The Sellout : บทพิสูจน์แห่งความรุนแรง (ที่ยัง) ร่วมสมัยในอเมริกา หลังชัยชนะของทรัมป์

AFP PHOTO / DANIEL LEAL-OLIVAS

โดย มนต์สวรรค์ จินดาแสง

หลังจากการประกาศผลรางวัล The Man Booker Prize 2016 ของประเทศอังกฤษเมื่อเดือนตุลาที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของอเมริกา คงเป็นเครื่องยืนยันว่าประเด็นเรื่องการเหยียดผิวแบบที่ The Sellout หนังสือนวนิยายที่ได้รับรางวัล The Man Booker Prize ในปีนี้ สะท้อนออกมา

แม้จะในรูปของเรื่องเสียดสีที่เรียกเสียงหัวเราะตลอดก็ตาม เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏว่าภายหลังจากการครองอำนาจของประธานาธิบดีผิวสี 8 ปี อย่าง บารัค โอบามา ซึ่งควรจะเป็นการเริ่มต้นแห่งการเยียวยาบาดแผลระหว่างคนขาวกับคนผิวสี โดยเฉพาะพวกแอฟริกัน-อเมริกัน

แต่และแล้วกลับไม่ใช่

เนื่องเพราะคนขาวก็กักเก็บความไม่พึงใจต่อการที่มีประธานาธิบดีผิวสีในทำเนียบขาว (และอาจมีผลงานที่ไม่น่าพึงพอใจด้วย)

ระเบิดออกมาเป็นการสนับสนุนและชัยชนะอย่างขาดลอยของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายขวาตกขอบ

0

นวนิยายเรื่อง The Sellout เขียนโดย พอล บีตตี้ (Paul Beatty) นักเขียนแอฟริกัน-อเมริกัน และนี่เป็นนวนิยายเรื่องที่ 4 ของเขา

The Sellout เป็นนวนิยายอเมริกันเรื่องแรกที่ได้รางวัล The Man Booker Prize นับแต่กำเนิดรางวัลนี้เมื่อปี 1969 และตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 2015 โดยสำนักพิมพ์อเมริกันที่มีชื่อว่า Farrar, Straus and Giroux (FSG)

ขณะที่ในอังกฤษพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Oneworld Publications ซึ่งปีที่แล้ว นวนิยาย The Brief History of Seven Kings ของสำนักพิมพ์นี้ก็คว้ารางวัลนี้มาแล้วเช่นกัน

ทว่า ก่อนหน้าจะได้รับรางวัลที่มีคุณค่าที่มีย่อมๆ รองจากโนเบลพอๆ กับพูลิตเซอร์ The Sellout คว้าชัยมาก่อนจากรางวัล National Book Critics Circle Award (Fiction) ปี 2016 เช่นเดียวกัน

โดยรางวัลดังกล่าวเป็นของสมาคมนักวิจารณ์และบรรณาธิการหนังสือในอเมริกาที่รวมตัวกันกว่า 600 คน

นอกจากนั้น ยังได้รับความชื่นชมอย่างท่วมท้นจากนักวิจารณ์หนังสือส่วนใหญ่ในอเมริกา

 

คําว่า The Sellout นั้น ตามรูปศัพท์หมายถึงมีของเท่าไหร่ ก็ขายจนหมดเกลี้ยง

แต่ถ้าเป็นสแลงจะหมายถึง “คนทรยศ”

พอลเขียนนวนิยายมาแล้ว 4 เล่ม ได้แก่ The White Boy Shuffle (1996), Tuff (2000), Slumberland (2008) และ The Sellout (2015)

The Sellout พูดถึงเด็กหนุ่มผิวดำที่ทำผิดกฎหมายเรื่องเชื้อชาติและการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งทำให้เขาถูกนำตัวไปยังศาลสูง รวมทั้งท้าทายต่อความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา การใช้ชีวิตในย่านชานเมืองของผู้คนในเมืองใหญ่

ความเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชน

ความสัมพันธ์ของพ่อลูก และสิทธิความเท่าเทียมกันในระดับลึก ซึ่งมีความขัดแย้ง (paradox) บางประการที่ชวนหัว

ตัวเอกในนวนิยายไม่มีชื่อหน้าปรากฏ แต่มีชื่อสกุลว่า Me ขณะที่แฟนเก่าเรียกเขาว่า “Bonbon” ทาสเรียกเขาว่า “Massa”

และคู่แข่งเรียกว่า “Sellout”

 

Me เกิดขึ้นในย่านสลัมที่เรียกว่า “ดิกเคนส์” (Dickens) ซึ่งอยู่ชานเมืองด้านใต้ของลอสแองเจลิส เขาจัดเป็นชนชั้นต่ำกว่ากลางในแคลิฟอร์เนีย

Me เติบโตขึ้นมาโดยการเลี้ยงดูของพ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้มีพฤติกรรมโดดเด่น 2 ด้าน คือ เป็นนักจิตวิทยาที่ค่อนข้างพิลึกพิลั่นนิดหน่อย

เขาใช้ลูกเป็นวัตถุดิบในการทดลองทางจิตวิทยาเพื่อหวังว่าจะได้เงินมาแก้ปัญหาหนี้สินอีนุงตุงนัง

แต่ขณะเดียวกันเขาก็เป็นพวกมีความสุขุมพอที่จะกล่อมคนดำที่แสดงความโกรธเกรี้ยวให้สงบลง

