต้องหาเบื้องหลังที่ไหนหรอก คุณเองนั่นแหละคือต้นเหตุ” คือเสียงจาก ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ที่มองปรากฏการณ์แสดงออกของเด็กที่สะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองผ่านพานไหว้ครู

โลกมองไทย ย้อนยุคไป 1980 / ประชาธิปไตยจอมปลอม

ผศ.ดร.บัณฑิตมองต่างประเทศที่จะเอาเงินมาลงทุนบ้านเรา เขาก็ต้องดูว่าประเทศนี้จะสร้างความมั่นใจได้ไหมว่ารัฐบาลจะมีหลักประกันใดๆ ว่าลงทุนไปแล้วจะได้เงินคืน ตลอดจนคนที่เข้ามาค้าขายอยู่ในประเทศนี้เขาจะมั่นคงปลอดภัยในสภาวะเปลี่ยนผ่านของบ้านเรา

กติกาสากลในทางประชาธิปไตยของโลกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทย ถามว่ามีใครที่เขาเตะฟุตบอลแล้วดันอนุญาตให้คนคนหนึ่งเอามือจับลูกฟุตบอลเอาไปทุ่มใส่โกลฝ่ายตรงข้ามแล้วนับแต้มให้ไหม หรือเป็นกติกาฟุตบอลที่กรรมการจงใจหลับตาข้างหนึ่งให้ฝ่ายตรงข้ามทำอะไรก็ได้ อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรไม่ได้ อันนี้คือตัวอย่างหนึ่งว่า เอาแค่เรื่องกติกามันก็ต้องถูกใช้ให้เป็นสากลสิ

ประชาธิปไตยที่ถือว่าเป็นหนึ่งในเกมของโลก เทรนด์ตั้งแต่หลังปี 2532 เป็นต้นมา จากเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน วันที่ 4 มิถุนายน และเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายนปี 2532 ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนีทำลายกำแพงเบอร์ลิน ทั้งหมดนี้คือสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงว่า อุดมการณ์ที่มันเคยเป็นคู่กรณีกันระหว่างเสรีนิยมประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์สังคมนิยม มันเริ่มแตกสลาย แล้วเราก็เห็นได้ชัดว่าท้ายสุดก็ต้องปรับตัว และสิ่งที่เรียกว่าภัยคอมมิวนิสต์จึงไม่ใช่ภัยคุกคามของโลกอีกต่อไป

ประเทศไทยเรานับอยู่ในฝั่งของโลกเสรี จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อนมันจึงเป็นหมุดหมายว่าต่อไปนี้เราต้องพูดเรื่องประชาธิปไตย เราต้องพูดถึงสังคมที่มีความเป็นธรรม ที่รักษาและเคารพกติกาการแข่งขัน

แม้ว่าประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่กำลังเคลื่อนตัวไปอยู่ทั่วโลก มันอาจจะมีอุปสรรคบ้างเป็นธรรมดาเพราะว่าประสบการณ์ของแต่ละประเทศ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกัน มีเงื่อนปมต่างกัน

ฉะนั้น การที่สื่อญี่ปุ่นนิยามว่าเราย้อนกลับไปเป็นปี 1980 คือบรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยกติกา-รัฐธรรมนูญที่ทำให้ทุกอย่างย้อนกลับไป เช่นเดียวกัน กับกรณี Washington post บอกว่าประชาธิปไตยของไทยเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม

ผมเองคงไม่เรียกถึงขั้นนั้น แต่ผมอยากนิยามว่าคือ “ประชาธิปไตยสลึงเดียว”

ด้วยเหตุผลว่ามันเป็นแค่ 1 ใน 4 มันไม่เต็มบาท มันคือส่วนเสี้ยวหนึ่งของประชาธิปไตย จากกติกาที่มันออกแบบมาให้เป็นอย่างนี้ และก็เป็นกติกาที่ต้องอยู่กับมันไปอีกระยะหนึ่งด้วย

บทเรียนอนาคตใหม่ปฏิบัติการ IOและการสร้างบรรยากาศคล้าย 6 ตุลา?

