ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ
จอมพล ป. : เผด็จการฟาสซิสต์
ผู้นำชาตินิยม หรือนักประชาธิปไตย (1)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือบุคคลที่มีสีสันมากที่สุดคนหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย มีการศึกษาภาพลักษณ์ทางการเมืองหลากหลายแบบอันแตกต่างกันอย่างสุดขั้วอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งเผด็จการฟาสซิสต์ ผู้นำชาตินิยมไทยที่รักชาติยิ่งชีพ นักการเมืองที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ไปจนถึงบุคคลอันตรายที่มีทัศนะล้มเจ้า
หากย้อนพิจารณาภาพลักษณ์ต่างๆ ของจอมพล ป. ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงก่อน พ.ศ.2549 ผมคิดว่าเราสามารถสรุปอย่างสังเขปได้ 4 แบบดังนี้ (ออกตัวไว้ก่อนนะครับ การแบ่งนี้เป็นเพียงการแบ่งในภาพกว้างๆ และในแต่ละช่วงเวลาก็อาจมีหลายแบบอยู่ด้วยกัน เพียงแต่มีแบบใดแบบหนึ่งเป็นภาพลักษณ์หลักเท่านั้น)
แบบที่หนึ่ง เกิดขึ้นราว พ.ศ.2475-2482 คือภาพของนายทหารหัวสมัยใหม่ นักประชาธิปไตย และแกนนำคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย
แบบที่สอง เกิดขึ้นราว พ.ศ.2483-สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือภาพของนายกรัฐมนตรีที่มีแนวคิดแบบทหารนิยม เป็นนักชาตินิยมไทยสุดโต่งในแบบผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ในยุโรป การออกนโยบายรัฐนิยมมากมายในช่วงนี้คือหลักฐานที่สนับสนุนให้ภาพลักษณ์นี้ปรากฏ ยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรฝ่ายอักษะในปี พ.ศ.2484 (จะด้วยความเต็มใจหรือไร้ทางเลือกก็ตาม) ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ดังกล่าวเด่นชัดมากขึ้น
แบบที่สาม เกิดขึ้นราว พ.ศ.2490-2500 คือภาพของผู้นำชาตินิยมไทยที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาในการต่อสู้คอมมิวนิสต์ ความเป็นนักชาตินิยมไทยจะไม่สุดโต่งแบบฟาสซิสต์อีกต่อไป
แบบที่สี่ เกิดขึ้นราว พ.ศ.2500-ก่อนรับประหาร 2549 คือภาพของผู้นำที่น่ารังเกียจ โกงเลือกตั้ง เป็นเผด็จการฟาสซิสต์ ยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย
และเป็นพวกล้มเจ้า
ภาพลักษณ์อันเลวร้ายนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงของคณะราษฎรหลัง พ.ศ.2490 ที่ทำให้คณะราษฎรเป็นเพียงกลุ่มคนที่ต้องการยึดอำนาจจากกษัตริย์เพื่อตนเองและพวกพ้องเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์แง่ลบข้างต้นปรากฏอยู่เพียงในพื้นที่ของพลเรือน ปัญญาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการเท่านั้น
โดยในช่วงเวลาเดียวกันนี้ จอมพล ป.กลับมีอีกภาพลักษณ์ที่แตกต่างสิ้นเชิงในหมู่ทหาร นั่นก็คือ ผู้นำที่มีความรักชาติ ชาตินิยมตามแบบที่สาม เป็นตัวอย่างของทหารที่น่ายกย่อง
ดังจะเห็นได้จากมีการสร้างอนุสาวรีย์จอมพล ป.ในพื้นที่ของทหารขึ้นมากมายที่ยืนยันภาพลักษณ์ชุดนี้
ด้วยช่วงเวลาอันยาวนานเกือบ 50 ปีของช่วงที่สี่ ได้ทำให้ภาพลักษณ์ 2 ขั้วของจอมพล ป.ดังกล่าวลงหลักปักฐานแน่นหนในความทรงจำร่วมของสังคมไทย
จนดูเสมือนว่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่จะคงอยู่ตลอดไป
แต่ภายหลังการรัฐประหาร 2549 ต่อด้วยการรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การเกิดใหม่ของคณะราษฎร” (ได้อธิบายไปแล้วในสัปดาห์ก่อน) กลับทำให้ภาพลักษณ์ของจอมพล ป.ที่ดูเหมือนลงตัวทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว กลับมาอยู่ในสภาวะฝุ่นตลบทางประวัติศาสตร์และความทรงจำอีกครั้ง
ในหมู่พลเรือน ปัญญาชน สื่อ และนักวิชาการ จอมพล ป.เกิดภาพลักษณ์ที่แตกออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง “แบบที่สี่” ซึ่งดำรงอยู่มายาวนาน กับ “แบบที่หนึ่ง” ที่เริ่มถูกรื้อฟื้นให้กลับมาอีกครั้งในกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร
เราจะเริ่มมองเห็นงานเขียนมากมายที่อธิบายสิ่งที่ จอมพล ป.ทำว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบนฐานคิดเรื่องประชาธิปไตย มิใช่เผด็จการฟาสซิสต์แต่อย่างใด
นโยบายรัฐนิยมเริ่มถูกมองในแง่บวก การปฏิวัติภาษาในยุคจอมพล ป. ซึ่งเคยถูกมองว่าคือการทำภาษาไทยวิบัติ เริ่มถูกพูดถึงในฐานะนโยบายที่ลดช่วงชั้นของภาษาไทยลง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเรื่องความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย
ศิลปะและสถาปัตยกรรมในยุคจอมพล ป.ที่ถูกอธิบายโดยนักวิชาการว่าไม่ต่างอะไรเลยกับศิลปะและสถาปัตยกรรมฟาสซิสต์ เริ่มถูกตีความใหม่ว่าเป็นงานออกแบบที่แฝงสัญลักษณ์และความหมายของความเสมอภาคและประชาธิปไตยเอาไว้มากกว่า