แต่เมื่อพ่อของ Me ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต เงินทั้งหมดก็ถูกนำไปใช้ในงานศพพ่อ ร่วมกับการที่ย่านสลัมดิกเคนส์กำลังจะถูกลบในทางลายลักษณ์อักษรจากมลรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อไม่ให้เกิดความอับอายอีกต่อไป

Me เกิดความโกรธเกรี้ยวในเรื่องพ่อ รวมทั้งเจ็บปวดกับการที่บ้านเกิดกำลังจะอันตรธานหายไป

เขาจึงปลดปล่อยมันออกมาด้วยการหาทางประสบความสำเร็จแบบห่ามๆ ซึ่งจะทำให้ดิกเคนส์กลายเป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่โดนลบ

Me หาวิธีคลี่คลายปมเพื่อจะได้รับการยอมรับจากสังคมหลัก (ซึ่งก็คือคนขาว) ด้วยการทำตัวเป็นคนขาว ซึ่งต้องมีทาสเสียเอง

และนั่นคือใจความสำคัญอันชวนเจ็บปวดของนวนิยายที่แสนขื่นขันเล่มนี้

Me มีทาสคนหนึ่งอันได้แก่ โฮมินี เจนกินส์ หนุ่มรุ่นน้องผู้มีปัญหาบางประการ จึงขอเป็นทาสเขา

และพวกเขายังทำเสมือนแบ่งแยกดินแดนดิกเคนส์ด้วยการติดสัญลักษณ์ผิดๆ ไปตามถนนและทาสีเขตแดนเฉพาะกิจไปรอบๆ เมือง ฯลฯ

ซึ่งนั่นนำเขาไปสู่ศาลสูงอันเป็นการเริ่มเรื่อง

หากกล่าวโดยย่อนั่นคือการเคลื่อนไหวที่ดึงดิกเคนส์กลับหลังย้อนยุค

 

พล็อตนวนิยายเรื่องนี้ของพอลอาจดูไร้สาระเอามากๆ

ทว่า การเขียนนวนิยายเรื่องนี้ของพอลกลับทำให้ผู้อ่านเชื่อได้ด้วยน้ำเสียงที่จริงจังของ Me

ตั้งแต่แรกเริ่ม เรนี เอ็ดโด ลอดจ์ นักหนังสือพิมพ์มือรางวัลชาวอังกฤษรีวิวถึง The Sellout ว่า “ลมกรดแห่งถ้อยคำ”

ขณะที่เสริมด้วยว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพล็อตของ The sellout มีความตรงข้ามกัน งานชิ้นนี้มีความจริงมากพอที่จะเชื่อถือ แต่ขณะเดียวกันก็เหนือจริงมากพอที่จะเลิกคิ้วด้วย”

พอลเกิดในปี 1962 ในลอสแองเจลิส เขาจบด้าน Creative writing จากวิทยาลัยบรูคลิน และด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยบอสตัน

นวนิยายเรื่องแรก The White Boy Shuffle ได้รับการรีวิวเชิงบวกจากนักวิจารณ์ใน นิวยอร์กไทม์ ว่า “การระเบิดของการเสียดสีอันเร่าร้อนจากหัวใจอัจฉริยะของชีวิตชาวอเมริกันผิวดำ”

ส่วน Tuff ได้รับการวิจารณ์เชิงบวกจากนิตยสารไทม์

ส่วนนวนิยาย Slumberland เป็นเรื่องเกี่ยวกับดีเจอเมริกันในเบอร์ลิน

ถึงแม้จะมีทฤษฎีว่าอเมริกาได้เข้าสู่ยุค post-racial America ซึ่งหมายถึงการเหยียดเชื้อชาติ การแบ่งแยก การเลือกปฏิบัติ และอคติต่างๆ ได้ยุติลง

แต่ในความเป็นจริง นั่นคงมิใช่ มิฉะนั้นคงไม่เกิดกรณีตำรวจผิวขาวยิงคนดำและการจลาจลในหลายแห่ง

ขณะที่โอบามาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งคนผิวสีจำนวนมากสัมผัสถึงสิ่งนี้ รวมทั้งนักเขียนผิวดำอย่าง พอล บิตตี้ ด้วย

ดังนั้น เมื่อ racist สุดโต่งอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ และเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกา การได้รับรางวัลบุ๊กเคอร์ไพรซ์ของนวนิยายอย่าง The Sellout จึงเป็นหมุดหมายอันสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า “วรรณกรรม” และ “การเมือง” ได้มาบรรจบกันอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากการแสดงให้เห็นว่าจิตใจแบบ post-racial America นั้นได้ตายลง

ในจิตใจส่วนลึกของชายผิวขาววัยกลางคน ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่เลือกทรัมป์ อาจยังเต็มไปด้วยความเหยียดเชื้อชาติและอคตินานาประการที่ฝังรออยู่เนิ่นนานอย่างที่คนทั้งโลกแทบนึกไม่ถึง แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และอเมริกากับโลกคงต้องต่อสู้อย่างดุเดือดและยาวนานอีกพอสมควรเพื่อกลับไปหาอุดมคตินิยมของตน

แต่ในตอนนี้ อาจเป็นไปได้ว่าอเมริกาอันยิ่งใหญ่แทบทั้งประเทศจะย้อนยุคกลับหลังไปเป็นดิกเคนส์ สลัมเล็กๆ ในนวนิยาย The Sellout อย่างไม่ยี่หระใดๆ…และนี่คืออำนาจของวรรณกรรม