ผศ.ดร.บัณฑิตบอกว่า ในความเป็นนักวิชาการนักรัฐศาสตร์ ก็ต้องมองทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา ว่าอะไรที่ทำให้สังคมของเราล้มเหลวในการที่จะก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตย

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้สังคมเดินหน้าต่อไม่ได้ แต่ทีนี้เราก็จะเห็นว่าในระยะหลังสื่อต่างๆกลับไปเอา Facebook – สเตตัสของคนบางคน ที่ถูกอ้างว่าเป็นนักวิชาการอิสระซึ่งไม่รู้ว่านั่นคืออิสระจากความรับผิดชอบและการถูกตรวจสอบหรือไม่ คือสิ่งเหล่านี้เป็นความคิดเห็นที่ใครบางคนมีต่อสังคม แต่มันคงไม่ใช่ความเห็นกระแสหลัก และความเห็นเหล่านี้หลายครั้งมันจุดประเด็นถกเถียงกันในสังคมว่าเราควรจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบุคคลกลุ่มผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้

เพราะฉะนั้น สังคมใดก็ตามที่ไปฟังความคิดเห็นของคนเหล่านี้โดยปราศจากการตรวจสอบ และผู้เสนอความเห็นนั้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้นจากคำพูดของตัวเอง นี่คือสังคมที่อันตรายอย่างยิ่ง

อยากให้ลองนึกถึงสภาพสังคมไทยย้อนกลับไป ในกรณีของ 14 ตุลาคม 2516 / กรณี 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ที่มีการบิดเบือนข่าวสารและทำให้เกิดความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เราก็รู้กันว่านี่คือปฏิบัติการ IO หรือ information operation หรือปฏิบัติการทางด้านข่าวสาร ผนวกกับปฏิบัติการทางจิตวิทยา

ก็คือการโน้มน้าวใจการสร้างมติมหาชนบางประการโดยอาศัยการกระตุ้นเร้าทางอารมณ์ ผ่านการปล่อยข่าวปลอม การส่งข่าวลือเพื่อที่จะให้บุคคลเป้าหมายได้เชื่อฟังเห็นคล้อยตามไปกับทิศทางที่ต้องการสร้างมติมหาชนปลอมๆ เหล่านี้ขึ้น

ในความเป็นจริงมันก็คือสงครามจิตวิทยาเพื่อที่จะธำรงอำนาจของผู้มีอำนาจ แล้วที่ผ่านมาก็ถูกใช้อย่างค่อนข้างเข้มข้นกับคนในชาติของเราเอง

เหมือนกับช่วง 6 ตุลาคมที่มีการดึงเอาสถาบันสำคัญของประเทศที่คนเคารพเทิดทูนมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง

ถ้าคุณไม่อยู่ตรงนี้ก็ถือว่าคุณไม่ใช่คนไทย เมื่อคุณไม่ใช่คนไทยเราสามารถทำอะไรกับคุณก็ได้

ชุดความคิดแบบนี้มันถูกผลิตขึ้นมาอีก โอกาสที่จะเกิดความรุนแรง โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันมันก็สูงมากขึ้น

ผมคิดว่าคนไทยเราจะต้องอาศัยสติในการตรวจสอบข่าวให้มากขึ้นแล้วก็ฟังเซเลบให้น้อยลง พวกอ้างตัวเป็นนักวิชาการแต่ไม่เคยมีการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเลย ไม่เคยมีหนังสือเลยแต่กลายเป็นแหล่งข่าวที่สร้างความเกลียดชังในสังคมได้ ก็เท่ากับว่าปฏิบัติการข่าวสารเขาทำสำเร็จแล้ว

บทเรียนจากปี 2519 น่าจะเป็นบทเรียนสำคัญให้กับสังคมไทยได้ดีที่สุด ว่าสื่อของรัฐจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะสร้างความเห็นแบบสุดขั้วเพื่อที่จะใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายล้างคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งจะว่าไปปฏิบัติการข่าวสารมันไม่ได้เป็นชัยชนะของผู้ปล่อยข่าวนั้น แต่มันคือความพ่ายแพ้ของสังคมไทยทั้งหมด

บทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรายังสูญเสียกันไม่พออีกหรือ?

มองอนาคตประยุทธ์สมัย 2 อย่างไร?

จากวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม จนล่วงเลยมาเข้าสู่เดือนที่ 3 รัฐบาลก็ยังตั้งไม่เสร็จ แถมมีข่าวการดึงโควต้าแย่งเก้าอี้ นี่คือสัญญาณชัดว่าพัง อยู่ไม่รอด! อยู่ได้ไม่นาน ทีนี้ขึ้นอยู่กับกติกาและฐานอำนาจที่ค้ำบัลลังก์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ในสภาพที่บารมีต่างจากในอดีตแล้ว การที่จะบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เงื่อนไขมีทั้งความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายรอบด้านทั้งในและนอกประเทศ คุณจะเจอปัญหามากขึ้นในทุกระดับ

จากนี้ไปคุณจะไม่มีช่วงเวลาในการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ แบบที่คุณเคยได้มาตลอดช่วง 5 ปี เอาแค่ก่อนหน้านี้คุณยังไม่ได้ขึ้นเป็นนายกฯ เต็มตัว คุณก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเสียแล้ว บวกกับบรรดามุ้งต่างๆ ที่เรียกร้องอยากจะเอาเก้าอี้ตำแหน่งต่างๆ ก็อยู่ที่ว่าคุณมีความสามารถพอที่จะจัดการปัญหาเผชิญความท้าทายความเป็นไปของโลกและยุทธศาสตร์ของคุณเองได้ขนาดไหน

ถ้าหากให้ผมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมขอเลือกที่จะเกษียณอายุตัวเอง เพราะต้องย้ำว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของทุกคนที่จะเล่นได้ บุคลิกภาพของ พล.อ.ประยุทธ์เองก็มีผลอย่างมากต่อความเชื่อถือและคิดว่านี่คืออาการที่น่าเป็นห่วง ยังไม่รวมการดีลกับพรรคการเมืองตัวเองและพรรคอื่นๆ ที่จะมีเงื่อนไขและความท้าทายมากขึ้นไปอีก ก็ได้แต่อวยพรให้คุณประยุทธ์โชคดี

ที่สำคัญ ต้องระลึกไว้ว่า นักการทหาร หากวางแผนการรบ นอกจากแผนการเข้าตีเพื่อเอาชนะแล้วก็ต้องมีแผนถอนกำลัง วิธีที่ดีที่สุดในเวลานี้คือการเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น คุณควรจะยอมรับความเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น เพื่อค่อยๆ ปรับสมดุล

แต่นาทีนี้ก็กลับกลายเป็นว่ากติกา-รัฐธรรมนูญก็ไม่เปิดช่องให้เดินไปสู่จุดนั้นได้ มันก็เลยยาก

การลงถนนมีโอกาสมากน้อยขนาดไหน?

มีผู้กำกับฯ ชาวเกาหลีเขานิยามคำหนึ่งว่า นี่คนไทยยังโกรธไม่พอหรือ? แม้กระทั่งช่วงปีก่อนผมเดินทางไปฟิลิปปินส์ คนที่นั่นบอกกับผมว่าทำไมคนไทยใจเย็นจังเลย ทั้งๆ ที่มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ผมก็ได้แต่ภาวนาให้คนไทยใจเย็นต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ ถ้าวันไหนใจร้อนขึ้นมาก็น่าเป็นห่วง

ถ้าผมจำไม่ผิด ในปี 2535 หลัง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร แล้วเกิดความเกลียดชังแบบรุนแรง สถานการณ์มันพลิกเร็วมาก ฉะนั้น คงต้องมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้คนอดทนไม่ไหว ยิ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญนี้ด้วยแล้ว

ท้ายที่สุดแล้ว ผศ.ดร.บัณฑิตมองว่า ความฝันความหวังกับอนาคตของประเทศนี้ ที่จะอำนวยความยุติธรรมความเสมอภาค หรือทำให้คนมีโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกันมันจะเกิดขึ้นไหม? เพราะในช่วงที่ผ่านมามีคนจำนวนมาก แม้แต่ในแวดวงวิชาการต้องถูกดำเนินคดี-ขึ้นศาล

คำถามก็คือว่า ผู้มีอำนาจคิดว่าการทำแบบนี้ จะแก้ปัญหาได้จริงหรือ?

ติดตามคลิปสัมภาษณ์ อ.บัณฑิตได้ที่