ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
ความทรงจำราชดำเนินก่อนรัชกาลที่ 5 (1)
การอนุรักษ์และพัฒนาถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน ดูเสมือนว่าจะอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดหลักที่ต้องการย้อนกลับไปหาประวัติศาสตร์และความทรงจำสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดถนนราชดำเนิน
โดยละเลย ละทิ้ง ไปจนถึงความพยายามที่จะลืม ความทรงจำชุดอื่นที่ซ้อนทับอยู่ในพื้นที่นี้
ทั้งโดยตั้งใจผ่านแรงผลักดันของอดุมการณ์การเมือง และโดยไม่ตั้งใจอันเกิดจากผลกระทบสื่บเนื่องยาวนานของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่ครอบครองพื้นที่ความทรงจำเกือบทั้งหมดในสังคมไทยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ลืมความทรงจำชุดอื่นที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ไปจนหมด
แน่นอน การตัดถนนราชดำเนินคือเมกะโปรเจ็กต์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลและเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์พื้นที่บริเวณนี้ แต่เหตุการณ์นี้ก็มิได้เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเพียงอย่างเดียวที่เกิดขึ้นในพื้นที่
เมกะโปรเจ็กต์ยุคคณะราษฎรทศวรรษ 2480 บนถนนราชดำเนินในและราชดำเนินกลาง, การสร้างกลุ่มอาคารราชการมากมายบนถนนราชดำเนินนอกในครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2490, การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยหลายต่อหลายครั้งในพื้นที่, ความรุนแรงทางการเมืองจากภาครัฐที่กระทำต่อประชาชนบนถนนราชดำเนิน ฯลฯ
คือตัวอย่างชัดเจนของเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในระดับที่ไม่ต่างกัน
แต่ทั้งหมดกลับถูกละเลยและแทบไม่เคยถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุดความทรงจำหลักในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นแผนอนุรักษ์และพัฒนาแผนไหนก็ตาม
ไม่จำเป็นต้องพูดถึงประวัติศาสตร์สังคม ชุมชน และผู้คนมากมายในพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็น ลิเกพระยาเพชรปราณี, สนามมวยเวทีราชดำเนิน, ชุมชนป้อมมหากาฬ, ตรอกสาเก, ตึกดิน, เขาดิน, ข้าราชการมากมายที่ทำงานในพื้นที่ ฯลฯ
ทั้งหมดคือความทรงจำชุดใหญ่ที่ถูกยกทิ้งออกไปจากเงื่อนไขการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่อย่างเกือบจะสิ้นเชิง
แม้ในทางวิชาการเราจะถูกสอนกันมายาวนานแล้วว่า บนพื้นที่ที่มีการซ้อนทับอย่างซับซ้อนของประวัติศาสตร์ การเลือกที่จะอนุรักษ์หรือพัฒนาอะไรก็ตามที่ยึดถือเฉพาะประวัติศาสตร์และความทรงจำยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่งเพียงยุคเดียว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งในปัจจุบัน
แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขแบบไทยๆ การอนุรักษ์และพัฒนาเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดบนพื้นที่นี้ ทุกโครงการจะต้องย้อนกลับไปยึดโยงเข้ากับความทรงจำสมัยรัชกาลที่ 5 เสมอ หรืออย่างน้อยก็ต้องอยู่ในช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ.2430-พ.ศ.2475)
โครงการปรับปรุงอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ที่มาพร้อมการปรับเปลี่ยนเปลือกหน้าอาคาร (fa?ade) ใหม่ที่กำลังจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในอีกไม่นาน เป็นตัวอย่างล่าสุดที่ยืนยันให้เห็นถึงความไม่สนใจ (อาจจะถึงระดับรังเกียจ) ที่มีต่อความทรงจำชุดอื่น (กรณีนี้ คือ ความทรงจำคณะราษฎร)
จนถึงระดับที่ทำการเปลี่ยนแปลงรูปแบบภายนอกทางสถาปัตยกรรมแบบ “อาร์ตเดโค” ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญในยุคคณะราษฎร ให้เปลี่ยนไปเป็นแบบ “นีโอคลาสสิคประยุกต์” (รูปแบบอันเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5) เพื่อย้อนกลับไปสู่ความทรงจำในยุคสมัยของพระองค์
ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่มีอาคารรูปแบบนีโอคลาสสิคใดๆ ได้เคยถูกสร้างขึ้นในพื้นที่บริเวณนี้เลย จะมีก็แต่ต้นมะฮอกกานีสองข้างถนน และอาคารบ้านเรือนอยู่ปละปลายเท่านั้น
แต่แผนการอนุรักษ์และพัฒนาล่าสุดก็ยังอุตส่าห์เลือกที่จะเปลี่ยนเปลือกหน้าอาคารยุคคณะราษฎรให้มีกลิ่นอายไปสู่รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคจนได้
(ประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องอธิบายแยกเฉพาะเป็นอีกบทความ ดังนั้น จะไม่ขอลงรายละเอียด ณ ตอนนี้)
ย้อนกลับมาที่ประเด็นของบทความ หลายครั้งผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องเหล่านี้กับหลายคน คำตอบที่ได้รับ (จากฝั่งผู้ที่มีแนวคิดว่า เหมาะสมแล้วที่จะอนุรักษ์และพัฒนาทุกสิ่งอย่างโดยยึดโยงเข้ากับความทรงจำสมัยรัชกาลที่ 5) โดยภาพรวมจะมีลักษณะร่วมกันอยู่ 2 ประการ
หนึ่ง ยืนยันว่าประวัติศาสตร์การตัดถนนในสมัยรัชกาลที่ 5 คือความทรงจำชุดที่สำคัญยิ่งยวดเพียงหนึ่งเดียวของพื้นที่นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะหลัง พ.ศ.2475 เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญและหลายอย่างมีแต่เรื่องเลวร้ายซึ่งไม่ควรจดจำมันเอาไว้
สอง ยุคสมัยก่อนหน้าการตัดถนนราชดำเนิน พื้นที่บริเวณนี้มิได้มีประวัติศาสตร์และความทรงจำชุดใดที่สำคัญมาเก่าก่อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงถนนราชดำเนินนอก ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนเหนือของเมืองกรุงเทพฯ)
ดังนั้น ในเมื่อประวัติศาสตร์ทั้ง “ยุคหลัง” และ “ยุคก่อน” การตัดถนนราชดำเนินสมัยรัชกาลที่ 5 ล้วนแล้วแต่ไม่มีอะไรสำคัญ การอนุรักษ์และพัฒนาถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่องจึงถูกครอบงำด้วยความทรงจำสมัยรัชกาลที่ 5 เท่านั้น
ในประเด็น “ยุคหลัง” มีหลายคน (รวมทั้งผมเอง) ได้เคยเขียนอธิบายไปแล้วมากมายในหลายโอกาสว่าการมองในลักษณะข้างต้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง
ดังนั้น จะไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้
แต่สิ่งที่อยากจะเขียนถึงมากกว่าก็คือ ความทรงจำ “ยุคก่อน” การตัดถนนราชดำเนินของรัชกาลที่ 5 ซึ่งในความเป็นจริงมีอยู่มากมาย หลายอย่างมีความสำคัญมากต่อการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ยุคจารีตของสยาม ประวัติศาสตร์การวางผังเมืองในยุคต้นรัตนโกสินทร์
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองในบางมิติที่จะช่วยทำให้เราเข้าใจการตัดถนนราชดำเนินในมิติที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ผมอยากเริ่มต้นด้วย “ตึกดิน” อันเป็นความทรงจำเก่าแก่ชุดแรกที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานในพื้นที่บริเวณนี้ แต่ค่อย ๆ เลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้นแล้วในปัจจุบัน