ม็อบรุ่นใหม่ต้านเผด็จการ เราจะเริ่มเห็นการยก จอมพล ป.ขึ้นมาเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ถึงขนาดมีการจัดงานวันเกิดให้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้ (แม้แต่ปรีดี พนมยงค์ ก็ยังไม่ได้รับเกียรติอันนี้นะครับ)
ในทางกลับกัน ในหมู่ทหาร ก็เกิดภาพลักษณ์ที่แตกออกเป็น 2 ฝ่ายเช่นกัน ระหว่าง “แบบที่สาม” ที่สืบทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2490 กับ “แบบที่สี่” (มองจอมพล ป.ในแง่ลบ) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในหมู่ทหารมาก่อนเลย
หลักฐานชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ เริ่มมีการรื้ออนุสาวรีย์จอมพล ป.ในพื้นที่ของทหารออกไป รวมถึงการเปลี่ยนชื่อค่ายทหารที่เคยใช้ชื่อ จอมพล ป.ให้เป็นชื่ออื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ สำหรับคนที่ติดตามประวัติศาสตร์ไทยมาพอสมควร ไม่มีทางที่จะจินตนาการออกได้เลยนะครับว่าสักวันหนึ่งจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้
การมองจอมพล ป. “แบบที่สี่” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแยกไม่ออกจากการหวนกลับไปรื้อฟื้นภาพลักษณ์แง่บวกใน “แบบที่หนึ่ง” ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในกลุ่มม็อบต้านรัฐประหารหลัง พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557
กล่าวคือ ยิ่งม็อบต้านรัฐประหารยกย่อง จอมพล ป.มากเท่าไร ในหมู่ทหารก็จะยิ่งมอง จอมพล ป.ในแง่ลบเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
จากที่อธิบายมาทั้งหมด ผมคิดว่าคำถามสำคัญที่น่าคิดต่อจากสภวะฝุ่นตลบทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของ จอมพล ป. ก็คือ สรุปแล้วจอมพล ป.เป็นอย่างไรกันแน่
ผมเข้าใจดีนะครับว่า ในทางประวัติศาสตร์ คำถามแบบนี้ย่อมไม่มีคำตอบจริงแท้ที่เป็นสัจธรรมอันไร้ข้อโต้เถียงได้ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป และหลักฐานถูกค้นพบมากขึ้น หรือถูกตีความใหม่จากคนในอนาคต ภาพลักษณ์ของจอมพล ป.ย่อมเคลื่อนเปลี่ยนไปอีกครั้งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางการเมืองปัจจุบันที่ จอมพล ป.ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง
ผมก็คิดว่าน่าจะถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องเริ่มต้นทำการศึกษาและทบทวน จอมพล ป.ในมิติต่างๆ กันใหม่อีกครั้ง
โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังนะครับ (และอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้ทำอย่างจริงจังด้วย) ผมเองอยากทดลองเสนอว่า การศึกษา จอมพล ป.ที่มุ่งเน้นไปที่ตัวตนเพียงด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวในแบบที่งานส่วนใหญ่นำเสนอมา ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการฟาสซิสต์, ผู้นำชาตินิยม, นักประชาธิปไตย ไปจนถึงพวกล้มเจ้า อาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป
การมองแยกขาดในแบบข้างต้น ตั้งอยู่บนฐานการมองมนุษย์ที่มีความคงเส้นคงวาทางความคิดมากเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่มีมนุษย์คนใดที่คงเส้นคงวาได้อย่างแท้จริงไปตลอดชีวิต
ที่สำคัญคือ แม้กระทั่งในช่วงเวลาเดียวกัน เดือนเดียวกัน วันเดียวกัน มนุษย์ก็อาจตัดสินใจกระทำการไปคนละแบบที่ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้วก็เป็นได้
งานศึกษาในทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ งานศึกษา จอมพล ป.ที่ผ่านมาหลายชิ้นก็เคยเสนอไว้แล้วว่า จอมพล ป.ในยุคคณะราษฎร (พ.ศ.2475-2490) มีตัวตนในแบบหนึ่ง ในขณะที่ จอมพล ป.ในยุคหลังรัฐประหาร 2490 ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายข้างต้นก็ยังมอง จอมพล ป.ในแต่ละช่วงบนฐานที่มีความคงเส้นคงวาชุดนึงที่คอยกำกับการกระทำอยู่เช่นเคย แต่สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ ในช่วงเวลาเดียวกัน (เช่น ในยุคคณะราษฎร) จอมพล ป.ก็อาจกระทำการใดๆ ด้วยแนวคิดที่ต่างกันจนอาจจะถึงขนาดที่ขัดแย้งกันก็เป็นได้
เช่น จอมพล ป.อาจแสดงออกด้วยแนวทางแบบประชาธิปไตยในวันหนึ่ง แต่อีกวันก็ตัดสินใจไปด้วยทัศนะแบบฟาสซิสต์ และในเย็นวันเดียวกันนั้นก็คิดนโยบายบางอย่างที่มีลักษณะ anti-royalist หรือการกระทำบางอย่างก็ไม่อาจตัดสินได้ด้วยแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งได้ แต่คือการผสมผสานหลายแนวคิดเข้าด้วยกันจนแยกกันไม่ออก
ข้อเสนอในการมอง จอมพล ป.ในแบบข้างต้น ตั้งอยู่บนกรอบความคิดหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ นั่นก็คือ Hybridity ซึ่งรายละเอียดคืออย่างไรนั้น ขอยกยอดไปพูดถึงในสัปดาห์หน้านะครับ