หากใครเคยเดินเล่นตามตรอกซอกซอยในบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย น่าจะเคยเห็นหรือได้ยินคำว่า ตรอกตึกดิน, มัสยิดตึกดิน, บ้านตึกดิน และศาลเจ้าพ่อตึกดิน
คำเหล่านี้มีที่มายึดโยงเข้ากับอาคารรูปแบบหนึ่งที่เรียกกันในอดีตว่า “ตึกดิน” ซึ่งมีประโยชน์ใช้สอยคือเป็นอาคารสำหรับเก็บดินปืนและวัตถุระเบิดของเมือง โดยตึกดินเป็นรูปแบบอาคารที่มีมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ในสมัยอยุธยา
ตึกดินมิได้มีเพียงแห่งเดียวนะครับ แต่จะกระจายไปโดยรอบของเมือง ตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ
กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสร้างก็เช่นกัน มีตึกดินกระจายอยู่หลายแห่ง บริเวณวังสราญรมย์ ณ ปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการสร้างวังก็เคยเป็นพื้นที่ของตึกดินมาก่อน
แต่ตึกดินที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดของกรุงเทพฯ (และน่าจะเป็นแหล่งเก็บดินปืนในการสงครามที่ใหญ่ที่สุดด้วย) จนปรากฏอยู่ในแผนที่ของ จอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd) ที่เดินทางเข้ามาสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 คือ ตึกดิน ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปัจจุบัน (แผนที่ระบุชื่อเอาไว้ว่า powder mills)
หากให้ระบุตำแหน่งชัดๆ ลงไปเลย อาคารตึกดินจะตั้งอยู่ในตำแหน่งด้านหลัง ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ในบริเวณที่เคยเป็นโรงภาพยนตร์พาราไดซ์
เนื่องด้วยตึกดินเป็นอาคารสำหรับเก็บดินปืนซึ่งอันตรายพร้อมจะระเบิดได้เสมอ และในประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ตึกดินก็เคยระเบิดอยู่หลายครั้งจริง ๆ ดังนั้น แม้ตัวอาคารอาจจะมิได้มีขนาดที่ใหญ่โตมากนัก แต่อาณาบริเวณโดยรอบจะต้องกินพื้นที่กว้างขวางออกไปอีกหลายเท่าตัวเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งขุดคูคลองและทำเนินดินโดยรอบในลักษณะคล้ายร่องสวน
หากต้องการเห็นภาพความใหญ่โตของพื้นที่ตึกดิน (ทั้งตัวอาคารเก็บดินปืนและร่องสวนโดยรอบ) ขอให้ดูจาก “แผนที่กรุงเทพฉบับธงชัย” (แผนที่กรุงเทพ พ.ศ.2430) ซึ่งยังเก็บสภาพของตึกดินในยุคต้นรัตนโกสินทร์อาไว้เกือบสมบูรณ์แบบ
จากแผนที่เราจะเห็นว่าตึกดิน ทิศเหนือยาวขึ้นไปจนจรดวัดรังษีสุทธาวาส (เขตสังฆาวาสของวัดบวรนิเวศในปัจจุบัน) ทิศใต้จรดคลองหลอดวัดเทพธิดาราม ทิศตะวันตกจรดสี่แยกคอกวัว และทิศตะวันออกยาวมาจนถึงอาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โดยรวมมีพื้นที่ใหญ่กว่าวัดราชนัดดาราม 2 เท่าตัว
ด้วยอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ ตึกดินได้กลายเป็นเสมือนแลนด์มาร์กสำคัญของพื้นที่ และได้กลายเป็นชื่อที่ใช้อ้างอิงในการพัฒนาพื้นที่รวมถึงการสร้างอาคารอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น มัสยิดตึกดิน หรือตรอกตึกดิน ดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้
ไม่เพียงเท่านั้น ตึกดินยังเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โรงเรียนสตรีที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสังคมไทย นั่นก็คือ โรงเรียนสตรีวิทยา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022